หยุดทำงานซ้ำซ้อน ธุรกิจไม่ย่ำอยู่กับที่

   


เรื่อง : Lean Supply Chain by TMB



เชื่อว่าเจ้าของกิจการทุกคนคงเคยประสบปัญหาช่วงงาน Overload มีงานที่ต้องทำให้สำเร็จลุล่วงจำนวนมากขณะที่พนักงานมีน้อย และเวลาก็น้อยด้วย จนต้องทำงานหนัก เหนื่อย แถมยังล่วงเวลาไปถึงกลางคืนหรือจนถึงเช้าก็มี แต่ตื่นมาก็พบว่างานนั้นผิดพลาดไม่ได้คุณภาพจนต้องกลับมาแก้ไขอีกครั้ง และบางครั้งการแก้ไขก็คือ การต้อง Rework ทำซ้ำใหม่ทั้งหมด ฉะนั้นจึงไม่ได้เสียแค่เวลา แต่ยังต้องเสียเงินทุน เสียแรงกายไปอีกด้วย 


จะดีกว่าไหมหากว่างานทั้งหมดที่ทำนั้นจะไม่มีการส่งกลับมาแก้ไขอีก ทำเสร็จแล้วก็จบไปเลย งานที่ไม่ผิดพลาดก็สร้างความไว้วางใจ และความน่าเชื่อถือให้กับลูกค้าอีกด้วย แล้วอะไรคือคีย์เวิร์ดสำคัญ ที่เจ้าของธุรกิจหลายแห่งใช้ในการบริหารถึงได้มีสินค้าที่ทั้งคุณภาพดี ถูกใจลูกค้า และยังได้กำไรมากพอไปพัฒนาส่วนต่างๆ ของธุรกิจให้ดีขึ้น มาหาคำตอบไปพร้อมๆ กันเลย


ผู้ประกอบการทั้งหลายคงรู้ว่า ธุรกิจ SME มีปัญหาด้วยกันหลายส่วน เช่น ปัญหาต้นทุนการผลิตสูง การผลิตที่ขาดมาตรฐาน ทำให้ต้องทำซ้ำ หรือหมดเวลาไปกับการแก้ปัญหาเหล่านั้นเสียมาก ส่งผลให้ต้นทุนของสินค้าสูงจนต้องตั้งราคาสูงตาม ซึ่งนำไปสู่การเสียเปรียบในเชิงการค้ากับคู่แข่ง ปัญหาเหล่านี้มาจากซัพพลายเชนที่ยังขาดประสิทธิภาพ โดยประสิทธิภาพนั้นมาพร้อมกับคำว่าคุณภาพนั่นเอง งานที่มีคุณภาพ คืองานที่ตรงตามมาตรฐานที่ถูกตั้งไว้ ทุกๆ บริษัทต่างก็มีมาตรวัดคุณภาพที่แตกต่างกัน ในธุรกิจหนึ่งๆ ใช้คนผลิตงาน ผลิตสินค้าจำนวนมาก จะควบคุมอย่างไรให้สินค้าทุกชิ้นไปแตะคุณภาพเดียวกันได้ 


เมื่อต้องเริ่มเปลี่ยนแปลงผู้ประกอบการรายเล็กและใหญ่จะพบกับปัญหาที่แตกต่างกันไป บริษัทหรือโรงงานขนาดใหญ่ ต้องได้รับการอนุมัติจากหลายฝ่ายใช้เวลานานกว่าจะสามารถดำเนินการได้ ส่วนบริษัทขนาดเล็ก กลับมองไม่เห็นความสำคัญของการปรับเปลี่ยนการทำงานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้สูงขึ้น ทั้งๆ ที่ยิ่งบริษัทมีคนน้อยเท่าไหร่ก็ยิ่งสามารถควบคุมคุณภาพให้ได้ดีง่ายขึ้นเท่านั้น อย่าลืมว่า ข้อดีของธุรกิจ SME คือมีความคล่องตัวในการปรับสภาพให้เข้ากับสถานการณ์ของตลาดมากกว่าธุรกิจขนาดใหญ่


ขอยกตัวอย่างเคสผู้ประกอบการรายหนึ่งที่ให้ความสำคัญกับการปรับปรุง และเปลี่ยนแปลงกระบวนการทำงานที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นอย่างมาก นั่นคือ ร้านอาหาร สีฟ้า ที่มีสาขาอยู่ทั่วประเทศ อาหารขึ้นชื่อของที่นี่หลายเมนูมีน้ำจิ้มเป็นตัวชูโรง แต่เรื่องน้ำจิ้มถ้วยเล็กๆ กลับไม่ใช่เรื่องเล็กอีกต่อไปเมื่อมีความผิดพลาด แม้ว่าทางสีฟ้าจะมีฝ่ายผลิตน้ำจิ้มของตัวเอง แต่ปัญหาใหญ่ที่เกิดขึ้นก็คือ น้ำจิ้มบ๊วยกอที่ใช้สำหรับเมนูทอดมันกุ้งและเกี๊ยวกรอบกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ โดน Reject ไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานที่วางไว้ บางครั้งมีรสชาติที่ผิดเพี้ยน ค่าเคมีไม่ได้บ้าง สีและความหนืดไม่ได้บ้างต้องส่งกลับไปทำซ้ำ นอกจากจะเสียเวลาแล้วก็ยังเสียวัตถุดิบไปจำนวนมาก ทางสีฟ้าเลยตั้งเป้าว่าจะลดความผิดพลาดและความสูญเปล่าออกไปให้ได้


ก่อนที่จะได้เรียนรู้ Lean Six Sigma หลักการเพิ่มประสิทธิภาพให้ซัพพลายเชน ทางสีฟ้าได้สันนิษฐานถึงสาเหตุที่ทำให้น้ำจิ้มมีความผิดเพี้ยนว่าน่าจะมาจากเครื่องชั่งที่ไม่แม่นยำ และการไม่ได้ชั่งวัตถุดิบก่อนนำไปปรุง จึงขาดสัดส่วนที่แน่นอน แต่เมื่อตรวจสอบด้วยหลัก Lean Six Sigma  เข้าไปสังเกตทุกกระบวนการผลิตอย่างละเอียด มีการชั่งน้ำหนักวัตถุดิบ ติดเครื่องวัดความดันแก๊ส มีการจับเวลาทุกขั้นตอนและจดบันทึกทั้งหมดไว้เป็นตัวเลขที่วัดผลได้ กลับพบสาเหตุแท้จริงที่ต่างออกไป 


ตัวแปรที่ทำให้น้ำจิ้มออกมาไม่เหมือนกัน คือ ค่าความดันแก๊ส และเวลาในการตั้งไฟเคี่ยว ถ้าความดันแก๊สสูงเวลาในการเคี่ยวจะน้อย ในทางตรงกันข้ามเมื่อใช้แก๊สไปนานแล้วความดันต่ำลง ก็ต้องเพิ่มระยะเวลาในการเคี่ยวให้มากขึ้น เมื่อรู้สมการนี้แล้ว ทุกครั้งก่อนเริ่มตั้งเตาเคี่ยว จะต้องเช็กความดันแก๊สจากเครื่องวัดก่อนเป็นอันดับแรก เท่านี้ก็สามารถทราบเลยว่าต้องใช้เวลาเคี่ยวเท่าไหร่ มีตัวเลขที่ชัดเจน เลิกใช้การคาดเดาจากความรู้สึกของผู้ผลิตน้ำจิ้ม


ผลลัพธ์หลังเปลี่ยนมาใช้วิธีการใหม่นี้ คือ จำนวนน้ำจิ้มบ๊วยกอถูก Reject ลดลงมาก จนแทบไม่เหลือทำให้พนักงานไม่ต้องเสียเวลาทำงานซ้ำซ้อน ลดเวลาการทำงานลง ต้นทุนก็ไม่ต้องเพิ่ม ใช้วัตถุดิบได้คุ้มค่าไม่สูญเปล่า น้ำจิ้มที่ส่งเข้าร้านก็มีมาตรฐาน มีเกณฑ์คุณภาพที่ชัดเจน รสชาติคงที่สร้างความพอใจให้กับผู้บริโภคอีกด้วย พนักงานเองมีเวลาไปนำเสนอผลงานใหม่ๆ พัฒนางานอยู่ตลอด ไม่ต้องใช้เวลาในการแก้ปัญหาเดิมๆ ที่เกิดจากความไม่แน่นอน 


ไม่น่าเชื่อว่ากับเรื่องเล็กๆ แต่หากเราใส่ใจกับมันก็สามารถทำประโยชน์ได้ ช่วยลดความสูญเสีย แก้ไขปัญหาได้โดยไม่ต้องเสียเงินเพิ่มแม้แต่นิดเดียว ธุรกิจของคุณเองก็ปรับเปลี่ยนให้ดีขึ้นได้เช่นเดียวกัน เพียงพิจารณาซัพพลายเชนให้ลึกเพื่อหาโอกาสพัฒนาสิ่งต่างๆ ให้ดีขึ้น อย่าลืมว่าทุกธุรกิจนั้นเคยผ่านการเป็นธุรกิจขนาดเล็กสาขาเดียวมาก่อน แล้วจึงเติบโตขยับขยายสาขาเพิ่มขึ้นจนใหญ่โตทั้งนั้น คีย์เวิร์ดที่พาให้ SME ก้าวไกลก็คือประสิทธิภาพในซัพพลายเชนนั่นเอง หากคุณกำลังคาดหวังถึงผลตอบแทนที่มากขึ้นกว่าเดิม การเพิ่มคุณภาพของสินค้าเป็นสิ่งแรกที่ควรทำ สินค้าและบริการที่ดีไม่ว่าอยู่ที่ไหนคนก็จะตามไปอุดหนุนเสมอ คุณไม่อาจคาดหวังถึงผลลัพธ์ที่เปลี่ยนแปลงหากยังใช้วิธีการเดิมๆ
 
ประสิทธิภาพเกิดได้แค่มุมมองเปลี่ยน เริ่มต้นเปลี่ยนจากตัวคุณ

RECCOMMEND: MARKETING

ฟังก์ชันแยกบิลจ่ายได้ เทรนด์ใหม่ที่ร้านอาหารต้องรู้ ลูกค้ายุคใหม่อยากจ่ายเท่าที่กินโดยไม่รู้สึกผิด

ไม่ใช่เรื่องต้องรู้สึกผิดอีกต่อไป หากไปกินอาหารกับเพื่อน แล้วอยากแยกรับผิดชอบจ่ายเฉพาะในส่วนที่ตัวเองสั่ง เทรนด์พฤติกรรมใหม่ของผู้บริโภคชาวอเมริกาที่หันมาใช้แอปพลิเคชันแยกจ่ายบิลกันมากขึ้น

ต่อยอดธุรกิจยังไงให้อยู่นานและขายดี กรณีศึกษา ALDI ซูเปอร์มาร์เก็ต ที่ถือกำเนิดมาตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2

ALDI คือ ซูเปอร์มาร์เก็ตสัญญาติเยอรมัน มีต้นกำเนิดมาจาก 2 พี่น้องตระกูล Albrecht คือ “คาร์ล และ ธีโอ อัลเบรชต์” ที่รับช่วงต่อกิจการมาจากแม่ของเขาที่เปิดร้านขายของชำตั้งแต่ยุคก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2