​“ฮ่องกง” มองเมืองให้เป็นแบรนด์







     ผู้คนมักจะชอบพูดว่าชีวิตคือการเดินทาง แต่ผู้เขียนกลับมองว่าน่าจะเปลี่ยนสมการใหม่เป็นการเดินทางสร้างสีสันให้ชีวิตมากกว่า โดยเฉพาะการไป Business Trip ที่ฮ่องกง 3 วัน 2 คืนในครั้งนี้


     สีสันของการเดินทางครั้งนี้อยู่ที่การตั้งคำถามกับตัวเองเล่นๆ ว่า ถ้าหากเรามอง ฮ่องกง ให้เป็นแบรนด์จะเป็นอย่างไร จะมีบุคลิกแบบไหน มีความน่าสนใจมากน้อยแค่ไหน แล้วที่สำคัญหากมองในมุมของนักสร้างแบรนด์​เราอยากรู้ว่า


     ถ้ามองฮ่องกงให้เป็นแบรนด์เราจะซื้อแบรนด์แบบนี้หรือไม่?


     นี่เป็นคำถามที่ต้องตอบ ซึ่งมันทำให้การเดินทางสนุกมากขึ้น และทำให้เปลี่ยนวิธีคิดในการมองโลกไปเป็นอีกแบบ 
               

     ฮ่องกงนั้นมีภูมิประเทศเป็นเกาะ มีประชากรประมาณ 7 ล้านคน ซึ่งเมื่อเทียบกับจำนวนประชากรในกรุงเทพฯ แล้ว สัดส่วนความหนาแน่นของประชากรต่อ 1 ตารางเมตรของฮ่องกงมีน้อยกว่ากรุงเทพฯ ถึง 2.5 เท่า ความได้เปรียบด้าน Product ของฮ่องกงคือ การมีภูมิประเทศเป็นเกาะ ซึ่งทำให้เส้นทางการสัญจรต่างๆ มีทัศนียภาพสองข้างทางที่สวยงามมาก การวางผังเมืองที่ค่อนข้างเป็นระเบียบทำให้เส้นทางดูง่าย ไม่วกวน แถมสองข้างทางถนนเต็มไปด้วยต้นไม้เขียวขจี ดูสบายตา
               

     Brand Image หรือภาพลักษณ์แบรนด์ที่ชัดเจนด้านหนึ่งของฮ่องกงก็คือ การเป็นเมืองแห่งการช้อปปิ้ง เป็นเมืองที่ดูมีความทันสมัย เจริญก้าวหน้า สินค้าด้าน Gadget และ IT ค่อนข้างหลากหลาย ที่สำคัญคือราคาถูกกว่าเมืองไทย นั่นหมายความว่า การเข้าถึงเทคโนโลยีนั้นง่ายกว่า และใช้ต้นทุนที่ถูกกว่าเมื่อเทียบกับบ้านเรา รวมถึงสินค้าแบรนด์เนมต่างๆ ราคาก็ถูกกว่าเช่นกัน การปักหมุดว่าฮ่องกงเป็นดินแดนแห่งการช้อปปิ้งสำหรับคนไทยก็ดูจะไม่เกินจริงเลย


     อย่างไรก็ตาม เพียงแค่ภาพที่เห็นด้านเดียวก็ยังตัดสินบุคลิกของแบรนด์ฮ่องกงไม่ได้ทั้งหมด เพราะว่าเรายังไม่เห็นอีกด้านที่สำคัญมาก นั่นคือวัฒนธรรม วิถีชีวิต และสถานที่ท่องเที่ยวทางศาสนา ซึ่งวัดวาอารามที่เป็น Signature หลักๆ ของฮ่องกงก็คือ วัดแชกง วัดใหญ่นองปิง และเจ้าแม่กวนอิมองค์ใหญ่
               

     การได้ไปไหว้พระและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ตามสถานที่ต่างๆ ทำให้พบว่า การนับถือบูชาเทพเจ้า มีความสำคัญกับชาวฮ่องกงมาก กลิ่นอายของวัฒนธรรม วิถีชีวิตและผู้คนเมื่อเราเข้าถึงวัดต่างๆ นั้น ทำให้ภาพของฮ่องกงมีความหลากหลายทั้ง 2 ขั้ว คือ เทคโนโลยี และศาสนา
               

     ความหลากหลายดังกล่าวไม่ได้สะท้อนแค่จากภาพของห้างสรรพสินค้ากับวัด แต่ว่าเมื่อเปรียบเทียบระหว่างวัดกับวัด เรายิ่งได้เห็นว่ามีภาพซ้อนกัน 2 แบบ โดยเฉพาะวัดแชกงกับวัดใหญ่นองปิง บรรยากาศของวัดแชกงเป็นแบบดั้งเดิม ศิลปะเป็นแบบยุคเก่า การไปไหว้ท่านเทพแชกงที่นี่มีพิธีกรรมที่ทำให้รู้สึกว่าขลัง มีพลังบวกอยู่เต็มพื้นที่จริงๆ ในขณะที่เมื่อตัดไปที่วัดใหญ่นองปิง บรรยากาศความขลังต่างกันเยอะ เรียกได้ว่า Brand Environment สภาพแวดล้อมของแบรนด์แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง ถึงแม้ว่านองปิงจะดูมีเอกลักษณ์ในแบบศิลปะของจีน แต่ก็โชว์เหนือในเรื่องความทันสมัยตั้งแต่การต้อนรับนักท่องเที่ยวด้วยการใช้กระเช้าลอยฟ้าในการ Present
               

     การขึ้นกระเช้านับว่าเป็นรักแรกพบที่ผู้เขียนมีต่อฮ่องกงเลยทีเดียว เพราะว่าด้วยรูปแบบการนำเสนอและทัศนียภาพที่ได้เห็นขณะอยู่บนกระเช้าทุกอย่างมันดูลงตัว สวยงาม และเมื่อไปถึงพระใหญ่ การจัด Landscape ของวัดดูโปร่ง สบาย มีความทันสมัยแทรกอยู่ในอารยธรรมแบบดั้งเดิม สุดท้ายแล้วเมื่อเดินขึ้นไปไหว้พระใหญ่บนเขา คำตอบเรื่องของความสงบ และการเป็นที่พึ่งทางใจนั้น แทบไม่แตกต่างจากที่วัดแชกง
               

     เช่นเดียวกับการไปไหว้เจ้าแม่กวนอิมองค์ใหญ่ ซึ่งบรรยากาศโดยรวมถูกตกแต่งให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สวยงาม แต่เมื่อเข้าไปถึงจุดที่กราบไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์แล้ว ความเงียบสงบ ความขลังของพื้นที่ก็ดูจะโดดเด่นขึ้นมามากกว่าการเป็นจุดท่องเที่ยวธรรมดา
               

     ไม่ใช่แค่สถานที่เท่านั้นที่มีความแตกต่าง ผู้คนก็เช่นกัน สิ่งที่เป็นความขัดแย้งกับภาพลักษณ์ที่ดูทันสมัยก็คือ การแต่งตัวของชาวฮ่องกงส่วนใหญ่แต่งตัวธรรมดา ไม่ได้มีภาพลักษณ์ของความทันสมัยให้เห็น ในบางโซนผู้เขียนแอบคิดว่า แต่งตัวเชยกว่าคนไทยในเมืองใหญ่ของบ้านเราเสียอีก แต่ต้องบอกว่าก็ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจอะไร เพราะวิถีชีวิตของคนฮ่องกงค่อนข้างมีความทับซ้อนระหว่างความทันสมัยและวิถีแบบดั้งเดิมอยู่สูง
               

     โดยรวมแล้วผู้เขียนประทับใจในความขัดแย้งแบบนี้ของฮ่องกง เพราะรู้สึกว่าความเจริญของเมืองไม่ได้เปลี่ยนวิถีของผู้คนให้ต้องวิ่งตามโลกที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว ก็ยังมีบางมุมที่เป็นมุมสงบ สง่างาม น่านับถือแฝงอยู่
                .

     ถ้ามองเป็นแบรนด์ก็ถือว่าบุคลิกภาพของแบรนด์ หรือ Brand Personality ของฮ่องกงนั้นค่อนข้างหลากหลาย และขัดแย้งในตัวเองพอสมควร กล่าวโดยรวมแล้วแบรนด์ฮ่องกง แทบไม่ได้ผิดไปจากภาพที่คิดไว้เท่าไร ในขณะที่แคมเปญโปรโมตการท่องเที่ยวของฮ่องกงอาจจะต้องคิดมากหน่อยว่าอยากให้มี Brand Positioning หรือจุดยืนของแบรนด์อยู่ตรงไหนอย่างไร


     อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เป็น Brand Identity ตัวตนของแบรนด์ซึ่งมีความชัดเจนมากของฮ่องกงก็คือ อาหาร นอกจากจะจัดให้เป็น Signature ที่ดีได้แล้ว ยังมี Identity ที่แข็งแรงมากอีกด้วย เพราะว่าตลอด 7 มื้อในฮ่องกง ผู้เขียนได้มีโอกาสกินอาหารตั้งแต่ในโรงแรมระดับ 5 ดาว ไล่มาจนถึงภัตตาคารชื่อดังทั้งที่เป็น Stand Alone และร้านดังอยู่ในห้างสรรพสินค้า รวมถึงอาหารแบบ Street Food บอกได้คำเดียวว่าเป็นแนวทางเดียวกันทั้งหมด ทั้งรสชาติ รูปแบบ และการ Present แบบนี้จะไม่ให้สรุปว่าเป็น Identity ที่ชัดเจนมากก็คงไม่ได้ ยอมใจให้เลยจริงๆ สำหรับเรื่องนี้


     คิดต่อเล่นๆ ว่าถ้าได้มีโอกาสโปรโมตแบรนด์ฮ่องกง ก็คงจะมี TVC เป็นแบบตัดให้เห็นความหลากหลายของวัฒนธรรมที่สุดขั้วทั้งเทคโนโลยีและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ แต่ก็จะปิดท้ายด้วยอาหารเด็ดๆ ซึ่งหลับตาเดินกินที่ไหนก็มาตรฐานเดียวกันไม่ต้องกลัวว่าจะเจอร้านไม่อร่อย

 
     เรื่องสุดท้ายที่จะต้องมองฮ่องกงให้เป็นแบรนด์ก็คือ Brand Ambassador ตัวแทนของแบรนด์ นั่นก็คือ ผู้คนชาวฮ่องกงนั่นเอง ซึ่งในมุมของการสร้างแบรนด์ ผู้เขียนให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มากเป็นลำดับต้นๆ เพราะว่าบางแบรนด์​สร้างกันมาเกือบตาย แต่ก็พังเอาง่ายๆ ได้ภายในไม่กี่นาทีเพราะพนักงานนี่แหละ
               




     ถ้าจะปั้นแบรนด์ฮ่องกง ความเหนื่อยน่าจะอยู่ที่การปั้น Brand Ambassador นี่แหละ เพราะว่าผู้คนฮ่องกงค่อนข้างเครียด อยู่มา 3 วันนี่นับได้เลยว่ามีกี่คนที่ยิ้มให้เรา แม้กระทั่งพนักงานในตำแหน่งบริการ เช่น พนักงานขาย พนักงานเสิร์ฟ พนักงานต้อนรับ ก็แทบไม่ยิ้มแถมยังทำหน้าดุอีกต่างหาก ยิ่งพนักงานเสิร์ฟอาหารนี่ตอนเสิร์ฟแทบจะโยนจานใส่โต๊ะอาหาร ซึ่งเป็นเหตุการณ์ปกติของภัตตาคารหรูๆ ทุกที่ที่ไป พอเริ่มชินก็คิดว่าคงเป็นธรรมชาติของเขาไปแล้ว  
               

     ถึงแม้ว่าผู้คนส่วนใหญ่จะหน้าตาเคร่งเครียด แต่ไม่ได้มีความก้าวร้าวอะไร คงเป็นธรรมชาติของเขาเท่านั้นเอง ในมุมนี้ผู้เขียนแอบคิดถึงเมืองไทย คิดถึงคนไทย และทำให้รู้ซึ้งว่า ทำไมนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกถึงได้หลงรักเมืองไทย และคนไทยกันนัก เพราะเราคือสยามเมืองยิ้ม เราเป็น Land of Smile ยังไงพี่ไทยก็ยิ้ม พูดภาษาอังกฤษรู้เรื่องบ้างไม่รู้เรื่องบ้างแต่เราก็ยังยิ้มให้นักท่องเที่ยว
               

     มองในมุมนี้ Brand Reputation หรือชื่อเสียงของแบรนด์สำหรับฮ่องกงในสายตาผู้เขียนนั้นดูดรอปลงไปเยอะ แม้ว่าไม่ได้รู้สึกถึงขนาดไม่ชอบหรือไม่ประทับใจ แต่ถ้าถามว่าเป็นเมืองที่อยากไปเที่ยวซ้ำอีกไหม ตอบว่าถ้าเป็นช้อปปิ้งก็อยากจะไปอีกเพราะครั้งนี้มีเวลาช้อปปิ้งน้อยมาก
               

     จริงๆ แล้วการไปฮ่องกงครั้งนี้มีความประทับใจมากกว่าไม่ประทับใจ ส่วนเรื่องผู้คนไม่ยิ้มเลยนั้น ผู้เขียนมองเป็นเรื่องปกติไม่ได้เอามาตัดคะแนนในการมองฮ่องกง 3 วันให้เป็นแบรนด์ ส่วนคำถามที่ตั้งไว้ในตอนต้นว่าในมุมของนักสร้างแบรนด์นั้นจะซื้อแบรนด์ที่มีบุคลิกแบบฮ่องกงไหม
               

     อันนี้ตอบยากจริงๆ เพราะถึงที่สุดแล้วผู้เขียนก็รู้สึกว่าผู้คนซึ่งเป็นตัวแทนของ Brand Ambassador มีอิทธิพลต่อผู้เขียนค่อนข้างมาก
               

     ให้ตอบว่ารักเมืองไทย Land of Smile และรักคนไทยมากที่สุดเห็นจะตอบง่ายกว่า


www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี



 

RECCOMMEND: MARKETING

วิกฤตสูงวัย เด็กเกิดใหม่น้อย กรณีศึกษาธุรกิจญี่ปุ่น ปรับตัวผลิตสินค้าผู้ใหญ่แทนสินค้าเด็ก

Oji Holdings ผู้ผลิตผ้าอ้อมในญี่ปุ่นประกาศยุติผลิตผ้าอ้อมเด็ก หันไปเพิ่มปริมาณการผลิตผ้าอ้อมผู้ใหญ่แทน สาเหตุมาจากอัตราการเกิดที่ลดลงและจำนวนประชากรสูงวัยของญี่ปุ่นที่เพิ่มสูงขึ้น

โอกาสโกอินเตอร์ของแบรนด์ไทย ทำงานกับนักธุรกิจระดับโลก งาน Gifts & Premium Fair ฮ่องกง

ฮ่องกงขึ้นชื่อว่าเป็นดินแดนที่มีการจัดงานแสดงสินค้าที่ยิ่งใหญ่ของโลกแห่งหนึ่ง และหนึ่งในนั้นคืองานแสดงสินค้าของขวัญและของพรีเมียมภายใต้ชื่อ Hong Kong Gifts & Premium Fair ซึ่งกำลังจะมีขึ้นระหว่างวันที่ 27-30 เมษายน 2024