Hidetouch กระเป๋าอักษรเบรลล์ สร้างสรรค์ดีไซน์เพื่อใครอีกคนในสังคม

Text        : WAN. K
P้hoto      : Hidetouch





Main idea

 
  • กระเป๋าที่เห็นอาจเป็นมากกว่าที่คุณคิด Hidetouch ร่วมมือออกแบบกับกลุ่มผู้พิการทางสายตา โดยนำเทคนิคการเขียนจุดนูนของอักษรเบรลล์ มาเปลี่ยนเป็นการใช้หมุดพลาสติกตอกลงบนกระเป๋าผ้า รวมถึงใช้จุดทดสอบตาบอดสี มาสร้างกิมมิคใหม่ๆฉีกตลาดให้กับสินค้า
 
  • โดยข้อความที่ตอกลงบนกระเป๋าแต่ละใบจะเป็นคำที่เกี่ยวกับผู้พิการทางสายตา และมีความหมายในเชิงให้กำลังใจและให้ข้อคิด 



 
 
“The blind eye missed the sight of life, the blind heart misses all of it”

คนตาบอดอาจพลาดการมองเห็นในชีวิต แต่คนที่ใจบอดจะมองไม่เห็นอะไรในชีวิตเลย


     หนึ่งในคำคมที่ซ่อนอยู่บนกระเป๋าและรอให้ผู้คนได้สัมผัสของทาง เมเม - สุธาวี บูรณ์ประเสริฐกูล เจ้าของแบรนด์ Hidetouch ที่หยิบเอาอักษรเบรลล์และจุดทดสอบตาบอดสีมาเป็นเอกลักษณ์ ออกแบบกระเป๋าผ้าที่ไม่ใช่แค่ชิค แต่ยังสะท้อนให้เห็นถึงคนอีกกลุ่มที่อยู่ร่วมกันในสังคมอย่างผู้พิการทางสายตา เบื้องหลังของความคิดดีๆ แบบนี้จะเป็นยังไง มาฟังนักออกแบบสาวยุคใหม่คนนี้กัน
 




จุดเริ่มต้นของคอนเซปต์นี้มาจากไหน ?
 

     เมเม: Hidetouch เกิดจากการสานต่อและต่อยอดมาจากงานออกแบบวิทยานิพนธ์ ระดับปริญญาตรี ซึ่งเราอยากทำธีสิสที่ไม่ใช่แค่ธีสิส แต่ต้องให้อะไรกับสังคม ไม่ใช่มีแค่เราที่ได้ เป็นแนวคิดแบบ Social Enterprise เราทำ เขาทำ แล้วได้กันทั้งคู่ ก็เลยเลือกกลุ่มผู้พิการทางสายตามาร่วมกันออกแบบดีไซน์กระเป๋าผ้า โดยใช้ความสามารถในการเขียนอักษรเบรลล์ของพวกเขามาประยุกต์ใช้ เป็นการใช้เทคนิคการเขียนจุดนูนบนกระดาษ แทนค่าด้วยการตอกหมุดพลาสติกลงบนกระเป๋าผ้าแบบแฮนด์เมด ซึ่งเป็นอีกทางในการดึงความสามารถของผู้พิการให้เขาได้ใช้และได้แสดงออก
 




การดึงคนกลุ่มนี้เข้ามาร่วมงานมีความยากง่ายกว่าผู้พิการกลุ่มอื่นๆ ยังไง
?
 

     เมเม: จริงๆ แล้วความยากง่ายมันแตกต่างกันไปในแต่ละกลุ่ม อย่างกลุ่มผู้พิการทางสายตาความยากจะอยู่ที่เรากับเขาไม่ได้มองเห็นเหมือนกัน แล้วแต่ประสบการณ์ของผู้พิการทางสายตาแต่ละคน บางคนพิการตั้งแต่กำเนิด บางคนเพิ่งมาพิการตอนโต เขาก็จะมีมุมมองวิธีคิดไม่เหมือนกัน อย่างคนที่บกพร่องทางสายตามาตั้งแต่เกิด เขาก็จะใช้ชีวิตเหมือนปกติ ไม่ได้ทำตัวให้ดูน่าสงสารหรืออยากได้ความเห็นใจ หรือถ้าเทียบในกรณีของการวาดรูปต้นไม้ คนที่พิการทางสายตามาตั้งแต่ต้น จะกลัวนิดๆว่าพอวาดออกมาแล้วจะเป็นยังไง เขาจะวาดตามจินตนาการที่เขามี ในขณะที่คนที่พิการตอนโตก็จะวาดต้นไม้ได้ใกล้เคียงกับความเป็นจริงมากกว่า
 

เราเห็นไหมว่าในตลาดมีการนำอักษรเบรลล์หรือจุดตาบอดสีมาทำเป็นผลิตภัณฑ์ ?
 

     เมเม: ยังไม่เห็นที่ทำเป็นแบรนด์แบบจริงจัง แต่ว่าอาจจะมีบ้างที่เอาอักษรเบรลล์มาเล่น ซึ่งจุดเด่นและความแตกต่างของแบรนด์เรา จะอยู่ที่จุดของอักษรเบรลล์ที่มีความนูนขึ้นมาจริงๆ ไม่ใช่เป็นแค่ลายสกรีน สัมผัสได้จริง คนตาบอดอ่านได้จริงๆ ว่าเป็นคำว่าอะไร ไม่เหมือนกับการเป็นลายสกรีนทั่วๆไป ที่คนตาดีเห็นว่าเป็นอักษรเบรลล์ แต่พอคนตาบอดสัมผัสไปก็ไม่รู้อยู่ดีว่าคืออะไรเพราะไม่นูนขึ้นมา  
 




กลุ่มเป้าหมายของแบรนด์คือใคร ผู้ที่มีความบกพร่องทางสายตา หรือ คนทั่วไป ?
 

     เมเม: หลายคนเข้าใจผิดว่าคนที่จะใช้กระเป๋าเราได้นั้นต้องเป็นผู้พิการทางสายตา แต่เปล่าเลยเพราะกลุ่มลูกค้าหลักของเราก็คือผู้บริโภคทั่วไปที่สนใจในเรื่องราวและความเป็นมา เพียงแต่ว่าเรานำองค์ประกอบของจุดทดสอบตาบอดสีและอักษรเบรลล์มาใช้ เพื่อสื่อสารว่า ถ้าเวลาที่คนสายตาปกติมองกระเป๋าก็จะเห็นเป็นผ้าแบบนี้ แต่ถ้าลองหลับตาแล้วสัมผัสกับหมุดอักษรเบลล์ที่อยู่บนกระเป๋า ก็จะได้รับความรู้สึกเดียวกันกับที่ผู้พิการทางสายตาเขาได้สัมผัส อีกกลุ่มคือคนที่ใช้ของสไตล์มินิมอล เพราะกระเป๋าของเราจะเล่นสีแบบ Tone on Tone หมดเลย เช่น ใช้หมุดสีขาว บนสกรีนสีขาว ของกระเป๋าสีขาว รวมไปถึงสี Monotone เช่น สีขาว เทา กรม ดำ
 




แล้วความพิเศษของสินค้าอยู่ตรงไหน
?
 

     เมเม: เราใช้องค์ประกอบที่เกี่ยวกับผู้พิการทางสายตาทั้งหมด ตั้งแต่จุดทดสอบตาบอดสี จุดนูนของอักษรเบรลล์ และเรื่องของผู้พิการทางสายตาที่มาร่วมกันออกแบบกับเรา นอกจากนี้ กระเป๋าแต่ละใบจะมีข้อความอักษรเบรลล์ไม่เหมือนกัน เป็นข้อความที่เกี่ยวกับผู้พิการทางสายตา เป็นข้อความเชิงให้ข้อคิดและกำลังใจ ซึ่งภายในกระเป๋าจะมีป้ายคำแปลบอกความหมายเอาไว้ เช่น Love is blind ความรักทำให้คนตาบอด, Even without sight there still vision แม้ไม่มีสายตาแต่ยังคงมีจินตนาการ, Love looks not with the eyes but with the mind ความรักไม่ได้มองเห็นได้ด้วยตาแต่สัมผัสด้วยหัวใจ, The less we see with our eyes the more we see with our heart ยิ่งเราใช้ตามองน้อยลงเมื่อใด เราก็ใช้ใจมองมากขึ้นเท่านั้น หรือ Kindness is a language which the deaf can hear and the blind can see ความดีเป็นภาษาที่คนตาบอดมองเห็นและคนหูหนวกได้ยิน
 

ถ้าแบรนด์ไม่ได้ชูเรื่องของสตอรี่ คิดว่าคนจะให้ความสนใจกับโปรดักต์ของเรามากน้อยแค่ไหน ?
 

     เมเม: ถ้าข้ามเรื่องราวความเป็นมาไป สิ่งที่จะดึงดูดลูกค้าได้ก็ต้องเป็นเรื่องของการใช้สีและลวดลายที่ยังไม่เคยมีใครทำ บางคนมองออกเลยว่าเป็นอักษรเบรลล์ หรือเริ่มจากการเอะใจว่าเคยเห็นลายแบบนี้มาก่อน ที่สำคัญเรายังไม่เคยเห็นคนเอาจุดทดสอบตาบอดสีมาสร้างเป็นลวดลายบนกระเป๋าแบบนี้ ถือว่าเป็นการใช้ความคิดสร้างสรรค์หรือ Creative โปรดักต์ให้ฉีกจากของที่มีอยู่ในตลาด และเป็นอีกทางที่ทำให้เราได้ร่วมมือทำงานกับคนอีกกลุ่มหนึ่ง
 




เมื่อเข้าสู่การทำแบรนด์และการค้าจริงๆ ยังมีการทำงานร่วมกับผู้พิการทางสายตาอยู่ไหม ?
 

     เมเม: เดิมทีตอนแรกเราตั้งใจให้เป็น CSR ที่เรากับเขาร่วมมือกันทำ เสร็จแล้วเราเอามาขาย แล้วมอบรายได้ส่วนหนึ่งให้เขา แต่พอเข้าสู่การค้าจริงๆ ก็เจอปัญหาและข้อจำกัดในเรื่องของช่วงระยะเวลาในการทำ ซึ่งบางทีเขาอาจจะทำได้ช้า แล้วเราก็ยังไม่ได้มีกำลังมากพอที่จะไปจัดสรรการจัดจ้างเกี่ยวกับผู้พิการทางสายตามากขนาดนั้น หรือว่ามีเวลาที่จะไปติดต่อว่าเราต้องการคนมาทำแบบนี้ รวมไปถึงการที่ต้องลงไปสอนงานเขาแบบเต็มตัว เลยทำให้ตอนนี้เราไม่ได้ใช้ผู้พิการทางสายตาแล้ว เพราะเราสามารถทำเองได้ด้วยวิธีการคล้ายๆกัน เราเรียนรู้แล้วว่าต้องตอกหมุดยังไงและต้องเขียนอักษรเบลล์ยังไง
 




แล้วยังมีโอกาสที่จะกลับมาร่วมงานกันอีกไหม ?
 

     เมเม: แน่นอน ถ้าเรามีโอกาส โดยเฉพาะเริ่มต้นจากการทำ Workshop ที่จะเปิดให้คนทั่วไปซึ่งสนใจในเรื่องราวของแบรนด์ เรามาสอนในฐานะที่เป็นผู้ออกแบบ และผู้พิการทางสายตามาสอนผู้บริโภคว่าอักษรเบรลล์นั้นเขียนยังไง วิธีการสัมผัสและการอ่านทำยังไง แล้วสลับให้คนตาดีมาสอนผู้พิการทางสายตาว่า ต้องตอกหมุดตรงไหน ต้องใช้อุปกรณ์ยังไง ซึ่งมองว่าการจะร่วมงานกันจริงในอนาคตก็จะปูพื้นฐานมาจากจุดนี้ ถ้าถึงจุดหนึ่งที่แบรนด์เติบโตขึ้น และเราสามารถผ่านข้อจำกัดในการทำงานกับผู้พิการทางสายตาได้ นอกจากนี้ ยังต้องอาศัยความเข้าใจจากผู้บริโภคด้วยว่า หากอยากได้สินค้าที่มาจากพวกเขาจริงๆ ลูกค้าก็จะต้องรอ
 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: MARKETING

วิกฤตสูงวัย เด็กเกิดใหม่น้อย กรณีศึกษาธุรกิจญี่ปุ่น ปรับตัวผลิตสินค้าผู้ใหญ่แทนสินค้าเด็ก

Oji Holdings ผู้ผลิตผ้าอ้อมในญี่ปุ่นประกาศยุติผลิตผ้าอ้อมเด็ก หันไปเพิ่มปริมาณการผลิตผ้าอ้อมผู้ใหญ่แทน สาเหตุมาจากอัตราการเกิดที่ลดลงและจำนวนประชากรสูงวัยของญี่ปุ่นที่เพิ่มสูงขึ้น

โอกาสโกอินเตอร์ของแบรนด์ไทย ทำงานกับนักธุรกิจระดับโลก งาน Gifts & Premium Fair ฮ่องกง

ฮ่องกงขึ้นชื่อว่าเป็นดินแดนที่มีการจัดงานแสดงสินค้าที่ยิ่งใหญ่ของโลกแห่งหนึ่ง และหนึ่งในนั้นคืองานแสดงสินค้าของขวัญและของพรีเมียมภายใต้ชื่อ Hong Kong Gifts & Premium Fair ซึ่งกำลังจะมีขึ้นระหว่างวันที่ 27-30 เมษายน 2024