​ผู้ประกอบการไทย กร้าว!! ฟ้องแจ็ค หม่า ละเมิดลิขสิทธิ์

​Text : ไศลธร เหมะสิขัณฑกะ






     ในยุคที่คนหันมาทำการค้าออนไลน์กันมากขึ้น มีแพลทฟอร์มร้านค้าออนไลน์เกิดขึ้นมากมาย ผู้ประกอบการนอกจากจะต้องเผชิญกับการแข่งขันโดยคู่แข่งที่ปรากฏขึ้นราวกับดอกเห็ดแล้ว อีกหนึ่งปัญหาที่ต้องระวังคือ การถูกละเมิดลิขสิทธิ์ของสินค้า ไม่ว่าจะในหรือนอกประเทศก็ตาม ล่าสุดก็มีเหตุการณ์สะเทือนตลาด e-Commerce รับยุค 4.0 เมื่อบริษัท อีไลด์ไฟร์บอล โปร จำกัด ผู้ประกอบการชาวไทยเจ้าของผลงานนวัตกรรมลูกบอลดับไฟยื่นฟ้องดำเนินคดี แจ็ค หม่า ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์อาลีบาบา ข้อหานำสินค้าลอกเลียนแบบออกขายตัดราคา เสียหายกว่า 3 พันล้านบาท 


     ภณวัชร์นันท์ ไกรมาตย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อิไลด์ ไฟร์บอล โปร จำกัด ระบุว่า เว็บไซต์อาลีบาบา และ อาลีเอกซ์เพรส ได้นำสินค้าลอกเลียนแบบยี่ห้อ AFO ออกมาขายตัดราคา โดยสินค้าดังกล่าวได้ละเมิดสิทธิบัตรของลูกบอลดับไฟซึ่งทางอีไลด์ไฟร์บอล โปร เป็นเจ้าของสิทธิบัตรแต่เพียงผู้เดียว อีกทั้งสินค้าที่ลอกเลียนแบบก็ไม่สามารถใช้งานได้จริง เมื่อลูกค้าซื้อสินค้าลอกเลียนแบบไปแล้วพบว่าไม่สามารถใช้งานได้จริงจึงหมดความเชื่อใจและยกเลิกการสั่งซื้อทำให้สินค้าของอีไลด์ไฟร์บอล โปร ได้รับผลกระทบไปด้วย จนเกิดความเสียหาย โดยบริษัทฯ ยื่นฟ้องอาลีบาบา และแจ็ค หม่า ในฐานะที่เป็นผู้กระทำการโฆษณาและจัดจำหน่ายสินค้าเลียนแบบของ AFO ในประเทศไทยและทั่วโลก

 
     อย่างไรก็ดี ก่อนหน้านี้ แจ็ค หม่า เคยเรียกร้องให้รัฐบาลจีนออกมาตรการขั้นเด็ดขาดกวาดล้างบรรดาผู้จัดจำหน่ายสินค้าปลอมให้หมด โดยเขาให้เหตุผลว่า สินค้าปลอมคือสิ่งที่บ่อนทำลายทุกอุตสาหกรรมที่ผู้ประกอบการตัวจริงต้องลงทุนลงแรงวิจัยและพัฒนาอย่างยากลำบากกว่าจะได้ผลิตภัณฑ์นั้นๆ มา นอกจากนี้ข้อมูลของ องค์กรเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาเศรษฐกิจ หรือ OECD เมื่อปี 2556 ยังระบุด้วยว่ายอดการซื้อขายสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ในตลาด e-Commerce ทั่วโลกมีมูลค่าสูงถึง 5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี โดยครอบคลุมถึงสินค้าทุกระดับโดยมีประเทศจีนเป็นแหล่งผลิตสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ที่ใหญ่ที่สุด


     ในเรื่องของการละเมิดลิขสิทธิ์หรือละเมิดสิทธิบัตรนั้น แหล่งข่าวผู้สันทัดกรณีให้คำแนะนำว่า ผู้ประกอบการ SME ที่มีสินค้าแบรนด์ของตัวเองและเป็นสินค้าที่เกิดจากความคิดสร้างสรรค์ ต้องเห็นความสำคัญของการจดสิทธิบัตร เนื่องจากผลงานที่เป็นทรัพย์สินทางปัญญานั้น ผู้ประกอบการไทยไม่น้อยเข้าใจผิดว่าการขึ้นทะเบียนลิขสิทธิ์จะคุ้มครองได้ทั้งหมด แต่ในความเป็นจริงแล้วยังไม่ใช่เพราะกฎหมายลิขสิทธิ์ไม่ได้คุ้มครองผลงานที่เกิดจากไอเดียความคิด หากมีใครทำสินค้าเลียนแบบหรือคล้ายคลึงขึ้นมาก็สามารถอ้างได้ว่าไม่ได้ลอกแต่เป็นแรงบันดาลใจ แต่การจดสิทธิบัตรจะเป็นการขึ้นทะเบียนเพื่อแสดงถึงการยืนยันความเป็นเจ้าของในไอเดียความคิดนั้นจริงๆ อย่างเป็นลายลักษณ์อักษรด้วย ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตามก็ไม่สามารถอ้างแรงบันดาลใจได้หากไม่ได้รับอนุญาตจากผู้ถือสิทธิบัตร

 
     ด้วยเหตุนี้ SME ที่มีสินค้าที่สร้างจากไอเดียจึงควรให้ความสำคัญและรีบจดสิทธิบัตรผลงานของตนเองอย่างเร็วที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อก้าวออกสู่ตลาดโลก ไม่อย่างนั้นหากมีใครทำสินค้าลอกเลียนแบบขึ้นมาแล้วผู้ที่เลียนแบบชิงจดสิทธิบัตรเสียก่อน ก็จะกลายเป็นว่าผลงานที่เกิดจากความคิดความทุ่มเททั้งหมดของเรากลายเป็นของเลียนแบบได้ในทันที


www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: MARKETING

“Grandfluencer” อินฟลูวัยเก๋า เพราะเรายังมีไฟ วัยไหนก็พร้อมมันส์ ฮาสนั่นไปกับ “คุณยายวัลย์ & น้องบูรพา”

เมื่อ Grandfluencer ลูกผสมระหว่างคำว่า “Grandparent” กับ “Influencer” จนออกมาเป็น “อินฟลูวัยเก๋า” กำลังเป็นเทรนด์ล่ามาแรง เราจึงมี Trick สำหรับผู้ประกอบการสูงวัยที่ยังมีไฟและอยากขยับมาเป็น Grandfluencer มาฝากกัน

ขายวันละล้าน แต่กำไรศูนย์ บทเรียนธุรกิจแสนแพง จาก PABLO Cheesetart ในไทย

ในโลกของธุรกิจอาหารและขนมหวาน ยอดขายวันละล้านบาทคือความฝันของผู้ประกอบการ แต่ใครจะเชื่อว่าเบื้องหลังตัวเลขมหาศาลนั้นอาจซ่อนความจริงที่ขมขื่น และนี่คือบทเรียนราคาแพงจาก PABLO Cheesetart ที่ เบียร์ ใบหยกไม่มีวันลืม

ทำคอนเทนต์ท่องเที่ยวให้เป็นธุรกิจเงินล้าน ถอดบทเรียนจาก Go Went Go และ อาสาพาไปหลง

พาคุณเจาะลึกเส้นทางธุรกิจของ Go Went Go และ อาสาพาไปหลง พร้อมถอดบทเรียนที่นำไปใช้ได้จริง และชี้ทางให้คุณเปลี่ยนคอนเทนต์ท่องเที่ยวเป็นธุรกิจที่ยั่งยืน โดยออกแบบให้เหมาะกับกลุ่มคนทำธุรกิจบนเฟซบุ๊ก