พลิกเกมให้ทัน! เมื่อปี’ 63 รายได้ธุรกิจร้านอาหารรจะหายไปหลายหมื่นล้าน!




Main Idea
 
  • ผลกระทบจากไวรัส COVID-19 ทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติชะลอการเดินทางมาประเทศไทย ผู้บริโภคชาวไทยหลีกเลี่ยงการเดินทางท่องเที่ยว รวมถึงออกไปทานอาหารในสถานที่ที่มีคนพลุกพล่าน บวกการชะลอตัวของเศรษฐกิจและความเสี่ยงต่อการเลิกจ้างงาน กดดันกำลังซื้อของผู้บริโภคในประเทศที่ระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้น
 
  • นี่คือปัจจัยสำคัญที่ทำให้กระทบต่อธุรกิจร้านอาหาร โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย ปรับประมาณการรายได้ของธุรกิจร้านอาหารในปี 2563 ลงเหลือ 4.02 – 4.12 แสนล้านบาท จากคาดการณ์เดิม ณ ต้นปี 2563 มีมูลค่า 4.39 แสนล้านบาท หรือลดลงที่ประมาณ 2.65 - 3.65 หมื่นล้านบาท
 
  • สำหรับผู้ประกอบการร้านอาหาร ต้องปรับตัวเพื่อรับมือกับสถานการณ์นี้ โดยปรับตัวเองให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภคที่ปรับเปลี่ยนในสภาวะเช่นนี้ เช่น เพิ่มช่องทางการจัดส่งอาหารไปยังที่พักหรือที่ทำงาน ในราคาและคุณภาพที่สอดคล้องกับกำลังซื้อที่อ่อนแอ เป็นต้น



         ส่องรอยช้ำธุรกิจร้านอาหารปี 2563
           

      อีกหนึ่งอุตสาหกรรมที่กำลังถูกพิษ COVID-19 และการชะลอตัวของเศรษฐกิจเล่นงานเข้าอย่างจัง สำหรับ “ธุรกิจร้านอาหาร” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของธุรกิจภาคบริการและการท่องเที่ยวที่ถูกพายุ COVID-19 สาดซัดไปก่อนหน้านี้ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ร้านอาหารจะได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19  เนื่องจากการชะลอการเดินทางของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามาประเทศไทย สะท้อนให้เห็นจากข้อมูลสถิติของกองบังคับการตรวจคนเข้าเมือง 2 (ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ) ที่พบว่า จำนวนชาวต่างชาติเดินทางเข้ามาในประเทศไทยในเดือนกุมภาพันธ์ 2563 หดตัวสูงถึงร้อยละ 45 (YoY) และมีแนวโน้มที่จะหดตัวลงต่อเนื่อง จนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย ซึ่งส่งผลกระทบมายังร้านอาหารที่พึ่งพาตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติ ซึ่งมูลค่ารายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติ ในกลุ่มการใช้จ่ายด้านการบริโภคอาหารมีสัดส่วนประมาณร้อยละ 15 ของมูลค่าการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมดที่เดินทางมาท่องเที่ยวในไทย (1.93 ล้านล้านบาทในปี 2562)
               




      ขณะที่ผู้บริโภคในประเทศเอง ก็เผชิญกับความกังวลต่อการแพร่ระบาดของไวรัสดังกล่าว ส่งผลให้ผู้บริโภคชาวไทยน่าจะมีการปรับพฤติกรรม โดยหลีกเลี่ยงการไปนั่งรับประทานอาหารในพื้นที่ที่มีความหนาแน่นสูง อาทิ ในห้างสรรพสินค้า และสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ โดยอาจหันมาทำอาหารหรือเลือกสั่งอาหารมาทานที่บ้านแทน บวกกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจรวมถึงความเสี่ยงต่อการเลิกจ้างงานที่เข้ามาเป็นปัจจัยท้าทายอีกด้านของธุรกิจร้านอาหาร
               

     ทั้งนี้ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ในช่วงครึ่งแรกของปี 2563 สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส Covid-19 น่าจะมีความรุนแรงและส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจค่อนข้างมาก อย่างไรก็ดีหากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสและสภาวะการชะลอตัวของเศรษฐกิจมีทิศทางที่ดีขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี ก็น่าจะช่วยให้แรงกดดันต่อธุรกิจร้านอาหารมีการผ่อนคลายลงบ้าง ส่งผลให้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ปรับประมาณการรายได้ของธุรกิจร้านอาหารในปี 2563 ลงเหลือ 4.02 – 4.12 แสนล้านบาท (จากคาดการณ์เดิม ณ ต้นปี 2563 มูลค่า 4.39 แสนล้านบาท) หรือลดลง 2.65 - 3.65 หมื่นล้านบาท
               



            

     ร้านอาหารเต็มรูปแบบ-พึ่งรายได้จากหน้าร้านกระทบหนัก



     เมื่อเจาะเป็นรายประเภทธุรกิจร้านอาหาร ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่าวิกฤตข้างต้นคาดว่าจะส่งผลกระทบต่อยอดขายของร้านอาหารแต่ละประเภทในระดับที่แตกต่างกัน โดยสามารถแบ่งได้เป็น

 
  1. กลุ่มร้านอาหารที่น่าจะได้รับผลกระทบสูง


      เช่น ร้านอาหารที่มีการให้บริการเต็มรูปแบบ (Full Service Restaurant) ซึ่งเน้นการสร้างยอดขายจากการนั่งรับประทานในร้าน ทั้งในห้างสรรพสินค้าและแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าวมากที่สุด เพราะไม่เพียงแต่จะได้รับผลกระทบจากจำนวนนักท่องเที่ยวที่ลดลงเท่านั้น แต่ยังพบกับความท้าทายของผู้บริโภคภายในประเทศที่หลีกเลี่ยงการกินเลี้ยงสังสรรค์อีกด้วย โดยร้านอาหารในกลุ่มนี้น่าจะมีการหดตัวของยอดขายอย่างรุนแรงในช่วงครึ่งแรกของปี ขณะที่ในช่วงครึ่งหลังของปีหากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 มีทิศทางที่ดีขึ้นก็คาดว่าการหดตัวของตลาดน่าจะอยู่ในระดับที่ชะลอลงเนื่องจากกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติที่อาจกลับมาเดินทาง รวมถึงผู้บริโภคในประเทศบางส่วนที่อาจลดความกังวลและกลับมาทานอาหารนอกบ้าน


     ส่งผลให้มูลค่ายอดขายของร้านอาหารในกลุ่มนี้ทั้งปี 2563 อาจเหลือเพียง 1.64 แสนล้านบาท (จากคาดการณ์เดิม ณ ต้นปี 2563 ที่มูลค่า 1.87 แสนล้านบาท) หรือลดลง 2.28 หมื่นล้านบาท
               


 
  1. กลุ่มร้านอาหารที่น่าจะได้รับผลกระทบปานกลาง

     เช่น ร้านอาหารที่มีการให้บริการอย่างจำกัด (Limited Service Restaurant)  รวมถึงร้านอาหารที่มีการกระจายรายได้จากช่องทาง Food Delivery ถึงแม้ในช่วงครึ่งปีแรกจะได้รับผลกระทบจากยอดขายหน้าร้านเช่นเดียวกับกลุ่มแรก แต่จากการที่มีการกระจายช่องทางการขายผ่านการจัดส่งสินค้าไปยังที่พัก (Food Delivery) ทำให้เกิดการกระจายความเสี่ยงของรายได้และช่วยลดผลกระทบของยอดขายได้บางส่วน นอกจากนี้เนื่องจากร้านอาหารในกลุ่มนี้ส่วนใหญ่จะมีค่าใช้จ่ายต่อหัวไม่สูงนัก ทำให้ผู้บริโภคในประเทศบางกลุ่มก็ยังคงอาจบริโภคแต่ลดจำนวนความถี่และค่าใช้จ่ายต่อมื้อลงบ้าง จากเหตุผลดังกล่าวทำให้คาดการณ์ว่าร้านอาหารในกลุ่มนี้น่าจะมีการหดตัวลงของยอดขายในระดับที่ไม่รุนแรงนัก อย่างไรก็ดีปัจจัยหลักที่น่าจะต้องจับตามองของร้านอาหารกลุ่มนี้คือสภาพเศรษฐกิจและกำลังซื้อของผู้บริโภคในช่วงครึ่งหลังของปี ว่าจะมีทิศทางที่ดีขึ้นหรือไม่


     จากมุมมองดังกล่าว คาดว่ายอดขายของธุรกิจร้านอาหารในกลุ่มนี้ในปี 2563 จะเหลือเพียง 0.65 แสนล้านบาท (จากคาดการณ์เดิม ณ ต้นปี 2563 ที่มูลค่า 0.72 แสนล้านบาท) หรือลดลง 0.72 หมื่นล้านบาท
               


       3.กลุ่มร้านอาหารที่น่าจะได้รับผลกระทบอย่างจำกัดเมื่อเทียบกับกลุ่มอื่น


     เช่น ร้านอาหารที่มีสัดส่วนรายได้จากช่องทาง Food Delivery สูง หรือ ร้านอาหารข้างทางที่สามารถซื้อกลับบ้าน (Take away) เนื่องจากร้านอาหารในกลุ่มนี้มีช่องทางการขายสินค้าที่หลากหลายทำให้อาจสามารถจำกัดผลกระทบที่เกิดขึ้นได้ดีกว่าร้านอาหารในกลุ่มอื่น นอกจากนี้ความกังวลต่อสภาวะเศรษฐกิจก็อาจส่งผลให้ผู้บริโภคในประเทศบางส่วนเปลี่ยนพฤติกรรมจากการทานในร้านอาหารที่มีการให้บริการเต็มรูปแบบ (Full Service Restaurant) และ ร้านอาหารที่มีการให้บริการอย่างจำกัด (Limited Service Restaurant) มาเลือกทานอาหารในกลุ่มนี้มากขึ้นเนื่องจากมีราคาที่ถูกกว่า ส่งผลให้ยอดขายของร้านอาหารในกลุ่มนี้น่าจะมีการหดตัวลงเล็กน้อยทั้งในช่วงครึ่งแรกและครึ่งหลังของปี





     โดยคาดว่ายอดขายของธุรกิจร้านอาหารในกลุ่มนี้สำหรับปี 2563 จะอยู่ที่ 1.79 แสนล้านบาท (จากคาดการณ์เดิม ณ ต้นปี 2563 ที่มูลค่า 1.80 แสนล้านบาท) หรือลดลง 0.15 หมื่นล้านบาท
               

       อย่างไรก็ดีการจัดกลุ่มร้านอาหารดังกล่าวเป็นเพียงการแบ่งกลุ่มเบื้องต้น ทั้งนี้ระดับความรุนแรงของผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในร้านอาหารแต่ละร้าน ยังขึ้นอยู่กับปัจจัยที่สำคัญต่างๆอีกหลายประการ อาทิ ความคุ้มค่าของสินค้าและบริการ ที่ตั้งของร้านอาหาร ระบบการจัดการในร้าน รวมถึงระดับความปลอดภัยของพนักงานและสินค้าในร้าน ที่น่าจะมีผลต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่จะเข้ามาใช้บริการในภาวะดังกล่าว
               
           





     ปรับตัวรับมือวิกฤต พลิกโอกาสฟื้นรายได้



     ศูนย์วิจัยกสิกรไทยแนะนำว่า เพื่อสร้างโอกาสและลดผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าว ผู้ประกอบการอาจขยายช่องทางการขาย บริหารจัดการต้นทุน เพิ่มความยืดหยุ่นของระบบในร้าน รวมถึงยกระดับการรักษาความสะอาดของร้านอาหารเพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อผู้บริโภคมากขึ้น
               

      โดยถึงแม้ว่าการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 จะสร้างแรงกดดันต่อยอดขายของผู้ประกอบการร้านอาหารก็ตาม แต่ทว่าในขณะเดียวกันการปรับพฤติกรรมของผู้บริโภคที่หันมารับประทานอาหารที่บ้านมากขึ้นก็อาจเป็นโอกาสให้ผู้ประกอบการร้านอาหารสามารถปรับตัวรับมือได้ดังนี้





      1.เพิ่มช่องทางการขายโดยขายอาหารประเภทที่สามารถซื้อกลับบ้านได้ (Take away) หรือมีบริการจัดส่ง (Food Delivery) หรือหากร้านอาหารตั้งอยู่ในเขตที่ใกล้กับแหล่งทำงานหรือที่พักอาศัยอาจเลือกมีบริการจัดส่งให้กับลูกค้าที่สั่งอาหารเป็นกลุ่ม โดยอาจปรับระบบการทำงานของพนักงานบางส่วนและเสนอเมนูอาหารที่ราคาย่อมเยาและคุ้มค่าสอดคล้องกับสถานการณ์ด้านกำลังซื้อที่อ่อนแอลง


     2.จัดตารางทำความสะอาดร้านและอุปกรณ์ต่างๆเพื่อแสดงให้ผู้บริโภคเห็นถึงการยกระดับความสะอาดในร้าน


     3.บริหารจัดการต้นทุนโดยอาจเลือกลดการสต็อคสินค้าบางประเภทเพื่อรักษากระแสเงินสดไว้
               
           
      สรุป



     สำหรับผู้ประกอบการ SME  ที่อยู่ในกลุ่มธุรกิจอาหาร การบริหารกิจการในปีนี้เต็มไปด้วยความท้าทายและโจทย์ที่ยากเย็นขึ้นกว่าทุกปี ทั้งการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ซึ่งไม่เพียงแต่ส่งกระทบต่อรายได้ค่าใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวที่หายไป แต่ยังมีผลต่อเนื่องไปถึงกำลังซื้อของผู้บริโภคในประเทศที่ได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม ทำให้ผู้ประกอบการธุรกิจร้านอาหารจำเป็นต้องปรับตัวโดยเพิ่มความระมัดระวังในการบริหารจัดการต้นทุน และช่องทางจัดจำหน่ายอาหารมากขึ้น
               

      รวมถึงการเตรียมความพร้อมในการรับมือและแก้ไขสถานการณ์เฉพาะหน้าที่อาจเกิดขึ้น ก็เป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งเช่น การแพร่กระจายข่าวสารที่อาจส่งผลต่อความเชื่อมั่นของร้านอาหารผ่านช่องทางต่างๆ หรือการรับมือกับนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาจากประเทศกลุ่มเสี่ยง รวมถึงการบริหารช่องทางผู้ให้บริการวัตถุดิบที่สำคัญให้เพียงพอในภาวะที่เกิดการขาดแคลนวัตถุดิบ เป็นต้น
 
               
     ถ้าปรับตัวรับมือได้ทัน ไม่เพียงแต่จะผ่านสถานการณ์วิกฤตไปได้ ทว่า SME ก็อาจสร้างโอกาสในวิกฤตได้เช่นกัน
 




www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี
 

 

RECCOMMEND: MARKETING

วิกฤตสูงวัย เด็กเกิดใหม่น้อย กรณีศึกษาธุรกิจญี่ปุ่น ปรับตัวผลิตสินค้าผู้ใหญ่แทนสินค้าเด็ก

Oji Holdings ผู้ผลิตผ้าอ้อมในญี่ปุ่นประกาศยุติผลิตผ้าอ้อมเด็ก หันไปเพิ่มปริมาณการผลิตผ้าอ้อมผู้ใหญ่แทน สาเหตุมาจากอัตราการเกิดที่ลดลงและจำนวนประชากรสูงวัยของญี่ปุ่นที่เพิ่มสูงขึ้น

โอกาสโกอินเตอร์ของแบรนด์ไทย ทำงานกับนักธุรกิจระดับโลก งาน Gifts & Premium Fair ฮ่องกง

ฮ่องกงขึ้นชื่อว่าเป็นดินแดนที่มีการจัดงานแสดงสินค้าที่ยิ่งใหญ่ของโลกแห่งหนึ่ง และหนึ่งในนั้นคืองานแสดงสินค้าของขวัญและของพรีเมียมภายใต้ชื่อ Hong Kong Gifts & Premium Fair ซึ่งกำลังจะมีขึ้นระหว่างวันที่ 27-30 เมษายน 2024