​อยากเป็น SME ที่สตรอง! ท่อง 3 คำนี้ให้ขึ้นใจ “กล้า- แตกต่าง-ไปให้สุด”





 

     นอกจากการทำสินค้าให้ได้คุณภาพ อีกปัจจัยสำคัญที่ช่วยส่งเสริมภาพลักษณ์ผลิตภัณฑ์หรือธุรกิจให้ดึงดูดใจผู้บริโภค สามารถเติบโตแข่งขันอยู่ในตลาดได้คือ การออกแบบ ยิ่งในปัจจุบันที่มีปัจจัยแวดล้อมต่างๆ เข้ามามากยิ่งขึ้นแล้ว การออกแบบมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง ส่งผลเชื่อมโยงต่อธุรกิจอย่างไร ผู้ประกอบการ SME ควรต้องปรับตัวเช่นไร
 


     สมชนะ กังวารจิตต์ ผู้ก่อตั้ง Prompt Design และยังเป็นเจ้าของรางวัลด้านแพ็กเกจจิ้งที่คว้ารางวัลระดับโลกมามากมาย จะร่วมอัพเดตเทรนด์การออกแบบใหม่ๆ ให้เราฟัง
 

     “ทุกวันนี้การทรานส์ฟอร์มธุรกิจจากรูปแบบเดิมๆ มาสู่ธุรกิจรูปแบบใหม่ มีให้เห็นกันเยอะขึ้น ไม่ว่าการเงินธนาคาร หรือการซื้อ-ขายสินค้า แต่สำหรับด้านการออกแบบความเปลี่ยนแปลงที่เริ่มเห็นได้ชัด และมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นในอนาคต คือ การสร้างอัตลักษณ์ให้กับแบรนด์ ก่อนหน้านี้ในยุคหนึ่งเราใช้วิธีนำโลโก้มาใช้ให้เห็นซ้ำๆ ตั้งแต่นามบัตรไปจนถึงบิลบอร์ดโฆษณา เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถจดจำแบรนด์ได้
 




     แต่ปัจจุบันอัตลักษณ์กลายเป็นสิ่งที่สามารถยืดหยุ่นได้มากขึ้น ไม่มีรูปแบบตายตัว แบรนด์ที่เป็นผู้นำความคิดนี้ ได้แก่ Google สังเกตได้ว่าเวลาเซิร์ชเข้าไปใน Google จะเห็นโลโก้ไม่ซ้ำกันสักวันเลย แต่ไม่ว่าจะเปลี่ยนไปเป็นอะไร คู่สีของ G ตัวแรกและตัวหลังจะใช้เหมือนกันเสมอ เป็นการสร้างองค์ประกอบ เพื่อเป็นจุดให้ระลึกถึง จึงทำให้เราสามารถจดจำได้ ทำให้การสร้างอัตลักษณ์ของแบรนด์ยุคนี้สนุกขึ้น
 

     ผู้ประกอบการโดยเฉพาะ SME สามารถนำมาปรับใช้กับธุรกิจได้ เป็นเทรนด์ใหม่ ซึ่งแบรนด์เล็กๆ ยังไม่ค่อยมีใครกล้าทำเท่าไร อาจจะเริ่มเคยเห็นกันบ้าง แต่เขาไม่รู้ว่านี่คือ วิธีคิด ฉะนั้นถ้าลองทำ เราอาจเป็นคนแรกๆ ของไทยเลยก็ได้ แต่ทั้งนี้ต้องดูดีไซเนอร์ด้วยว่า เข้าใจการออกแบบของโลก ณ ปัจจุบันมากน้อยแค่ไหน ถ้า SME เปิดโอกาสให้นักออกแบบที่เข้าใจได้วาดลวดลาย แสดงฝีมือ ผมว่าเป็นอาวุธสำคัญสำหรับ SME ท่านนั้นที่จะไปสู้ต่อได้แน่นอน”
 

     เมื่อโลกพลิกหมุนเปลี่ยนไป ผู้บริโภคกลายเป็นคนกำหนดสินค้าตัวจริง ไม่ใช่แบรนด์อีกต่อไป การค้นหาอัตลักษณ์จุดเด่นของแบรนด์ให้ชัดเจนมากขึ้น น่าจะเป็นวิธีหนึ่งที่ทำให้แบรนด์กลายเป็นผู้ถูกเลือกได้มากขึ้น สามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้มากที่สุด ซึ่งในอนาคตอาจไม่ได้แข่งกันที่สินค้าที่ดีที่สุด แต่ขึ้นอยู่กับวิธีการนำเสนอ การออกแบบที่แตกต่าง จึงจะสามารถดึงดูดใจผู้บริโภคได้และอยู่รอดได้ในท่ามกลางแบรนด์หรือธุรกิจที่เกิดเพิ่มขึ้นมาอีกมากมาย
 




     “ผู้บริโภคทุกวันนี้ชอบอะไรแปลกใหม่ อะไรที่แตกต่าง และมีคุณค่า ถ้าได้ลองใช้ ได้เป็นคนนำเสนอออกไป เขาจะรู้สึกว่าได้เป็นผู้นำ ได้ทำอะไรที่ไม่เหมือนใคร ฉะนั้นผมมองว่าผู้ประกอบการ SME ที่จะแจ้งเกิดได้ในยุคนี้ ต้องกล้า ต้องแตกต่าง และไปให้สุด โดยไม่มีข้อแม้ ไม่ใช่ออกแบบเสร็จ ถึงเวลาไม่กล้าลงทุน ถ้าเป็นอย่างนั้นก็ไม่เกิดอะไรขึ้นมา
 

     ผมเคยแนะนำผู้ประกอบการท่านหนึ่ง เขาทำน้ำอ้อยขาย ผมให้เขาลองเปลี่ยนจากขวดธรรมดา เป็นขวดที่ลองออกแบบมาใหม่ ทำเป็นเหมือนรูปปล้องอ้อย และสามารถนำมาต่อๆ กันขึ้นไปเหมือนลำอ้อยจริงๆ ได้ด้วย ผมบอกกับเขาไปว่าลองเปลี่ยนดู ลองเชื่อผม แล้วคุณจะรู้ว่าวันที่ผมบอกและคุณกล้าเปลี่ยน วันนั้นจะเป็นวันที่สำคัญที่สุดในชีวิตคุณ ซึ่งจริงๆ แล้วการลงทุนเปลี่ยนการผลิตขวด ลงทุนค่อนข้างเยอะนะ แต่เขาก็เชื่อผม และผลลัพธ์ที่ได้คือ ล่าสุดเขาไปออกงานแฟร์ที่ต่างประเทศได้ ออร์เดอร์กลับมาเพียบเลย นี่ขนาดยังไม่ทำขายนะ แต่มีออร์เดอร์สั่งล่วงหน้ามาแล้ว แถมยังได้รับการทาบทามจากห้างสรรพสินค้าให้เขาไปขายอีก ผิดกับแบรนด์อื่นที่ต้องเดินไปหาห้างฯ นี่คือตัวอย่างหนึ่งของการไปให้สุดของผู้ประกอบการยุคนี้ โดยบางครั้งการเปลี่ยนอาจจะไม่ได้ช่วยแค่สร้างแบรนด์ให้โดดเด่น เป็นที่รู้จักมากขึ้นเท่านั้น ยังช่วยลดค่าใช้จ่ายในระยะยาวให้กับองค์กรได้ด้วย”
 

     สำหรับการเปลี่ยนแปลงไปของโลกทุกวันนี้ ในฐานะที่ได้คลุกคลีกับผู้ประกอบการมาแล้วมากมาย รวมถึงการได้พบเจอประสบการณ์แปลกใหม่อยู่เสมอ สมชนะได้ฝากแง่คิดในการทำธุรกิจไว้ให้ผู้ประกอบการทุกคนว่า
 

     “ทุกวันนี้โลกหมุนเร็วมาก เพราะฉะนั้นสิ่งที่ SME ควรทำก็คือ 1.ต้อง Speed ตัวเองให้เร็วขึ้น 2.ต้องมีความกล้าที่จะเปลี่ยน ต้องรู้จักคู่แข่ง เพื่อจะได้รู้ความแตกต่างที่แท้จริง และนำตรงนั้นมาปรับใช้กับการทำธุรกิจ สิ่งหนึ่งที่ผมชอบมากในการทำธุรกิจยุคนี้คือ เราสามารถออกผลิตภัณฑ์อะไรก็ได้ในสเกลที่ไม่ใหญ่ เราอยากจะทดลองทำอะไรก็ได้ เริ่มจากเล็กๆ ค่อยๆ เก็บข้อมูลก่อน ผู้บริโภคในยุคนี้เขาพร้อมที่จะเปิดรับอะไรใหม่ๆ เสมอ ยกตัวอย่าง เคเอฟซียังออกน้ำหอมกลิ่นไก่ทอดเลย ถ้าเป็นเมื่อก่อนคนอาจจะมองว่าแบรนด์ป่วย แต่เดี๋ยวนี้คนต้องการแบบนี้ ต้องการความแตกต่าง ซึ่งผมเองก็ชอบแนวคิดอะไรแบบนี้”


www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: MARKETING

วิกฤตสูงวัย เด็กเกิดใหม่น้อย กรณีศึกษาธุรกิจญี่ปุ่น ปรับตัวผลิตสินค้าผู้ใหญ่แทนสินค้าเด็ก

Oji Holdings ผู้ผลิตผ้าอ้อมในญี่ปุ่นประกาศยุติผลิตผ้าอ้อมเด็ก หันไปเพิ่มปริมาณการผลิตผ้าอ้อมผู้ใหญ่แทน สาเหตุมาจากอัตราการเกิดที่ลดลงและจำนวนประชากรสูงวัยของญี่ปุ่นที่เพิ่มสูงขึ้น

โอกาสโกอินเตอร์ของแบรนด์ไทย ทำงานกับนักธุรกิจระดับโลก งาน Gifts & Premium Fair ฮ่องกง

ฮ่องกงขึ้นชื่อว่าเป็นดินแดนที่มีการจัดงานแสดงสินค้าที่ยิ่งใหญ่ของโลกแห่งหนึ่ง และหนึ่งในนั้นคืองานแสดงสินค้าของขวัญและของพรีเมียมภายใต้ชื่อ Hong Kong Gifts & Premium Fair ซึ่งกำลังจะมีขึ้นระหว่างวันที่ 27-30 เมษายน 2024