หมดยุคขายของกันโต้งๆ ทำตลาดออนไลน์ยุคนี้ต้องรู้วิธี ‘โพสต์เรียกคลิก’

Text : ประสิทธิ์ วรฉัตราวณิช





Main Idea
 
  • ในยุคที่ผู้บริโภคฉลาดกว่าผู้ค้าด้วยข้อมูลและข้อเท็จจริง ผลิตภัณฑ์ไม่ใช่ของหายากเหมือนในอดีตอีกต่อไป แต่ลูกค้ามีตัวเลือก และต้องเลือก ต้องลอง จนกว่าจะเจอสิ่งที่ใช่ จึงหมดยุคที่จะใช้โซเชียลมีเดียขายของผ่านโพสต์กันโต้งๆ อีกต่อไป
 
  • แล้วจะทำอย่างไรให้โพสต์นั้นเรียกความสนใจจนคนอยากคลิกได้ นอกจากเคล็ดลับในการเขียนเฮดไลน์ของคอนเทนต์ให้น่าสนใจแล้ว สำคัญไปกว่านั้นคือ ไอเดียของโพสต์ที่นำเสนอออกไป ต้องตอบเป้าหมาย เรียกความสนใจ และส่งผลดีต่อธุรกิจด้วย




     หมดยุคของการใช้โซเชียลมีเดียเป็นตลาดนัดเปิดแผงขายของผ่านโพสต์กันโต้งๆ  เพราะธุรกิจกำลังอยู่ในยุคที่ผู้บริโภคฉลาดกว่าผู้ค้าด้วยข้อมูล และข้อเท็จจริง ผลิตภัณฑ์ไม่ใช่ของหายาก ตัวเลือกน้อย หรือขาดแคลนเหมือนในอดีต แต่ออกจะมีมากล้นจนลูกค้าต้องเลือก ต้องลอง จนกว่าจะเจอสิ่งที่ใช่ที่มากกว่าแค่ความเชื่อ


     อย่างไรก็ดี จุดเริ่มต้นการตลาดออนไลน์ที่กลายเป็นกลยุทธ์หลักต่อเนื่องกันมาหลายปี นั่นก็คือการตลาดคอนเทนต์ หรือการเชิดชูคุณสมบัติ และผลลัพธ์ที่ผลิตภัณฑ์มีให้ ด้วยเรื่องเล่าที่ผู้บริโภคชอบ ซึ่งนอกจากสูตรเด็ดเคล็ดลับในการเขียนเฮดไลน์ของคอนเทนต์ให้ลูกค้าสนใจแล้ว สิ่งสำคัญไปกว่านั้นก็คือ ไอเดียของโพสต์ที่นำเสนอออกไป เป้าหมายคืออะไร และโพสต์แบบไหนที่ผู้บริโภคให้ความสนใจ และส่งผลดีต่อธุรกิจ ส่วนจะมีไอเดียอะไรบ้างนั้น เชิญอ่านแล้วนำไปใช้ได้เลย!
 



     ก่อนและหลัง
: ใครๆ ก็อยากมีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดี...และในทุกๆ ด้าน การใช้ภาพเปรียบเทียบผลลัพธ์ก่อน และหลังการใช้ผลิตภัณฑ์ คำแนะนำ หรือฮาวทู ช่วยเพิ่มโอกาสคลิกอ่านรายละเอียดได้ ประเด็นสำคัญคือ ภาพที่ใช้ต้องเห็นปุ๊บเข้าใจปั๊บ เนื้อหากระชับ ลำดับขั้นทำตามได้ และไม่ผิดกติกาการโพสต์ในโซเชียลฯ ต่างๆ ฯลฯ แต่อย่าบอกว่าคุณจะใช้ภาพตู้เย็นก่อน และหลังทำความสะอาดนะ


     เล่าเรื่องเบื้องหลัง : แชร์ภาพ หรือวิดีโอให้เห็นเบื้องหลังความสำเร็จของสินค้า หรือบริการของคุณ ซึ่งสามารถทำโพสต์แบบนี้ได้จากในที่ทำงาน สถานที่ที่บริษัทรับทำโปรเจกต์ งานแสดงสินค้า หรืออีเวนต์ต่างๆ คนอยากรู้ และถ้าดูแล้วเชื่อ ก็เตรียมของขายได้เลย


     แอบส่อง : คล้ายๆ กับเรื่องเบื้องหลัง แต่จะเป็นแค่หยิบยกบางช่วงบางตอนมายั่วน้ำลาย ให้เห็นแต่ไม่ครบ เช่น ภาพหลุดของสินค้าใหม่ ภาพหน้าจอของโปรแกรมรุ่นใหม่ สิ่งที่ธุรกิจกำลังทำอยู่ เหตุการณ์ก่อนวันจัดอีเวนต์จริง เน้นอารมณ์ตื่นเต้น


     วิดีโอสอนเทคนิคสั้นๆ : แนะนำเทคนิคง่ายๆ ที่คุณรู้มา ไม่ต้องกลัวว่า เรื่องของคุณคนอื่นอาจจะเคยรู้มาแล้ว เพราะในความเป็นจริง คนเราไม่ได้รู้ทุกเรื่อง มีเรื่องง่ายๆ มากมายที่เราเองก็ไม่เคยรู้มาก่อน อย่ากลัวจนไม่กล้า โอกาสรออยู่ข้างหน้าแล้ว คุณสามารถใช้ไอเดียนี้กับการทำ Story บน FB หรือ IG ได้





     วิดีโอป่าวประกาศ :
ไลฟ์วิดีโอบน FB หรือสตอรีบน IG ประกาศเปิดตัวสินค้า บริการใหม่ หรือแม้แต่โพสต์ล่าสุดบนบล็อก


     “มีม” ตลกๆ : ภาพนิ่ง หรือ Gif Animation ที่นำเสนอไอเดียแก้ปัญหาง่ายๆ ตลกๆ ประชดประชันเล็กน้อย แต่ได้อารมณ์และความรู้สึกชัดเจน สร้างรอยยิ้ม ฯลฯ สนใจสร้าง Meme เองได้ที่ https://imgflip.com/memegenerator


     ใช้ภาพ “เรียบหรู ดูมีสไตล์” : โพสต์ภาพที่มีพื้นที่โล่งๆ แต่รอบข้างมีการจัดวางสินค้าให้เห็นบางส่วน เพื่อให้เกิดความน่าสนใจกว่า การจับภาพสินค้าไว้ตรงกลาง เน้นการจัดวางที่ทำให้ภาพดูมีสไตล์ ไม่โล่งแบบไร้แก่นสาร สามารถใช้กับภาพอาหาร แฟชั่น และสินค้าอื่นๆ ได้ (ภาพตึกสูงๆ ที่ถ่ายจากด้านบน-ใช้โดรน) มุมมองภาพถ่ายแบบ Bird Eye View (มุมมองจากด้านบน) การใช้ภาพลักษณะนี้ทำให้ภาพที่ได้มีความครีเอทิฟอีกด้วย (พื้นที่โล่งตรงกลางภาพ อาจใส่โลโก้ธุรกิจแบบลายนูน-Emboss มองเห็น แต่ไม่ต้องเด่นเกิน) ภาพลักษณะนี้จะทำให้ธุรกิจดูโปรกว่าภาพแค็ตตาล็อกเสียอีก เน้นสร้างแบรนด์ แบบซอฟต์เซล


     ทำโพลวัดความสนใจ : ทดลองไอเดียใหม่ด้วยการทำโพลถามลูกค้า เช่น “ทางร้านจะทำโปรโมชัน อยากได้โปรฯ แบบไหนขอไอเดียหน่อย” โดยมีชอยส์ให้เลือก ซึ่ง Facebook ทำโพลได้อยู่แล้ว ในขณะที่ IG สามารถทำโพลได้จากใน Stories





     คุณอยากจะ (ได้
, ให้, รู้ ฯลฯ)... : โพสต์ด้วยคำถามที่มาพร้อมข้อเสนอแบบนี้ ลูกค้าสนใจรัวๆ เลย (ถ้าข้อเสนอดีนะ) เช่น “คุณอยากจะได้ Starbuck Card ดื่มฟรี 12 แก้ว หรือสมาชิก Netflix ฟรี 1 ปี?” เป็นต้น


     อันนี้ หรืออันนั้น : ภาพพร้อมคำถามให้เลือก อันนี้ หรืออันนั้น ได้รับ Engagement มากที่สุด เพราะตอบง่าย ไอเดียคือ คำถามต้องง่ายด้วย ไม่ต้องเขียนแนะนำเยอะ ตัวอย่างเช่น ชา หรือกาแฟ ที่ปลุกให้คุณตื่นได้ดีกว่า? เป๊ปซี่ หรือโค้ก ที่ซ่ากว่ากัน? สแน็กหวาน หรือเค็มที่คุณชอบรับประทาน?


     แชร์โพสต์ล่าสุดในบล็อก : เวลาที่โพสต์คอนเทนต์ใหม่ๆ ในบล็อกธุรกิจ จงอย่าลืมแชร์ให้กลุ่มผู้ติดตามได้รับทราบด้วย โดยเฉพาะการเกริ่นถึงความน่าสนใจของโพสต์ว่า สิ่งที่คุณได้เรียนรู้ หรือปัญหาที่คุณแก้ได้นั้นคืออะไร? เพื่อกระตุ้นความสนใจของพวกเขา “ถ้าไม่ใช่เพื่อนกันจริง ไม่บอกหรอกว่า แค่เดินวันละหมื่นก้าว เราได้อะไรบ้าง?”


     แชร์คอนเทนต์ยอดฮิต : สำรวจดูว่า คอนเทนต์ใดของคุณที่กระแสดีทั้งแทรฟฟิก (Traffic) บนบล็อก และโซเชียลฯ จากนั้น แชร์มันซ้ำ มีโอกาสมากทีเดียวที่กลุ่มผู้ติดตามของคุณอีกเป็นจำนวนมากที่ยังไม่เคยได้พบเห็นโพสต์ของคุณมาก่อน





     แชร์คอนเทนต์ในอดีตที่ได้รับการอัพเดต
: ทุกครั้งที่มีการอัพเดตโพสต์ในบล็อก ไม่ว่าจะเป็น ภาพ หรือหัวข้อใหม่ๆ เพิ่มเติม คุณสามารถแชร์ให้กลุ่มผู้ติดตามได้กลับเข้าไปอ่านอีกครั้ง ซึ่งนอกจากจะทำให้พวกเขาได้ทบทวนเรื่องราวดีๆ ที่คุณโพสต์แล้ว ยังได้รับข้อมูลใหม่เพิ่มเติมอีกด้วย


     ดาวน์โหลดฟรี!!! : จงแชร์เครื่องมือออนไลน์ที่คุณสร้างสรรค์ขึ้นมาเอง เช่น เวิร์กชีต (Worksheet) เช็กลิสต์ (Checklist) Cheat Sheet หรือเทมเพลต (Template) ใดๆ ที่คุณทำไว้ใช้งาน แล้วพบว่ามันสะดวกมาก แนะนำให้กลุ่มผู้ติดตามได้ดาวน์โหลดไปใช้กันฟรีๆ จากบนเว็บไซต์ธุรกิจ เพื่อเพิ่มแทรฟฟิก หรือแลกกับการสมัครสมาชิกก็ได้


     ผลิตภัณฑ์ หรือบริการ : แชร์ผลิตภัณฑ์ หรือบริการบางอย่างของคุณ ด้วยการเล่าถึงวิธีแก้ปัญหาที่ช่วยประหยัดทั้งเวลา และเงินทอง เพื่อทำให้กลุ่มผู้ติดตามที่อาจกำลังมีความต้องการในการแก้ปัญหาดังกล่าว จะเปลี่ยนสถานะเป็นลูกค้าได้ ประเด็นสำคัญ อย่าลืมใส่ลิงก์ เพื่อพาไปยังแลนดิ้งเพจ (Landing Page) ปิดการขายด้วยนะครับ


     ไอเดียโพสต์ได้คลิก แต่โพสต์ไอเดียได้
     นักการตลาดทราบดีว่า โพสต์เรื่องชาวบ้านได้ไลค์ โพสต์เรื่องข่าวและเหตุการณ์ได้คอมเมนต์ แต่ถ้าอยากโพสต์แล้วได้แชร์ (สร้างกระแสต่อยอดให้ธุรกิจ) ต้อง “ไอเดีย” เท่านั้น หวังว่าไอเดียต่างๆ ที่นำมาฝากในบทความตอนนี้ น่าจะช่วยให้โพสต์ของทุกท่านได้รับการตอบรับจากผู้เยี่ยมชมมากขึ้น (Engagement) และเหนืออื่นใดสามารถคอนเวิร์ท (Convert) เป็นยอดขายได้


     ยังมีไอเดียโพสต์ที่น่าสนใจอีกมากมาย ผมจะนำเสนอในโอกาสต่อไปครับ
 
 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

 

RECCOMMEND: MARKETING

ฟังก์ชันแยกบิลจ่ายได้ เทรนด์ใหม่ที่ร้านอาหารต้องรู้ ลูกค้ายุคใหม่อยากจ่ายเท่าที่กินโดยไม่รู้สึกผิด

ไม่ใช่เรื่องต้องรู้สึกผิดอีกต่อไป หากไปกินอาหารกับเพื่อน แล้วอยากแยกรับผิดชอบจ่ายเฉพาะในส่วนที่ตัวเองสั่ง เทรนด์พฤติกรรมใหม่ของผู้บริโภคชาวอเมริกาที่หันมาใช้แอปพลิเคชันแยกจ่ายบิลกันมากขึ้น

ต่อยอดธุรกิจยังไงให้อยู่นานและขายดี กรณีศึกษา ALDI ซูเปอร์มาร์เก็ต ที่ถือกำเนิดมาตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2

ALDI คือ ซูเปอร์มาร์เก็ตสัญญาติเยอรมัน มีต้นกำเนิดมาจาก 2 พี่น้องตระกูล Albrecht คือ “คาร์ล และ ธีโอ อัลเบรชต์” ที่รับช่วงต่อกิจการมาจากแม่ของเขาที่เปิดร้านขายของชำตั้งแต่ยุคก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2