จับตา FTA ไทยกับชาติตะวันตกผู้ประกอบการไทยต้องพร้อมรับมือ

 

 
ข้อมูลโดย : ศูนย์วิจัยกสิกรไทย
 
เครดิตรูปภาพ :  http://www.friendsofets.eu/
 
การเจรจาความตกลงเขตการค้าเสรีระหว่างสหภาพยุโรปและสหรัฐฯ (Transatlantic Trade and Investment Partnership หรือ T-TIP) ได้เปิดฉากขึ้นเมื่อวันที่ 8-12 ก.ค. ที่ผ่านมา โดยสาระสำคัญของการเจรจาในรอบแรกนั้น เริ่มต้นด้วยการร่วมวางกรอบเจรจาที่จะครอบคลุมหลายประเด็นสำคัญ  เพื่อปูทางการเจรจาในรายละเอียดของรอบถัดไป ทั้งนี้ท่าทีของทั้งสองฝ่ายค่อนข้างจะกระตือรือร้นที่จะผลักดันให้กรอบเจรจาดังกล่าวสามารถบรรลุข้อตกลงที่จะยังประโยชน์ร่วมกัน สำหรับการเจรจาในรอบที่สองนี้เกิดขึ้นในระหว่างวันที่ 11-15 พ.ย. (ซึ่งช้ากว่าที่ได้กำหนดไว้เบื้องต้นในวันที่ 7-11 ต.ค. อันเนื่องมาจาก Government Shutdown ของฝั่งสหรัฐฯ)  โดยในรอบนี้จะเป็นการเจรจาในสาขา บริการ พลังงาน วัตถุดิบการผลิต และการกำหนดเกณฑ์ร่วมกัน ศูนย์วิจัยกสิกรไทยจึงได้นำประเด็นที่น่าสนใจและจะมีนัยยะต่อผู้ประกอบการไทยในเชิงธุรกิจดังนี้
 
T-TIP อีกหนึ่งกลไกที่จะกำหนดอนาคตทิศทางการค้าการลงทุนโลก
 
T-TIP ถือได้ว่าเป็นอีกหนึ่งก้าวหนึ่งที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงรูปแบบการค้าและการลงทุนของโลก ทั้งยังเป็นหนึ่งเครื่องชี้ที่จะกำหนดทิศทางเศรษฐกิจการค้าโลกในระยะข้างหน้าด้วยรูปแบบของการเจรจาการค้าแบบใหม่ที่ มุ่งเล็งผลเลิศ (Ambitious) ครอบคลุมหลายสาขา (Comprehensive) ด้วยเกณฑ์มาตรฐานขั้นสูง (High-standard)
 
      ไม่เพียงเท่านั้น ด้วยผู้เล่นจากทั้งสองฝั่งต่างเป็นผู้กุมบังเหียนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกด้วยมูลค่าทางเศรษฐกิจรวมในปี 2555 ถึง 28.4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือร้อยละ 45.6 ของเศรษฐกิจทั้งโลก ผนวกกับมูลค่าการค้าระหว่างประเทศจากทั้งคู่ที่ระดับ 14.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือร้อยละ 44.0 ของมูลค่าการค้าโลก              การขยับแต่ละก้าวของทั้งสหรัฐฯและสหภาพยุโรปย่อมจะมีผลต่อการค้า การลงทุนรวมถึงทิศทางเศรษฐกิจของทั้งคู่และโยงใยไปยังประเทศอื่นๆตามไปด้วย 
 
ซึ่งจากผลการศึกษาเบื้องต้นซึ่งจัดทำโดย The Center for Economic Policy Research (CEPR) ของประเทศอังกฤษ ระบุว่าหากการเจรจา T-TIP สำเร็จลุล่วง ในกรณี Best Case จะยังประโยชน์ให้กับสหรัฐฯ 94.9 พันล้านยูโรต่อปี สหภาพยุโรป 119.2 พันล้านยูโรต่อปี และจะมีผลบวกต่อประเทศอื่นๆในโลกอีก 99.1 พันล้านยูโรต่อปี โดยในนั้นจะเพิ่มอานิสงส์ทางเศรษฐกิจให้กับประเทศในกลุ่มอาเซียน 29.8 พันล้าน ยูโรต่อปี
 
      โดยผลจาก Trade Spill-over Effect จะทำให้การส่งออกของอาเซียนเติบโตขึ้นที่ร้อยละ 2.3 ต่อปีผลบวกจาก Trade Spill-over Effect มาจากสองปัจจัยหลักคือ
 
1) กรณีที่ธุรกิจประเทศที่สามย้ายฐานการลงทุน ไปยัง 1 ในสองของกลุ่มคู่เจรจา จะสามารถใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้าเพื่อส่งออกไปยังประเทศคู่เจรจาอีกฝ่ายได้ และธุรกิจที่ย้ายฐานไปนั้นอาจจะสั่งสินค้าขั้นต้นหรือขั้นกลางจากประเทศอื่นๆ เพื่อเป็นวัตถุดิบในการผลิตมากขึ้น  
 
2) กรณีที่ประเทศที่สามสามารถลดต้นทุนในส่วนของกระบวนผลิต สืบเนื่องจากการปรับใช้มาตรฐานเชิงคุณภาพในแบบเดียวกัน ซึ่งหากตีความในเชิงธุรกิจแล้ว ผู้ประกอบธุรกิจไทยน่าจะได้รับอานิสงส์จาก T-TIP ทั้งในแง่ของโอกาสการขยายการลงทุนไปยังกลุ่มประเทศคู่เจรจา ในขณะเดียวกัน สำหรับผู้ประกอบการที่มีฐานการผลิตในประเทศซึ่งส่งออกไปยังสหรัฐฯหรือสหภาพยุโรปเป็นหลัก T-TIP น่าจะมีส่วนช่วยลดต้นทุนการผลิตได้ หากในอนาคตสหรัฐฯและสหภาพยุโรปจะปรับใช้มาตรฐานตามที่ตกลงกันภายใต้กรอบ T-TIP กับประเทศคู่ค้าอื่นๆ
 
T-TIP กับสองมิติหลักทางการค้าที่น่าสนใจ  
 
  ปัจจุบัน T-TIP ยังอยู่ในระหว่างขั้นตอนของการเจรจาซึ่งโดยรายละเอียดปลีกย่อยเชิงปฏิบัติยังไม่เป็นที่เปิดเผย แต่หากพิจารณาถึงประเด็นหลักที่อยู่ภายใต้จุดประสงค์สำคัญของทั้งสองฝ่ายน่าจะประกอบด้วย 
 
1. มุ่งกำจัดอุปสรรคทางการค้าในรูปแบบต่างๆ ทั้งในเชิงภาษีและไม่ใช่ภาษี 
 
2. ปรับเปลี่ยนเกณฑ์ ระเบียบหรือข้อบังคับ ให้มีความสอดคล้องอยู่บนพื้นฐานเดียวกันมากขึ้น เพื่อมุ่งแก้ไขปัญหาความล่าช้า (Red Tape) ประหยัดต้นทุนของผู้ประกอบธุรกิจ (Cost of Business Reduction) ที่จะเกิดขึ้นจากระเบียบที่มีความแตกต่าง ขณะที่ยังสามารถธำรงไว้ซึ่งอำนาจบังคับใช้เพื่อปกป้องสิทธิ ลดความเสี่ยงที่จะมีต่อสุขภาพ ความปลอดภัย สิ่งแวดล้อมและเสถียรภาพความปลอดภัยทางการเงิน ของประชาชนและธุรกิจทั้งสองฝั่งได้ครอบคลุม
 
  จากการประเมินทั้งสองมิติหลักที่จะเป็นส่วนสำคัญของการเจรจา T-TIP นี้ ผลเชิงประจักษ์ในส่วนของการกำจัดอุปสรรคทางการค้าเชิงภาษีนั้นอาจจะไม่เด่นชัดนัก เนื่องจากอัตราภาษีของทั้งสหรัฐฯ (ร้อยละ 2.58) และสหภาพยุโรป (ร้อยละ 2.43)  ค่อนข้างต่ำอยู่แล้ว แต่ประเด็นที่จะมีนัยยะเชิงผลกระทบมากกว่า น่าจะเป็นการปรับเปลี่ยนเกณฑ์ให้สอดคล้องบนพื้นฐานเดียวกันซึ่งจะมีผลส่งต่อไปยังระเบียบที่จะใช้กำหนดคุณภาพของการผลิตสินค้าในอนาคต
 
     เช่น มาตรฐานการผลิตของสินค้าอุตสาหกรรม และมาตรการเกี่ยวกับสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช ซึ่งเป็นเครื่องมือที่สหรัฐฯและสหภาพยุโรปใช้ค่อนข้างแพร่หลายในปัจจุบัน โดยส่วนนี้จะเป็นส่วนที่ผู้ประกอบธุรกิจต้องติดตามอย่างใกล้ชิด เนื่องจากมีความเป็นไปได้ที่เกณฑ์ภายใต้ข้อตกลง T-TIP นี้จะนำมาปรับใช้กับประเทศคู่ค้าที่สาม หรือจะเป็นมาตรฐานสำหรับการค้าสมัยใหม่ต่อไปในอนาคต ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้ประมวลประเด็นหลักๆที่ควรติดตามสำหรับสินค้าที่ไทยค้าขายกับทั้งสหรัฐฯและสหภาพยุโรปในสัดส่วนค่อนข้างสูง ดังนี้ 
 
T-TIP กับมิติด้านการลงทุน  
 
  สำหรับมิติของ T-TIP ที่จะมีผลต่อการลงทุนระหว่างสหรัฐฯและสหภาพยุโรปนั้น ในเบื้องต้น T-TIP มุ่งมั่นที่จะกำหนดกรอบที่เกี่ยวข้องเพื่อส่งเสริมการลงทุนระหว่างกัน จากข้อมูลปี 2555 มูลค่าการลงทุนระหว่างสหรัฐฯและสหภาพยุโรปนั้นมีมูลค่า 3.85 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
 
      โดยเป็น FDI ที่วิ่งจากประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรปสู่สหรัฐฯ 1.65 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และเป็นการลงทุนทางตรงจากสหรัฐฯเข้าสู่สหภาพยุโรป 2.2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ สะท้อนว่าทั้งคู่ต่างเป็นนักลงทุนรายใหญ่ของกันและกัน
 
     ทั้งนี้ สหรัฐฯได้ลงนามในความตกลงเชิงทวิภาคีว่าด้วยการลงทุน (Bilateral Investment Treaties) กับบางประเทศในสหภาพยุโรปไปแล้วได้แก่ บัลแกเรีย โครเอเชีย เชค เอสโทเนีย ลัทเวีย ลิทัวเนีย และโปแลนด์
 
    หากจะอ้างอิงความตกลงเชิงทวิภาคีดังที่ได้กล่าวไปข้างต้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดการณ์ว่า การเจรจาเกี่ยวกับการลงทุนในกรอบ T-TIP นี้น่าจะประกอบไปด้วย ประเด็นการไม่เลือกปฏิบัติต่อการควบรวมไปจนถึงการยกเลิกกิจการ (Non-discrimination from Acquisition to Disposition) การถอนทุน (Withdrawal of Funds)  และทางเลือกการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท (Choice of Arbitration)
 
   โดยหัวข้อหลังได้รับความสนใจมากในส่วนของ การไกล่เกลี่ยข้อพิพาทระหว่างบริษัทผู้ลงทุนและรัฐภาคี (Investor-state Dispute Settlement, ISDS) ซึ่งน่าจะมุ่งเน้นไปยังรายละเอียดของขั้นตอนที่บริษัทผู้ลงทุนจะสามารถเลือกเข้าสู่กระบวนการระงับหรือไกล่เกลี่ยข้อพิพาทกับภาครัฐ ผ่านกระบวนการอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ (International Arbitration)
 
     ดังนั้นหากเกิดกรณีตัวอย่าง เช่น สินค้าโดยผู้ผลิตต่างชาติถูกระงับการผลิต (Ban) ขณะที่สินค้าประเภทเดียวกันจากผู้ผลิตท้องถิ่นไม่ได้รับผลกระทบ ทั้งนี้ หากศาลท้องถิ่นไม่สามารถดำเนินการไกล่เกลี่ยได้อย่างครอบคลุม นักลงทุนต่างชาติสามารถข้อใช้สิทธิคุ้มครองภายใต้ ISDS เพื่อเรียกร้องขอค่าเสียหายจากที่การผลิตชะงักงัน หรือขอให้อนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศเป็นผู้ไต่สวน ประเด็นนี้ถือเป็นประเด็นที่น่าสนใจโดยหากได้รับการผลักดันเข้าสู่การเจรจา T-TIP ก็น่าจะเป็นต้นแบบสำหรับการเจรจาในมิติการลงทุนสำหรับกรอบอื่นๆต่อไป 
 
T-TIP และประเด็นแวดล้อมอื่นๆ 
 
นอกเหนือจากการค้าและการลงทุนแล้ว เนื่องด้วย T-TIP เป็นการเจรจาทางการค้ารูปแบบใหม่ด้วยเกณฑ์มาตรฐานขั้นสูง จึงครอบคลุมหัวข้อเจรจาอื่นๆด้วย อาทิ กรรมสิทธิ์ในทรัพยสินทางปัญญา การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ บทบาทของรัฐวิสาหกิจที่จะมีต่อความสามารถทางการแข่งขันของสินค้าบางประเภท และน่าจะมีรายละเอียดปลีกย่อยของการเจรจาในทุกด้านอย่างเข้มข้น
 
      แม้ว่าการเจรจา T-TIP ยังอยู่ในระหว่างการดำเนินการ แต่ท่าทีของทั้งสองฝ่ายได้สะท้อนถึงความต้องการที่จะให้ T-TIP มีความสมบูรณ์ ครอบคลุม ภายใต้ผลประโยชน์ที่ทั้งคู่รับได้ ในกรอบเวลาเจรจาที่สั้นที่สุดโดยได้มีการกำหนดหมายกำหนดการเจรจารอบที่ 3 แล้วในระหว่างวันที่ 16-20 ธ.ค.นี้ น่าจะมีส่วนกระตุ้นให้ภาคธุรกิจไทยที่มีธุรกรรมทางการค้าการลงทุนต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดหากหากสนใจที่จะรักษาและเจาะตลาดสหรัฐฯและสหภาพยุโรปในอนาคต  
 
 
 
 
 

RECCOMMEND: MARKETING

ย้อนตำนาน มาสคอตไทย ก่อน "น้องหมีเนย" มีแบรนด์ไหนทำมาร์เก็ตติ้งนี้บ้าง

หลายคนมี Brand Love ในใจ ที่ไม่ใช่แค่สินค้าต้องดี จนเรากลายเป็นลูกค้าประจำ ยังต้องมี Brand Characters ที่จะช่วยให้คนจดจำได้ อีกหนึ่งทางเลือกที่ถ้าอยากสร้างแบรนด์ให้ปัง

ขายสินค้าออร์แกนิกให้เป็นแมส จากแนวคิดแบรนด์ KING Organic

KING Organic ผู้ผลิตผัก ผลไม้ และสินค้าแปรรูปออร์แกนิก จ.สมุทรสาคร ได้คิดกลยุทธ์การทำธุรกิจที่เรียกว่า “Mass Premium” ขึ้นมา เพื่อทำของพรีเมียม ให้สามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้กว้างขวางมากขึ้น ในราคาที่ใครๆ ก็สามารถจับต้องได้ มีวิธีการยังไง ไปดูกัน