​Something Apparels ร้านเสื้อผ้าใน (คอนเซปต์) ร้านสะดวกซื้อ





 
               
     ผ่านไปแถวสถานีรถไฟฟ้า BTS ราชดำริ หลังเสียบบัตรผ่านประตูเข้ามายังด้านในสถานี ก่อนบันไดทางขึ้นไปยังรถไฟฟ้าฝั่งประตูทางเข้าที่ 3 จะพบร้านห้องกระจกเล็กๆ แห่งหนึ่งสีสันสดใส มองดูจากภายนอกคล้ายกับคอนวิเนียนสโตร์เล็กๆ ที่มีตู้แช่เครื่องดื่ม ซุปกระป๋อง คอร์นเฟล็กซ์ น้ำตาล เกลือ และอีกสารพัดสินค้าสะดวกซื้อ แต่เมื่อเดินเข้าไปยังด้านในเปิดประตูตู้แช่ออกมากลับพบกับห้อง Fitting Room หรือห้องลองเสื้อผ้าที่ซ่อนอยู่ด้านใน จึงได้รู้ว่านี่คือหน้าร้านของแบรนด์เสื้อผ้าออนไลน์สายหวานอย่าง ‘Something Apparels’ กับครั้งแรกที่ได้มีหน้าร้านเป็นของตัวเอง

 
.....สร้างประสบการณ์รูปแบบใหม่ให้กับลูกค้าที่แบรนด์เสื้อผ้าอื่นยังไม่เคยมีมาก่อน.....
 

     “เราอยากให้ลูกค้าได้รู้จักแบรนด์ของเราเพิ่มขึ้นมากกว่าแค่บนโลกออนไลน์ กลุ่มลูกค้าของเราส่วนใหญ่เป็นคนกรุงเทพฯ ซึ่งมักต้องใช้รถไฟฟ้าเดินทางไปมาอยู่แล้วเป็นปกติ และกลุ่มลูกค้าของเราเป็นคนชอบถ่ายรูปด้วย การเปิดหน้าร้านตรงนี้จึงเหมือนได้ช่วยตอบโจทย์ความต้องการให้กับเขา ทั้งการเพิ่มความสะดวกสบายในการ pick up หรือแวะรับสินค้าที่สถานีได้เลยหลังจากทำการสั่งซื้อในออนไลน์แล้ว หรือจะแวะเข้ามาเยี่ยมชมร้านถ่ายรูปเล่นกับมุมต่างๆ ก็ได้ ซึ่งเราเชื่อว่าเป็นประสบการณ์ใหม่ที่เขาไม่เคยได้จากที่ไหนมาก่อน” ฉันชนก วุฒิอังสโวทัย (ฝ้าย) สุตาภัทร ชนะพันธ์ (เพชร) สองสาวเพื่อนซี้เจ้าของร้านเล่าที่มาและวัตถุประสงค์ของการมีหน้าร้านครั้งแรกของตัวเองให้ฟัง
   

       
   
     ก่อนจะเล่าเพิ่มเติมว่าการได้มาเปิดหน้าร้านของตัวเองบนสถานีรถไฟฟ้า BTS ครั้งนี้ เป็นเพราะได้รับคำชวนจาก ‘WERK’ ซึ่งเปิดเป็น Co – working Space และหน้าร้านให้เช่าบนสถานีรถไฟฟ้า BTS เมื่อเห็นว่าทำเลตรงกับกลุ่มเป้าหมายของแบรนด์ บวกกับอยากมีหน้าร้านของตัวเองอยู่แล้ว จึงตัดสินใจเช่าพื้นที่และเปิดหน้าร้านครั้งแรกของตัวเองขึ้นมาเมื่อเดือนสิงหาคม 2561 ที่ผ่านมา
               

     “แบรนด์ของเราเปิดตัวมาได้ 4 ปีแล้ว ลูกค้าของแบรนด์จะอยู่ที่ช่วงอายุ 18-35 ปี เอกลักษณ์เสื้อผ้าของแบรนด์เรา คือ เน้นความเรียบง่าย ไม่หวือหวา ไม่ตามแฟชั่นจนเกินไป สามารถใส่ได้หลายโอกาส ช่วงประมาณ 2 ปีก่อนหน้านี้เรามีการนำไปฝากร้านมัลติแบรนด์สโตร์ต่างๆ ด้วย จนมาปีนี้ทาง WERK ติดต่อเข้ามาชวนให้มาเปิดหน้าร้านที่สถานีรถไฟฟ้า BTS ซึ่งเราเองก็มีความคิดที่อยากจะเปิดหน้าร้านของตัวเองอยู่แล้ว เพราะถ้าฝากเขาขาย เราไม่สามารถทำอะไรได้มาก แค่ฝากวางไว้เฉยๆ แต่ถ้ามีหน้าร้านเอง เราสามารถทำอะไรก็ได้ ลูกค้าก็ได้มีประสบการณ์ใหม่ๆ กับแบรนด์เรามากขึ้น ทำให้แบรนด์แข็งแรงมากขึ้นด้วย”

 
.....การเปิดหน้าร้านของตัวเอง เป็นเหมือนการลงทุนทำมาร์เก็ตติ้งอย่างหนึ่งให้กับแบรนด์…..
 
               
     ด้วยความตั้งใจที่จะใช้หน้าร้านเพื่อทำการสื่อสารสร้างภาพลักษณ์แบรนด์กับลูกค้ากลุ่มเป้าหมาย โดยไม่ได้มุ่งเน้นที่การขายเพียงอย่างเดียว ฝ้ายและเพชรจึงตั้งใจแบ่งพื้นที่ออกเป็น 30 : 70 โดย 30 % คือ พื้นที่วางจำหน่ายสินค้า  ที่เหลือ 70 % ให้ความสำคัญกับพื้นที่การตกแต่งร้าน โดยจำลองรูปแบบบรรยากาศเหมือนคอนวิเนียนสโตร์หรือร้านสะดวกซื้อ มีการสร้างพร็อพตกแต่งเป็นสินค้าชนิดต่างๆ และติดโลโก้แบรนด์ของร้าน โดยมีไฮไลท์อยู่ที่ตู้แช่เครื่องดื่ม ซึ่งหากเปิดเข้าไปด้านในจะพบกับห้องลองเสื้อที่ซ่อนตัวอยู่ นอกจากนี้ด้านในร้านยังมีเครื่องทำเสลอปี้ไว้บริการเสิร์ฟลูกค้าที่แวะเวียนมาซื้อสินค้าและเยี่ยมชมร้านด้วย
               


     

     “วัตถุประสงค์การเปิดหน้าร้านของ Something Apparels เราไม่ได้มุ่งเน้นที่การขายมาก เราไม่ได้อยากเอาสินค้ามาวางขายเต็มร้านไปหมด เพราะในออนไลน์ก็ขายได้อยู่แล้ว แต่เราอยากทำร้านให้เป็นเหมือนดิสเพลย์โชว์สินค้าให้ลูกค้าได้แวะมาดูสินค้าจริง ได้มาลองสินค้า ได้มาถ่ายรูปเล่น และยังเพิ่มความสะดวกในการเป็นจุดให้ลูกค้าแวะมา pick up หรือรับสินค้าง่ายๆ ด้วยตัวเองสำหรับบางคนที่อยากได้สินค้าเลย อย่างบางคนจะไปสยามฯ เขาสามารถแวะลงมารับ และไปต่อได้เลย ซึ่งจากที่เปิดมาผลตอบรับค่อนข้างดีมาก ลูกค้าค่อนข้างตื่นเต้นและอยากมาหน้าร้านมาก ก็ช่วยส่งเสริมยอดขายในออนไลน์ให้เพิ่มมากขึ้นด้วย ด้วยวิธีการคิดแบบนี้หลายคนอาจไม่เข้าใจ แต่เรามองว่านี่ก็คือการลงทุนทำมาร์เก็ตติ้งอีกรูปแบบหนึ่ง โดยใช้หน้าร้านเป็นตัวสร้างภาพลักษณ์แบรนด์ ซึ่งก็แล้วกลยุทธ์ของแต่ละคน บางคนอาจเอาเงินไปลงทุนด้วยการบูธโพสต์ในเฟซบุ๊ก เพราะเข้าถึงคนได้มากกว่า แต่สำหรับเราคิดอีกแบบหนึ่งเรามองว่าแอดโฆษณาต่างๆ ในออนไลน์คนก็เห็นกันเยอะแล้ว อยากลองทำอะไรที่แตกต่างออกไป และคิดว่านี่เป็นวิธีที่แปลกใหม่ด้วย ซึ่งคนเดี๋ยวนี้ก็ชอบอะไรที่แปลกใหม่”

 
.....ห้องลองเสื้อที่ซ่อนตัวอยู่หลังตู้แช่เครื่องดื่ม…..
     

     ทิ้งท้ายก่อนจากสองสาวสายหวานได้ฝากคำแนะนำสำหรับผู้ประกอบการออนไลน์ที่อยากมีหน้าร้านของตัวเองด้วยว่า สำหรับคนที่อยากลองเปิดหน้าร้านของตัวเอง เราว่าใครๆ ก็สามารถทำได้นะ แต่อย่างแรกอยากให้รู้จักแบรนด์ของเราให้ดีก่อนว่า ลูกค้ากลุ่มเป้าหมายของเราเป็นใคร มีไลฟ์สไตล์ยังไง ที่สำคัญต้องรู้ตัวเองทำไหวไหม สามารถบริหารจัดการได้หรือเปล่าที่จะต้องดูแลทั้งหน้าร้านและร้านออนไลน์ให้สามารถเติบโตควบคู่กันไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ อย่างของแบรนด์เรา เรารู้ว่าลูกค้ากลุ่มเป้าหมายส่วนใหญ่ คือ คนกรุงเทพฯ ซึ่งใช้รถไฟฟ้าเป็นปกติอยู่แล้ว อีกอย่างเรารู้ว่าลูกค้าชอบถ่ายรูปเล่น การตกแต่งหน้าร้านให้สวยงามก็เหมือนช่วยดึงดูดให้เขาเข้ามาหาเราได้มากขึ้น พอเกิดการแชร์ บอกต่อ ก็กลายเป็นไวรัลขึ้นมาได้ ทำให้แบรนด์เป็นที่รู้จักเพิ่มขึ้น ซึ่งบางแบรนด์มีลูกค้าเยอะก็จริง แต่ส่วนใหญ่แล้วกระจายอยู่ทั่วประเทศ ไม่ได้มีแค่ไหนกรุงเทพฯ การมาทำแบบเราก็อาจจะไม่ตอบโจทย์ เราเห็นหลายแบรนด์ที่ตอนขายออนไลน์แล้วมีลูกค้าเยอะมาก แต่พอมาเปิดหน้าร้าน ออนไลน์กลับดรอปลง ไม่อยากเห็นแบบนั้น





Facebook : SomethingApparels



www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: MARKETING

วิกฤตสูงวัย เด็กเกิดใหม่น้อย กรณีศึกษาธุรกิจญี่ปุ่น ปรับตัวผลิตสินค้าผู้ใหญ่แทนสินค้าเด็ก

Oji Holdings ผู้ผลิตผ้าอ้อมในญี่ปุ่นประกาศยุติผลิตผ้าอ้อมเด็ก หันไปเพิ่มปริมาณการผลิตผ้าอ้อมผู้ใหญ่แทน สาเหตุมาจากอัตราการเกิดที่ลดลงและจำนวนประชากรสูงวัยของญี่ปุ่นที่เพิ่มสูงขึ้น

โอกาสโกอินเตอร์ของแบรนด์ไทย ทำงานกับนักธุรกิจระดับโลก งาน Gifts & Premium Fair ฮ่องกง

ฮ่องกงขึ้นชื่อว่าเป็นดินแดนที่มีการจัดงานแสดงสินค้าที่ยิ่งใหญ่ของโลกแห่งหนึ่ง และหนึ่งในนั้นคืองานแสดงสินค้าของขวัญและของพรีเมียมภายใต้ชื่อ Hong Kong Gifts & Premium Fair ซึ่งกำลังจะมีขึ้นระหว่างวันที่ 27-30 เมษายน 2024