คนไทยคุยกันบนโซเชียลถึง 7.2 พันล้านข้อความ! พฤติกรรมที่ SME ต้องจับตา




Main Idea
 
 
  • การทำธุรกิจในโลกยุคใหม่ SME ต้องเท่าทันพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป หนึ่งในความเปลี่ยนแปลงที่มองเห็นอย่างชัดเจนคือ วันนี้ผู้คนส่วนใหญ่ใช้ชีวิตอยู่บนโลกโซเชียล ถ้าผู้ประกอบการยังอยู่ในโลกคนละใบ ก็มีโอกาสหลุดจากใจผู้บริโภคยุคใหม่ได้ง่ายๆ
 
  • ในปี 2019 พบสถิติคนไทยคุยกันบนโซเชียลมีเดียถึง 7.2 พันล้านข้อความ สูงขึ้นจากปีก่อนหน้า 36 เปอร์เซ็นต์ นี่คือสัญญานบอกเตือนผู้ประกอบการว่า สิ่งที่ควรให้ความสำคัญมากที่สุด คือการฟังเสียงของลูกค้า ปรับตัวได้ทันโอกาสทางธุรกิจ ต้องมองภาพรวมให้รอบด้านเพื่อประเมินสถานการณ์และคู่แข่ง สุดท้ายคือเลือกใช้เครื่องมือให้เป็นเพื่อวางแผนรับมือได้อย่างทันท่วงที



     “สถิติจำนวนข้อความบนโซเชียลมีเดียตลอดปี 2019  สูงถึง 7.2 พันล้านข้อความ เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่ 36 เปอร์เซ็นต์”





     นี่คือข้อมูลจริงจากคำบอกเล่าของ “กล้า ตั้งสุวรรณ” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไวซ์ไซท์ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ให้บริการด้านการวิเคราะห์ข้อมูลบนโซเชียล ที่บรรยายในหัวข้อ “The SHIFT of Consumer Insight” ในงาน Thailand Zocial Awards 2020 Forum Day เมื่อวันก่อน สะท้อนถึงพฤติกรรมของผู้บริโภคยุคนี้ที่เปลี่ยนไปจากเดิม และผู้ประกอบการต้องตามให้ทัน
               

     เขาบอกต่อว่า จำนวนการพูดคุยบนโซเชียลเพิ่มขึ้นก็จริง แต่จำนวนผู้ใช้งานในโซเชียลมีเดียไม่ได้เพิ่มขึ้น โดยมีจำนวนอยู่ที่ 74 เปอร์เซ็นต์ เท่ากับปีที่แล้ว ในส่วนของแบรนด์ที่ไวซ์ไซท์ทำการเก็บข้อมูลจาก 1,399 แบรนด์ พบว่า 84 เปอร์เซ็นต์ ของแบรนด์ใช้โซเชียลมีเดียตั้งแต่ 2 แพลตฟอร์มขึ้นไปในการสื่อสารกับผู้บริโภคเพื่อให้สามารถสื่อสารได้ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น  ซึ่งเขาบอกว่า ในแต่ละแพลตฟอร์มจะมีค่ากลางเพื่อใช้วัดผลการสื่อสารบนโซเชียลมีเดียว่ามีประสิทธิภาพหรือทำได้ดีพอหรือไม่ เมื่อเทียบกับคู่แข่งในอุตสาหกรรมเดียวกัน





     เช่น ในแพลตฟอร์ม YouTube มีค่ากลาง คือ ถ้าได้รับค่าวิว 630,480 วิว จะถือว่าคลิปนั้นมีประสิทธิภาพ และถ้าเจาะลึกลงในกลุ่มผลิตภัณฑ์สินค้านมและผลิตภัณฑ์แปรรูปจากนมรวมถึงโยเกิร์ต ไอศกรีม  ต้องมีค่าวิวถึง 9,074,842 วิว ถึงจะเรียกว่ามีประสิทธิภาพ เป็นต้น
               





      ในด้านอินฟลูเอนเซอร์ หรือผู้มีอิทธิพลบนโลกออนไลน์ ก็มีการเปลี่ยนแปลงการนำเสนอเนื้อหา โดยจะเห็นว่าหลายๆ คนมีเนื้อหาที่หลากหลายมากขึ้น ไม่ได้จำกัดอยู่แค่หมวดหมู่ที่ถูกกำหนดไว้เท่านั้น โดยมากกว่า 97 เปอร์เซ็นต์ ของอินฟลูเอนเซอร์มีการนำเสนอเนื้อหาข้ามหมวดหมู่ตั้งแต่ 2 หมวดขึ้นไป เช่น อินฟลูเอนเซอร์หมวดความสวยงามเริ่มหันมานำเสนอเนื้อหาเกี่ยวกับการท่องเที่ยว หรือออกกำลังกายมากขึ้น และยังคงได้รับความนิยมสูงจากผู้ติดตาม รวมถึงกระจายเนื้อหาไปได้ในวงกว้างมากขึ้น ทำให้การวัดผลที่ผ่านมาอาจจะไม่สะท้อนความสามารถที่แท้จริงของอินฟลูเอนเซอร์อีกต่อไป แบรนด์จึงพลาดโอกาสในการเลือกอินฟลูเอนเซอร์ที่เหมาะสมกับแผนการตลาดอย่างแท้จริง





     ไวซ์ไซท์จึงได้พัฒนามาตรฐานการวัดประสิทธิภาพของอินฟลูเอนเซอร์ที่พลิกโฉมวงการที่เรียกว่า Influencer Report ซึ่งเป็นการจัดอันดับผลงานของอินฟลูเอนเซอร์ทั้งตลาดในทุกด้าน เพื่อให้แบรนด์สามารถเลือกอินฟลูเอนเซอร์ได้ตรงกับแผนการตลาดมากขึ้น นอกจากนี้ยังให้ความสำคัญในการวิเคราะห์ข้อมูลให้ลึกขึ้นเพื่อค้นหาความต้องการที่ซ่อนอยู่บนโลกโซเชียลของผู้บริโภคผ่านการทำงานและเครื่องมือต่างๆ ที่มีให้บริการอยู่ 






     เขาย้ำในตอนท้ายว่า ในปีนี้สิ่งที่แบรนด์และผู้ประกอบการต้องให้ความสำคัญคือ การฟังเสียงของลูกค้าเพื่อรู้ให้ทันโลก และสามารถปรับตัวได้ทันกับโอกาสทางธุรกิจที่จะเกิดขึ้น รวมถึงต้องมองภาพรวมให้รอบด้าน เพื่อประเมินสถานการณ์และคู่แข่ง สุดท้ายคือควรเลือกใช้เครื่องมือที่ช่วยวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อประหยัดเวลาในการทำงาน และวางแผนรับมือได้อย่างทันท่วงที ก็จะสามารถไปสู่ความสำเร็จในโลกยุคใหม่ได้
 

     ซึ่งแนวทางเหล่านี้ SME สามารถนำไปปรับใช้กับธุรกิจของตัวเองได้ เพราะโลกใบใหม่ไม่ได้มอบให้แค่ความท้าทาย แต่ถ้ารู้จักใช้ให้เป็นก็สร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการได้เช่นกัน
 




 
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี
 
 

RECCOMMEND: MARKETING

วิกฤตสูงวัย เด็กเกิดใหม่น้อย กรณีศึกษาธุรกิจญี่ปุ่น ปรับตัวผลิตสินค้าผู้ใหญ่แทนสินค้าเด็ก

Oji Holdings ผู้ผลิตผ้าอ้อมในญี่ปุ่นประกาศยุติผลิตผ้าอ้อมเด็ก หันไปเพิ่มปริมาณการผลิตผ้าอ้อมผู้ใหญ่แทน สาเหตุมาจากอัตราการเกิดที่ลดลงและจำนวนประชากรสูงวัยของญี่ปุ่นที่เพิ่มสูงขึ้น

โอกาสโกอินเตอร์ของแบรนด์ไทย ทำงานกับนักธุรกิจระดับโลก งาน Gifts & Premium Fair ฮ่องกง

ฮ่องกงขึ้นชื่อว่าเป็นดินแดนที่มีการจัดงานแสดงสินค้าที่ยิ่งใหญ่ของโลกแห่งหนึ่ง และหนึ่งในนั้นคืองานแสดงสินค้าของขวัญและของพรีเมียมภายใต้ชื่อ Hong Kong Gifts & Premium Fair ซึ่งกำลังจะมีขึ้นระหว่างวันที่ 27-30 เมษายน 2024