“นัดบอดกับหนังสือ” การตลาดแนว ๆ ของร้านหนังสือในออสเตรเลีย

​TEXT : วิมาลี วิวัฒนกุลพาณิชย์

    คงต้องยอมรับว่าธุรกิจร้านหนังสือในบ้านเราซบเซาลงอย่างมากหลังจากที่การเข้าถึงอินเตอร์เน็ตเป็นไปอย่างง่ายดาย และผู้คนเริ่มเบนความสนใจจากหน้ากระดาษไปสู่หน้าจอ อย่างไรก็ตาม บรรยากาศในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติที่ยังเนืองแน่นด้วยนักอ่าน ก็ไม่ทำให้รู้สึกสิ้นหวังนัก อย่างน้อยก็ทำให้รู้ว่ามีคนอีกจำนวนมากที่ยังรักจะเสพตัวอักษรผ่านหมึกพิมพ์บนหน้ากระดาษ แต่นั่นแหละ ร้านหนังสือที่ดำรงอยู่ได้มักเป็นร้านขนาดใหญ่มีสายป่านยาว ส่วนร้านเล็ก ๆ ก็ดิ้นรนกันไป พยายามงัดทุกกลยุทธ์มาใช้เพื่อดึงความสนใจให้ลูกค้าเดินเข้าร้าน


Cr.wowamazing.com

    ร้านหนังสือชื่อ Elizabeth’s Bookshop ซึ่งมี 6 สาขาในเมืองใหญ่ของออสเตรเลีย แต่ที่สาขาซิดนีย์ ซึ่งตั้งอยู่บนถนนคิง ย่านนิวทาวน์มีวิธีเพิ่มความสนใจให้ลูกค้าด้วยการจัด Blind Date Books คือเป็นมุมไว้สำหรับลูกค้ามานัดบอดกับหนังสือ หนังสือที่ถูกคัดเลือกมาจะถูกห่อหุ้มด้วยกระดาษสีน้ำตาลผูกริบบิ้นเรียบร้อย บนกระดาษห่อเขียนด้วยลายมือระบุสั้น ๆ ว่าเป็นหนังสือแนวไหน และมีคีเวิร์ดเพิ่มเติมเกี่ยวกับเนื้อหาภายในเล่ม ลูกค้าที่มาเลือกซื้อจะไม่รู้ชื่อเรื่องหรือแม้กระทั่งชื่อนักเขียน เรียกว่าเป็นการสุ่มเลือกล้วน ๆ 

    ผู้จัดการร้านบอกว่าเป็นการดึงลูกค้า(คนอ่าน) ให้ออกจากวงวรรณกรรมที่ถนัดหรือชื่นชอบ และไม่เลือกหนังสือเพราะปก “ลูกค้าหลายคนอาจเลือกหนังสือไม่ถูก ไม่รู้จะอ่านอะไร ส่วนใหญ่ก็จะตัดสินจากปกหนังสือ การห่อหนังสือไม่ให้เห็นปกทำให้ตัดปัญหาตรงนี้ไป และยังเป็นการเปิดโอกาสคนอ่านได้ลองอะไรใหม่ ๆ แทนการเลือกหนังสือแนวเดิม ๆ ซ้ำ ๆ ที่คุ้นเคย” ผู้จัดการยังบอกอีกว่าลูกค้าสามารถซื้อ Blind Date Books ไปอ่านเองหรือเป็นของขวัญก็ได้ เหมือนการเล่นเกมสนุก ๆ เพิ่มความตื่นเต้นเพราะผู้ให้ก็ไม่รู้ว่าซื้อหนังสืออะไรมา ส่วนผู้รับต่างก็ได้ลุ้น


Cr.lifehacker.com.au

    ทางร้านวางจำหน่ายทั้งหนังสือเปิดเผยปกทั่วไป และ Blind Date Books ดูเหมือนกิจกรรมนัดบอดกับหนังสือจะได้รับความสนใจมากกว่าหนังสือทั่วไปบนชั้น ทั้งนี้ พนักงานในร้านจะเป็นผู้เลือกหนังสือมาห่อปก โดยราคาหนังสือจะไม่แพงมาก อยู่ที่เล่มละ 7-10 เหรียญ เมื่อซื้อไปแล้วพบว่าเป็นหนังสือที่เคยอ่านหรือมีอยู่แล้ว ลูกค้าสามารถนำกลับมาคืนได้ภายใน 7 วัน 

    ถือเป็นอีกกลยุทธ์เพิ่มยอดขายที่น่าสนใจไม่น้อย  แต่ส่วนหนึ่งที่ทำให้ผลตอบรับของกลยุทธ์นี้ดี อาจเป็นด้วยร้านตั้งอยู่ในย่านนิวทาวน์ ใกล้มหาวิทยาลัยซิดนีย์ แหล่งรวมปัญญาชนและชาวฮิปสเตอร์ที่ชอบอะไรแนว ๆ นี้อยู่แล้ว  ถ้าเป็นบ้านเราล่ะ กลยุทธ์นี้จะใช้ได้ผลไหม และควรใช้กับร้านหนังสือในย่านไหนดีนะ

RECCOMMEND: MARKETING

วิกฤตสูงวัย เด็กเกิดใหม่น้อย กรณีศึกษาธุรกิจญี่ปุ่น ปรับตัวผลิตสินค้าผู้ใหญ่แทนสินค้าเด็ก

Oji Holdings ผู้ผลิตผ้าอ้อมในญี่ปุ่นประกาศยุติผลิตผ้าอ้อมเด็ก หันไปเพิ่มปริมาณการผลิตผ้าอ้อมผู้ใหญ่แทน สาเหตุมาจากอัตราการเกิดที่ลดลงและจำนวนประชากรสูงวัยของญี่ปุ่นที่เพิ่มสูงขึ้น

โอกาสโกอินเตอร์ของแบรนด์ไทย ทำงานกับนักธุรกิจระดับโลก งาน Gifts & Premium Fair ฮ่องกง

ฮ่องกงขึ้นชื่อว่าเป็นดินแดนที่มีการจัดงานแสดงสินค้าที่ยิ่งใหญ่ของโลกแห่งหนึ่ง และหนึ่งในนั้นคืองานแสดงสินค้าของขวัญและของพรีเมียมภายใต้ชื่อ Hong Kong Gifts & Premium Fair ซึ่งกำลังจะมีขึ้นระหว่างวันที่ 27-30 เมษายน 2024