เรื่องเล่าตลาดนัดออนไลน์ "หมู่บ้านจัดสรร" จากลูกบ้าน แปลงร่างเป็นผู้ประกอบการใหม่

Text : วิมาลี วิวัฒนกุลพาณิชย์

 
     ช่วงหลายปีที่ผ่านมา เราจะเห็นรูปแบบการค้าปลีกที่เรียกว่า Community Mall ผุดขึ้นเป็นจำนวนมาก ซึ่งเป็นการเกิดขึ้นตามการขยายตัวของชุมชน Community Mall เกิดขึ้นเพื่อตอบสนองไลฟ์สไตล์ของคนในพื้นที่นั้นๆ แต่บรรยากาศจะแตกต่างจากศูนย์การค้าหรือห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ แม้ขนาดพื้นที่จะเล็กกว่าแต่ก็มีสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน เช่น ซุปเปอร์มาร์เก็ต ร้านอาหาร และร้านค้าต่างๆ 



 
     Community Mall ทั่วไปมาในรูปการรวมตัวของ Physical stores คือการมีหน้าร้าน มีผู้ประกอบการที่ดำเนินธุรกิจประจำ แต่ในยุคปัจจุบันที่การใช้อินเตอร์เน็ตและโซเชียลมีเดียอย่างแพร่หลายได้ทำให้รูปแบบค้าปลีกอีกประเภทหนึ่งเฟื่องฟูไม่แพ้กัน นั่นคือ online marketplace ซึ่งเป็นอีกช่องทางการค้าที่ผู้ประกอบการไม่จำเป็นต้องมีหน้าร้านเป็นของตัวเอง ขอให้มีสินค้าหรือบริการก็ไปโพสต์ขายลงตามเว็บเพจ หรือเว็บไซต์ต่างๆ ที่ทำหน้าที่เป็นพื้นที่กลางให้ผู้ประกอบการได้แสดงสินค้าและอำนวยความสะดวกในการเชื่อมโยงระหว่างผู้ประกอบการกับลูกค้า 

 
     ตัวอย่าง online marketplace เช่น เว็บอี-คอมเมิร์ซต่างๆ รวมถึงชุมชนออนไลน์อย่างเว็บพันทิป ก็มีตลาดนัดให้สมาชิกเข้ามาประกาศขายสินค้า หรือเพจสายดาร์กอย่างเพจแหม่มโพธิ์ดำที่เปิดพื้นที่เป็นตลาดนัดให้ลูกเพจมาโพสต์ขายสินค้าอยู่บ่อยๆ เป็นต้น 

 
     และตอนนี้ที่กำลังเป็นกระแสมาแรงคือรูปแบบของ online marketplace ที่เกิดขึ้นตามแหล่งชุมชนใหญ่อย่างภายในหมู่บ้าน หรือภายในสำนักงาน เป็นต้น ผ่านรูปแบบของ กลุ่ม line หรือเพจของหมู่บ้าน เช่นกรณีของหมู่บ้านขนาดใหญ่ชานเมืองกรุงเทพฯ โลเคชั่นคือ ลำลูกกา ปทุมธานี 

 
     จากกรณีช่วงเกิดน้ำท่วมใหญ่เมื่อปี 2554 เดิมนั้นจะมีการแจ้งข้อมูลต่างๆ ที่มีประโยชน์และความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับสถานการณ์ให้คนในหมู่บ้านทราบอยู่แล้ว แต่เนื่องจากเป็นหมู่บ้านขนาดใหญ่ มีทั้งหมด 16 เฟส เฟสละประมาณ 250 หลัง รวมแล้ว 4,000 หลังได้ การแจ้งข้อมูลอาจไม่ทั่วถึง จึงมีการสร้างเว็บเพจของหมู่บ้านขึ้นมาเพื่อให้ลูกบ้านสะดวกในการติดตามข่าวสาร แต่หลังจากสถานการณ์กลับสู่ภาวะปกติ สมาชิกก็เวียนเข้ามาเสนอขายสินค้า จากไม่กี่ราย จำนวนพ่อค้าแม่ขายก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ส่วนใหญ่เป็นคนในหมู่บ้าน และมีขาจรจากนอกหมู่บ้านมาโพสต์ขายบ้าง จนตอนนี้เพจของหมู่บ้านก็แปรไปเป็นตลาดนัดออนไลน์อย่างสมบูรณ์แบบ มีลูกเพจรวมแล้ว 7,000 คน

 
     จากการสอบถาม คนขายเป็นลูกบ้านในหมู่บ้าน มีทั้งขายประจำทุกวันตั้งแต่เช้าถึงเย็น และอีกกลุ่มหนึ่งทำเป็นพาร์ทไทม์คือขายเฉพาะวันหยุดเสาร์อาทิตย์ สินค้าที่ขายมากสุด 80% เป็นอาหาร ที่เหลือเป็นของใช้ และสินค้าทั่วไป รวมถึงสินค้ามือสองสไตล์ garage sale หรือการเคลียร์ของในบ้านที่ไม่ใช้แล้วก็มาปล่อยต่อด้วย

 
      อาหารที่ขายโดยมากเป็นอาหารทำเอง และมีบริการส่งถึงที่ อย่างเพื่อนของผู้เขียนเอง ก็ไม่ได้ขายประจำ จะทำก็ต่อเมื่อมีเวลา และเมนูที่ขายมีไม่กี่อย่าง เป็นเมนูที่ทำทานเอง มั่นใจว่าถูกปากคนอื่น เช่น ข้าวแกงกะหรี่ ข้าวหมูอบ เบอร์เกอร์หมูซ้อสเห็ดที่คนขายลงมือนวดแป้ง อบขนมปังเอง  วันไหนนึกอยากขายก็จะทำเพิ่มมากขึ้น แล้วประกาศลงเว็บ ซึ่งก็ขายหมดทุกครั้ง 

 
     เพื่อนเล่าอีกว่าหลายคนในหมู่บ้านทดลองทำขายเหมือนเป็นการชิมลางตลาด  พอขายดีสินค้าติดลมบน ก็ยอมลาออกจากงานมาขายเต็มตัวโดยไม่เปิดร้าน แค่ขายผ่านเพจของหมู่บ้าน หรือมีแม่ค้าคนหนึ่งเป็นแม่บ้าน มีเวลาว่างก็ทำขนมและเค็กขาย ปรากฎขายดีมาก ลูกบ้านแทบแย่งกันซื้อเพราะขนมอร่อย ราคาไม่แพง แต่จะว่าไป สินค้าที่เป็นอาหารสไตล์โฮมเมด ถ้ารสชาติดีและตั้งราคาไม่สูงมาก ก็ขายได้อยู่แล้ว

 
     นอกจากอาหารและสินค้าอื่นๆ ที่กล่าวมา พอถึงช่วงเทศกาลต่างๆ ก็จะมีการนำเสนอสินค้ากันคึกคักแล้วแต่ว่าใครจะมีไอเดียอะไร ช่วงวันไหว้ครู มีลูกบ้านโพสต์ขายชุดดอกไม้ไหว้ครู โดยจัดมาเป็นกรวยใบตองบรรจุดอกเข็ม ดอกรักและดอกไม้มงคลตามความเชื่อ ขายชุดละ 40 บาท ผู้ปกครองที่ไม่มีเวลาเตรียมดอกไม้ให้ลูกหลานเพื่อร่วมพิธีที่โรงเรียนก็สั่งซื้อจากเจ้านี้ ทั้งง่าย สะดวก ไม่เสียเวลา ไม่แพง ขายได้ 100 กรวย วันเดียวก็ทำเงิน 4,000 บาทแล้ว ไม่ต้องสงสัยเลยว่า ช่วงใกล้ปีใหม่แบบนี้ จะต้องมีคนโพสต์ขายสินค้าที่จะเป็นของฝากของขวัญกันอย่างคึกคักแน่นอน   
 

     การที่ตลาดนัดออนไลน์ของหมู่บ้านจัดสรรแห่งนี้ที่ยืนหยัดอยู่ได้หลายปีโดยที่พ่อค้าแม่ค้ายังปักหลักประจำอย่างเหนียวแน่นอาจเป็นเพราะหลายปัจจัยเอื้อ เช่น เป็นชุมชนขนาดใหญ่หลายพันครัวเรือน ซึ่งถือเป็นตลาดที่มีศักยภาพ ไม่ว่าสภาพเศรษฐกิจจะอยู่ในขาขึ้นหรือลง ยังไงคนก็ต้องกิน การที่สินค้าส่วนใหญ่เป็นอาหาร เพจของหมู่บ้านจึงไม่ต่างอะไรจากศูนย์อาหารเวอร์ชั่นออนไลน์ ที่สำคัญ เมื่อสินค้าคุณภาพโอเค ราคาไม่แพง แถมจัดส่งถึงที่ ก็ไม่มีเหตุผลที่จะต้องฝ่าจราจรออกไปหาซื้อข้างนอก ตลาดไหนที่ตอบโจทย์และไลฟ์สไตล์ของลูกค้าได้ ตลาดนั้นย่อมอยู่ได้จนกว่าจะมีปัจจัยที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและผลกระทบขึ้น


www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: MARKETING

วิกฤตสูงวัย เด็กเกิดใหม่น้อย กรณีศึกษาธุรกิจญี่ปุ่น ปรับตัวผลิตสินค้าผู้ใหญ่แทนสินค้าเด็ก

Oji Holdings ผู้ผลิตผ้าอ้อมในญี่ปุ่นประกาศยุติผลิตผ้าอ้อมเด็ก หันไปเพิ่มปริมาณการผลิตผ้าอ้อมผู้ใหญ่แทน สาเหตุมาจากอัตราการเกิดที่ลดลงและจำนวนประชากรสูงวัยของญี่ปุ่นที่เพิ่มสูงขึ้น

โอกาสโกอินเตอร์ของแบรนด์ไทย ทำงานกับนักธุรกิจระดับโลก งาน Gifts & Premium Fair ฮ่องกง

ฮ่องกงขึ้นชื่อว่าเป็นดินแดนที่มีการจัดงานแสดงสินค้าที่ยิ่งใหญ่ของโลกแห่งหนึ่ง และหนึ่งในนั้นคืองานแสดงสินค้าของขวัญและของพรีเมียมภายใต้ชื่อ Hong Kong Gifts & Premium Fair ซึ่งกำลังจะมีขึ้นระหว่างวันที่ 27-30 เมษายน 2024