​เลือกใช้บรรจุภัณฑ์แบบไหน? ให้เหมาะกับ SME

Text : กองบรรณาธิการ


               

     บรรจุภัณฑ์เพื่อการขนส่ง หรือเรียกสั้นๆ ว่า “บรรจุภัณฑ์พร้อมส่ง” จึงเป็นอีกปัจจัยสำคัญ นอกเหนือจากตัวสินค้าที่ผู้ประกอบการต้องให้ความสนใจ เพราะนอกจากจะเป็นตัวช่วยนำส่งสินค้า รักษาสินค้าให้ถึงมือผู้บริโภคหรือลูกค้าได้ปลอดภัยแล้ว บรรจุภัณฑ์ยังสามารถช่วยสร้างภาพลักษณ์ของแบรนด์ การส่งสารต่างๆ ไปยังผู้บริโภคได้ด้วย ดังนั้น หากอยากจะเลือกใช้บรรจุภัณฑ์ขึ้นมาสักตัวจะต้องเลือกยังไง แบบไหนถึงเรียกว่าจะเหมาะกับสินค้าของเรา ลองไปดูกัน
 

รู้จักประเภทของบรรจุภัณฑ์พร้อมส่ง

     ปัจจุบันประเภทของบรรจุภัณฑ์พร้อมส่งที่นิยมใช้และรู้จักโดยทั่วไป จะแบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ด้วยกัน คือ กล่องกระดาษลูกฟูก และบรรจุภัณฑ์แบบซอง ซึ่งมีทั้งแบบเป็นกระดาษและพลาสติก


     กล่องกระดาษลูกฟูก เหมาะกับสินค้าที่ต้องการการปกป้องดูแล เพื่อไม่ให้บุบหรือแตกสลายง่าย เป็นสินค้าที่มีรูปทรงปริมาตรคือ มีความกว้าง ความยาว ความสูง ต้องการพื้นที่ในการจัดส่ง ข้อจำกัดคือ มีน้ำหนักและใช้พื้นที่ในการจัดส่ง แต่มีข้อดีคือ ช่วยปกป้องสินค้าได้ดี โดยรูปแบบกล่องลูกฟูกที่นิยมนำมาใช้เป็นบรรจุภัณฑ์เพื่อการขนส่งในปัจจุบันที่ใช้กันจะมีอยู่ 2 ประเภทใหญ่ด้วยกัน คือ กล่องฝาชนและกล่องไดคัท ซึ่งมีข้อดีข้อเสียแตกต่างกันไป กล่องฝาชนจะมีราคาถูกกว่า น้ำหนักเบากว่า กล่องไดคัทอาจมีราคาที่สูงกว่า แต่มีความสวยงามและแข็งแรงมากกว่าเช่นกัน ซึ่งจะเหมาะสำหรับสินค้าที่มีมูลค่าสูงนิดหนึ่ง
     
     ซอง เหมาะกับสินค้าที่มีแค่ 2 มิติ คือ กว้าง x ยาว หรือสินค้าที่สามารถพับและย่อได้โดยไม่บุบสลาย เช่น เสื้อผ้า ผ้าพันคอ ซึ่งซองที่นิยมใช้กันมากคือ ซองพลาสติก โดยนิยมใช้กันในหมู่ร้านค้าเสื้อผ้าออนไลน์ เพราะนอกจากจะมีน้ำหนักเบาแล้ว ทำให้ค่าขนส่งถูกลงแล้ว ซองพลาสติกยังสามารถป้องกันน้ำ การเปรอะเปื้อนให้กับสินค้าได้ด้วย โดยทุกวันนี้เพื่อให้สะดวกมากยิ่งขึ้น มีการผลิตเป็นซองพลาสติกแบบพร้อมส่ง มีช่องให้จ่าหน้าผู้ฝาก ผู้รับออกมาแล้ว

 



ซื้อได้ที่ไหน

     สามารถเลือกซื้อได้จากผู้ประกอบการธุรกิจบรรจุภัณฑ์ทั่วไป โดยปัจจุบันมีให้เลือกมากมายและหันมาเปิดตัวอยู่บนตลาดออนไลน์มากยิ่งขึ้น โดยสามารถเลือกซื้อได้ 2 วิธี คือ


     บรรจุภัณฑ์แบบสำเร็จรูป ผลิตออกมาในรูปแบบลักษณะขนาดต่างๆ ที่เป็นแบบมาตรฐาน ไม่มีลวดลายหรือตราสินค้าใดๆ ซึ่งมีราคาต่อหน่วยไม่สูงมากนัก ทั้งนี้เพื่อสร้างความสะดวกให้กับผู้ส่ง โดยเฉพาะผู้ประกอบการที่ยังมีปริมาณการจำหน่ายสินค้าไม่สูงมากนัก นอกจากจะจัดส่งธรรมดาแล้ว เรายังสามารถสร้างเอกลักษณ์ให้บรรจุภัณฑ์ดูน่าสนใจได้ง่ายๆ ด้วยการทำตราปั๊มหรือติดสติกเกอร์เป็นชื่อแบรนด์ ไปจนการตกแต่งต่างๆ หากมีเวลา


     บรรจุภัณฑ์แบบสั่งตัด ผลิตตามคำสั่งของผู้ใช้ สามารถกำหนดรูปแบบได้ตามลักษณะสินค้า รวมถึงการออกแบบตกแต่งต่างๆ เหมาะสำหรับผู้ประกอบการที่มียอดขายค่อนข้างนิ่งหรือมียอดปริมาณการใช้ที่สูง ซึ่งนอกจากจะทำให้สินค้ามีความโดดเด่นแล้ว ยังช่วยเพิ่มมูลค่าของสินค้าที่อยู่ภายใน และทำให้การขนส่งมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นด้วย เพราะถูกออกแบบมาโดยเฉพาะสำหรับสินค้านั้นๆ นอกจากนี้ ยังทำหน้าที่โฆษณา ประชาสัมพันธ์ให้กับผู้ที่พบเห็นบรรจุภัณฑ์ได้อีกด้วย โดยทั่วไปอาจมีราคาสูงกว่าบรรจุภัณฑ์พร้อมส่งแบบสำเร็จรูป แต่หากสั่งผลิตในปริมาณที่มากและลองคำนวณค่าใช้จ่ายดีๆ ราคาก็แทบจะไม่ได้แตกต่างกันเลย


     ในปัจจุบันตลาดผู้ประกอบการด้านบรรจุภัณฑ์มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้เกิดการแข่งขันด้านรูปแบบบรรจุภัณฑ์และบริการที่หลากหลาย โดยนำนวัตกรรมเทคโนโลยีต่างๆ มาใช้ เพื่ออำนวยความสะดวกให้ลูกค้า รวมถึงการหันมาจับตลาดลูกค้ารายย่อยเพิ่มมากขึ้นด้วย อันเป็นประโยชน์ให้กับ SME ได้มีทางเลือกมากขึ้น
 

จะเลือกใช้บรรจุภัณฑ์พร้อมส่งยังไงดี

     เมื่อพอทราบถึงที่มาที่ไปเรื่องราวของบรรจุภัณฑ์กันแล้ว ส่วนที่เหลือก็คือ การเลือกใช้บรรจุภัณฑ์ ซึ่งมีอยู่หลายปัจจัยที่ต้องคำนึง ได้แก่


     คุณสมบัติของสินค้า ดูก่อนว่าสินค้าเราคืออะไร ต้องการการปกป้องดูแลอย่างไรบ้าง เพื่อเลือกใช้วัสดุได้ถูกต้องและเหมาะสมกับราคา
               

      มูลค่าของสินค้า เป็นอีกปัจจัยที่สำคัญ เพราะหากสินค้าไม่ได้ราคาสูงมาก แต่เลือกใช้บรรจุภัณฑ์ที่แพงเกินไป อาจเป็นการเพิ่มต้นทุนที่ไม่คุ้มค่าการขายสินค้าก็เป็นได้ โดยเฉพาะผู้ประกอบการที่เพิ่งเริ่มต้นธุรกิจใหม่ อาจเลือกใช้บรรจุภัณฑ์ในรูปแบบสำเร็จรูปก่อนก็ได้ เพื่อทดลองตลาด
               

     รูปแบบการขนส่ง นอกจากปกป้องสินค้าได้ดีแล้ว ผู้ประกอบการเองต้องคำนึงถึงช่องทางการขนส่งที่ใช้ด้วย รวมไปถึงสภาพแวดล้อมต่างๆ แช่น หากเป็นฤดูฝนอาจต้องเพิ่มการหุ้มห่อสินค้าให้ปลอดภัยมากยิ่งขึ้น เพื่อส่งมอบให้กับลูกค้าได้ในสภาพที่ดี
 



คว้าโอกาสธุรกิจ ต่อยอดบรรจุภัณฑ์ออนไลน์
               
     หนึ่งในผู้ประกอบการด้านบรรจุภัณฑ์ ที่คว้าโอกาสจากการเติบโตของกระแสอี-คอมเมิร์ซ อย่าง ศิมาพร ธรรมถิวัธ บริษัท ดับบลิวบี บ็อกซ์ จำกัด เล่าให้ฟังว่า เดิมทีนั้นเป็นโรงงานรับผลิตกล่องลูกฟูกอยู่แล้ว โดยจะผลิตป้อนให้กับโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ เพื่อใช้ในการขนส่งสินค้า เช่น โรงงานผลิตไม้แขวนเสื้อ แต่เมื่อประมาณ 4 ปีที่แล้วธุรกิจออนไลน์เริ่มบูมขึ้น ทำให้เริ่มหันมาจับกลุ่มลูกค้ารายเล็กๆ อย่างออนไลน์มากขึ้น จนทำให้ยอดการผลิตในปัจจุบันกว่า 70 เปอร์เซ็นต์เป็นลูกค้าออนไลน์แทบทั้งหมด เป็นการแสดงให้เห็นว่าตลาดสินค้าออนไลน์เติบโตมากขึ้นจริงๆ

 
     “ปัจจุบันนี้กล่องที่เรารับผลิตมี 2 ประเภท คือ 1.กล่องพร้อมส่งสำเร็จรูปที่เป็นลักษณะเหมือนกล่องของไปรษณีย์ไทย โดยจะผลิตเป็นแบบกล่องฝาชน เพื่อประหยัดต้นทุนและน้ำหนักเบากว่า เป็นกล่องที่พ่อค้าแม่ค้าออนไลน์นิยมใช้กันมาก และ 2.กล่องสั่งตัด เรารับทำทั้งแบบไดคัทและฝาชน ผู้ประกอบการสามารถใส่โลโก้ตกแต่งกล่องให้เป็นเอกลักษณ์ของสินค้าตัวเองได้ โดยมากผู้ที่ใช้งานมักเป็นผู้ประกอบการที่ธุรกิจเติบโตไปได้ในระดับหนึ่งแล้ว เพราะมีราคาสูงกว่า”
             

     นอกจากนี้ ศิมาพรบอกเพิ่มด้วยว่า จากการที่ได้คลุกคลีกับผู้ประกอบการออนไลน์มาระยะหนึ่ง ทำให้ได้เห็นทั้งแบรนด์ที่สำเร็จและแบรนด์ที่หายไป บางแบรนด์เพิ่งจะเริ่มต้น แต่สั่งผลิตจำนวนมากต่อครั้ง บางสินค้าราคาไม่ได้สูงมาก แต่สั่งผลิตกล่องสเปกราคาสูงเกินไป ซึ่งทางบริษัทเองก็พยายามให้คำแนะนำปรึกษา เพราะอยากให้ธุรกิจเหล่านี้อยู่ได้นานๆ เพราะหากเขาอยู่ได้ นั่นหมายถึงธุรกิจบรรจุภัณฑ์ก็จะอยู่ได้ด้วยเช่นกัน

 


ค่าใช้จ่ายในการสั่งผลิตกล่องบรรจุภัณฑ์พร้อมส่ง
 
- กล่องฝาชนเริ่มต้นที่ 500 ใบ กล่องไดคัทเริ่มต้นที่ 1,000 ใบ (ต่อหนึ่งขนาด)

- ค่าบล็อกพิมพ์แบรนด์ ราคา 1,500-2,500 บาท (1 บล็อกต่อ 1 ขนาด/จ่ายแค่ครั้งแรก)

- ค่าขนส่ง (คิดตามพื้นที่)

ตัวอย่างการคำนวณราคา (รวมค่าออกแบบแล้ว)

กล่องไซส์ A (14 x 20 x 6 เซนติเมตร)

- กล่องฝาชน 500 ใบ เฉลี่ยใบละ 5.30 บาท

- กล่องไดคัท 1,000 ใบ เฉลี่ยใบละ 7 บาท
(เป็นราคาโดยเฉลี่ยขึ้นอยู่กับราคาของกระดาษ ณ ขณะนั้น)


www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: MARKETING

ฟังก์ชันแยกบิลจ่ายได้ เทรนด์ใหม่ที่ร้านอาหารต้องรู้ ลูกค้ายุคใหม่อยากจ่ายเท่าที่กินโดยไม่รู้สึกผิด

ไม่ใช่เรื่องต้องรู้สึกผิดอีกต่อไป หากไปกินอาหารกับเพื่อน แล้วอยากแยกรับผิดชอบจ่ายเฉพาะในส่วนที่ตัวเองสั่ง เทรนด์พฤติกรรมใหม่ของผู้บริโภคชาวอเมริกาที่หันมาใช้แอปพลิเคชันแยกจ่ายบิลกันมากขึ้น

ต่อยอดธุรกิจยังไงให้อยู่นานและขายดี กรณีศึกษา ALDI ซูเปอร์มาร์เก็ต ที่ถือกำเนิดมาตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2

ALDI คือ ซูเปอร์มาร์เก็ตสัญญาติเยอรมัน มีต้นกำเนิดมาจาก 2 พี่น้องตระกูล Albrecht คือ “คาร์ล และ ธีโอ อัลเบรชต์” ที่รับช่วงต่อกิจการมาจากแม่ของเขาที่เปิดร้านขายของชำตั้งแต่ยุคก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2