ป้องกันแรงงานขาดลาออกไปเลี้ยงลูก SME สหรัฐ ผุดไอเดียยิงปืนนัดเดียวได้นกสองตัว เปิดที่เลี้ยงเด็กคู่กับธุรกิจเดิม

TEXT : Sir.nim

     เพราะค่าใช้จ่ายการเลี้ยงดูเด็กคนหนึ่งทุกวันนี้ ไม่ถูกเลย หลายบริษัท ร้านค้าต้องเสียพนักงานดีๆ ไป ก็เพราะด้วยเหตุผลว่า “ต้องออกไปดูแลลูก ไม่มีคนเลี้ยงลูกให้”

     ปัญหาดังกล่าวไม่ได้เกิดขึ้นแค่ในไทย หรือประเทศโซนเอเชียเท่านั้น แม้แต่ในสหรัฐอเมริกาที่ค่าเงินสูง ก็ประสบปัญหาไม่แตกต่างกัน จนทำให้เกิดผลกระทบต่อภาคธุรกิจที่ต้องขาดแคลนแรงงานฝีมือดี จากการลาออกเพื่อไปเลี้ยงดูลูก

จ้างเลี้ยง ค่าใช้จ่ายสูง เลยต้องออกมาเลี้ยงเอง

     โดยมีการกล่าวไว้ว่า ค่าใช้จ่ายในการส่งเด็กคนหนึ่งไปยังสถานรับเลี้ยงเด็กในสหรัฐอเมริกานั้น เฉลี่ยสูงกว่า 10,000 ดอลลาร์ต่อปีทีเดียว ซึ่งสูงเป็นอันดับที่ 2 ของกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว ทำให้หลายครอบครัวเลือกที่จะย้ายออกจากเมืองใหญ่ ไปยังชานเมืองเพื่อหาทางเลือกที่ประหยัดกว่า เมื่อต้องย้ายถิ่นที่อยู่อาศัย ก็ต้องย้ายงาน ทำให้ต้องลาออก หรือบางคนก็ตัดสินใจลาออกเพื่อไปดูแลเอง

     ในขณะที่รัฐบาลช่วยเงินสนับสนุนเพียง 900 ดอลลาร์ต่อปีต่อเด็กวัยหัดเดินหนึ่งคนเท่านั้น ซึ่งถือว่าต่ำกว่าเงินสนับสนุนในฝรั่งเศสและสวีเดนอย่างมาก โดยผลสำรวจของ www.Care.com ระบุว่าพ่อแม่ของเด็กอายุ 14 ปีหนึ่งคนหรือต่ำกว่า จะจัดสรรรายได้ถึง 1 ใน 4 ให้กับการดูแลเด็ก และเหลือ 3 ส่วนไว้เป็นค่าใช้จ่าย

     จากผลกระทบดังกล่าว ทำให้หลายธุรกิจ โดยเฉพาะในธุรกิจไซส์เล็ก เกิดปัญหา Turnover Rate อัตราการลาออกของพนักงาน ทำให้เกิดค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง ไหนจะต้องเสียเวลาฝึกพนักงานใหม่, จำนวนการทำงานที่ลดลง เนื่องจากพนักงานไม่ชำนาญเหมือนเก่า, ไปจนถึงการสูญเสียบุคลากรที่มีองค์ความรู้ความชำนาญ ฯลฯ

Zach Wiley พนักงานร้านกาแฟที่เคยลาออกงานไปดูแลลูก

ผุดไอเดีย เปิดสถานรับเลี้ยงเด็กเอง เพิ่มช้อยส์ทางเลือก จูงใจพนักงาน

     จากปัญหาดังกล่าวที่เกิดขึ้น ทำให้ผู้ประกอบการธุรกิจร้านอาหารและคาเฟ่หลายแห่งในสหรัฐอเมริกา เกิดไอเดียจัดเตรียมสถานที่ เพื่อเปิดบริการรับเลี้ยงเด็กขึ้นมา เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่พนักงานของพวกเขาในราคาย่อมเยา ทำให้นอกจากไม่ต้องเสียเวลาเดินทางไปส่งลูกไกลๆ แล้ว ยังสร้างความอุ่นใจให้แก่พนักงานที่ได้อยู่ใกล้ๆ ลูกของพวกเขาด้วย

     Zach Wiley วัย 31 ปี ในรัฐเวอร์จิเนีย หนึ่งในเคสตัวอย่างของพนักงานที่เคยลาออกจากงาน เพื่อไปดูแลลูก กล่าวว่าต้องลาออกจากงานที่ Red Rooster Coffee ในปี 2021 เนื่องจากต้องเดินทางไกลไปที่ทำงานและไปส่งลูกยังสถานรับเลี้ยงเด็ก แต่ปัจจุบันทางร้านได้เพิ่มบริการรับเลี้ยงเด็กเองแล้ว เขาจึงกลับไปหาเจ้านายเก่า เพื่อขอสมัครทำงานใหม่อีกครั้ง แถมยังมีเงินซื้อบ้านในบริเวณใกล้เคียงได้อีกด้วย

     “การดูแลเด็กคนหนึ่ง เป็นเรื่องใหญ่ และมีรายละเอียดค่อนข้างเยอะมีขนาดใหญ่มาก ผมไม่รู้จะทำอย่างไรเลย ถ้าไม่มีที่รับเลี้ยง ที่สำคัญ ยิ่งเป็นสถานที่รับเลี้ยงในที่ทำงานด้วย ยิ่งทำให้เกิดความอุ่นใจ เพราะลูกเราก็อยู่ในประตูถัดไปนี่เอง” Zach Wiley ให้สัมภาษณ์เอาไว้

ช่วยแก้ปัญหา และยังเป็นรายได้เพิ่มด้วย

     โดยค่าใช้จ่ายที่ Zach Wiley ต้องจ่ายให้กับร้านที่ทำงานนั้น เขาบอกว่าถือว่าคุ้มค่า โดยทาง Red Rooster Coffee จะเรียกเก็บเงิน 2 ดอลลาร์ต่อชั่วโมงต่อการดูแลเด็ก 1 คน โดยศูนย์ดังกล่าวสามารถรับเด็กอายุตั้งแต่ 1 เดือน - 13 ปี โดย Zach เขาสามารถส่งลูกสองคนมาอยู่ดูแลที่นี่ได้เลย โดยมองว่าแนวโน้มการทำงานและดูแลครอบครัวไปด้วย เป็นสิ่งที่แยกออกจากกันไม่ได้ โดยเฉพาะการทำงานยุคนี้

     สอดคล้องกับผลสำรวจของ Society for Human Resource Management ที่กล่าวไว้ว่าปัจจุบันมีร้านค้าและบริษัท หันมาเปิดสถานรับเลี้ยงเด็กด้วยตัวเอง เพื่อแก้ปัญหาอัตราการลาออกของพนักงาน โดยเพิ่มขึ้นจาก 26% ในปี 2562 เป็น 32% ในปี 2566 ทีเดียว

     โดยมีรายงานว่า ณ ปัจจุบันกำลังแรงงานในสหรัฐอเมริกา ที่กลับเข้ามาทำงานในบริษัทต่างๆ มีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 62.7%  ซึ่งต่ำกว่าก่อนการแพร่ระบาดในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2020 ด้วยซ้ำ แสดงให้เห็นได้ว่าการกลับเข้ามาในระบบของแรงงานนั้นยังเป็นไปได้ช้า ดังนั้นจึงไม่แปลกที่หลายธุรกิจต่างให้ความสำคัญกับการรักษาแรงานที่มีอยู่ไว้ให้ด้วย ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มค่าแรงเพื่อจูงใจ ไปจนถึงการเปิดสถานที่รับเลี้ยงเด็กดังที่กล่าวไปแล้วนี่เอง

     ถือเป็นอีกไอเดียนวัตกรรมดีๆ ของการต่อสู้ เพื่อป้องกันอัตราการลาออกของพนังงานได้อย่างน่าสนใจ ผู้ประกอบการไทยคนไหน สนใจอยากลองนำไอเดียมาใช้กับธุรกิจดูบ้าง ก็ไม่ว่ากัน

ที่มา : https://www.businessinsider.com/small-business-child-care-turnover-retention-benefits-2024-4

https://super.news/en/articles/2024/04/07/addressing-staff-turnover-with-child-care-a-growing-trend-among-us-companies

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: MANAGEMENT

เจาะลึกแนวคิด Work Life Balance องค์กรที่อยากมัดใจ Gen Z ต้องรู้ เมื่อเงินเดือนไม่ใช่ข้อเรียกร้องสูงสุด

 แนวคิดการทำงานของ Gen Z เป็นประเด็นที่น่าสนใจมาก เนื่องจากมีความแตกต่างจากรุ่นก่อนหน้าค่อนข้างมาก โดยเฉพาะเรื่อง Work Life Balance ที่กลุ่มคน Gen Z ส่วนใหญ่มองว่า Work Life Balance เป็นสิ่งสำคัญมาก

Quiet Quitting เวอร์ชั่นใหม่จากจีน! ประท้วงแบบใหม่ แบบสับ แห่แต่งชุดไม่เหมาะสมไปทำงาน เรียกร้องสวัสดิภาพที่ดี

“Quiet Quitting” หรือ “การลาออกเงียบ” เทรนด์การทำงานของคนยุคนี้ที่มีการพูดถึงกันมากเมื่อช่วง 2 ปีก่อน ล่าสุดคนรุ่นใหม่ หรือ คน Gen Z ต่างหันมาแต่งตัวไปทำงานด้วยชุดที่ไม่เหมาะสม เช่น การสวมชุดที่ดูคล้ายชุดนอนมาทำงาน, การแต่งกายด้วยชุดเวอร์วัง อย่างเสื้อคลุมขนสัตว์ที่ดูรุ่มร่าม เป็นต้น โดยมองว่าไม่ได้ทำผิดกฎอะไร แค่อยากแสดงออกเชิงสัญญาลักษณ์เฉยๆ