​อี-คอมเมิร์ซพ่นพิษ ค้าปลีกสหรัฐฯปิดตัวระนาว

TEXT : วิมาลี วิวัฒนกุลพาณิชย์

    เมื่อเร็ว ๆ นี้มีข่าวห้างค้าปลีกรายใหญ่ของสหรัฐฯ เจซี เพนนี เตรียมปิดร้านประมาณ 140 แห่งทั่วประเทศโดย ไม่ใช่เจซี เพนนีที่เดียวแต่ห้างอื่น เช่น เมซี่  วอลมาร์ท เซียร์ส และโคห์ลก็ทะยอยปิดมาก่อนหน้านี้แล้ว ซึ่งกระแสการปิดร้านของห้างต่าง ๆ เกิดขึ้นในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา อย่างเมซี่มีแผนจะปิดร้าน 100 แห่งหรือประมาณ 15% ของร้านค้าที่มีทั้งหมดภายในปี 2017 ขณะที่เซียร์สประกาศปิดอย่างน้อย 30 ร้านภายในเดือนเม.ย.นี้ และจะทะยอยปิดเพิ่ม

    อาร์เจ ฮอตโตวี่ นักวางกลยุทธ์จากบริษัทมอร์นิ่งสตาร์ให้ความเห็นว่าปี 2017 จะเป็นปีที่ลำบากสุดสำหรับผู้ค้าปลีก สินค้าที่ผู้บริโภคนิยมเลือกซื้อในห้าง เช่น เสื้อผ้า เครื่องแต่งตัว หรือสินค้าเกี่ยวกับสุขภาพจะสูญเสียส่วนแบ่งให้กับตลาดออนไลน์ และจะเหลือสินค้าไม่กี่อย่างที่ยังขายในห้าง อาทิ อาหารสด อาหารแห้ง ของใช้กระจุกกระจิก และสินค้าบางอย่างที่ต้องลอง ส่วนร้านค้าปลีกที่อยู่รอดจะเป็นร้านสะดวกซื้อ และร้านขายยา



    สำหรับสาเหตุหลัก ๆ มาจากการแพร่หลายของอี-คอมเมิร์ซ ส่งผลต่อการเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภคจากที่เคยเดินเข้าห้างเข้าร้าน ก็เปลี่ยนมาสั่งซื้อทางออนไลน์มากขึ้น  ซึ่งเทรนด์แบบบนี้ไม่มีแนวโน้มลดน้อยลง มีแต่จะมากขึ้น ๆ ระบบการค้าบนฝ่ามือที่เกิดขึ้นได้ทุกที่ ทุกเวลาทำให้ผู้บริโภคไม่ต้องเสียเวลาเดินทาง ผลคือ foot traffic การเดินห้างของลูกค้าน้อยลง ขณะที่ยอดขายออนไลน์เพิ่มสูงขึ้น คิดเป็น 13% ของยอดค้าปลีกทั้งหมด

    อีกสาเหตุหนึ่งคือทำเลที่ตั้งของห้าง สาขาชานเมืองจะมีปัญหาเพราะคนหนุ่มสาวชอบเข้าเมืองมากกว่า ดูเหมือนจำนวนห้างที่มีมากเกินไปทำให้เกิดปัญหาดีมานด์-ซัพพลายที่ไม่สมดุล รายงานระบุ แม้ร้านต่าง ๆ จะปิดไปจำนวนมาก แต่จำนวนร้านที่เหลืออยู่ก็ยังจัดว่ามากเกิน ถ้าให้แบ่งพื้นที่ห้าง/คน อเมริกาจะได้มากสุดโดย 1 คนครองพื้นที่ห้าง 23.5 ตารางฟุต ขณะที่แคนาดา และออสเตรเลียครอง 16.4 และ 11.1 ตารางฟุตต่อคน 

    นอกนั้นก็เป็นปัญหาจากร้านเอง เช่น ออกแบบสินค้าไม่โดนใจตลาด โดยเฉพาะธุรกิจเสื้อผ้าที่วัยรุ่นสมัยนี้หันไปอุดหนุน fast fashion อย่างร้าน H & M และ Zara  กันเสียส่วนใหญ่ ร้านเสื้อผ้าที่เคยเป็นขวัญใจของวัยรุ่นอเมริกัน เช่น  Abercrombie & Fitch ปิดร้านไป 180 สาขา American Eagles 150 แห่ง และร้านกระเป๋า Coach 70 สาขา ช่วงระหว่างปี 2015 จนถึงตอนนี้ ร้านค้าปลีกแบรนด์ดังในสหรัฐฯทะยอยปิดตัวไปแล้วไม่ต่ำกว่า 6,000 ร้าน 

    ตลอดเวลาที่ผ่านมา เศรษฐกิจอเมริกาขับเคลื่อนด้วยการใช้จ่ายของประชากรที่เป็นชนชั้นกลาง แต่ด้วยสภาวะเศรษฐกิจที่ไม่เฟื่องฟูนักในปัจจุบัน ทำให้ชนชั้นกลางมีรายได้เพียงพอในการใช้จ่ายแค่เดือนต่อเดือน จึงไม่อยู่ในสถานะที่ฟุ่มเฟือยได้ ส่วนคนที่มีกำลังซื้อก็ไม่อยู่ในอารมณ์ที่จะจับจ่าย บวกกับสถานการณ์ทางการเมืองหลังโดนัลด์ ทรัมป์ขึ้นเป็นผู้นำทำให้ชาวอเมริกันเกิดความรู้สึกไม่มั่นคง

    สิ่งที่เกิดขึ้นในอเมริกา ผู้ประกอบการอย่าคิดว่าเป็นเรื่องไกลตัว เมื่ออเมริกาจาม เราอาจติดหวัดได้ อันนี้พูดถึงในแง่ของการส่งออก  เพื่อนของผู้เขียนซึ่งส่งออกสินค้าเซรามิกไปยังหลายประเทศทั่วโลก สวนสนุกดิสนีย์แลนด์ซึ่งเป็นลูกค้ารายหนึ่งขอระงับคำสั่งซื้อไม่มีกำหนด ทั้งที่ออร์เดอร์นั้น สั่งกันล่วงหน้าข้ามปี แต่ลูกค้าขอชะลอไว้ก่อน เพราะสินค้าล้อตเก่าขายไม่ออก ออร์เดอร์หลายสิบล้านบาทที่น่าจะได้เป็นอันว่าหายวับอย่างน่าเสียดาย 


ข้อมูล:
www.businessinsider.com/stores-closing-macys-kohls-walmart-sears-2016-12
www.cnbc.com/2015/01/09/retailers-are-closing-up-shop-heres-why.html
www.zerohedge.com/news/2015-05-02/major-us-retailers-are-closing-more-6000-stores

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: MARKETING

วิกฤตสูงวัย เด็กเกิดใหม่น้อย กรณีศึกษาธุรกิจญี่ปุ่น ปรับตัวผลิตสินค้าผู้ใหญ่แทนสินค้าเด็ก

Oji Holdings ผู้ผลิตผ้าอ้อมในญี่ปุ่นประกาศยุติผลิตผ้าอ้อมเด็ก หันไปเพิ่มปริมาณการผลิตผ้าอ้อมผู้ใหญ่แทน สาเหตุมาจากอัตราการเกิดที่ลดลงและจำนวนประชากรสูงวัยของญี่ปุ่นที่เพิ่มสูงขึ้น

โอกาสโกอินเตอร์ของแบรนด์ไทย ทำงานกับนักธุรกิจระดับโลก งาน Gifts & Premium Fair ฮ่องกง

ฮ่องกงขึ้นชื่อว่าเป็นดินแดนที่มีการจัดงานแสดงสินค้าที่ยิ่งใหญ่ของโลกแห่งหนึ่ง และหนึ่งในนั้นคืองานแสดงสินค้าของขวัญและของพรีเมียมภายใต้ชื่อ Hong Kong Gifts & Premium Fair ซึ่งกำลังจะมีขึ้นระหว่างวันที่ 27-30 เมษายน 2024