เช็กสุขภาพธุรกิจด้วยบัญญัติ 10 ประการ

        


เรื่อง : Lean Supply Chain by TMB



    ถ้าเปรียบธุรกิจเป็นคน ธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ ได้กำไรดี ก็เหมือนคนที่แข็งแรงสุขภาพดี เป็นที่พึ่งพาให้กับผู้ประกอบการและพนักงานได้ ส่วนธุรกิจที่การจัดการไม่ดี มีปัญหาให้พนักงานต้องคอยแก้อยู่เสมอๆ ก็เปรียบได้กับธุรกิจที่ยังไม่แข็งแรงเพียงพอ ถ้าคนยังเข้าคอร์สฟิตร่างกายได้ ธุรกิจเองก็ทำได้เช่นกัน คอร์สฟิตธุรกิจให้แข็งแรงมีชื่อเรียกว่า บัญญัติ 10 ประการของ Lean จะเป็นอย่างไรต้องทำอะไรบ้างไปดูกันได้เลย


    1. กำจัดความสูญเปล่า (Eliminate Waste) สิ่งใดที่ไม่มีคุณค่าต่อลูกค้า ไม่ว่าจะอยู่ในสินค้า หรือกระบวนการทำงานถือเป็นความสูญเปล่า ขจัดทิ้งได้ด้วยหลัก 5 ส คือ สะสาง (Seiri) สะดวก (Seiton) สะอาด (Seiso) สุขลักษณะ (Seiketsu) และสร้างนิสัย (Shitsuke) 


    2. ลดสินค้าคงคลัง (Minimize Inventory) ผลิตสินค้าตามจำนวนที่ต้องการให้เสร็จในเวลาที่ต้องการตามหลัก Just in Time โดยใช้ความต้องการของลูกค้าเป็นเครื่องกำหนด ทำให้สินค้าคงคลังที่ไม่จำเป็นกลายเป็นศูนย์ (Zero Inventory) เงินทุนก็ไม่จม


    3. สร้างวิธีทำงานที่ลื่นไหล (Maximize Flow) ทุกส่วนของการผลิตควรเป็นไปอย่างต่อเนื่อง ไม่ติดขัด ไม่มีการรอคอย ไม่มีกระบวนการย้อนกลับหรือซ้ำซ้อน เมื่อทำงานได้ราบรื่นงานเสร็จเร็วขึ้นก็ทำได้มากขึ้น


    4. ยึดความต้องการของลูกค้า (Pull Production from Customer Demand) งานจะเริ่มเมื่อลูกค้ามีออร์เดอร์สินค้า ทำการผลิตตามคำสั่งของลูกค้าเท่านั้น ทำให้วัตถุดิบไม่สูญเปล่า จะเห็นได้ว่าร้านอาหารส่วนใหญ่ยึดหลักการนี้


    5. หาสิ่งที่ลูกค้าต้องการให้เจอ (Meet Customer Requirements) คนจำนวนมากยอมจ่ายแพงเพื่อซื้อ Macbook เพราะต้องการใช้ประโยชน์จากประสิทธิภาพของมัน ลูกค้าของคุณก็เช่นกันเมื่อมองเห็นถึงคุณค่าในสินค้าและบริการเขาจึงซื้อ ค้นให้เจอก่อนว่าสิ่งที่ลูกค้าต้องการที่แท้จริงคืออะไร


    6. ทำสิ่งที่ถูกต้องในครั้งแรก (Do it Right the First Time) ใช้เวลาวางแผนให้รอบคอบก่อนทำ ดีกว่าต้องเสียเวลาทำใหม่เมื่อเกิดความผิดพลาด เพราะส่งผลต่อความเชื่อมั่นของลูกค้า First Impression เป็นสิ่งสำคัญ


    7. มอบอำนาจให้พนักงาน (Empower Workers) ผู้ปฏิบัติงานอาจเข้าใจในปัญหาของงานมากกว่าผู้ประกอบการหรือผู้บริหาร ให้อำนาจพวกเขาในการตัดสินใจแก้ปัญหาตามที่สมควร หรือลองให้พวกเขาเสนอวิธีการใหม่ๆ ในการทำงานบ้าง


    8. ออกแบบการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว (Design for Rapid Changeover) จัดเวิร์กช็อปให้ทีมงานช่วยกันระดมสมองหาปัญหาและวิธีแก้ที่ส่งผลกระทบต่อแต่ละฝ่ายน้อยที่สุดแล้วนำวิธีที่ได้ไปใช้จริง วิธีการนี้จะทำให้พนักงานเข้าใจปัญหาขององค์กรร่วมกันได้ง่าย


    9. เป็นหุ้นส่วนกับซัพพลายเออร์ (Partner with Suppliers) ปัญหาในการทำงานอาจมาจากความไม่เชี่ยวชาญของพนักงาน ซึ่งแก้ได้โดยอาศัยความเชี่ยวชาญของซัพพลายเออร์ แลกเปลี่ยนข้อมูลกันเหมือนเป็นส่วนหนึ่งของบริษัท แก้ปัญหาร่วมกันและได้ผลประโยชน์ร่วมกัน


    10. สร้างวัฒนธรรมการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง (Create a Culture of Continuous Improvement) หัวใจหลักของ Lean คือการพัฒนาอย่างสม่ำเสมอเพราะปัญหาสามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา
 

    บัญญัติ 10 ข้อนี้ ไม่ใช่กฎตายตัวที่ต้องปฏิบัติตาม แต่สามารถหยิบบางข้อมาปรับใช้ให้เหมาะสมกับธุรกิจ เหมือนอย่างบริษัท มหานครไรซ์ ผู้ผลิตข้าวที่มีลูกค้าหลักเป็นร้านอาหาร โรงแรม และผลิตภัณฑ์สำเร็จรูป มีบริการส่งสินค้าให้ภายใน 24 ชั่วโมง สามารถเลือกเวลาและสถานที่ที่จะให้ไปส่งได้ เพราะต้องทำงานแข่งกับเวลา ทีมมหานครไรซ์จึงได้ตั้งเป้าว่า จะลดเวลาการผลิตให้เหลือน้อยที่สุดให้ได้


    ปัญหาของมหานครไรซ์ คือ ขั้นตอนการบรรจุที่ใช้พนักงาน 5-6 คน ต้องทำงานทั้งวันจนไม่มีเวลาพักจึงจะแพ็กสินค้าได้ทันส่ง แต่เพียงแค่ 1-2 ชั่วโมงแรก พนักงานก็เกิดความเมื่อยล้า เพราะต้องก้มลงเก็บถุงข้าวที่เครื่องบรรจุทิ้งหล่นลงพื้นอยู่ตลอด ยังมีปัญหาเรื่องกล่องที่เตรียมไว้ใช้แพ็กข้าว เมื่อใช้จริงมีการชำรุดเพราะสเปกไม่ถูกต้องรับน้ำหนักข้าวไม่ไหว 


    พอรู้สาเหตุแล้วทางทีมเรียกซัพพลายเออร์เข้ามาในโรงงาน ทดลองชั่งข้าวดูว่ากล่องขนาดใดที่เหมาะสมในการแพ็กข้าวที่สุด ส่วนเรื่องที่ต้องคอยก้มหยิบถุงข้าวบนพื้นก็เปลี่ยนมาใช้ Free Roller เป็นสายพานที่จะลำเลียงข้าวมาเป็นถุงๆ พนักงานก็เพียงหยิบข้าวใส่กล่องให้เต็มแล้วดันเข้าเครื่องแปะเทปเพื่อปิดกล่องสินค้าก็พร้อมส่ง


    หลังการปรับเปลี่ยนวิธีการทำงานช่วยประหยัดเวลาและแรงคน จากเดิมที่ใช้พนักงาน 6 คน ลดเหลือ 5 คน พนักงานเคลื่อนย้ายตัวเองน้อยลงทำงานได้สบายขึ้น ลดความเมื่อยล้า มีประสิทธิภาพมากขึ้น เมื่อการทำงานลื่นไหลก็ทำตามออร์เดอร์ลูกค้าได้ไวขึ้น
 

    จากเดิมที่แพ็กได้ 60 กล่องต่อชั่วโมง กลายเป็น 170 กล่องต่อชั่วโมง มากขึ้นเกือบ 3 เท่า แค่ปรับเปลี่ยนเพียงเล็กน้อยสามารถแก้ปัญหาใหญ่ๆ ได้อย่างง่ายดาย เพิ่มประสิทธิภาพได้เกินคาด เมื่อส่งของเร็วก็สร้างความพึงพอใจให้กับลูกค้ามากกว่าเดิม ประสิทธิภาพเกิดได้แค่มุมมองเปลี่ยน ทุกอย่างที่คิดว่าดีอยู่แล้วสามารถเปลี่ยนให้ดียิ่งขึ้นไปอีก เปลี่ยนเพื่อธุรกิจที่แข็งแรง 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: MARKETING

วิกฤตสูงวัย เด็กเกิดใหม่น้อย กรณีศึกษาธุรกิจญี่ปุ่น ปรับตัวผลิตสินค้าผู้ใหญ่แทนสินค้าเด็ก

Oji Holdings ผู้ผลิตผ้าอ้อมในญี่ปุ่นประกาศยุติผลิตผ้าอ้อมเด็ก หันไปเพิ่มปริมาณการผลิตผ้าอ้อมผู้ใหญ่แทน สาเหตุมาจากอัตราการเกิดที่ลดลงและจำนวนประชากรสูงวัยของญี่ปุ่นที่เพิ่มสูงขึ้น

โอกาสโกอินเตอร์ของแบรนด์ไทย ทำงานกับนักธุรกิจระดับโลก งาน Gifts & Premium Fair ฮ่องกง

ฮ่องกงขึ้นชื่อว่าเป็นดินแดนที่มีการจัดงานแสดงสินค้าที่ยิ่งใหญ่ของโลกแห่งหนึ่ง และหนึ่งในนั้นคืองานแสดงสินค้าของขวัญและของพรีเมียมภายใต้ชื่อ Hong Kong Gifts & Premium Fair ซึ่งกำลังจะมีขึ้นระหว่างวันที่ 27-30 เมษายน 2024