เปิดยุทธวิธีธุรกิจร้านอาหาร สู้ศึก! COVID - 19 เราจะรอดไปด้วยกัน

TEXT  : นิตยา สุเรียมมา



 
 
 
Main Idea
 
  • ในขณะที่ไวรัส COVID-19 กำลังระบาดหนักเช่นนี้ “ธุรกิจร้านอาหาร” ถือเป็นหนึ่งในธุรกิจที่ได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก ซึ่งต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายต่างๆ ไว้มากมาย ทั้งค่าต้นทุนวัตถุดิบที่เป็นของสด ค่าจ้างพนักงาน ค่าเช่าสถานที่ ฯลฯ ขณะที่ปริมาณลูกค้ากลับลดลงไปมหาศาล 
 
  • เพื่อให้ผู้ประกอบการธุรกิจร้านอาหารสามารถปรับตัวสู้ศึกวิกฤตครั้งนี้ได้ เราจึงได้รวบรวม 8 ยุทธวิธี ที่คิดว่าน่าจะพอช่วยเป็นแนวทางในการเอาตัวรอดให้กับผู้ประกอบการได้บ้างมาฝากกัน

___________________________________________________________________________________________
 
 

     จากสถานการณ์ความรุนแรงของไวรัส COVID – 19 ทั่วโลกและในประเทศไทยเองที่ตัวเลขเพิ่มสูงขึ้นแบบรายวัน จนประชาชนรวมถึงธุรกิจห้างร้านต่างๆ ตั้งตัวรับแทบไม่ทัน ธุรกิจร้านอาหารถือเป็นหนึ่งในธุรกิจที่ได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก ไหนจะจำนวนลูกค้าที่ลดลงฮวบๆ ต้องแบกรับต้นทุนวัตถุดิบที่สูงลิ่ว ซึ่งส่วนใหญ่มักเป็นของสดเก็บรักษาไว้ได้ไม่นาน ค่าลูกจ้างพนักงาน ค่าเช่าต่างๆ ฯลฯ 


     ด้วยเหตุนี้เพื่อช่วยหาทางออกให้ สามารถผ่านพ้นวิกฤตไปได้ เราจึงรวบรวมกลยุทธ์การทำธุรกิจร้านอาหารในยุคที่โรคร้ายกำลังระบาดเช่นนี้มาฝากกัน เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถนำไปปรับใช้กับธุรกิจของตนได้


 
  • หันมาใช้บริการ Delivery กันมากขึ้น

     การจัดส่งแบบเดลิเวอรีน่าจะเป็นตัวเลือกอันดับต้นๆ ที่หลายร้านเลือกทำในยามวิกฤตเช่นนี้ เพราะเมื่อลูกค้าไม่มาหา เราก็ต้องไปหาลูกค้าเอง โดยสำหรับร้านอาหารเชนใหญ่ๆ ที่มีบริการจัดส่งเดลิเวอรีอยู่แล้วนั้น ไม่น่าจะยาก เพียงแต่อาจต้องเพิ่มสัดส่วนบริการจัดส่ง ตระเตรียมแพ็กเกจจิ้งเพื่อการจัดส่งให้มากขึ้นเท่านั้น แต่สำหรับรายใหม่หรือร้านค้ารายย่อยเองที่อาจไม่เคยสมัครใช้บริการเลย ก็สามารถรีบสมัครได้ในตอนนี้ ซึ่งธุรกิจบริการจัดส่งหลายค่าย ณ ตอนนี้ได้พยายามปรับรูปแบบการให้บริการสำหรับร้านค้าที่สมัครเข้ามาใหม่ให้สามารถเริ่มต้นใช้งานและเข้ามาอยู่ในระบบได้รวดเร็วมากยิ่งขึ้น โดยเฉลี่ยแล้วประมาณ 7 วันทำการ


 
  • จัดส่งแบบไร้สัมผัส

     ทั้งนี้สำหรับร้านค้าที่อยากเพิ่มบริการจัดส่งด้วยตัวเอง เพื่อให้เกิดความสะดวกและรวดเร็วมากยิ่งขึ้น หรืออย่างเช่นร้านหมูกระทะที่มักให้บริการจัดส่งให้กับลูกค้าอยู่แล้ว อาจลองเพิ่มมาตรการจัดส่งแบบไร้สัมผัส (Contactless Delivery) ขึ้นมาด้วยก็ได้เหมือนเช่นที่แบรนด์ใหญ่ๆ หลายแบรนด์กำลังทำอยู่ เพื่อสร้างความมั่นใจและปลอดภัยให้กับทั้งลูกค้าและตัวพนักงานจัดส่งเอง วิธีการ คือ ให้พนักงานและลูกค้าอยู่ห่างกันประมาณ 2 เมตรในการรับส่งสินค้า โดยก่อนทำการจัดส่งอาจแจ้งค่าใช้จ่ายเพื่อให้ลูกค้าเตรียมเงินไว้พอดี หรือหากในกรณีที่ต้องมีการทอนเงินก็อาจจัดเตรียมใส่ถุงไว้ให้เรียบร้อยเลย เมื่อมาถึงยังจุดนัดหมายก่อนหยิบอาหารออกมาวาง เพื่อให้ลูกค้าเดินเข้ามาหยิบให้เช็ดทำความสะอาดมือด้วยแอลกอฮอล์ก่อน จากนั้นเว้นระยะห่างจากกัน 2 เมตร เพื่อให้ลูกค้าทำการตรวจเช็คสินค้าและเงินทอน พร้อมวางเงินชำระค่าอาหาร เมื่อลูกค้ารับสินค้าไปแล้วจึงเข้าไปทำการเก็บเงิน เป็นอันเสร็จเรียบร้อย


 
  • ปรับขายเฉพาะหน้าร้านแบบ Take Home

     สำหรับร้านที่อาจไม่สะดวกใช้บริการเดลิเวอรี แต่ขณะเดียวกันก็ต้องเปิดร้านเพื่อขายอาหารไปด้วย อาจลองใช้วิธีแบบ Take Home หรือเพื่อให้ลูกค้าซื้อกลับไปรับประทานที่บ้านกันมากขึ้นก็ได้ โดยอาจมีโปรโมชั่นจูงใจ ลดแลก แจกแถม เพราะการซื้อกลับเป็นการลดค่าใช้จ่ายในการจัดเก็บและให้บริการหน้าร้านอยู่แล้ว


 
  • ปรับพื้นที่ให้เป็น Social Distancing มากขึ้น

     ในกรณีที่ทางร้านมีความจำเป็นต้องให้บริการนั่งรับประทานที่ร้านอยู่ อาจลองใช้วิธีปรับให้เป็น Social Distancing หรือการเว้นระยะห่างทางสังคมให้มากขึ้น เริ่มตั้งแต่การจัดโต๊ะนั่งให้มีระห่างกันอย่างน้อย 1–2 เมตร ปรับพื้นที่ให้โล่งอากาศถ่ายเทได้สะดวก รับลูกค้าปริมาณจำกัดไม่ให้แน่นร้านเกินไป จัดเตรียมภาชนะการใช้งานสำหรับรายบุคคล เช่น หากลูกค้ามาตั้งแต่ 2 คนขึ้นไปอาจจัดเตรียมช้อนกลางส่วนตัวไว้ให้ใช้ตักอาหารของแต่ละคนด้วย นอกจากนี้หากมีเจลแอลกอฮอล์ หรือเพิ่มจุดล้างมือไว้หลายๆ จุดภายในร้านก็ดี

 
  • เน้นขายอาหารเซ็ตกินคนเดียวมากขึ้น

     เพื่อเป็นการป้องกันการแพร่ระบาด แต่ละร้านอาจลองจัดเซ็ตเมนูสำหรับลูกค้ารายบุคคลให้มากขึ้น เช่น มีการปรับขนาดหรือปริมาณให้น้อยลง และจัดเป็นชุดเซ็ตราคาพิเศษให้ลูกค้าเลือกรับประทานได้หลายอย่างสำหรับกินคนเดียวอิ่ม วิธีการดังกล่าวนอกจากจะช่วยเพิ่มความปลอดภัยให้กับลูกค้าแล้ว ยังทำให้สามารถขายสินค้าได้มากขึ้น แทนที่ลูกค้าจะสั่งแค่จานเดียวหรือไม่กี่อย่างเพราะกลัวกินไม่หมด ก็สามารถเลือกสั่งได้เป็นเซ็ตให้สามารถเลือกกินได้หลายอย่าง ขณะเดียวกันก็จ่ายน้อยกว่า และไม่อิ่มจนเกินไป
 
 
  • งดการรีฟิล ใช้ซ้ำ ออกไปก่อน

     การรักษ์โลกเป็นสิ่งสำคัญ แต่ในที่มีโรคระบาดที่เกินควบคุมเช่นนี้ การเซฟทั้งตัวเองและผู้อื่นเป็นสิ่งจำเป็นและสำคัญที่สุด การใช้ซ้ำหรือรีฟิลอาจนำพาเชื้อโรคให้ติดถึงกันได้ ดังนั้นจึงอาจขอยกเลิกให้บริการดังกล่าวออกไปก่อนเหมือนเช่นที่ร้านกาแฟหลายแห่งประกาศออกมา แต่ถึงจะต้องใช้แก้วหรือภาชนะใหม่ใส่ให้กับลูกค้าขณะเดียวกันเราสามารถเลือกใช้บรรจุภัณฑ์แบบรักษ์โลกมาทดแทนก็ได้


  • เข้มงวดเพิ่มมาตรการทำความสะอาดขึ้นเป็น 2 เท่า

     เพื่อให้เกิดความปลอดภัยและมั่นใจทั้งต่อตัวลูกค้าและพนักงานทุกคนในร้านเอง ผู้ประกอบการควรเพิ่มมาตรการทำความสะอาดที่เข้มงวดมากขึ้น ตั้งแต่การทำความสะอาดร้านทั้งระหว่างวันและก่อน-หลังเปิดปิดร้านด้วยการฉีดพ่นแอลกอฮอล์ น้ำยาฆ่าเชื้อ การให้พนักงานใส่เครื่องป้องกัน เช่น หน้ากากอนามัย ถุงมือ การทำความสะอาดภาชนะแบบเข้มงวดขึ้น เช่น ล้างเสร็จแล้ว ก็นำมาลวกน้ำร้อนอีก โดยมาตรการทำความสะอาดและปลอดภัยต่างๆ ที่เพิ่มขึ้นมาเหล่านี้ ทางร้านสามารถนำมาติดประกาศเพื่อประชาสัมพันธ์หรือลงสื่อสารในออนไลน์ เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับลูกค้าได้ด้วย


 
  • จัดทำ Voucher พิเศษ เพื่อให้กลับมาใช้บริการเมื่อสถานการณ์ดีขึ้น

     ข้อสุดท้ายเมื่อได้ปรับปรุงรูปแบบการให้บริการต่างๆ แล้ว อีกวิธีหนึ่งที่จะช่วยเพิ่มรายได้เข้ามาจุนเจือธุรกิจได้ในยามวิกฤตเช่นนี้ ก็คือ อาจลองจัดทำเป็น Voucher หรือบัตรสมนาคุณพิเศษขายให้แก่ลูกค้า เพื่อให้สามารถนำกลับมาใช้บริการได้เมื่อสถานการณ์ดีขึ้น นอกจากจะเป็นวิธีช่องทางเพิ่มรายได้ในตอนนี้ เพื่อนำมาเป็นเงินทุนแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายต่างๆ เช่น ค่าจ้างพนักงาน ค่าเช่าสถานที่ ฯลฯ ยังเป็นการช่วยการันตีหลังผ่านพ้นวิกฤตไปว่าเราจะมีลูกค้าเข้ามาใช้บริการได้แบบต่อเนื่อง ไม่ขาดช่วง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นเอง ผู้ประกอบการก็ต้องบริหารจัดการเงินทุนให้ดี ควรมีสำรองไว้เป็นทุนหลังจากฟื้นจากวิกฤตแล้วด้วย เพื่อให้สามารถเปิดดำเนินการธุรกิจและรองรับลูกค้าได้ตามปกติ
 

     และนี่คือ 8 ยุทธวิธีที่คิดว่าน่าจะพอเป็นแนวทางในการทำธุรกิจให้กับผู้ประกอบการธุรกิจร้านอาหารได้บ้างในเวลาที่ยากลำบากเช่นนี้ อย่างไรก็อย่าเพิ่งถอดใจล้มเลิกกันไปง่ายๆ พวกเราชาว SME Thailand  ขอเป็นกำลังใจให้ผู้ประกอบการทุกคนให้ผ่านพ้นวิกฤตครั้งนี้ไปได้ด้วยกัน




 
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: MARKETING

วิกฤตสูงวัย เด็กเกิดใหม่น้อย กรณีศึกษาธุรกิจญี่ปุ่น ปรับตัวผลิตสินค้าผู้ใหญ่แทนสินค้าเด็ก

Oji Holdings ผู้ผลิตผ้าอ้อมในญี่ปุ่นประกาศยุติผลิตผ้าอ้อมเด็ก หันไปเพิ่มปริมาณการผลิตผ้าอ้อมผู้ใหญ่แทน สาเหตุมาจากอัตราการเกิดที่ลดลงและจำนวนประชากรสูงวัยของญี่ปุ่นที่เพิ่มสูงขึ้น

โอกาสโกอินเตอร์ของแบรนด์ไทย ทำงานกับนักธุรกิจระดับโลก งาน Gifts & Premium Fair ฮ่องกง

ฮ่องกงขึ้นชื่อว่าเป็นดินแดนที่มีการจัดงานแสดงสินค้าที่ยิ่งใหญ่ของโลกแห่งหนึ่ง และหนึ่งในนั้นคืองานแสดงสินค้าของขวัญและของพรีเมียมภายใต้ชื่อ Hong Kong Gifts & Premium Fair ซึ่งกำลังจะมีขึ้นระหว่างวันที่ 27-30 เมษายน 2024