ส่งออกไทยไปจีนปี 57 ภาคเกษตรยิ้ม ภาคอุตฯต้องปรับตัว

 

 
 
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การส่งออกของไทยไปจีนในปี 2557 หรือปีม้าที่จะถึงนี้ น่าจะได้อานิสงส์จากการปรับตัวของปัจจัยภายในประเทศที่น่าจะเอื้อให้เศรษฐกิจจีนเติบโตในทิศทางที่มีเสถียรภาพมากขึ้นและแรงส่งของประเทศคู่ค้าของจีน น่าจะช่วยดึงให้การส่งออกสินค้าที่มีศักยภาพโดดเด่นของไทยทั้งสินค้าเกษตร (ยางพารา มันสำปะหลัง และผลไม้) และสินค้าอุตสาหกรรม (เคมีภัณฑ์ เม็ดพลาสติก ผลิตภัณฑ์ยาง ไม้และผลิตภัณฑ์) ประกอบกับผลของฐานการส่งออกในปี 2556 ที่ค่อนข้างต่ำ น่าจะช่วยเสริมภาพรวมการส่งออกของไทยไปจีนปี 2557 สามารถพลิกกลับมาเป็นบวกได้ราวร้อยละ 3.3 มีมูลค่าประมาณ 27,500 ล้านดอลลาร์ฯ โดยมีกรอบประมาณการขยายตัวร้อยละ +0.5 ถึง +7.5 มูลค่า 26,700 – 28,600 ล้านดอลลาร์ฯ ทั้งนี้ การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจของจีนที่จะมีความเข้มข้นมากขึ้นในระยะข้างหน้าอาจส่งผลต่อผู้ประกอบการไทยที่เป็นส่วนหนึ่งในห่วงโซ่การผลิตของจีนต้องปรับตัวตาม
 
การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจของจีนเข้มข้นในปีม้า ... ชี้สัญญาณสินค้าส่งออกไทยปรับตัว
 
การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจของจีนมีทิศทางเข้มข้นขึ้นนับจากนี้ จากการย้ำจุดยืนในการประชุมคณะกรรมการกลางพรรมคอมมิวนิสต์ชุดที่ 18 ครั้งที่ 3 (The Third Plenary Session of 18th CPC Central committee) เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2556 ที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นการยกระดับความเป็นเมือง เสริมสร้างสมดุลและเสถียรภาพทางเศรษฐกิจจากภายในประเทศ ควบคู่กับการผลักดันเศรษฐกิจจีนสู่เวทีโลก ซึ่งทางการจีนได้ทยอยเปิดเผยนโยบายและหลากมาตรการเพื่อปูทางไปสู่เป้าหมายดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง
 
ทั้งนี้ ในเบื้องต้นได้เห็นถึงนโยบายที่ชี้ถึงสัญญาณการให้ความสำคัญกับคุณภาพการผลิตและการบริโภคในจีน ซึ่งผู้ประกอบการไทยที่อยู่ในห่วงโซ่การผลิตของจีนต้องปรับตัวให้ทันกับแนวทางการเปลี่ยนแปลง ดังนี้

พัฒนาระบบโลจิสติกส์เชื่อมความเป็นเมือง เพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนการขนส่ง 
 
กระทรวงพาณิชย์จีนเตรียมแผนให้การสนับสนุนอุปกรณ์ด้านโลจิสติกส์ เพื่อรองรับการขนส่งสินค้าจากต่างประเทศกระจายสินค้าสู่ผู้บริโภคในพื้นที่ต่างๆ และเป็นตัวเสริมช่วยกระจายความเป็นเมืองสู่พื้นที่ฝั่งตะวันตกและตอนกลางของจีนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งแนวทางดังกล่าวจะส่งผลทางดีต่อการกระจายสินค้าไทยสู่พื้นที่ต่างๆ ของจีน เพราะช่วยลดภาระด้านการขนส่ง อีกทั้งการเติบโตของเมืองต่างๆจะช่วยให้การบริโภคขยายตัวเพิ่มขึ้น และส่งผลให้สินค้าไทยเข้าสู่จีนได้มากขึ้นตามไปด้วย
 
ปฏิรูปภาคเกษตรกรรมยกระดับการผลิต เสริมความมั่นคงทางอาหาร 
 
นโยบายนี้มุ่งให้ความสำคัญกับปริมาณผลผลิตสินค้าเกษตรต่อไร่ การใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย รวมถึงการจัดหาตลาดและกระจายสินค้าเกษตรอย่างมีประสิทธิภาพ โดยมาตรการดังกล่าวต้องอาศัยระยะเวลา แต่หากการผลิตดำเนินไปได้อย่างเต็มประสิทธิภาพอาจส่งผลกระทบต่อสินค้าเกษตรไทย โดยเฉพาะน้ำตาลทรายที่ไทยได้เปรียบด้านราคาที่ต่ำกว่าของจีน ขณะที่สินค้ามันสำปะหลัง และยางพารา อาจได้รับผลกระทบบ้างแต่ก็น่าจะยังทำตลาดได้อยู่เนื่องจากเป็นสินค้าที่ตอบโจทย์ในหลายสายการผลิตของจีน 
 
ปฏิรูปภาคอุตสาหกรรรมสู่การผลิตที่เน้นเทคโนโลยีและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
 
ในช่วงที่ผ่านมาทางการจีนให้ความสำคัญในการลดมลภาวะที่เกิดจากกระบวนการผลิตในภาคอุตสาหกรรมและภาคครัวเรือน โดยมีมาตรการหลายด้านไม่ว่าจะเป็นการปรับลดกำลังการผลิตส่วนเกินในภาคอุตสาหกรรม ให้การสนับสนุนแก่ภาคการผลิตที่ใช้เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกัน 
 
        แนวทางดังกล่าวบ่งชี้ถึงเทรนด์การผลิตสินค้าของจีนที่เน้นเทคโนโลยีและการเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (อาทิ รถยนต์พลังงานทางเลือก) สะท้อนว่าสินค้าไทยควรตระหนักและให้ความสำคัญกับแนวทางดังกล่าว จะช่วยเอื้อให้สินค้ามีความน่าสนใจและสร้างโอกาสเข้าสู่ตลาดได้มากขึ้น
 
เพิ่มประสิทธิภาพกลไกตลาด ลดการผูกขาด และให้ความคุ้มครองผู้บริโภค
 
นโยบายนี้ถือเป็นการกระตุ้นการบริโภคในประเทศโดยอ้อม ช่วยโน้มนำการบริโภคสินค้าไทยเติบโตตามไปด้วยในระยะต่อไป จากการสนับสนุนผู้ประกอบการรายใหม่เข้าสู่กระบวนการผลิตมากขึ้น สร้างความเป็นธรรมแก่ผู้บริโภค
 
    ในเบื้องต้นมีนโยบายมุ่งให้สำคัญกับการควบคุมราคาสินค้าและบริการที่เกี่ยวเนื่องกับชีวิตประจำวันใน 6 กลุ่มอุตสาหกรรม ที่ปัจจุบันราคาถูกกำหนดโดยผู้ประกอบการเพียงไม่กี่ราย
 
       ได้แก่ อุตสาหกรรมอากาศยาน การผลิตสินค้าอุปโภคบริโภค การผลิตรถยนต์ การโทรคมนาคม การผลิตสินค้าเภสัชกรรม และเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน รวมถึงการปรับปรุงกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคฉบับใหม่ของจีน (จะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 15 มีนาคม 2557) ซึ่งให้ความคุ้มครองครอบคลุมผู้บริโภคที่ซื้อสินค้าผ่าน E-commerce ที่กำลังขยายตัวรวดเร็ว
 
ปฏิรูปด้านสังคมและวัฒนธรรม
 
กระทรวงการคลังของจีน ได้จัดสรรงบประมาณ 4.8 พันล้านหยวน สนับสนุนด้านวัฒนธรรมอันเป็นรากฐานในการพัฒนาสังคมและวัฒนธรรมของประเทศ และการผ่อนคลายนโยบายลูกคนเดียวให้มีลูก 2 คนได้ อันจะเป็นกลไกผลักดันการบริโภคในตลาดจีนที่สำคัญนับจากนี้ เอื้อประโยชน์ต่อสินค้าอุปโภคบริโภคต่างๆ ของไทยเข้าสู่จีน โดยเฉพาะสินค้าเกี่ยวกับแม่และเด็ก อาทิ นมผงสำหรับทารก ซึ่งสินค้าจากต่างประเทศจะได้รับการตอบรับและความเชื่อมั่นที่ดีกว่าสินค้าที่ผลิตในประเทศ 
 
 
โดยสรุป ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่านอกจากการเติบโตทางตัวเลขของเศรษฐกิจจีนที่ชะลอลงตามการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจของจีน ในช่วงแรกของการปรับตัวอาจสร้างความหวั่นไหวแก่ผู้ประกอบการไทยที่มีจีนเป็นตลาดส่งออกหลักอาจได้รับผลกระทบเติบโตช้าลง แต่ในระยะข้างหน้าทิศทางเศรษฐกิจจีนเติบโตอย่างมีเสถียรภาพจะช่วยหนุนนำภาพรวมการส่งออกของไทยเติบโตไปพร้อมกัน
 
     ซึ่งผู้ประกอบการไทยต้องปรับตัวเตรียมพร้อมไปกับรายละเอียดของมาตรการอันนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่แตกต่างจากในอดีต ภายใต้ความมุ่งมั่นของผู้นำจีนคนล่าสุดในการพลิกโฉมประเทศจีนนับจากนี้ อาจสร้างทั้งโอกาสและส่งผลกระทบต่อสินค้าไทยหลายชนิดตอบรับโครงสร้างเศรษฐกิจใหม่
 
 
 

RECCOMMEND: MARKETING

ย้อนตำนาน มาสคอตไทย ก่อน "น้องหมีเนย" มีแบรนด์ไหนทำมาร์เก็ตติ้งนี้บ้าง

หลายคนมี Brand Love ในใจ ที่ไม่ใช่แค่สินค้าต้องดี จนเรากลายเป็นลูกค้าประจำ ยังต้องมี Brand Characters ที่จะช่วยให้คนจดจำได้ อีกหนึ่งทางเลือกที่ถ้าอยากสร้างแบรนด์ให้ปัง

ขายสินค้าออร์แกนิกให้เป็นแมส จากแนวคิดแบรนด์ KING Organic

KING Organic ผู้ผลิตผัก ผลไม้ และสินค้าแปรรูปออร์แกนิก จ.สมุทรสาคร ได้คิดกลยุทธ์การทำธุรกิจที่เรียกว่า “Mass Premium” ขึ้นมา เพื่อทำของพรีเมียม ให้สามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้กว้างขวางมากขึ้น ในราคาที่ใครๆ ก็สามารถจับต้องได้ มีวิธีการยังไง ไปดูกัน