​เปลี่ยนเลอะให้กลายเป็นเลิศ โอกาสจากศิลปะยางกล้วย





 

     เชื่อว่าใครที่เคยมีประสบการณ์ยางกล้วยเลอะเสื้อผ้ามาก่อน คงรู้ซึ้งถึงกิตติศัพท์ดีว่าติดทน ติดนานแค่ไหน เรียกว่าแทบจะตัดใจทิ้งกันไปเลยก็ว่าได้ แต่จะเป็นอย่างไรหากวันหนึ่งมีการนำข้อเสียดังกล่าวมาเปลี่ยนให้เป็นประโยชน์ขึ้นมา กลายเป็นชิ้นงานสร้างสรรค์จากยางกล้วยที่ยังไม่เคยเห็นที่ไหนมาก่อน ว่าแล้วมาทำความรู้จักกับผลงงานเก๋ๆ นี้กัน
 

     Banana Blood คือ ชื่อเรียกตรงตัวของชิ้นงานศิลปะจากยางกล้วยชิ้นนี้ ที่เกิดขึ้นมาจากแนวคิดของ ขนิษฐา อรุณแก้วแจ่มศรี ซึ่งเริ่มต้นมาจากกลับมาใช้ชีวิตอยู่บ้านเกิด ทำสวนเกษตรอินทรีย์ อำเภอดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี เมื่อได้คลุกคลีอยู่กับธรรมชาติมากขึ้น ก็ได้สังเกตเห็นความพิเศษบางอย่าง จากยางกล้วยที่เคยติดเลอะเสื้อผ้าหากลองนำมาลองวาดเป็นภาพวาดก็น่าสนใจไม่น้อย ด้วยความที่มีพื้นฐานด้านงานศิลปะอยู่แล้วขนิษฐาจึงใช้เวลาว่างหลังจากทำสวนมาทดลองทำงานศิลปะจากยางกล้วยเป็นงานอดิเรกไปด้วย
 



     จนวันหนึ่งเมื่อเริ่มทดลองเทคนิคมากขึ้นเรื่อยๆ จากงานอดิเรกสนุกๆ ก็กลายเป็นจริงเป็นจังขึ้นมา ทำให้มองเห็นลู่ทางในการต่อยอดไปในทิศทางต่างๆ ตั้งแต่การสร้างสรรค์เป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ไปจนถึงแนวทางการทดลองต่อยอดเป็นงานศิลปะขึ้นมาอีกแขนงหนึ่ง รวมถึงการนำเสนอปรัชญาวิถีชีวิตที่เรียบง่ายผ่านศิลปะจากยางกล้วย
 

     โดยขั้นตอนการนำยางกล้วยมาระบายแต้มเป็นสีลงบนผลิตภัณฑ์นั้น เริ่มจากใช้มีดปาดน้ำยางให้ค่อยๆ ไหลหยดออกมา โดยสามารถใช้ได้ทุกส่วน ตั้งแต่ปลี ก้านใบ ลำต้น แต่ละส่วนให้เฉดสีความเข้มอ่อนที่แตกต่างกันไป รวมถึงสภาพอากาศ อุณหภูมิต่างๆ ในระหว่างทำด้วย โดยเมื่อได้น้ำยางออกมาแล้วจะนำมาแต้มเหมือนสีลงบนรูปที่ร่างแบบไว้ เมื่อลงรอบแรกไปแล้วจะต้องรอให้แห้งก่อนและจึงค่อยลงซ้ำ ซึ่งทำไปเรื่อยๆ สักพักจะเริ่มเหนียวขึ้น ต้องหมั่นล้างพู่กัน โดยเธอได้ทดลองวาดลงบนวัสดุต่างๆ กระดาษ เฟรมผ้าใบแคนวาส ถุงผ้า เสื้อยืด กางเกงเล ส่วนความคงทนนั้นไม่ต้องพูดถึง ตอนเลอะติดแน่นยังไง ตอนเอามาวาดรูปแล้วก็ติดแน่นอย่างนั้น เรียกว่าอยู่ไปจนกว่าสีเสื้อผ้าจะซีดกันไปข้างหนึ่งนั่นแหละ
 



     “สีที่ได้จากยางกล้วย ก็เหมือนกับพืชชนิดอื่นๆ เช่น คราม ที่ค่อนข้างมีความละเอียดอ่อน แค่อุณหภูมิต่างกัน  เพ้นท์ตอนอากาศร้อนอากาศเย็น สีที่ได้ก็ไม่เหมือนกันแล้ว หรือตัดมาแล้วทำเลย หรือเก็บรองน้ำยางทิ้งไว้แล้วค่อยมาทำ สีก็ไม่เหมือนกันอีก ต้องค่อยๆ ศึกษาไป”
 



     นอกจากสร้างความแปลกใหม่แล้ว ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวยังตอบโจทย์ลูกค้ากลุ่มรักษ์โลกได้ดีด้วย หลายคนยินดีที่จะรอคอย ยินดีที่จะจ่าย เพราะเข้าใจและเห็นคุณค่าของงาน โดยช่องทางการจำหน่ายทุกวันนี้สินค้าบางส่วนได้ฝากวางขายอยู่ที่ ‘บางน้อยคอยรัก’ ที่พักเล็กๆ ในตลาดน้ำบางน้อย สมุทรสงคราม และในเพจของบ้านช่างคิดช่างทำ พื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านสุขภาวะ ให้ความสำคัญในเรื่องสิ่งแวดล้อม และการใช้ชีวิตอย่างมีศิลปะและมีคุณค่า รวมถึงตลาดต่างประเทศ เช่น ตลาดญี่ปุ่นด้วย ซึ่งค่อนข้างให้ความสนใจในผลิตภัณฑ์เช่นนี้
 



     “ชิ้นงานบางส่วนเราทำออกมาเป็นผลิตภัณฑ์และจำหน่าย เคยมีดีไซน์เนอร์มาสั่งให้ทำลวดลายให้และเอาไปตัดเย็บเป็นชุด แต่นอกเหนือจากนี้ ความตั้งใจจริงๆ ของเรา คือ เราอยากเผยแพร่งานยางกล้วยให้เป็นอีกงานทางด้านวัฒนธรรมพื้นถิ่นของไทย และค่อยเชื่อมโยงกับวัฒนธรรมหรืองานฝีมือในพื้นที่ภูมิภาคต่าง เช่น สมมติรู้จักกับคนทำเซรามิกคนหนึ่ง เราอาจเอางานยางกล้วยให้เขาไปถ่ายทอดต่อยอดในรูปแบบของเขา เป็นการร่วมกันทดลองและต่อยอดงานไปด้วยกันในมิติต่างๆ เป็นการรวบรวมจัดเก็บข้อมูลไปด้วย ซึ่งมันไม่สามารถเกิดขึ้นมาจากตัวเราคนเดียวได้ แต่เกิดจากการที่เราได้แชร์ออกไป เมื่อเราสนุกกับมันและรวบรวมชิ้นงานได้หลากหลายพอแล้ว อยากจะจัดเป็นนิทรรศการขึ้นมา เพื่อเผยแพร่งานยางกล้วยให้เป็นที่รู้จักมากขึ้นด้วย รวมถึงจัดเก็บข้อมูล เพื่อถ่ายทอดเป็นความรู้และให้มีการศึกษากันต่อไป”
 

Facebook : ThinkingDoings


www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: MARKETING

วิกฤตสูงวัย เด็กเกิดใหม่น้อย กรณีศึกษาธุรกิจญี่ปุ่น ปรับตัวผลิตสินค้าผู้ใหญ่แทนสินค้าเด็ก

Oji Holdings ผู้ผลิตผ้าอ้อมในญี่ปุ่นประกาศยุติผลิตผ้าอ้อมเด็ก หันไปเพิ่มปริมาณการผลิตผ้าอ้อมผู้ใหญ่แทน สาเหตุมาจากอัตราการเกิดที่ลดลงและจำนวนประชากรสูงวัยของญี่ปุ่นที่เพิ่มสูงขึ้น

โอกาสโกอินเตอร์ของแบรนด์ไทย ทำงานกับนักธุรกิจระดับโลก งาน Gifts & Premium Fair ฮ่องกง

ฮ่องกงขึ้นชื่อว่าเป็นดินแดนที่มีการจัดงานแสดงสินค้าที่ยิ่งใหญ่ของโลกแห่งหนึ่ง และหนึ่งในนั้นคืองานแสดงสินค้าของขวัญและของพรีเมียมภายใต้ชื่อ Hong Kong Gifts & Premium Fair ซึ่งกำลังจะมีขึ้นระหว่างวันที่ 27-30 เมษายน 2024