ถอดสูตรสำเร็จ ‘Harriston’ แบรนด์อาเซียนสู่ช็อกโกแลตระดับเวิลด์คลาส

Text: วิมาลี วิวัฒนกุลพาณิชย์





Main Idea
 
  • จากมัคคุเทศก์ชาวมาเลเซียที่สังเกตพบว่าของฝากยอดนิยมที่นักท่องเที่ยวมักซื้อในสนามบินคือ ช็อกโกแลต กลายเป็นแรงผลักสู่การเป็นเจ้าของธุรกิจช็อกโกแลต “Harriston”
 
  • พร้อมการวางตำแหน่งสินค้าอยู่ระดับบน และสร้างความแตกต่างจากวัตถุดิบ โดยเป็นแบรนด์แรกที่มีช็อกโกแลตรสทุเรียน และรากปลาไหลเผือกจำหน่าย มีสถิตินักท่องเที่ยวกว่า 8 ล้านคนจาก 80 ประเทศทั่วโลก นิยมซื้อเป็นของฝาก





     หลายคนอาจจะยังไม่ทราบว่ามาเลเซียเป็นผู้ส่งออกเมล็ดโกโก้รายใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลก และมาเลเซียมีสินค้าชนิดหนึ่งที่เป็นที่นิยมในกลุ่มนักท่องเที่ยว สินค้าที่ว่าคือช็อกโกแลตยี่ห้อ Harriston ซึ่งผลิตจากเมล็ดโกโก้ปลูกในมาเลเซียเอง โดยมีการพัฒนาคุณภาพและรสชาติให้เทียบเท่าแบรนด์ช็อกโกแลตชั้นสูงที่มีชื่อเสียงระดับโลก เช่น Lindtจากสวิตเซอร์แลนด์ และ Godiva จากเบลเยี่ยม




     ผู้ที่ให้กำเนิดช็อกโกแลต Harriston  คือ เอส.ซี. เต็ง ชายชาวมาเลเซียผู้หลงใหลช็อกโกแลตมาตั้งแต่เด็กและมีความฝันในการเป็นเจ้าของโรงงานผลิตช็อกโกแลตหลังจากที่เต็งจบการศึกษาช่วงทศวรรษ 1970 และยึดอาชีพเป็นมัคคุเทศก์ เขาสังเกตว่าของฝากที่นักท่องเที่ยวชอบซื้อที่สนามบินคือช็อกโกแลต จึงได้แต่วางแผนไว้สักวันหนึ่งจะทำความฝันให้เป็นจริงในการเป็นเจ้าของธุรกิจช็อกโกแลตให้ได้


     ปี พ.ศ.2548   แผนที่คิดไว้เริ่มเป็นรูปเป็นร่าง เต็งมีแบรนด์ช็อกโกแลตเป็นของตัวเอง โดยใช้ชื่อ Cocoa Boutique และ Chocolate Gallery แต่สองชื่อนี้ถูกใช้ได้ไม่นาน เต็งตัดสินใจเปลี่ยนชื่อบริษัทเป็น Harriston โดยได้แรงบันดาลใจจากชื่อสกุลของนักดนตรีที่เขาโปรดปรานที่สุดคือ จอร์จ แฮร์ริสัน แห่งวงเดอะบีเทิลส์ เพียงแต่เต็งเติมตัว T ซึ่งเป็นพยัญชนะแรกของชื่อเขาเข้าไปเพิ่ม ให้กลายเป็น Harriston




     แม้จะเป็นธุรกิจที่ก่อตั้งขึ้นเพียง 14 ปี แต่ปัจจุบัน Harriston กลายเป็นผู้ผลิตช็อกโกแลตรายใหญ่อันดับ 1 ของมาเลเซีย และมีพนักงานในสังกัดกว่า 200 คน Harriston การวางตำแหน่งสินค้าตั้งแต่แรกให้เป็นแบรนด์ช็อกโกแลตระดับบนที่สามารถแข่งกับแบรนด์ดังจากต่างประเทศได้สบาย ๆ โดยปัจจุบันมีร้านต้นแบบเปิดบริการ 5 สาขารวมถึงในเมืองหลวงกัวลาลัมเปอร์ ปีนัง และปะหัง


     ลูกค้าส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติ ร้านที่ทำยอดขายจากนักท่องเที่ยวได้มากคือสาขากัวลาลัมเปอร์ ปีนัง และเกนติ้งไฮแลนด์ จากการรวบรวมสถิติมีนักท่องเที่ยวกว่า 8 ล้านคนจาก 80 ประเทศเคยอุดหนุน Harriston  ทั้งนี้ ในแต่ละวันจะมีรถทัวร์ของนักท่องเที่ยวต่างชาติมาแวะที่ร้านเพื่อชิม และช้อปสินค้าของทางร้าน




     คุณสมบัติเด่นที่ทำให้ช็อกโกแลต Harriston  แตกต่างจากคู่แข่งและได้รับความนิยม กลายเป็นของฝากที่นักท่องเที่ยวซื้อหากลับบ้านคือรสชาติที่มีให้เลือกมากมายถึง 150 รส โดยมีการพัฒนารสชาติด้วยการผสมกับวัตถุดิบท้องถิ่น เช่น กาแฟ มะพร้าว ขิง พริก และรสแกง (Curry) แต่ที่โดดเด่นและเป็นสินค้าขายดีที่สุดคือช็อกโกแลตรสทุเรียนที่มีการผสมเนื้อทุเรียน 100 เปอร์เซ็นต์ ลงไป รวมถึงช็อกโกแลตรส ตงกัท อาลี หรือรากปลาไหลเผือกที่เป็นสมุนไพรบำรุงสุขภาพ Harriston เป็นแบรนด์แรกของโลกที่ทำช็อกโกแลต 2 รสนี้ออกจำหน่าย


     ที่ร้านนอกจากจำหน่ายผลิตภัณฑ์ช็อกโกแลต ยังเปิดเป็นมุมเวิร์กช็อปให้ความรู้เกี่ยวกับช็อกโกแลต และสอนทำช็อกโกแลตสำหรับลูกค้าที่สนใจอีกด้วย สนนราคาอยู่ที่หัวละ 35 ริงกิตหรือประมาณ 270 บาท และหลังจากที่สร้างชื่อเสียงในกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติ Harriston ก็เริ่มหันกลับมาสู่รากเหง้าตัวเองโดยต้องการขยายฐานลูกค้าที่เป็นชาวมาเลเซียเอง เป็นการประชาสัมพันธ์ให้คนในประเทศได้ทราบว่ามาเลเซียก็มีแบรนด์ช็อกโกแลตที่ทัดเทียมแบรนด์จากต่างประเทศ


     ทั้งนี้ สินค้าของ Harriston ได้รับการโปรโมทให้อยู่ใน Agro Tourism Program โครงการของรัฐบาลที่ประชาสัมพันธ์ผลิตภัณฑ์ที่ผลิตในมาเลเซีย ปัจจุบันธุรกิจ Harriston อยู่ภายใต้การบริหารของครอบครัวเต็ง โดยมีภรรยาและลูกสาว 2 คนเป็นหัวเรือใหญ่ในการดูแล เป้าหมายของพวกเขาคือการเป็นผู้ผลิตช็อกโกแลตพรีเมี่ยมและส่งออกเป็นอันดับต้นๆ ของโลก
 
ที่มา : https://vulcanpost.com/659531/harriston-malaysia-chocolates-queenie-teng/
 
 
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

 

RECCOMMEND: MARKETING

ฟังก์ชันแยกบิลจ่ายได้ เทรนด์ใหม่ที่ร้านอาหารต้องรู้ ลูกค้ายุคใหม่อยากจ่ายเท่าที่กินโดยไม่รู้สึกผิด

ไม่ใช่เรื่องต้องรู้สึกผิดอีกต่อไป หากไปกินอาหารกับเพื่อน แล้วอยากแยกรับผิดชอบจ่ายเฉพาะในส่วนที่ตัวเองสั่ง เทรนด์พฤติกรรมใหม่ของผู้บริโภคชาวอเมริกาที่หันมาใช้แอปพลิเคชันแยกจ่ายบิลกันมากขึ้น

ต่อยอดธุรกิจยังไงให้อยู่นานและขายดี กรณีศึกษา ALDI ซูเปอร์มาร์เก็ต ที่ถือกำเนิดมาตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2

ALDI คือ ซูเปอร์มาร์เก็ตสัญญาติเยอรมัน มีต้นกำเนิดมาจาก 2 พี่น้องตระกูล Albrecht คือ “คาร์ล และ ธีโอ อัลเบรชต์” ที่รับช่วงต่อกิจการมาจากแม่ของเขาที่เปิดร้านขายของชำตั้งแต่ยุคก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2