ต่างวัยดีไซน์ต้องต่าง! ส่องวิธีออกแบบบรรจุภัณฑ์ให้โดนใจ “คนรุ่นใหญ่”



 
 
Main Idea
 
 
  • ลูกค้าที่ช่วงวัยแตกต่างกัน ย่อมต้องการสินค้าและบริการที่แตกต่าง ซึ่งการออกแบบบรรจุภัณฑ์ก็เช่นเดียวกันไม่ว่าจะเป็น กลุ่มเด็ก วัยรุ่น  ผู้หญิง ผู้ชาย  กลุ่มคุณแม่ และคนรุ่นใหญ่ ก็ล้วนต้องใช้วิธีการสื่อสารที่แตกต่าง เพื่อให้เข้าถึงและโดนใจคนต่างวัยเหล่านี้
 
  • สำหรับ “คนรุ่นใหญ่” ตลาดที่กำลังหอมหวานในวันนี้ มีความต้องการทางด้านกายภาพและอารมณ์ความรู้สึกที่แตกต่างจากช่วงวัยอื่น แม้สูงวัยแต่พวกเขาก็ไม่ได้อยากแก่  ต้องการย้อนวัย ต้องการความพรีเมียม ต้องการบรรจุภัณฑ์ที่ใช้งานง่าย ชัดเจน และตอบสนองความเสื่อมถอยลงของร่างกายในวันนี้ได้ด้วย


 
     การทำสินค้าหรือบริการที่สนองคนต่างวัย ย่อมต้องมีรูปแบบ คอนเซ็ปต์ ดีไซน์ ตลอดจนการสื่อสารที่ต่างกัน แม้แต่การออกแบบแพ็กเกจจิ้ง หรือบรรจุภัณฑ์ ที่ไม่ว่าจะเป็น กลุ่มเด็ก วัยรุ่น  ผู้หญิง ผู้ชาย  กลุ่มคุณแม่ และคนรุ่นใหญ่ ก็ล้วนต้องใช้วิธีการสื่อสารที่แตกต่างกันออกไป เพื่อให้เข้าถึงและโดนใจคนต่างวัย ต่างเพศ ต่างรุ่น ที่มีความชอบและความสนใจแตกต่างกัน




     วันนี้ SME Thailand จะชวนทุกคนมาหาคำตอบว่า การจะทำบรรจุภัณฑ์ให้โดนใจตลาดคนรุ่นใหญ่นั้นต้องทำอย่างไร โดยกูรูด้านการออกแบบแพ็กเกจจิ้งอย่าง “สมชนะ กังวารจิตต์” ผู้ก่อตั้งบริษัท Prompt Design ที่ฝากข้อคิดไว้บนเวทีสัมมนาหัวข้อ  “Design is King Packaging is a Must” ในงาน BigSmile Talk: Back to the Future (Trend) Forum ตอน “เจาะเวลาหาวันสุข” ที่ผ่านมา 


     “การทำแพ็กเกจจิ้งให้กลุ่มเด็ก วัยรุ่น ผู้หญิง ผู้ชาย หรือคุณแม่ เราพอนึกภาพออกว่าต้องเป็นแบบไหน หน้าตาจะออกมาประมาณไหน อย่างสินค้าสำหรับเด็ก จะมีตัวการ์ตูน วัยรุ่น จะสีสันฉูดฉาด มีความสนุกสนาน ผู้ชาย ดูแมน เท่ สมาร์ท ผู้หญิง มีความน่ารัก สดใส ใช้รูปภาพผู้หญิงสวยๆ เน้นสี ขาว ชมพู คุณแม่ มีความอบอุ่นกับลูก คำถามคือ แล้วแพ็กเกจจิ้งของกลุ่มคนรุ่นใหญ่หน้าตาเป็นยังไง การจะมีรูปคนรุ่นใหญ่ ผมขาวอยู่หน้ากล่อง ถามจริงๆ ว่า เขารับได้ไหม รับไม่ได้หรอก เพราะคนรุ่นใหญ่ไม่ได้อยากรู้สึกแก่ อันนี้คือความซับซ้อนในเรื่องของการออกแบบสำหรับคนรุ่นใหญ่” สมชนะบอก เพื่อชี้ชวนให้ผู้ประกอบการ SME ได้ตระหนักคิดว่า หากจะทำสินค้ามาสนองใจกลุ่มคนรุ่นใหญ่ ตลาดที่กำลังหอมหวานมากๆ ในปัจจุบัน SME ต้องคิดและทำแบบไหน  เมื่อคนรุ่นใหญ่ไม่ได้อยากแก่ แต่มีความเสื่อมถอยลงของลักษณะทางร่างกาย และจำเป็นต้องใช้สินค้าและบริการของคนรุ่นใหญ่อยู่ 


 
  • แพ็กเก็จจิ้งต้องตอบโจทย์ทางกายภาพของคนรุ่นใหญ่

     สมชนะ  บอกเราว่า แพ็กเก็จจิ้งสำหรับคนรุ่นใหญ่ ต้องตอบสนองลักษณะทางกายภาพ (Physical) ของคนในวัยนี้ได้ ด้วยเพราะคนรุ่นใหญ่ทุกอย่างได้เสื่อมถอยลง ไม่ว่าจะเป็น การรับรู้ในรสชาติที่ไม่เหมือนเดิม การเคี้ยวอาหารได้ไม่ดีเท่าเดิม กล้ามเนื้อ มวลกล้ามเนื้อลีบลง ความหนาแน่นของกระดูกลดลง การมองเห็นแย่ลง  สายตายาวขึ้น การรับรู้ในเรื่องกลิ่นต่ำลง หรือแม้กระทั่งการได้ยินก็ไม่ชัดเจนเหมือนก่อน 


     “ฉะนั้นสิ่งที่เราจะต้องไปแก้ไขทางด้านกายภาพของเขา ก็คือ ตัวอักษรต้องขนาดใหญ่ ภาษาต้องเข้าใจง่าย การใช้สีตัวอักษรกับพื้นหลังต้องชัดเจน เพราะว่ากลุ่มคนรุ่นใหญ่แยกสีค่อนข้างลำบาก ขนาดของแพ็กเกจก็เล็กลง เพราะเขากินได้ไม่มากเท่าคนวัยอื่น ต้องแสดงวันหมดอายุที่ชัดเจน ถ้ามีอะไรที่บ่งบอกถึงความเป็นธรรมชาติกลุ่มคนรุ่นใหญ่จะชอบมาก และด้วยกล้ามเนื้อกระดูกและข้อ ของเขาไม่แข็งแรงเหมือนเดิม ฉะนั้นแพ็กเกจจิ้งต้องออกแบบให้เปิดได้ง่ายขึ้น ใช้แรงที่มือน้อยลง รวมถึงการออกแบบให้มีปุ่ม มีผิวขรุขระ รวมถึงเสียงปิดที่ชัดเจน เหล่านี้ก็จะเป็นเรื่องพื้นฐานทางด้านกายภาพที่การออกแบบสามารถเข้ามาช่วยได้”



 
  • ดีไซน์ที่ใช่ต้องตอบสนองด้านอารมณ์และความรู้สึกด้วย

     สมชนะบอกว่า นอกจากการคำนึงถึงลักษณะทางกายภาพของผู้สูงวัยแล้ว การออกแบบยังต้องให้ความสำคัญทางด้านอารมณ์ความรู้สึก (Emotional) ด้วย 


     “ในประเทศไทยมันมีแบรนด์ผ้าอ้อมผู้ใหญ่ ที่เขาสื่อสารกับกลุ่มคนรุ่นใหญ่โดยใช้รูปคนรุ่นใหญ่ในแต่ละช่วงวัย และแสดงศักยภาพของคนรุ่นใหญ่ที่สามารถทำเรื่องนั้นๆ ได้ เช่น เดินด้วยตัวเอง โดยไม่ต้องมีผู้ช่วย ไม่ต้องใช้ไม้เท้า หรือรถเข็น ต่างๆ เหล่านี้ แต่ต่างประเทศไม่ใช่ อย่างที่ญี่ปุ่นเขาก้าวข้ามการเล่าเรื่องแบบประเทศไทยไปแล้ว แต่เขาเล่าเรื่องโดยให้กลุ่มคนรุ่นใหญ่ในขั้นที่ 1 ซึ่งเป็นกลุ่มที่สามารถเดินไปเลือกซื้อของได้ด้วยตัวเอง ไปซูเปอร์มาร์เก็ตได้ด้วยตัวเอง  คนกลุ่มนี้เขาไม่ได้เลือกอะไรที่บอกว่าเขาแก่ ดังนั้นทุกอย่างจะเป็นไลฟ์สไตล์มากขึ้น อย่าง ผ้าอ้อมผู้ใหญ่ก็ไม่ได้บ่งบอกเรื่องแบบนั้นเลย แต่บอกเรื่องการย้อนวัยกลับไป ให้เขารู้สึกว่ายังหนุ่มยังสาวอยู่ สามารถเลือกได้ด้วยความมั่นใจ ซึ่งในอนาคตบ้านเราจะถูกวิวัฒนาการไปแบบญี่ปุ่น ที่เลือกใช้ดีไซน์ให้เข้ากับความเป็นตัวตนของคนๆ นั้นมากขึ้น” เขาบอก


      สำหรับกลุ่มผู้สูงวัยที่ไม่สามารถจะดูแลตัวเองได้  แต่มีลูกหลานเป็นคนเลือกซื้อสินค้าให้ สมชนะบอกว่า จะแตกต่างจากกลุ่มแรก โดยการสื่อสารนั้นจะต้องชัดเจนว่าเป็นสินค้าสำหรับคนรุ่นใหญ่ เช่น มีรูปผู้สูงวัยอยู่หน้าบรรจุภัณฑ์ บอกคุณสมบัติที่ชัดเจน และบอกปัญหาที่ชัดเจนของผู้สูงอายุ เป็นต้น 



 
  • สินค้าคนรุ่นใหญ่ต้องขายความพรีเมียมและไม่สื่อถึงความแก่

     สมชนะบอกอีกว่า สินค้าที่จะขายกลุ่มคนรุ่นใหญ่นั้น ต้องดูพรีเมียม เพราะคนกลุ่มนี้อยากได้ความมีระดับ เหตุผลคือ เป็นกลุ่มที่ผ่านประสบการณ์ชีวิตมาเยอะ มีเงินทองเก็บ อยู่ในช่วงวัยที่สถานะดีขึ้น ความพรีเมียมจึงเป็นคำตอบที่คนรุ่นใหญ่ต้องการ ในขณะที่รูปลักษณ์และอารมณ์ความรู้สึกต้องไม่ดูเป็นผู้สูงวัยด้วย 


     “สิ่งที่น่าสนใจคือ ปัจจุบันนี้กลุ่มคนรุ่นใหญ่กำลังเนื้อหอม อย่างตลาดผู้สูงวัยในญี่ปุ่นนี่เนื้อหอมมากเลย เพราะว่าเด็กวัยรุ่นเองก็อยากจะใช้สินค้าสำหรับผู้สูงวัย ถามว่าทำไม เพราะเขามองว่า ผู้สูงวัยมีทุกอย่าง สถานะทางสังคมดี ใช้ของแพงๆ กินไวน์ ดูมีระดับ ซึ่งเด็กวัยรุ่นหรือคนทำงานมองว่าคนรุ่นใหญ่มีรสนิยมอีกระดับหนึ่ง และอยากเป็นอย่างนี้บ้าง ฉะนั้นถ้าเขาซื้อของตามคนกลุ่มนี้ แสดงว่าเขาใช้ของที่พรีเมียม ซึ่งเชื่อว่าในอนาคตตลาดประเทศไทยก็คงพัฒนาไปในทางนี้เช่นเดียวกัน ฉะนั้นใครอยากจับตลาดคนรุ่นใหญ่ มองว่ายังไปได้อีกไกล” เขาสรุปในตอนท้าย




 
 
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: MARKETING

ฟังก์ชันแยกบิลจ่ายได้ เทรนด์ใหม่ที่ร้านอาหารต้องรู้ ลูกค้ายุคใหม่อยากจ่ายเท่าที่กินโดยไม่รู้สึกผิด

ไม่ใช่เรื่องต้องรู้สึกผิดอีกต่อไป หากไปกินอาหารกับเพื่อน แล้วอยากแยกรับผิดชอบจ่ายเฉพาะในส่วนที่ตัวเองสั่ง เทรนด์พฤติกรรมใหม่ของผู้บริโภคชาวอเมริกาที่หันมาใช้แอปพลิเคชันแยกจ่ายบิลกันมากขึ้น

ต่อยอดธุรกิจยังไงให้อยู่นานและขายดี กรณีศึกษา ALDI ซูเปอร์มาร์เก็ต ที่ถือกำเนิดมาตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2

ALDI คือ ซูเปอร์มาร์เก็ตสัญญาติเยอรมัน มีต้นกำเนิดมาจาก 2 พี่น้องตระกูล Albrecht คือ “คาร์ล และ ธีโอ อัลเบรชต์” ที่รับช่วงต่อกิจการมาจากแม่ของเขาที่เปิดร้านขายของชำตั้งแต่ยุคก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2