ตึกเก่าเมืองถลาง บรรจุภัณฑ์อันงดงาม และมีชีวิต

  

 

 

 

เรื่อง : มลฑา ชัยธำรงค์กูล

 

          จะดีแค่ไหนหากคุณได้มากกว่าแค่ภาพถ่าย และความทรงจำดีๆ กลับมาพร้อมของฝากหลังจากที่ทริปวันหยุดสุดสัปดาห์อันแสนสุขสนุกสนานได้ผ่านพ้นไป 

          วิรวัฒน์ เปี่ยมวิวัตติกุล ประธานบริษัท พรทิพย์ (ภูเก็ต) จำกัด ซึ่งดำเนินธุรกิจร้านของฝากภายใต้ชื่อ ‘ร้านพรทิพย์’ ในจังหวัดภูเก็ตมานานนับ 20 ปี เป็นอีกหนึ่งผู้ประกอบการ SME ที่ช่วยให้ความประทับใจของนักท่องเที่ยวไม่เลือนหายไปตามกาลเวลา ด้วยบรรจุภัณฑ์ของสินค้าที่เขาใส่ใจรังสรรค์ขึ้นมาเมื่อไม่นานนี้เอง

          “เราเริ่มทำบรรจุภัณฑ์ตึกเก่าของจังหวัดภูเก็ตขึ้นเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา ก่อนหน้านี้เราออกบรรจุภัณฑ์เซตอันดามัน ซึ่งเป็นสัตว์ทะเล 12 ชนิด แล้วก็ได้ผลตอบรับดีเกินเป้าหมายที่วางไว้ กอปรกับคนภูเก็ตเริ่มให้ความสนใจกับวัฒนธรรมในท้องถิ่นมากขึ้น รวมถึงรัฐบาลก็พยายามผลักดันเมืองเก่าให้เป็นมรดกโลก

            นี่เองจึงเกิดเป็นความคิดที่จะนำตึกเหล่านี้มาทำเป็นรูปแบบบรรจุภัณฑ์ ซึ่งตอนนี้ได้ออกแบบไว้แล้วถึง 40 แบบและทยอยออกสู่ตลาดไปแล้วประมาณ 12 แบบ  โดยรูปแบบจะเป็นเมืองเก่าที่สมบูรณ์ พร้อมตุ๊กตาคนที่แต่งกายด้วยชุดย่าหยา (การนุ่งผ้าถุงปาเต๊ะ ใส่เสื้อที่ตัดเย็บแบบเข้ารูป โดยชายเสื้อด้านหน้ายาวแบบเสื้อของสตรีมุสลิม) บ้าบ๋า (ชายที่เป็นลูกผสมระหว่างคนจีนกับคนพื้นเมือง) และรถสองแถว หรือที่คนภูเก็ตเรียกว่า ‘รถโพท้อง’ ประดับไว้ตามมุมต่างๆ ของตึกด้วย จึงเป็นเหมือนบรรจุภัณฑ์ที่มีชีวิต” 

            ส่วนการที่บริษัท พรทิพย์ไม่สามารถออกบรรจุภัณฑ์พร้อมกันได้ทีเดียวนั้น เนื่องมาจากกำลังการผลิตไม่เพียงพอ ซึ่งแม้จะมีโรงงานแต่วิรวัฒน์ก็เห็นว่าตนเองไม่มีประสบการณ์ด้านขนมโดยตรง อีกส่วนหนึ่งคือ เขาต้องการกระจายรายได้สู่ชุมชน ซึ่งเชื่อว่าจะสร้างความยั่งยืนให้กับกิจการ ตลอดจนเป็นภูมิคุ้มกันธุรกิจท้องถิ่นได้ในระยะยาว ตามพระราชดำรัสภูมิสังคมของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

            ซึ่งข้อจำกัดด้านการผลิตสินค้านี้เองทำให้บริษัท พรทิพย์ (ภูเก็ต) ต้องรับขนมจากผู้ประกอบการพื้นเมืองในกระบี่ และพังงา ซึ่งมีวัฒนธรรมเดียวกันมาเพิ่ม จนได้จำนวนผลิตครั้งหนึ่งประมาณ 400-500 กล่อง โดย 1 กล่องมีขนม 2 ชนิด 

           ไม่เพียงแต่ความสวยคลาสสิกของบรรจุภัณฑ์เท่านั้น แต่วิรวัฒน์ยังได้คัดสรรขนมที่มีความโดดเด่นของแต่ละเจ้ามาบรรจุลงในกล่อง พร้อมบอกส่วนผสม วิธีทำ และเรื่องราวของขนมแต่ละชนิดด้วย ส่งผลให้เนื้อในของสินค้าชุดนี้แจ่มจรัสไม่แพ้รูปลักษณ์ภายนอกเลยทีเดียว

            “การออกแบบมีความสำคัญเป็นอันดับหนึ่งกับทั้งผลิตภัณฑ์ที่เป็นอาหาร และไม่ใช่อาหาร ที่ผ่านมาธุรกิจเติบโตด้วยคุณภาพของเนื้อใน แต่ปัจจุบันรูปลักษณ์นั้นมีความสำคัญมาก เพราะเมื่อเรามองไปในตลาดบรรจุภัณฑ์ของสินค้าต่างๆ มักมีความคล้ายคลึงกัน ณ วันนี้การนำวัฒนธรรมของท้องถิ่นมาสร้างคุณค่าทางด้านจิตใจให้กับทั้งผู้รับ และผู้ให้จึงก่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มที่สูงกว่า” 

 

 

 

กมลทิพย์ อุทารวุฒิพงศ์ นักออกแบบจากห้างหุ้นส่วน Design Sense จำกัด

            บริษัท พรทิพย์ (ภูเก็ต) จำกัด ได้นำเอาขนมพื้นเมืองซึ่งกำลังจะสูญหายไปมารวบรวม และนำเสนอในบรรจุภัณฑ์ที่เป็นอัตลักษณ์ของสถาปัตยกรรมสไตล์ชิโน-โปรตุกีส ถือเป็นการนำเสนอเรื่องราวทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมผ่านทางผลิตภัณฑ์เพื่อเพิ่มมูลค่าไปพร้อมๆ กับการสร้างคุณค่าให้กับขนมและเรื่องราวของจังหวัดภูเก็ต โดยใช้กลยุทธ์การออกแบบที่หลากหลาย โดยย่อส่วนจากอาคารสำคัญแต่ละแห่งที่ทรงคุณค่า และคงรายละเอียดที่ถูกต้อง พร้อมกับมีข้อมูลไว้เพื่อบอกเล่าให้ได้ทราบถึงเรื่องราวที่มาที่ไปด้วย” 

          ในขั้นตอนของการทำงานได้มีการเก็บรวบรวมข้อมูลทางประวัติศาสตร์ และภาพถ่ายจากสถานที่จริง แล้วนำมาออกแบบ มีการตรวจสอบความถูกต้องของรายละเอียดต่างๆ เลือกใช้วัสดุที่ง่ายต่อการย่อยสลาย เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เน้นความสะดวกในการบรรจุสินค้า ความคงทน และการเปิดใช้ จนออกมาเป็นบรรจุภัณฑ์ตึกเก่าเสมือนจริงที่ชมได้ 360 องศา สามารถเปิดประตูหน้าต่าง ต่อสร้างเป็นเมืองภูเก็ตจำลองได้หลากหลายรูปแบบ รวมถึงพับเก็บเพื่อความสะดวกในการขนส่งได้ด้วย 

           นับเป็นครั้งแรกของประเทศไทยที่มีการออกแบบบรรจุภัณฑ์โดยนำเสนอถึงคุณค่า อัตลักษณ์ เรื่องราว แนวคิด และผลิตเพื่อจำหน่ายในเชิงพาณิชย์

 

RECCOMMEND: MARKETING

ย้อนตำนาน มาสคอตไทย ก่อน "น้องหมีเนย" มีแบรนด์ไหนทำมาร์เก็ตติ้งนี้บ้าง

หลายคนมี Brand Love ในใจ ที่ไม่ใช่แค่สินค้าต้องดี จนเรากลายเป็นลูกค้าประจำ ยังต้องมี Brand Characters ที่จะช่วยให้คนจดจำได้ อีกหนึ่งทางเลือกที่ถ้าอยากสร้างแบรนด์ให้ปัง

ขายสินค้าออร์แกนิกให้เป็นแมส จากแนวคิดแบรนด์ KING Organic

KING Organic ผู้ผลิตผัก ผลไม้ และสินค้าแปรรูปออร์แกนิก จ.สมุทรสาคร ได้คิดกลยุทธ์การทำธุรกิจที่เรียกว่า “Mass Premium” ขึ้นมา เพื่อทำของพรีเมียม ให้สามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้กว้างขวางมากขึ้น ในราคาที่ใครๆ ก็สามารถจับต้องได้ มีวิธีการยังไง ไปดูกัน