ตลาดวิกผมญี่ปุ่นสะเทือน...เมื่อทัศนคติผู้บริโภคเปลี่ยน

TEXT : วิมาลี วิวัฒนกุลพาณิชย์

    
    การเปลี่ยนแปลงคือนิรันดร์ ประโยคนี้ใช้ได้กับทุกวงการไม่เว้นกระทั่งในโลกของการทำธุรกิจ ดูตัวอย่างธุรกิจถ่ายภาพ จากกล้องฟิล์มเปลี่ยนเป็นกล้องดิจิตอล  หรือวงการสื่อที่เริ่มเปลี่ยนจากสื่อสิ่งพิมพ์ไปสู่การนำเสนอเนื้อหาผ่านอินเตอร์เน็ต ยังไม่รวมธุรกิจต่าง ๆ ที่แปรเปลี่ยนไปตามกระแสเศรษฐกิจ ธุรกิจวิกผมในญี่ปุ่นเองก็เช่นกัน การสวมวิกผมโดยเฉพาะในกลุ่มชายวัยกลางคนที่เส้นผมเริ่มร่อยหรอถือเป็นวัฒนธรรมอย่างหนึ่งเลยก็ว่าได้ ส่งผลให้ตลาดวิกผมในญี่ปุ่นนั้นเติบโตทำรายได้งดงามมาแต่ไหนแต่ไหน โดยมีแบรนด์ใหญ่ 2 รายครองตลาดอยู่ ได้แก่ Aderans กับ Artnature

    Aderans นั้นเคยศึกษาตลาดพบว่า 18.35% ของชายญี่ปุ่นที่เป็นผู้ใหญ่หัวล้านหรือมีแนวโน้มจะล้าน วิกผมจึงกลายเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับชายเหล่านั้น อย่างไรก็ตาม เมื่อไม่กี่ปีมานี้ เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นในอุตสาหกรรมวิกผมญี่ปุ่น ส่งผลให้ยอดขายของ Aderans ลดลง ขณะที่ Artnature เองก็ตกอยู่ในสภาพที่ไม่ต่างกัน โดยการเปลี่ยนแปลงที่ว่าเกิดจากหลายปัจจัย



     อย่างแรกคือทัศนคติของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป ผลการสำรวจของบริษัท Recruit Lifestyle เมื่อปีที่แล้วพบว่าประชาชนโดยเฉพาะเพศชายในวัย 40 ปีขึ้นไป แม้จะมีความกังวลเกี่ยวกับปัญหาผมบาง แต่ก็ไม่ทุกข์ร้อนมากนักเพราะได้เปลี่ยนความคิด ทำใจยอมรับและไม่คิดปกปิดด้วยวิกอีกต่อไป วิธีแก้ปัญหาของหลายคนคือเปลี่ยนทรงผมเป็นสกินเฮด หรือไม่ก็โกนศีรษะให้ล้านเลี่ยนไปเลย ซึ่งเทรนด์สกินเฮดหรือโกนหัวเริ่มเห็นในกลุ่มผู้มีชื่อเสียงทางทีวีบ้างแล้ว

    อีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ตลาดวิกผมที่เคยมีบริษัทใหญ่ยึดหัวหาดแค่ 2 เจ้าเปลี่ยนไปก็คือมีบริษัทวิกผมหน้าใหม่รายย่อยเข้ามาทาบรัศมี ทำให้เกิดการแข่งขันสูงขึ้น บริษัทใหม่ อย่าง โคบายาชิ ฟาร์มาซูติคอล และไดโนส เซซิลีพัฒนาผลิตภัณฑ์ได้ไม่น้อยหน้า แถมยังอาจล้ำกว่าเนื่องจากใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมชั้นสูงเข้ามาช่วย แถมดีไซน์ยังใหม่กว่า ที่สำคัญ สามารถตั้งราคาได้ถูกกว่า จากวิกผมราคาแพง วางขายเฉลี่ยนชิ้นละหมื่นเยน

    การเปลี่ยนผ่านของยุคอนาล็อกสู่ยุคดิจิตอล  Aderans และ Artnature ทำการตลาดโดยประชาสัมพันธ์สินค้าแบบดั้งเดิมมาตลอดคือซื้อโฆษณาตามสื่อต่าง ๆ โดยเน้นที่โฆษณาทางทีวี แต่ปัจจุบัน ผู้บริโภคหันมาใช้สมาร์ทโฟนกันมาก ขณะที่บริษัทรายย่อยทำการตลาดผ่านโซเชี่ยลมีเดียและอินเตอร์เน็ตอย่างคึกคัก จึงทำให้ลูกค้าเข้าหามากกว่า อีกอย่างหนึ่ง กลุ่มลูกค้ามือใหม่ที่ตัดสินใจใช้วิกเป็นครั้งแรกจะรู้สึกประหม่าหรือกระอักกระอ่วนเมื่อต้องเดินเข้าร้านจำหน่ายวิกผมที่เป็นร้านขนาดใหญ่ ตกแต่งหรูหราอลังการ พวกเขาจึงสะดวกใจที่จะเลือกซื้อทางออนไลน์มากกว่า

    แม้ตลาดวิกผมในญี่ปุ่นจะเปลี่ยนไปแต่ก็ยังถือเป็นธุรกิจที่มีศักยภาพ ขึ้นอยู่กับเจ้าของแบรนด์จะทำการตลาดอย่างไรและออกแบบกลยุทธ์อย่างไรให้ธุรกิจอยู่รอดได้ท่ามกลางการแข่งขันอันดุเดือด อย่าง Aderans ใช้วิธีขยายไลน์จากวิกผมไปยังบริการปลูกผม ต่อผม และเล็งไปที่กลุ่มลูกค้าที่เป็นผู้หญิง เนื่องจากญี่ปุ่นเป็นสังคมผู้สูงวัยและผู้หญิงมีสถานะทางสังคมดีขึ้น กลุ่มนี้จะคำนึงความสวยความงาม เมื่อสังขารร่วงโรย ผมเผ้าบางลง ก็มีแนวโน้มจะหาซื้อวิกผมมาสวมใส่ ส่วนกลุ่มลูกค้าหญิงวัยรุ่นและวัยทำงานก็น่าสนใจเพราะกลุ่มนี้ชอบใช้วิกแฟชั่นเพื่อเพิ่มสีสันในชีวิต นอกจากนั้น Aderans ยังขยายธุรกิจไปยังต่างประเทศ อเมริกา ยุโรป และเอเชีย โดยเน้นที่จีนที่วิกผมยาวสีดำได้รับความนิยมสุด 

    การปรับตัวเท่านั้นจึงจะทำให้อยู่รอดในตลาด หวังว่าความพยายามอย่างหนักที่ผ่านมาของ Aderans ยักษ์ใหญ่ในอุตสาหกรรมวิกผมญี่ปุ่นจะฝ่าฟันวิกฤติครั้งนี้ไปได้


ข้อมูล:
http://asia.nikkei.com/Business/Consumers/Japanese-wig-market-faces-upheaval?page=1
http://asia.nikkei.com/Business/Companies/Japanese-wig-maker-delivers-an-emotional-appeal-in-China


www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: MARKETING

ฟังก์ชันแยกบิลจ่ายได้ เทรนด์ใหม่ที่ร้านอาหารต้องรู้ ลูกค้ายุคใหม่อยากจ่ายเท่าที่กินโดยไม่รู้สึกผิด

ไม่ใช่เรื่องต้องรู้สึกผิดอีกต่อไป หากไปกินอาหารกับเพื่อน แล้วอยากแยกรับผิดชอบจ่ายเฉพาะในส่วนที่ตัวเองสั่ง เทรนด์พฤติกรรมใหม่ของผู้บริโภคชาวอเมริกาที่หันมาใช้แอปพลิเคชันแยกจ่ายบิลกันมากขึ้น

ต่อยอดธุรกิจยังไงให้อยู่นานและขายดี กรณีศึกษา ALDI ซูเปอร์มาร์เก็ต ที่ถือกำเนิดมาตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2

ALDI คือ ซูเปอร์มาร์เก็ตสัญญาติเยอรมัน มีต้นกำเนิดมาจาก 2 พี่น้องตระกูล Albrecht คือ “คาร์ล และ ธีโอ อัลเบรชต์” ที่รับช่วงต่อกิจการมาจากแม่ของเขาที่เปิดร้านขายของชำตั้งแต่ยุคก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2