8 มิติสู่ความสำเร็จให้ธุรกิจ

 


เรื่อง กองบรรณาธิการ

    ในโลกธุรกิจไม่มีใครอยากล้มเหลว หลายคนจึงอยากรู้แล้วว่า ต้องทำอย่างไรถึงจะขยับเข้าใกล้ความสำเร็จได้ ซึ่งจริงๆ แล้วองค์ประกอบของความสำเร็จนั้นมีอยู่หลายปัจจัยด้วยกัน โดยเฉพาะใน 8 มิติต่อไปนี้ เรียกได้ว่าเป็นองค์ประกอบของความสำเร็จ ที่ผ่านการการันตีโดยสถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจ ศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งได้ร่วมกับธนาคารไทยพาณิชย์ ทำการพิสูจน์มาแล้วว่า ธุรกิจที่ขับเคลื่อนโดยมีองค์ประกอบของความสำเร็จเหล่านี้อยู่ ไม่มีคำว่าล้มเหลวอย่างแน่นอน 
        
    ฉะนั้นผู้ประกอบการใดก็ตามที่อยากจะประสบความสำเร็จ ลองเช็กตัวเองดูสิว่า ธุรกิจของคุณนั้นมีองค์ประกอบของความสำเร็จใน 8 มิตินี้อยู่กี่ข้อด้วยกัน ต้องบอกเลยว่า หากยิ่งมีมาก โอกาสที่จะไปถึงความสำเร็จก็มีสูงขึ้นเท่านั้น



1. องค์กรที่มีการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน (Sustainable Business Practice) 

    ธุรกิจที่จะประสบความสำเร็จได้ ต้องมองถึงเรื่องของความยั่งยืนด้วย และสิ่งที่จะทำให้องค์กรธุรกิจนั้นๆ เกิดความยั่งยืนคือ ต้องมีการสร้างผลกระทบทางบวกต่อด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมในระยะยาว โดยมีการนำประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ สังคม และความเป็นอยู่ที่ดีของคนเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในกลยุทธ์การดำเนินงาน



2. องค์กรที่มีการสร้างสรรค์นวัตกรรม (Innovative Enterprise) 

    ยุคนี้ธุรกิจใดก็ตามที่สร้างความแตกต่างด้วย นวัตกรรม ถือว่ามีชัยไปกว่าครึ่ง ฉะนั้นองค์กรที่จะมีนวัตกรรมได้ ต้องให้ความสำคัญกับการวิจัยและพัฒนา เพื่อสร้างนวัตกรรมที่มีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่สูง มีความซับซ้อน และแตกต่างจากเทคโนโลยีที่มีอยู่ในท้องตลาด โดยบุคลากรทั้งองค์กรมีความกระตือรือร้นและมีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์นวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง รวมถึงมีการยกระดับผลิตภัณฑ์นวัตกรรมให้มีมูลค่าสูงขึ้น เพื่อสร้างความต้องการใหม่ๆ ให้ลูกค้า



3. การบริหารจัดการด้านสินค้าและบริการที่สร้างความพึงพอใจให้กับลูกค้า (Customer-Focused Product and Service)

    ด้วยภาวะการแข่งขันที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ผู้ประกอบการจำเป็นต้องพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการที่ตอบโจทย์ความต้องการ ฉะนั้นธุรกิจที่คิดจะประสบความสำเร็จจึงต้องมีสินค้าหรือบริการที่มีคุณภาพยอดเยี่ยม หรือแตกต่างโดดเด่น สามารถสร้างคุณค่าความพึงพอใจให้กับลูกค้าและมูลค่าเพิ่มให้กับองค์กรได้ ทั้งนี้ ผู้ประกอบการอาจจะต้องมีการวิจัยค้นคว้าข้อมูล องค์ความรู้ใหม่ หรือคาดการณ์แนวโน้มในอนาคต เพื่อพัฒนาสินค้าและบริการใหม่ๆ และต้องไม่ลืมที่จะติดตามและนำข้อมูลความคิดเห็น เพื่อนำกลับมาใช้พัฒนาสินค้าบริการใหม่อีกด้วย



4. การบริหารจัดการด้านการสร้างตราสินค้าและการตลาด (Branding and Marketing)

    แบรนด์และการตลาด นับว่ามีความสำคัญอย่างมากในการดำเนินธุรกิจ ฉะนั้นองค์กรธุรกิจที่คิดอยากจะสำเร็จต้องไม่ลืมทำในสิ่งเหล่านี้ โดยผู้ประกอบการต้องมีความเข้าใจตลาดและความต้องการของลูกค้า พร้อมทั้งกำหนดตลาดเป้าหมายและจุดยืนจากจุดแข็งขององค์กร รวมถึงมี Brand Value Proposition ที่แตกต่างและชัดเจน เพื่อสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขัน และพร้อมรับการเปลี่ยนแปลง นำไปสู่โอกาสสร้างความยั่งยืนให้กับธุรกิจ นอกจากนี้ ยังต้องบูรณาการกลยุทธ์การตลาดและการสื่อสารตราสินค้า เพื่อสร้างประโยชน์ได้อย่างสอดคล้องกัน  


    
5. การบริหารจัดการด้านการปฏิบัติการ (Operational Best Practice) 

    ความสำเร็จทางธุรกิจที่จะเกิดขึ้นได้ งานหลังบ้านต้องมีประสิทธิภาพด้วย ฉะนั้นผู้ประกอบการต้องมีการกำหนดวิธีปฏิบัติการเป็นลายลักษณ์อักษรในทุกกระบวนการ มีการฝึกอบรมและทดสอบวิธีการปฏิบัติการ มีการตรวจสอบและพัฒนาวิธีการปฏิบัติการอย่างต่อเนื่อง สามารถตอบสนองการเปลี่ยนแปลงของกระบวนการหรือผลิตสินค้าใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ พนักงานในองค์กรสามารถคิดค้นหานวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงได้ เป็นต้น 

    
6. การบริหารจัดการด้านการเงิน (Financial Strength) 

    เรื่องของการเงิน ถือเป็นหัวใจหลักของธุรกิจ หากธุรกิจไม่สามารถบริหารจัดการทางการเงินได้ โอกาสที่จะล้มเหลวก็มีสูง ผู้ประกอบการจำเป็นต้องมีความเข้าใจพื้นฐานของธุรกิจและวงจรธุรกิจให้เป็นอย่างดี เพื่อให้สามารถจัดการสภาพคล่องทางธุรกิจ และบริหารวงจรเงินสดของกิจการได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีระบบที่สามารถประเมินมูลค่าของกระแสเงินสดและวิเคราะห์มูลค่ากระแสเงินสดได้ รวมถึงมีวิธีที่จะวิเคราะห์ความเสี่ยงของธุรกิจให้อยู่รอดได้ด้วย

    
7. การบริหารจัดการด้านบุคลากร (People Excellence) 

    เมื่อพนักงานคือ ส่วนหนึ่งของความสำเร็จ ฉะนั้นธุรกิจที่จะสำเร็จได้ จึงต้องให้ความสำคัญกับเรื่องของคนเป็นอย่างมาก โดยองค์กรจะต้องมีระบบและกลยุทธ์ที่ดีในการดึงดูด สรรหา และคัดเลือกบุคลากรที่มีคุณภาพ ต้องรู้จักพัฒนาบุคลากรให้มีความสามารถสูงและทำงานได้เต็มประสิทธิภาพ โดยผู้นำองค์กรจะต้องเป็นผู้ลงมือสร้างกลยุทธ์และระบบบริหารการจัดการบุคลากรด้วยตนเอง และมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาและรักษาบุคลากรในองค์กร

    
8. การสร้างธุรกิจด้วยพลังแห่งการเป็นผู้ประกอบการ (Entrepreneurship)

    ท้ายที่สุดแล้ว ความสำเร็จจะเกิดขึ้นได้หรือไม่ ตัวผู้ประกอบการคือส่วนสำคัญที่สุด เพราะพลังแห่งการเป็นผู้ประกอบการจะนำพาให้องค์กรธุรกิจเดินไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคง ซึ่งพลังแห่งการเป็นผู้ประกอบการนั้นจะสะท้อนออกมาให้เห็นผ่านความคิดริเริ่ม และแสวงหาช่องทางการทำธุรกิจอย่างสม่ำเสมอ มีความมุ่งมั่นในการต่อสู้และแก้ไขปัญหา สามารถบริหารความเสี่ยงได้ดี และที่สำคัญมีความเป็นผู้นำที่โดดเด่นในการนำพาธุรกิจไปสู่ความสำเร็จ


www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: MARKETING

วิกฤตสูงวัย เด็กเกิดใหม่น้อย กรณีศึกษาธุรกิจญี่ปุ่น ปรับตัวผลิตสินค้าผู้ใหญ่แทนสินค้าเด็ก

Oji Holdings ผู้ผลิตผ้าอ้อมในญี่ปุ่นประกาศยุติผลิตผ้าอ้อมเด็ก หันไปเพิ่มปริมาณการผลิตผ้าอ้อมผู้ใหญ่แทน สาเหตุมาจากอัตราการเกิดที่ลดลงและจำนวนประชากรสูงวัยของญี่ปุ่นที่เพิ่มสูงขึ้น

โอกาสโกอินเตอร์ของแบรนด์ไทย ทำงานกับนักธุรกิจระดับโลก งาน Gifts & Premium Fair ฮ่องกง

ฮ่องกงขึ้นชื่อว่าเป็นดินแดนที่มีการจัดงานแสดงสินค้าที่ยิ่งใหญ่ของโลกแห่งหนึ่ง และหนึ่งในนั้นคืองานแสดงสินค้าของขวัญและของพรีเมียมภายใต้ชื่อ Hong Kong Gifts & Premium Fair ซึ่งกำลังจะมีขึ้นระหว่างวันที่ 27-30 เมษายน 2024