แค่รักษ์โลกไม่พอ! อยากทำธุรกิจให้ไปต่อ ต้องตอบโจทย์ผู้บริโภคด้วย

TEXT : กองบรรณาธิการ





Main Idea
 
  • การทำสินค้ารักษ์โลก ก็คือธุรกิจหนึ่ง ที่ผู้ประกอบการต้องเจอกับความท้าทายไม่ต่างจากธุรกิจทั่วๆ ไป ซึ่งเป้าหมายที่ทุกคนอยากไปให้ถึงก็คือ สินค้านั้นๆ สามารถขายได้ มีเม็ดเงินเข้ามาสร้างการเติบโตให้ธุรกิจ ไม่ใช่แค่เทรนด์ฉายฉวยที่มาแล้วก็หายไปเมื่อหมดกระแส
 
  • นี่คือโจทย์ที่โยนใส่ผู้ประกอบการรักษ์โลก ให้ต้องกลับมาตระหนักว่า สิ่งที่จะขายไม่ใช่แค่คำว่า “รักษ์โลก” แต่สินค้านั้นๆ ต้องตอบโจทย์ผู้บริโภคให้ได้ และสามารถแข่งขันได้ในตลาดทั่วไป เพื่อเป็นธุรกิจที่แข็งแกร่งมีพลังไปสร้างสิ่งดีๆ ให้กับโลกใบนี้อย่างยั่งยืนต่อไป



     “คุณกำลังขายสินค้า ไม่ใช่คำว่า รักษ์โลก”


     นี่คือโจทย์ใหญ่ที่กำลังโยนใส่เหล่าผู้ประกอบการที่ทำสินค้าเกี่ยวกับโลกและสิ่งแวดล้อม แม้วัตถุประสงค์หรือจุดมุ่งหมายในการทำธุรกิจของแต่ละคน ล้วนเป็นเรื่องดี คืออยากมีส่วนช่วยทำให้โลกใบนี้งดงามขึ้น แต่ในมุมของการทำธุรกิจ แนวคิดนี้ไม่ใช่สิ่งที่จะขายได้ หรือขายได้ตลอดไป ถ้าสินค้าและบริการนั้นๆ ไม่สามารถตอบโจทย์ผู้บริโภคได้อย่างแท้จริง
               

      “ทำไมสินค้ารักษ์โลกจะต้องจ่ายแพงกว่า หรือคนใช้จะต้องยอมลำบากมากขึ้นเพื่อคำว่ารักษ์โลก ไม่จำเป็นเลย นั่นเป็นโจทย์ของผู้ประกอบการอย่างเราในฐานะคนทำธุรกิจ ที่ต้องมาคิดเพื่อออกแบบผลิตภัณฑ์ที่คนใช้แล้วรู้สึกดี รู้สึกคุ้มค่า และอยู่ในราคาที่แข่งขันได้ด้วย”
               




     นี่คือคำกล่าวของ “เกศินี จิรวณิชชากร” เจ้าของแบรนด์ ซันนี่คอตตอน (SUNNY COTTON) ผ้าอนามัยซักได้ ที่ผู้คนต่างขนานนามว่าเป็น “สินค้ารักษ์โลก” ที่ลดปัญหาผ้าอนามัยใช้แล้วทิ้ง เป็นภาระให้กับโลก แต่เจ้าตัวกลับย้ำกับเราตลอดการสนทนาว่า ไม่อยากเอาประเด็นสิ่งแวดล้อมมาเป็นจุดขาย  แต่เป้าหมายแค่อยากทำของที่คนใช้แล้วรู้สึกดี และตอบโจทย์บริโภคเท่านั้น
               

     “เราทำผ้าอนามัยซักได้ สิ่งที่เราใช้เป็นจุดขาย คือ ใช้แล้วมันสบายกว่าผ้าอนามัยทั่วไปที่เขาเคยใช้อย่างไร ใช้แล้วสบายตัว คนแพ้ผ้าอนามัยสามารถใช้ได้ ตอบโจทย์ทั้งฟังก์ชั่นการใช้งานและราคา ช่วยให้ผู้หญิงประหยัดได้มากขึ้น จากเดิมที่ผู้หญิงต้องเสียเงินถึงปีละ 1-2 พันบาท ในการซื้อผ้าอนามัยใช้แล้วทิ้ง แต่เงินก้อนนี้เขาสามารถนำมาซื้อผ้าอนามัยซักได้ของเราและใช้ได้ตลอดไป ขึ้นอยู่กับการรักษาของเขา ส่วนจะทำอย่างไรให้ราคาแข่งขันได้ หรือคุณสมบัติดีกว่าผ้าอนามัยทั่วๆ ไป มองว่านั่นเป็นหน้าที่ของเราในฐานะผู้ประกอบการที่จะต้องไปคิดต่อให้ลูกค้า”  





     ขณะที่สินคาผ้าอนามัยซักได้ส่วนใหญ่ที่ขายกันอยู่ในต่างประเทศ จะเน้นสีดำหรือสีเข้ม เพื่อไม่ให้สังเกตถึงความเลอะเทอะได้ แต่กับ ซันนี่คอตตอน พวกเขาเลือกใช้สีขาว เพื่อให้ผู้ใช้ได้สังเกตเลือดประจำเดือนของตัวเองซึ่งช่วยในการตรวจเช็คสุขภาพตัวเองในแต่ละเดือนได้
 

     ผ้าอนามัยทั่วไปออกแบบดีไซน์ได้จำกัด แต่กับผ้าอนามัยซักได้ เธอบอกว่าตอบโจทย์ด้านดีไซน์ให้กับผู้บริโภคอย่างเต็มที่ เพราะมองว่าผู้โภคยุคนี้มี่ความต้องการที่หลากหลาย และมีความชอบที่ไม่เหมือนกัน ซันนี่คอตตอน จึงเป็นแบรนด์ที่มีกว่า 100 sku เป็นผ้าอนามัยที่กลายเป็นสินค้าแฟชั่น ด้วยดีไซน์น่ารักน่าชัง และหลายขนาด ซึ่งทั้งหมดเกิดจากการรับฟังความต้องการของลูกค้า แล้วมาพัฒนาสินค้าไปตอบสนอง





     ผลลัพธ์จากการทำงาน ทำให้สินค้าได้รับการตอบรับจากลูกค้าอย่างต่อเนื่อง แน่นอนว่าแม้จะเริ่มจากกลุ่มรักษ์โลก แต่ปัจจุบันผู้บริโภคก็ขยับขยายออกไปจนมีลูกค้าอยู่หลายพันรายในปัจจุบัน


     “เราพยายามบอกทุกคนตลอดว่า จุดขายของเราไม่ใช่เรื่องรักษ์โลก เพื่อโลกมันเป็นแค่ผลพลอยได้ แต่จุดหลักคือ ความสบายตัว ความประหยัด  และคุณจะได้รู้ว่าเลือดประจำเดือนของคุณเป็นอย่างไร ซึ่งเรากำลังต่อสู้กับตลาดหลักที่เป็นผ้าอนามัยทั่วไป ฉะนั้นสินค้าของเราก็ต้องสู้กับเขาได้ด้วย  จากนี้เราจะเริ่มทำการสื่อสารอย่างมีกลยุทธ์มากขึ้น  โดยจะเน้นสื่อสารไปที่ความสบายและเรื่องของสุขภาพ เรามองว่า เราอาจเริ่มจากกลุ่มลูกค้าที่รักษ์โลกก็จริง แต่ถ้าจะขายกลุ่มคนรักษ์โลกอย่างเดียวมันไม่ยั่งยืน เราไม่ได้ต้องการคนร้อยคนที่ทำ Zero Waste แบบเพอร์เฟ็กต์ แต่เราต้องการคนล้านคนที่ทำ Zero Waste แบบคนละนิดคนละหน่อยเพราะมันจะมีพลังมากกว่า ฉะนั้นเราจึงไม่อยากจะเจาะแค่กลุ่มคนรักษ์โลกเท่านั้น เพราะมันคงสร้างผลกระทบอะไรไม่ได้มาก เราไม่ได้อยากทำตลาด Niche Market แต่เราอยากทำให้สินค้านี้กลายเป็น Mass ที่ทุกคนได้ลองใช้”  เธอบอกความมุ่งมั่น





     เมื่อถามเป้าหมายที่อยากเห็น คนทำธุรกิจผ้าอนามัยซักได้บอกเราว่า ภายใน 3 ปี ฝันอยากให้คนไทยได้ใช้สินค้าของเธอที่อย่างน้อย 1 ล้านคน
 

     ซึ่งถ้าทำได้สำเร็จ นั่นหมายความว่าโลกใบนี้ก็จะงดงามขึ้น ด้วยพลังของสินค้าน้ำดี ที่จะไม่เอาคำว่ารักษ์โลกเป็นจุดขาย แต่จะทำสินค้าที่ดีที่ตอบโจทย์ผู้บริโภคได้
 
 



www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี
 

RECCOMMEND: MARKETING

วิกฤตสูงวัย เด็กเกิดใหม่น้อย กรณีศึกษาธุรกิจญี่ปุ่น ปรับตัวผลิตสินค้าผู้ใหญ่แทนสินค้าเด็ก

Oji Holdings ผู้ผลิตผ้าอ้อมในญี่ปุ่นประกาศยุติผลิตผ้าอ้อมเด็ก หันไปเพิ่มปริมาณการผลิตผ้าอ้อมผู้ใหญ่แทน สาเหตุมาจากอัตราการเกิดที่ลดลงและจำนวนประชากรสูงวัยของญี่ปุ่นที่เพิ่มสูงขึ้น

โอกาสโกอินเตอร์ของแบรนด์ไทย ทำงานกับนักธุรกิจระดับโลก งาน Gifts & Premium Fair ฮ่องกง

ฮ่องกงขึ้นชื่อว่าเป็นดินแดนที่มีการจัดงานแสดงสินค้าที่ยิ่งใหญ่ของโลกแห่งหนึ่ง และหนึ่งในนั้นคืองานแสดงสินค้าของขวัญและของพรีเมียมภายใต้ชื่อ Hong Kong Gifts & Premium Fair ซึ่งกำลังจะมีขึ้นระหว่างวันที่ 27-30 เมษายน 2024