​เจาะเคล็ดลับการตลาด “ร้านขายสลัด” ทำยังไงให้แฟนเพจตามเกือบล้านคน





 

     ลุงโจนส์ คาแร็กเตอร์สุดน่ารักที่รับหน้าที่เป็นผู้เล่าเรื่องสุขภาพอยู่บนเพจเฟซบุ๊กชื่อดังที่มีผู้ติดตามเกือบ 1 ล้านคน ใครจะรู้ว่าความจริงแล้วคาแร็กเตอร์ลุงโจนส์มีตัวตนอยู่จริงและยังเป็นเจ้าของสูตรน้ำสลัดแสนอร่อยที่ขายอยู่ในร้าน Jones Salad ร้านขายสลัดและอาหารสุขภาพ เจ้าของร้านเป็นคนรุ่นใหม่ไฟแรง ชื่อว่า “กล้อง- อาริยะ คำภิโล” ที่ได้ไปเรียนการทำน้ำสลัดกับลุงโจนส์ จนได้นำชื่อของลุงโจนส์มาตั้งเป็นชื่อร้านพร้อมทั้งสร้างสรรค์คาแร็กเตอร์ลุงโจนส์ขึ้นบนโลกออนไลน์ด้วย
 

การเกิดขึ้นของเพจ Jones Salad
 
     แม้ว่าจะเปิดร้านมากว่า 4 ปี แต่ในช่วง 2 ปีแรก กล้องไม่ได้เน้นการทำ Marketing มากนัก เพิ่งเริ่มเน้นเรื่องของการตลาดในช่วง 2 ปีหลังที่ผ่านมาเนื่องจากเจอวิกฤติ ทำให้เขารู้สึกว่าต้องทำอะไรสักอย่างและเพจ Jones Salad ก็เกิดขึ้น
 

     “ต้องยอมรับว่าเราเพิ่งมาทำการตลาดจริงจังช่วง 2 ปีหลัง เพราะว่าเริ่มเกิดวิกฤติ โดนไล่ที่บ้าง ต้องดิ้นรนมากในช่วงนั้น เราเริ่มมาศึกษาการทำตลาดออนไลน์ ตลาดที่เราเน้นมากที่สุดคือ Facebook เราเริ่มทำเพจที่ชื่อว่า Jones Salad มีคาแร็กเตอร์ลุงโจนส์ มีหนวดมาคอยเล่าเรื่องสุขภาพ เพราะเรื่องสุขภาพบนโลกออนไลน์มันมีข้อมูลหลายแห่ง บางแหล่งก็เป็นข่าวลือ ผิดๆ ถูกๆ  สิ่งที่เราทำคือการเอาข้อมูลมารวมในหน้าเดียว ทำเป็นการ์ตูน อ่านง่ายๆ หลังๆ ก็มีการทำเป็นวีดีโอโมชั่นกราฟฟิก เช่น หลักการลดพุงที่ถูกวิธี เลือกกินผักอย่างไร เลือกกินไขมันดีอย่างไร”

 



จากเพจที่แชร์เรื่องสุขภาพกลายเป็น Community ที่คนตามเกือบล้านคน
 
     หลังจากที่ลุงโจนส์โลดแล่นอยู่บนโลกออนไลน์ในฐานะที่เป็นผู้เล่าเรื่องราวเกี่ยวสุขภาพ จนเกิดกระแสไวรัล มีคนกดไลค์ กดแชร์ในแต่ละโพสต์ของเพจ Jones Salad เป็นจำนวนมาก จนล่าสุดจำนวนผู้ติดตามเพจเพิ่มขึ้นจนเกือบแตะ 1 ล้านคนเรียบร้อยแล้ว
 

     “เราพยายามทำทุกเรื่องเกี่ยวกับสุขภาพในเพจของเรา ซึ่งสิ่งที่เราได้กลับมามันคือ Community คือชุมชน สังคมคนรักสุขภาพ ตอนนี้เรามีคนรักสุขภาพอยู่ในเพจประมาณเกือบ 1 ล้านคน เหมือนกับว่าคนทั่วไปก็ได้รู้จักเรามากขึ้น ที่ผ่านมาเราไม่ได้ซื้อยอดไลค์เลยแต่มันเป็นเพราะว่าสิ่งที่เราทำเกิดประโยชน์ต่อพวกเขา เขาก็ตามมากดไลค์เราเอง ทีนี้พอเราจะเปิดร้านใหม่ มีสาขาที่ไหนคนก็ตามมากิน ที่หน้าร้านเราก็จะมี Mascot รูปลุงโจนส์อยู่ ยืนเป็นนางกวัก บางคนตามเพจเราอยู่เขาก็จำได้ ก็เข้ามาอุดหนุน”
 

แค่สื่อออนไลน์อาจไม่พอ การตลาดออฟไลน์ก็สำคัญเช่นกัน
 

     แน่นอนว่าการประสบความสำเร็จบนโลกออนไลน์อาจทำให้มีคนรู้จักแบรนด์ของคุณมากขึ้นแต่นั่นไม่ได้การันตีถึงยอดขายหน้าร้าน ดังนั้นการทำตลาดที่หน้าร้านก็มีความสำคัญเช่นกัน อย่างเช่น ร้านโจนส์สลัดเองก็มีตัวอย่างการทำแคมเปญในช่วงแรกๆ ทำให้มีคนมาต่อคิวยาวตั้งแต่ร้านเปิด
               

     “มีแคมเปญระยะสั้นอันนึงที่เราทำ เป็นโปรปังๆ ในช่วงเปิดร้านใหม่ อย่างของผมในช่วง 4 ปีที่แล้ว มี Pain Point อย่างหนึ่งคือคนจะงงว่าเราขายอะไร ขายแต่สลัดอย่างเดียว ไม่มีเนื้อเลยเหรอ คือร้านเราตั้งใจที่จะทำสลัดให้คนกินได้ทุกวัน มีน้ำสลัดที่ถูกปากคนไทย แต่ตอนนั้นคนยังไม่เข้าใจ เราเลยจัดโปรโมชั่นแรงมาก จะมีกล่องใบหนึ่งตั้งอยู่หน้าร้าน ใส่ลูกปิงปองลงไป  10 อัน จ่าย 5 ฟรี 5 คือครึ่งๆ เลย ทำให้ 3 วันที่เราจัดโปรโมชั่นคนมาต่อคิวยาวมาก แต่พอหลังจากหมดโปรก็ทำให้มีลูกค้าเก่าๆ กลับมากินอยู่ตลอด มีคนที่เขาชอบเรา แสดงว่าสินค้าเราโอเค เขาก็จะกลับมาเรื่อยๆ หลังจากนั้น 2-3 เดือน เราก็เปิดร้านธรรมดา ไม่ได้มีโปรโมชั่นอะไร แต่ลูกค้ากลับต่อคิวยากกว่าตอนมีโปรโมชั่นอีก”
 



สิ่งสำคัญคือการสร้างพฤติกรรมให้ลูกค้า
 

      กล้องได้ปิดท้ายถึงเรื่องการทำร้านขายสลัดว่าสิ่งที่เป็นคีย์หลักเลยคือการสร้างพฤติกรรมให้ลูกค้า ซึ่งเป็นงานยาก แต่หากทำได้ก็จะทำให้ธุรกิจของคุณสามารถขายได้เสมอแม้ในช่วงที่เศรษฐกิจผันผวน
 

     “ผมว่าสินค้าของผมราคาไม่แพงมาก เป็นของ Healthy ซึ่งคนกินได้ตลอด ที่เราต้องทำคือการสร้างความเคยชินหรือสร้างพฤติกรรมบางอย่างให้ลูกค้า เป็น Key Success ที่ต้องทำให้ได้ มันยากเหมือนกันนะ อย่างของผมลูกค้าบางส่วนจะเคยชินมาซื้อในช่วงเย็น ก่อนกลับบ้าน ซื้อไปกิน เสร็จแล้วไปออกกำลังกายต่อ ไปวิ่ง อะไรแบบนี้ ผมว่าทุกธุรกิจสามารถเซ็ทเรื่องพวกนี้ได้ ถ้าทำได้การขายของคุณก็จะไม่ขึ้นอยู่กับเรื่องของเศรษฐกิจ”
 

     ถ้าคุณเริ่มต้นด้วยความรักและความหลงใหล การทำธุรกิจจะไม่ใช่เรื่องที่ต้องทำแต่จะเป็นเรื่องที่คุณอยากทำ เหมือนอย่าง Jones Salad ที่ใช้ Passion ด้านสุขภาพ สร้างร้านขายสลัดไปพร้อมกับให้ความรู้ผู้คนผ่านสื่อออนไลน์ จนทำให้ตอนนี้ลุงโจนส์เลยกลายเป็นกูรูด้านสุขภาพที่มีแฟนคลับติดตามมากมายอยู่ในตอนนี้
 
 

ที่มาข้อมูล :  KBank Franchise Expo 2018


www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: MARKETING

วิกฤตสูงวัย เด็กเกิดใหม่น้อย กรณีศึกษาธุรกิจญี่ปุ่น ปรับตัวผลิตสินค้าผู้ใหญ่แทนสินค้าเด็ก

Oji Holdings ผู้ผลิตผ้าอ้อมในญี่ปุ่นประกาศยุติผลิตผ้าอ้อมเด็ก หันไปเพิ่มปริมาณการผลิตผ้าอ้อมผู้ใหญ่แทน สาเหตุมาจากอัตราการเกิดที่ลดลงและจำนวนประชากรสูงวัยของญี่ปุ่นที่เพิ่มสูงขึ้น

โอกาสโกอินเตอร์ของแบรนด์ไทย ทำงานกับนักธุรกิจระดับโลก งาน Gifts & Premium Fair ฮ่องกง

ฮ่องกงขึ้นชื่อว่าเป็นดินแดนที่มีการจัดงานแสดงสินค้าที่ยิ่งใหญ่ของโลกแห่งหนึ่ง และหนึ่งในนั้นคืองานแสดงสินค้าของขวัญและของพรีเมียมภายใต้ชื่อ Hong Kong Gifts & Premium Fair ซึ่งกำลังจะมีขึ้นระหว่างวันที่ 27-30 เมษายน 2024