​เจาะทริค & เทรนด์แพ็กเกจจิ้งที่ SME ต้องรู้




 

     เพราะบรรจุภัณฑ์ หรือ แพ็กเกจจิ้ง มีผลต่อการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภค โดยทำหน้าที่เสมือนพนักขายที่พูดไม่ได้ แต่ทรงพลัง แล้วแพ็กเกจจิ้งที่ดีต้องเป็นอย่างไร วันนี้มาพูดคุยกับ วรรณา สุทัศน์ ณ อยุธยา Chief Packaging Specialist บริษัทเอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน) ถึงเรื่องนี้กันดีกว่า
 

Q: เทรนด์ของแพ็กเกจจิ้งปีนี้มีอะไรบ้าง
 

A: ปัจจุบันเทรนด์แพ็กเกจจิ้งหลักๆ ของโลกจะเน้นที่เรื่องของสิ่งแวดล้อม โดยตัวบรรจุภัณฑ์จะทำมาจากวัสดุตัวไหนก็ได้ แต่ต้องสามารถรีไซเคิลได้ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เป็นบรรจุภัณฑ์เพื่อความยั่งยืน หรือ Sustainable Packaging มีการใช้นวัตกรรม การใช้ material ในการทำแพ็กเกจจิ้งลดลง เพื่อทำให้มีน้ำหนักเบา แต่ความแข็งแรงยังเท่าเดิม รวมถึงต้องมีความสะดวกสบาย ไม่ว่าจะเป็นการเปิด ปิด การใช้ หรือแม้แต่การทำลายหลังการใช้ ตลอดจนเทรนด์ที่สะท้อนมาจากพฤติกรรมของผู้บริโภค เช่น aging population ที่ต้องตอบโจทย์การใช้งานและสะดวกต่อกลุ่มผู้สูงอายุ และ ready to eat packaging หรือบรรจุภัณฑ์แบบพร้อมทาน
 

Q: แล้วเทรนด์ไหนถึงเหมาะกับ SME
 

A: เทรนด์แพ็กเกจจิ้งรักษ์โลกเป็นเทรนด์ที่ SME สามารถนำมาปรับใช้ได้ เช่น การใช้กระดาษรีไซเคิลมาทำเป็นตัวแพ็กเกจจิ้ง หรือการใช้ประโยชน์ต่อได้ เมื่อเอาสินค้าออกจากแพ็กเกจจิ้งไปแล้ว เช่น กล่องหรือกิ๊ฟเซ็ทขนม พอเอาขนมออกไปแล้ว กล่องอันนี้สามารถเอาไปใส่ของหรืออุปกรณ์อย่างอื่นได้ หรือบรรจุภัณฑ์กล่องใส่ถังขยะ พอเอาถังขยะออกไป กล่องนั้นก็กลายเป็นถังขยะอีกหนึ่งใบ เอาไปใช้งานต่อได้ ดังนั้นแบรนด์แค่คิดว่าหลังจากเอาโปรดักต์ออกไปแล้ว แพ็กเกจจิ้งเอาไปทำอะไรต่อได้แค่นี้ก็พอ เพราะผู้ประกอบการส่วนใหญ่ยังก้าวไปไม่ถึงเทรนด์โลก เขามองแค่ว่าจะออกแบบยังไงให้สินค้าขายได้ ดังนั้นสำหรับ SME แค่ทำแพ็กเกจจิ้งที่เหมาะกับตัวโปรดักต์และสะดวกต่อผู้บริโภคได้ก็เป็นจุดที่ดีแล้ว
 

Q: สำหรับผู้ประกอบการ SME แพ็กเกจจิ้งที่ดีต้องคำนึงถึงอะไรบ้าง
 

A: อย่างแรกต้องรู้ว่าสินค้าของเขานั้นจะไปขายใคร ตลาดเป็นยังไง ต้องมีการศึกษาผู้บริโภคเขาว่าไลฟ์สไตล์เขานั้นเป็นยังไง เช่นสินค้าของแบรนด์เป็นสบู่ โดยที่สบู่นั้นสามารถใช้ได้กับทุกรุ่นไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่ แต่ถ้าเขาโฟกัสไปที่กลุ่มใดกลุ่มหนึ่งอย่างวัยรุ่น ตัวแพ็กเกจจิ้งก็จะต่างจากที่ขายให้คนสูงอายุหรือเด็ก เพราะฉะนั้นสิ่งสำคัญคือเขาต้องรู้ก่อนว่าลูกค้าเขาคือใคร
 




หลังจากที่ได้กลุ่มลูกค้าเป้าหมายแล้ว ทางแบรนด์ต้องมีการวาง positioning ของสินค้าว่าจะขายแพง ถูกหรือกลางๆ ดังนั้นราคาของแพ็กเกจจิ้งจะไม่เท่ากัน ราคาของโปรดักต์ก็จะไม่เท่ากัน เพราะฉะนั้นต้องดูว่าจะวางขายเป็นสินค้า luxury ที่คิง พาวเวอร์ หรือจะไปวางขายตามห้างอย่างแม็คโคร โลตัส หรือร้านสะดวกซื้ออย่างเซเว่น อีเลฟเว่น การออกแบบแพ็กเกจจิ้งก็จะต่างกันไปเลย ดังนั้นแบรนด์จะต้องรู้ก่อนว่าจะไปขายที่ไหน ถึงจะออกแบบแพ็กเกจจิ้งให้เหมาะกับตรงนั้นได้
 

ยกตัวอย่างแบรนด์ศรีจันทร์ที่ตอนนี้ดังมาก เพราะเขาปรับแพ็กเกจจิ้งโดยการจับมือกับดีไซเนอร์ชื่อดังออกแบบตัวแพ็กเกจจิ้งใหม่ให้มีความน่าสนใจ ดึงดูดใจลูกค้าและช่วยเพิ่มยอดขายได้ แม้ของข้างในยังเหมือนเดิม แต่ position เขาชัดเจน คือเดิมอาจเน้นที่กลุ่มแม่บ้าน เดี๋ยวนี้เขามาเน้นวัยรุ่น วางขายในเซเว่นด้วยราคาที่ซื้อได้
 

Q: การใช้นวัตกรรมหรือเทคโนโลยีในการออกแบบแพ็กเกจจิ้งเป็นสิ่งที่ไกลจากความเป็น SME ไหม
 

A: เป็นสิ่งที่ไม่ไกลถ้ารู้จักปรับใช้ให้เหมาะสมกับตัวเอง เช่น แบรนด์ทำกล้วยตากขาย ก็ไม่จำเป็นต้องใช้นวัตกรรมหรือเทคโนโลยีขั้นสูงในการออกแบบ แค่ทำแพ็กเกจจิ้งให้ดูโอเคก็พอแล้ว เริ่มจากตรงนี้ก่อนแล้วค่อยไปพัฒนาให้ดีขึ้น แต่ถ้าหากจะขยายไปสู่การขายในต่างประเทศ แน่นอนว่าต้องมีการใช้นวัตกรรมหรือเทคโนโลยีเข้ามาช่วย เช่น การยืดอายุการเก็บรักษา (Shelf Life) จากเดิมที่อยู่ได้ 7 วัน ไปเป็น 1 เดือน ทางแบรนด์ต้องมีการไปศึกษาแล้วว่าทำยังไง ใช้แพ็กเกจจิ้งแบบไหนถึงจะสามารถยืดอายุของอาหารได้ โดยที่สีและรสชาติไม่เปลี่ยน
 

Q: แล้วเทรนด์ของแพ็กเกจจิ้งกินได้ที่เห็นมาสักระยะ มีความน่าใจสนไหม
 

A: Edible packaging หรือแพ็กเกจจิ้งกินได้ เป็นเทรนด์ที่มีมานานแล้ว แต่คนเรายังมีความกังวลเรื่องความปลอดภัยของอาหารอยู่ว่ามันกินได้จริงไหม ใครเป็นผู้ผลิต ถ้าเป็นแบรนด์ใหญ่ๆ จะมีความน่าเชื่อถือมากกว่าแบรนด์เล็กๆ เพราะฉะนั้นเทรนด์พวกนี้ให้ฟังไว้ก่อน แต่อย่าเพิ่งทำตาม ให้ดูก่อนว่าจะอยู่ได้นานแค่ไหนหรือมีความเป็นไปได้ไหมที่แบรนด์เราจะทำ
 




Q: ช่วยบอกทริคง่ายๆในการออกแบบแพ็กเกจจิ้งเพื่อเป็นความรู้สำหรับ SME

 

A: เช็กลิสต์สำหรับการดีไซน์แพ็กเกจจิ้งให้มีประสิทธิภาพมี 7 ข้อ ได้แก่
 

Colour เลือกสีให้เหมาะกับผลิตภัณฑ์และต้องสื่อถึงอัตลักษณ์ของแบรนด์หรือ Brand Identity
 

Shape การใช้รูปร่างหรือรูปแบบของแพ็กเกจจิ้งที่แตกต่างจะทำให้สินค้าของแบรนด์มีความโดดเด่น
 

Graphic ออกแบบลวดลายหรือกราฟฟิกให้มีความสอดคล้องไปกับ Brand Identity โลโก้ของบริษัทและสี
 

Material ใช้วัสดุต่างจากแบรนด์อื่น ต่างจากเดิมที่มีอยู่ เช่น การเลือกใช้กระดาษที่เคลือบสารพิเศษสามารถช่วยยืดอายุผลิตภัณฑ์ได้ สร้างความแตกต่างและโดดเด่นให้กับแพ็กเกจจิ้งได้
 

Message/ Information ข้อมูลที่อยู่บนบรรจุภัณฑ์ควรบอกว่าโปรดักต์นี้เป็นผลิตภัณฑ์ใด เพราะปัจจุบันผู้บริโภคมีการศึกษามากขึ้น มีการอ่านฉลากโภชนาการบนบรรจุภัณฑ์มากขึ้น มีการเทียบราคา ดังนั้นตัวแพ็กเกจจิ้งต้องมีการสื่อสารกับคนที่มาซื้อนั่นเอง หรือแม้กระทั่งบรรจุภัณฑ์เพื่อการขนส่งก็ต้องมีกราฟฟิกหรือสัญลักษณ์บอกเช่นรูปแก้วแตก บาร์โค้ด เครื่องหมายรีไซเคิล เป็นต้น
 

Functional บางครั้งกล่องเรียบๆธรรมดาคนจะไม่รู้ว่ามันมีฟังก์ชั่นอะไรบ้าง แบรนด์ต้องอธิบายความดีงามของมัน ในปัจจุบันผู้ผลิตหลายแบรนด์หันมาทำตัวแพ็กเกจจิ้งที่พอเปิดแล้วกลายเป็นป๊อปอัพดิสเพลย์สินค้าได้เลย
 

Production ต้องคำนึงถึงหลักในการผลิตว่าออกแบบมาแล้วผลิตได้จริงหรือเปล่า    
 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: MARKETING

วิกฤตสูงวัย เด็กเกิดใหม่น้อย กรณีศึกษาธุรกิจญี่ปุ่น ปรับตัวผลิตสินค้าผู้ใหญ่แทนสินค้าเด็ก

Oji Holdings ผู้ผลิตผ้าอ้อมในญี่ปุ่นประกาศยุติผลิตผ้าอ้อมเด็ก หันไปเพิ่มปริมาณการผลิตผ้าอ้อมผู้ใหญ่แทน สาเหตุมาจากอัตราการเกิดที่ลดลงและจำนวนประชากรสูงวัยของญี่ปุ่นที่เพิ่มสูงขึ้น

โอกาสโกอินเตอร์ของแบรนด์ไทย ทำงานกับนักธุรกิจระดับโลก งาน Gifts & Premium Fair ฮ่องกง

ฮ่องกงขึ้นชื่อว่าเป็นดินแดนที่มีการจัดงานแสดงสินค้าที่ยิ่งใหญ่ของโลกแห่งหนึ่ง และหนึ่งในนั้นคืองานแสดงสินค้าของขวัญและของพรีเมียมภายใต้ชื่อ Hong Kong Gifts & Premium Fair ซึ่งกำลังจะมีขึ้นระหว่างวันที่ 27-30 เมษายน 2024