​Kanita กระเป๋าขนมไทย กินไม่ได้ แต่ดีไซน์โดน


 

Cr: Kanita


     จากการใช้รูปแบบที่เป็นเอกลักษณ์ของขนมไทยมาเป็นตัวชูโรง ทำให้แบรนด์ “Kanita” กลายเป็นกระเป๋าเครื่องหนังดีไซน์เก๋ที่ใครๆ ต่างก็พูดถึงมาตลอดระยะเวลาเกือบ 8 ปี 


     เริ่มจากหยิบงานอดิเรกมาใส่ความจริงจังจนกลายเป็นงานประจำ คณิตา คนิยมเวคิน ผู้ก่อตั้งและนักออกแบบแบรนด์ Kanita กระเป๋าเครื่องหนังขนมไทย บอกว่า ตอนเริ่มทำแบรนด์ยังทำงานประจำอยู่ซึ่งที่ทำงานอยู่ใกล้กับแหล่งเครื่องหนัง ในช่วงเวลาที่ไปกินข้าวก็จะเดินผ่านร้านเครื่องหนังและอุปกรณ์เลยเริ่มซึมซับกับสิ่งเหล่านี้


Cr: Kanita


     “เพราะเห็นอยู่บ่อยๆจึงเป็นที่มาของการซื้อเศษหนังมาทำเล่น ซื้ออุปกรณ์มาทำเป็นของใช้ใช้เอง เริ่มจากทำพวงกุญแจเล็กๆ น้อยๆ พอเสาร์อาทิตย์มีเวลาว่างก็เริ่มคิดอยากจะเอาเครื่องหนังไปขายอย่างพวกสมุดตอกชื่อ รู้สึกสนุกกับงานอดิเรกนี้เลยเริ่มทำขายจริงจังขึ้นมา แต่อย่างไรก็ตามพวกสมุดก็ไม่ได้มีคอนเซปต์อะไรที่ชัดเจน”


     ด้วยความที่อยากจะส่งงานเข้าประกวดโครงการ DEmark ของกรมส่งเสริมการส่งออก กระทรวงพาณิชย์ ที่เปิดโอกาสให้นักออกแบบและผู้ประกอบการไทยได้แสดงผลงานสู่ตลาดโลก จึงเป็นที่มาของการทำคอลเลกชั่นแรกของแบรนด์


     “เราตั้งโจทย์ขึ้นมาเลยว่าอยากจะทำสินค้าที่แสดงออกถึงเอกลักษณ์ความเป็นไทย เลยหยิบเอางานอดิเรกเครื่องหนังมาเป็นตัวตั้งแล้วเอาความที่ชอบทานขนมไทยเป็นทุนเดิมมาเป็นคำตอบ เราเห็นเอกลักษณ์ของแพ็กเกจของขนมไทยอย่างการห่อใบตองเลยได้ไอเดียมาจากตรงนี้ คิดว่าสามารถเอาแพ็กเกจแบบนี้มาทำเป็นกระเป๋าใส่ของได้ เลยเริ่มจับมาประยุกต์กับเครื่องหนังออกมาเป็นคอลเลกชั่นแรกอย่างชุดเครื่องหนังขนมไทย เช่น ขนมใส่ไส้ ขนมเทียน ขนมเบื้องที่เอาไว้ใส่เหรียญ ข้าวต้มมัดและข้าวเหนียวปิ้งไว้ใส่กุญแจ ขนมจากไว้ใส่เครื่องเขียนดินสอปากกา และกระทงใบตองที่ปกติเขาจะใส่พวกห่อหมกหรือขนมครกเอาไว้ใส่พวกคลิปหนีบกระดาษ”



Cr: Kanita   


     ล่าสุดทางแบรนด์ได้มีการทำคอลเลกชั่นใหม่อย่าง “คอลเลกชั่นวันเพ็ญ” ออกมา โดยเป็นกระเป๋าที่นำเอกลักษณ์ของการจับจีบใบตองอย่างการทำกระทงมาเป็นต้นแบบของการดีไซน์


     “ไอเดียนี้เกิดก่อนที่จะถึงวันลอยกระทงประมาณ 2 เดือนได้ เราอยากทำกระเป๋าที่ใบใหญ่ มีรายละเอียดและมีความน่าใช้ พอคิดถึงเทศกาลนี้เลยปิ๊งไอเดียขึ้นมาเลย”


Cr: Kanita


     เพราะเป็นงานแฮนด์เมดที่ยึดหลักตามรูปแบบที่สมจริง การทำงานเลยต้องอาศัยความละเอียดและขั้นตอนที่พิถีพิถัน เพราะรายละเอียดของโปรดักต์แต่ละแบบมีความแตกต่างกัน มีความยากแต่ละอย่างอยู่ในตัว


     “การออกแบบบางทีจะค่อนข้างมีอะไรที่ซับซ้อน อย่างเช่นคอลเลกชั่นวันเพ็ญที่มีการพับกลีบขึ้นมาเพื่อต้องซ้อนเป็นชั้นแล้วต้องเอามาต่อเป็นชั้นอีกที ซึ่งการทำให้กลีบเรียงขึ้นไปจะต้องมีขั้นตอนที่ค่อนข้างจะหลายขั้นตอน การที่เราจะต้องสื่อให้ช่างเข้าใจว่ามันจะต้องทำแบบนี้ๆค่อนข้างจะเป็นปัญหาอยู่เหมือนกัน”
.


Cr: Kanita


     งานแต่ละชิ้นกว่าจะออกมาให้เห็นและวางขายได้ก็ต้องผ่านมือเจ้าของแบรนด์ที่เป็นนักออกแบบเป็นผู้คิดแบบ เลือกซื้อวัสดุและทำการขึ้นต้นแบบ


     “เราทำเองเกือบทั้งหมดเริ่มจากการคิดแบบขึ้นมา คิดแพตเทิร์น ปรับแบบ ลองเย็บขึ้นมาเป็นตัวกระเป๋าจากกระดาษ ดูไซส์ ลองเอามาทำกับหนังเทียมและหนังแท้ ลองทำกับหนังในความหนาและความแข็งที่เราคิดว่าจะใช่ ลองขึ้นต้นแบบดูรวมถึงเลือกซื้อวัสดุ ทำทุกขั้นตอนยกเว้นขั้นตอนการเย็บที่จะให้ช่างที่มีความเชี่ยวชาญด้านการเย็บหนังเป็นคนรับช่วงต่อ”





     ด้วยเอกลักษณ์ของแบรนด์ที่นำความเป็นไทยสื่อออกมาทางเครื่องหนังที่มีความเหมือนหรือคล้ายที่สุด ไม่ใช่แค่เพียงเหมือนอย่างเดียวแต่สามารถใช้งานได้ด้วยถือเป็นจุดแข็งของแบรนด์ ที่ตอบโจทย์ลูกค้าทั้งที่ซื้อไปใช้เองและเอาไปเป็นของขวัญ


     “การจะทำให้แบรนด์ติดตลาด ตีตลาดหรือโดนใจคนซื้อได้ แบรนด์จะต้องมีความแตกต่างจากคนอื่น ไม่ควรทำตามกัน ไม่ใช่ว่าเห็นคนอื่นทำแล้วขายดีก็ทำตาม ควรสร้างความแตกต่างและมีเอกลักษณ์ การสร้างเอกลักษณ์ก็ต้องมีความชัดเจนไปเลยว่าเราจะทำสิ่งนี้ ให้เหมือนกับว่าเราเป็นคนเริ่มต้นหรือเป็นคนเปิดตลาด”





     มาถึงตรงนี้ คณิตา บอกว่า การทำแบรนด์ให้เติบโตไม่ได้อาศัยเฉพาะความชอบเพียงอย่างเดียว ต้องมีการศึกษา ทดลองและรับฟังคอมเมนต์จากคนรอบข้างเพื่อนำมาปรับใช้และพัฒนาตัวผลิตภัณฑ์ต่อไป


     “แม้แบรนด์จะเริ่มต้นมาจากความชอบ แต่ก็ต้องมีการทดลองใช้เอง ให้คนรอบข้างคอมเมนต์ดูว่าอันนี้เป็นยังไง มีอะไรที่ต้องปรับไหม ไม่ควรยึดความคิดของเราคนเดียวเพราะบางทีเรามองแค่ด้านเดียวก็จะคิดไม่ถึงในบางจุดที่มันน่าจะเป็นแบบนี้ บางแบบที่คิดขึ้นมาก็ไม่คิดเหมือนกันว่าจะขายได้ มันต้องลองจำหน่ายจริงๆด้วย อย่างตอนแรกที่คิดว่าขนมจากจะมีคนใช้หรอแต่กลับกลายเป็นตัวที่ขายดีอยู่เหมือนกัน ก็ต้องลองทำ ถ้าใครที่คิดอยากจะเริ่มต้นทำ ต้องมีความตั้งใจเป็นสิ่งแรก พัฒนา เรียนรู้ รับฟังคนรอบข้าง ไม่ปิดใจเพราะจะได้อีกหลายๆมุมที่เราสามารถเอามาพัฒนากับสินค้าเราได้”  






www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: MARKETING

วิกฤตสูงวัย เด็กเกิดใหม่น้อย กรณีศึกษาธุรกิจญี่ปุ่น ปรับตัวผลิตสินค้าผู้ใหญ่แทนสินค้าเด็ก

Oji Holdings ผู้ผลิตผ้าอ้อมในญี่ปุ่นประกาศยุติผลิตผ้าอ้อมเด็ก หันไปเพิ่มปริมาณการผลิตผ้าอ้อมผู้ใหญ่แทน สาเหตุมาจากอัตราการเกิดที่ลดลงและจำนวนประชากรสูงวัยของญี่ปุ่นที่เพิ่มสูงขึ้น

โอกาสโกอินเตอร์ของแบรนด์ไทย ทำงานกับนักธุรกิจระดับโลก งาน Gifts & Premium Fair ฮ่องกง

ฮ่องกงขึ้นชื่อว่าเป็นดินแดนที่มีการจัดงานแสดงสินค้าที่ยิ่งใหญ่ของโลกแห่งหนึ่ง และหนึ่งในนั้นคืองานแสดงสินค้าของขวัญและของพรีเมียมภายใต้ชื่อ Hong Kong Gifts & Premium Fair ซึ่งกำลังจะมีขึ้นระหว่างวันที่ 27-30 เมษายน 2024