เคาะประตู Burnout Syndrome ส่องโอกาสธุรกิจที่มาพร้อมภาวะ ‘คนหมดไฟ’



Main Idea

 
  • Burnout Syndrome หรือ ภาวะหมดไฟของคนทำงาน เป็นอีกหนึ่งพฤติกรรมที่นับวันจะเพิ่มจำนวนมากขึ้นกับกลุ่มคนทำงาน โดยเฉพาะในสังคมเมือง
 
  • ภาวะดังกล่าว นับเป็นปัญหา ส่งผลต่อสุขภาพจิตและสภาพร่างกายของผู้คนมากมาย แต่ในขณะเดียวกันก็กลับกลายเป็นช่องว่าง “โอกาสทางธุรกิจ” ให้กับผู้ประกอบการอีกหลายรายเช่นกัน
 


 

     ทุกวันนี้ผู้คนโดยเฉพาะในสังคมเมือง ต่างต้องเผชิญกับความเครียดซึ่งมาจากหลากหลายปัจจัยที่เข้ามารุมเร้า อาทิ การแข่งขันที่สูงขึ้น ค่าครองชีพที่แพง ไปจนถึงสภาวะสิ่งแวดล้อมที่กดดันต่างๆ เช่น ปัญหารถติด จนทำให้เกิดอาการเครียดสะสมที่พอมากเข้าก็กลายเป็น “ภาวะหมดไฟ” (Burnout Syndrome) จนอาจนำไปสู่อาการของโรคซึมเศร้าหรือแม้แต่การฆ่าตัวตายได้





     มองในมุมการตลาด เมื่อผู้บริโภคมีความสุ่มเสี่ยงที่จะเกิดปัญหาเหล่านี้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ นักการตลาดหรือแม้แต่ผู้ประกอบการ SME เอง ในฐานะผู้ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค จึงควรคิดหาผลิตภัณฑ์หรือบริการ เพื่อเข้ามาช่วยเยียวยาและแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นนี้ เพราะในอีกมุมหนึ่งก็ถือเป็นการพัฒนาธุรกิจไปในตัว ซึ่งหากสามารถทำได้จะถือเป็นการเปิดโอกาสใหม่ๆ ให้กับธุรกิจได้อย่างน่าสนใจเลยทีเดียว
 
  • ภาวะหมดไฟ ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ
           
     เชื่อหรือไม่ว่า ในทุกๆ 2 ชั่วโมง พบคนไทยเสียชีวิตจากการฆ่าตัวตาย 1 คน
               

     ก่อนที่จะไปมองถึงกลยุทธ์การตลาด หรือโอกาสธุรกิจของผู้ประกอบการ SME จากภาวะ Burnout Syndrome หรืออาการหมดไฟของผู้คนยุคปัจจุบัน ลองไปทำความรู้จักกับผลกระทบและผลเสียของโรคนี้กันก่อน
               

     กรมสุขภาพจิตได้เผยข้อมูลว่า ประเทศไทยมีสถิติคนเสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายมากเป็นอันดับที่ 32 ของโลก โดยในปี 2562 ที่ผ่านมา มีคนฆ่าตัวตายถึง 12  ต่อวัน หรือคิดเฉลี่ยเป็นรายชั่วโมง คือ ในทุกๆ 2 ชั่วโมงจะมีคนไทยเสียจากการฆ่าตัวตาย 1 คน
               




     จากสถิติข้อมูลดังกล่าวนี้ แสดงให้เห็นถึงความเครียดที่เพิ่มขึ้นของผู้คนในยุคปัจจุบัน จนถึงขั้นมีการคิดฆ่าตัวตายเกิดขึ้น ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล (CMMU) ได้ทำงานวิจัยเกี่ยวกับสภาวะ Burnout Syndrome ที่อาจส่งผลต่อพฤติกรรมของผู้บริโภคยุคปัจจุบัน โดยเฉพาะในสังคมเมือง
โดยจากการสำรวจจากกลุ่มตัวอย่างคนทำงาน 1,210 คนในกรุงเทพฯ เป็นผู้หญิง 66 เปอร์เซ็นต์ ผู้ชาย 34 เปอร์เซ็นต์ แบ่งเป็น Gen Z ที่ 3 เปอร์เซ็นต์, Gen Y จำนวน 79 เปอร์เซ็นต์, Gen X ที่ 16 เปอร์เซ็นต์ และ Baby Boomer อยู่ที่ 2 เปอร์เซ็นต์ โดยพบว่ามีผู้บริโภคกว่า 69 เปอร์เซ็นต์ที่มีอาการน่าเป็นห่วงและเสี่ยงที่จะอยู่ในภาวะ Burnout Syndrome
โดยแบ่งเป็น ภาวะ Burnout Syndrome เต็มตัว จำนวน 12 เปอร์เซ็นต์ และ มีความเสี่ยงที่จะเป็นในช่วงเริ่มต้น 57 เปอร์เซ็นต์ และสภาวะปกติที่ยังมีไฟอยู่ที่ 31 เปอร์เซ็นต์
               

     ทั้งนี้พบว่า กลุ่มผู้บริโภคผู้หญิงมีโอกาสตกอยู่ในภาวะ Burnout Syndrome ได้มากกว่าผู้ชาย เนื่องจากเป็นเพศที่มีความละเอียดอ่อนและคิดมากกว่า (ผู้หญิง 72 เปอร์เซ็นต์ ผู้ชาย 65 เปอร์เซ็นต์) รวมถึงผู้ที่ยิ่งมีอายุน้อย หรือ Gen Z มีความเครียดสะสมและโอกาสเสี่ยงที่จะเป็น Burnout Syndrome แบบเต็มตัวได้มากกว่าเจเนอเรชันอื่นที่มีอายุมากกว่า  จากผลสำรวจอาชีพที่มีแนวโน้มเสี่ยงอยู่ในภาวะหมดไฟมากที่สุดเรียงตามลำดับ ได้แก่ พนักงานรัฐวิสาหกิจ 77 เปอร์เซ็นต์ พนักงานเอกชน 73 เปอร์เซ็นต์ ข้าราชการ 58 เปอร์เซ็นต์ และธุรกิจส่วนตัว 48 เปอร์เซ็นต์ โดยกลุ่มที่มีความเสี่ยงเป็น Burnout Syndrome แบบเต็มตัวสูงสุด ได้แก่ พนักงานเอกชนและข้าราชการ
               




     3 สาเหตุของการทำให้เกิดภาวะหมดไฟมากที่สุด คือ 1.งานหนักเกินไป เช่น  หนึ่งตำแหน่งแต่ทำหลายหน้าที่ หรือปริมาณงานไม่สมดุล บทจะมาเยอะก็เยอะจนทำกันไม่ทัน บทจะน้อย ก็ว่างกันเกินไป 2.สภาพแวดล้อมไม่ดี เช่น ขาดการสนับสนุนเครื่องไม้เครื่องมือที่ทันสมัยมาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานได้รวดเร็วและดียิ่งขึ้น เจอเพื่อนร่วมงานไม่ดี เอาเปรียบ ชอบนินทา และ 3.ระบบโครงสร้างภายในไม่เอื้อต่อการทำงาน เช่น กฎระเบียบข้อบังคับที่ทำให้ขาดความคล่องตัว และเจ้านายที่ไม่มีความเป็นผู้นำ ขาดความรับผิดชอบ
 
  • เติมไฟให้กลับคืนมา
               
     จากสาเหตุหลักของการทำให้เกิด Burnout Syndrome    การศึกษาต่อไป คือ การแก้ไขปัญหาและเยียวยา ซึ่งนอกจากจะเป็นการช่วยหาทางออก เพื่อทำให้ภาวะหมดไฟหมดไปแล้วนั้น ในขณะเดียวกันยังสามารถนำมาใช้เป็นข้อมูล เพื่อศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภคและประยุกต์ใช้กับการทำธุรกิจเพื่อสร้างโอกาสใหม่ๆ ให้เกิดขึ้นได้ด้วย
               

     จากผลสำรวจพบว่า 9 กิจกรรมตัวอย่างที่ช่วยเติมไฟให้กลับคืนมา ได้แก่ การเล่นโซเชียลมีเดีย, พูดคุยกับครอบครัว, พูดคุยกับเพื่อนฝูง, ฟังเพลง, ดูหนัง, กินข้าวนอกบ้าน, ออกกำลังกาย, เล่นเกม และสวดมนต์ ฟังธรรมะ เพื่อผ่อนคลายจิตใจ




     โดยหากแบ่งออกเป็นกิจกรรมคลายเครียดยอดฮิตในแต่ละเจเนอเรชันและเพศ ก็มีความชื่นชอบที่แตกต่างกันไป โดย Gen Z และ Gen Y หากเป็นเพศชายจะชื่นชอบการเล่นเกมมาเป็นอันดับหนึ่ง ตามด้วยโซเชียลมีเดีย และออกกำลังกาย หากเป็นเพศหญิง Gen Z จะคลายเครียดด้วยการเล่นโซเชียลมีเดียเป็นอันดับหนึ่ง ตามด้วยพูดคุยกับเพื่อน และฟังเพลง ส่วนเพศหญิง Gen Y จะชอบฟังเพลง พูดคุยกับเพื่อน และพูดคุยกับครอบครัว ใน Gen X           เพศชาย จะชอบเล่นโซเชียลมีเดีย ตามด้วยฟังเพลง และออกกำลังกาย สำหรับเพศหญิง จะชอบพูดคุยกับเพื่อน เล่นโซเชียลมีเดีย และพูดคุยกับครอบครัว สุดท้าย Baby Boomer เพศชาย จะชอบออกกำลังกายมาเป็นอันดับแรก ตามด้วยฟังเพลง และพูดคุยกับครอบครัว ส่วนเพศหญิง จะชอบฟังธรรมะ สวดมนต์ ตามด้วยพูดคุยกับครอบครัว และออกกำลังกาย
               

     โดยทั้งนี้ยังมีการเปรียบเทียบกิจกรรมระหว่างคนที่ตกอยู่ในภาวะหมดไฟและบุคคลทั่วไป ดังนี้ โดยหากเป็นคนหมดไฟมักจะใช้โซเชียลมีเดียเพื่อคลายเครียดเป็นอันดับ 1 ในขณะผู้ที่ยังมีไฟหรืออยู่ภาวะปกติ มักเลือกเติมไฟให้กับตัวเองด้วยการพูดคุยกับครอบครัวและเพื่อนมาเป็นอันดับ 1 และโซเชียลมีเดียเป็นอันดับ 3
 
  • ส่องกลยุทธ์มัดใจคนหมดไฟ  สร้างโอกาสปั้นธุรกิจ
               
     จากข้อมูลของผลสำรวจที่กล่าวไปแล้ว พอนำมาสรุปเป็นกลยุทธ์การทำธุรกิจเพื่อมัดใจใช้ผู้บริโภคที่อาจตกอยู่ภาวะ Burnout Syndrome ได้ดังนี้





     ส่งเสริมความเป็นครอบครัวให้มากขึ้น


     จากข้อมูลสะท้อนให้เห็นว่า สิ่งที่คนมีไฟหรือเสี่ยงกับการเป็น Burnout Syndrome น้อย กิจกรรมที่มักนำมาใช้คลายเครียดเป็นอันดับต้นๆ ก็คือ การพูดคุยกับครอบครัวและเพื่อน ฉะนั้นแล้วหากผู้ประกอบการธุรกิจสามารถปรับสินค้าและบริการของตนให้มีการส่งเสริมให้เกิดการสื่อสารและทำกิจกรรมร่วมกันในครอบครัวได้มากขึ้น ก็จะทำให้ธุรกิจได้รับความสนใจจากผู้บริโภคยุคนี้ได้เพิ่มขึ้นตามไปด้วย เช่น จากที่เคยเตรียมทุกอย่างไว้เพื่อลูกค้ารายบุคคล ก็อาจหันมามองกลุ่มครอบครัวหรือลูกค้ากลุ่มใหญ่เพิ่มมากขึ้น หรือสร้างแพ็กเกจสำหรับครอบครัวให้มากขึ้น ยกตัวอย่างเช่น โรงเรียนสอนทำอาหาร จากเดิมที่เน้นสอนรายบุคคล ก็อาจเปลี่ยนเป็นสอนเป็นกลุ่ม เพื่อให้ครอบครัวได้ใช้เวลาร่วมกันมากขึ้น 
     

     ช่วยชาร์จพลัง เติมไฟให้ไปต่อ               


     สิ่งที่คนหมดไฟต้องการ ก็คือ พลังงาน เพื่อช่วยให้กลับมามีพลังชีวิตได้อีกครั้งหนึ่ง ฉะนั้นแล้วหากมีธุรกิจหรือรูปแบบสินค้าและบริการใด สามารถเข้ามาช่วยเติมเต็มและตอบโจทย์ความต้องการนี้ได้ รับรองว่าต้องได้รับความนิยมจากชาว Burnout Syndrome ได้อย่างแน่นอน ทั้งนี้อาจหมายถึงกลยุทธ์การนำเสนอขายสินค้าด้วยก็เป็นได้ โดยหนึ่งในธุรกิจที่มาแรงและสามารถช่วยเติมพลังได้ดี ก็คือ ธุรกิจเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยง เช่น คาเฟ่สัตว์เลี้ยง เพราะมีวิจัยกล่าวไว้ว่าสัตว์เลี้ยง สามารถช่วยเยียวยาจิตใจของคนที่มีอาการเครียดหรือซึมเศร้าได้ รวมไปถึงธุรกิจท่องเที่ยว และการสร้างประสบการณ์แปลกใหม่ต่างๆ ที่ไม่เคยทำมาก่อนด้วย โดยหากสามารถดึงจุดเด่นสร้างจุดขายออกมาได้ ก็อาจเป็นแรงจูงใจดึงผู้บริโภคกลุ่มนี้เข้าไปใช้บริการของคุณได้มากขึ้นนั่นเอง
    




     สุขภาพใจดี สุขภาพกายดี               


     “สุขภาพ” คือสิ่งที่ได้รับผลกระทบมาจากความเครียดและภาวะหมดไฟ ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้ชาว Burnout Syndrome มักเป็นกังวลและห่วงสุขภาพของตัวเอง ดังนั้นแล้วหากมีการสร้างธุรกิจที่สามารถส่งเสริมสุขภาพใจที่ดี ช่วยผ่อนคลายความเครียดได้ อาจทำให้ได้รับความสนใจมากยิ่งขึ้นของผู้บริโภคยุคนี้ได้ ยกตัวอย่างเช่น ในต่างประเทศขณะนี้ได้มีการนำเทคโนโลยีมาใช้สร้างแชตบอตขึ้นมาชื่อว่า “WYSA” เพื่อให้บริการเป็นเพื่อนคุยระบายความเครียด ไปจนถึงเก็บรวบรวมบทสนทนา เพื่อเก็บผลมาวิเคราะห์ถึงระดับความเครียดของผู้เข้ามาใช้บริการแต่ละคนได้ด้วย  
 
               
     และนี่คือ อีกพฤติกรรมและเรื่องราวที่เกิดขึ้นกับผู้บริโภคในยุคปัจจุบัน แม้ในเบื้องต้นอาจดูว่าไม่น่าจะเกี่ยวข้องกับการทำธุรกิจของ SME ได้ แต่แท้จริงแล้วทุกอย่างทุกเรื่องที่ส่งผลกับผู้บริโภค ล้วนแล้วแต่มีผลกลับไปสู่ธุรกิจของคุณได้ทั้งนั้น ขึ้นอยู่กับว่าคุณจะสามารถมองเห็นโอกาสจากวิกฤตหรือปัญหาที่เกิดขึ้นได้หรือไม่เท่านั้นเอง
 


www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี
 

RECCOMMEND: MARKETING

ฟังก์ชันแยกบิลจ่ายได้ เทรนด์ใหม่ที่ร้านอาหารต้องรู้ ลูกค้ายุคใหม่อยากจ่ายเท่าที่กินโดยไม่รู้สึกผิด

ไม่ใช่เรื่องต้องรู้สึกผิดอีกต่อไป หากไปกินอาหารกับเพื่อน แล้วอยากแยกรับผิดชอบจ่ายเฉพาะในส่วนที่ตัวเองสั่ง เทรนด์พฤติกรรมใหม่ของผู้บริโภคชาวอเมริกาที่หันมาใช้แอปพลิเคชันแยกจ่ายบิลกันมากขึ้น

ต่อยอดธุรกิจยังไงให้อยู่นานและขายดี กรณีศึกษา ALDI ซูเปอร์มาร์เก็ต ที่ถือกำเนิดมาตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2

ALDI คือ ซูเปอร์มาร์เก็ตสัญญาติเยอรมัน มีต้นกำเนิดมาจาก 2 พี่น้องตระกูล Albrecht คือ “คาร์ล และ ธีโอ อัลเบรชต์” ที่รับช่วงต่อกิจการมาจากแม่ของเขาที่เปิดร้านขายของชำตั้งแต่ยุคก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2