‘กอด กักตัว ไกลที่ใกล้’ กลยุทธ์ธุรกิจในวันที่ต้องเว้นระยะห่างทางสังคม

TEXT: วันวิสา งามแสงชัยกิจ





Main idea
 
  • “Virginia Satir” นักบำบัดโรคในครอบครัวชื่อดังของโลก เคยกล่าวไว้ว่า มนุษย์เราต้องการการกอดวันละ 4 ครั้ง เพื่อการดำรงชีวิต ต้องการการกอดวันละ 8 ครั้ง เพื่อการดำเนินชีวิต และต้องการการกอดวันละ 12 ครั้ง เพื่อการเจริญเติบโต 
 
  • แต่ในสถานการณ์ที่การเข้าใกล้กันกลายเป็นเรื่องน่าห่วง ไปดูกันว่า ผู้ประกอบการควรทำอย่างไรถึงจะสามารถทำให้ผู้คนกอดกันได้แม้ไม่ต้องเจอหรืออยู่ใกล้กัน 

___________________________________________________________________________________________


     ภายใต้สถานการณ์ที่ผู้คนต้องกักตัวและเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) ภาษากายที่เรียบง่ายแต่ทรงพลังอย่างการ “กอด” กลายเป็นสิ่งที่ต้องห้าม และอาจกลายเป็น “New Normal” หรือ "ความปกติในรูปแบบใหม่" ที่ส่งผลให้การแสดงถึงความห่วงใยในแต่ละครั้งต้องระวังกันมากขึ้น


     แต่เมื่อมนุษย์ต้องการถูกสัมผัสอย่างน้อย 70 ครั้งต่อวัน และประโยชน์ของการกอดนั้น ก็เป็นได้มากกว่าการให้ความรู้สึกอบอุ่น ไม่ว่าจะช่วยลดความเครียด ปลอบโยนจิตใจ คลายความวิตกกังวลและความเจ็บปวด ภาษากายที่วันนี้แสดงต่อกันแบบตรงไปตรงมาไม่ได้ จึงเป็นอีกช่องว่างให้คนทำธุรกิจหาสินค้าหรือบริการเข้ามาเติมเต็มสิ่งที่หายไปนี้ 




 
  • กอดไออุ่นจากธรรมชาติ


     คอนเซปต์หนึ่งที่น่าสนใจและสามารถเป็นแนวทางให้กับผู้ประกอบการบ้านเรานำมาประยุกต์ใช้ได้คือ การกอดต้นไม้แทนผู้คน ซึ่งเป็นไอเดียของ Icelandic Forestry Service หน่วยงานภายใต้กระทรวงสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติของประเทศไอซ์แลนด์ ที่แนะนำให้ประชาชนหันมากอดต้นไม้ ในขณะที่ต้องเว้นระยะห่างระหว่างกัน เพื่อสร้างความรู้สึกผ่อนคลายและเตรียมตัวให้พร้อมกับการเผชิญหน้าต่อวันใหม่และความท้าทายในแต่ละวัน 
และเพื่อให้ผู้คนเข้าถึงแนวคิดที่ว่าได้ ทางเจ้าหน้าที่ป่าไม้ของ Hallormsstaður National Forest ได้เคลียร์พื้นที่ของป่าที่ใหญ่ที่สุดของประเทศแห่งนี้ให้คนเข้าไปกอดต้นไม้ได้อย่างปลอดภัย ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้ทำเครื่องหมายเพื่อเว้นระยะห่างเอาไว้แล้ว โดยแนะนำว่าระยะเวลาการกอดแต่ละครั้งไม่ควรเกิน 5 นาที ซึ่งสามารถทำได้หลายๆ ครั้งในหนึ่งวัน ที่สำคัญอย่ากอดต้นไม้ต้นแรกที่เห็น ควรเดินเข้าไปให้ลึกมากขึ้น และอย่ากอดต้นที่มีคนเพิ่งกอดไป อย่างไรก็ตาม การออกจากบ้านในช่วงนี้อาจไม่ใช่เรื่องดีนัก เพราะฉะนั้น หากใครที่บ้านปลูกต้นไม้เอาไว้ ลองใช้เวลานี้ในการฟื้นฟูสภาพจิตใจและกายด้วยการกอดธรรมชาติแบบนี้ดู 



 
  • กอดแบบแนบชิดผ่านเทคโนโลยี

     อยู่ไกลกันแล้วจะกอดกันได้อย่างไร? CuteCircuit แบรนด์แฟชั่นแห่งเกาะอังกฤษที่หยิบเทคโนโลยีแบบสวมใส่ได้ (Wearable Technology) มาใช้รายแรกของโลกได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วจากการผลิต The HugShirt หรือเสื้อที่ทำให้ผู้คนส่งกอดกันได้ในระยะไกล ผ่านตัวเซ็นเซอร์ที่ฝังอยู่ในเสื้อที่จับความแนบแน่น ระยะเวลา ตำแหน่งของการสัมผัส ความอบอุ่นของผิวหนัง และอัตราการเต้นของหัวใจของผู้ส่งกอดส่งไปยังผู้รับ เพื่อให้ได้อารมณ์และความรู้สึกในแบบเดียวกัน โดยใช้การเชื่อมต่อผ่านบลูทูธและการสั่งงานผ่านแอปพลิเคชัน เรียกได้ว่าไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน เวลาใด แค่สวมเสื้อตัวนี้ก็กอดกันได้แบบเรียลไทม์



 
  • กอดกันบนโซเชียล

     สำหรับใครที่ยังไม่รู้ว่าจะหยิบเอาการกอดมาแปรเป็นโปรดักต์ได้อย่างไร ลองเริ่มจากก้าวเล็กๆ อย่างการใช้สัญลักษณ์แสดงอารมณ์ หรือ อิโมจิ (Emoji) “กอด” ในคอนเทนต์หรือตอบข้อความลูกค้าดูก่อนก็ได้ เพื่อแสดงถึงความใส่ใจ ห่วงใยและไม่ทอดทิ้งกัน โดยล่าสุดทาง Facebook และ Messenger ได้ออกอิโมจิใหม่ที่เป็นหน้ายิ้มกอดหัวใจเอาไว้ เพื่อให้คนส่งต่อความรู้สึกห่วงใยและเข้าอกเข้าใจกันเวลาคอมเมนท์ถึงการอัปเดทสเตตัส ข้อความ ภาพถ่าย หรือวิดีโอในช่วงวิกฤตของไวรัสแบบนี้ นอกจากนี้ ยังสามารถส่งอิโมจิหัวใจแบบสั่นได้บน Messenger เมื่อรู้สึกว่าการส่งแค่รูปหัวใจแบบธรรมดานั้นไม่เพียงพออีกด้วย



 
  • น่ารู้! กอดนั้นสำคัญไฉน 


     นักวิทยาศาสตร์ได้ทดลองถึงความสำคัญของการกอดที่มีผลต่อสุขภาพหัวใจ โดยแบ่งคู่รัก 200 คนออกเป็นสองกลุ่ม กลุ่มแรกจับมือกันเป็นเวลา 10 นาที ตามด้วยกอดกันอีก 20 วินาที ส่วนอีกกลุ่มนั่งเฉยๆ เป็นเวลา 10 นาที 20 วินาที ผลที่ได้คือ คนในกลุ่มแรกมีระดับความดันโลหิตและอัตราการเต้นของหัวใจลดลงมากกว่ากลุ่มที่สอง ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า ความสัมพันธ์ที่รักใคร่เช่นนี้ ส่งผลดีต่อสุขภาพหัวใจได้มากกว่า 


     การกอดและการสัมผัสจะทำให้สมองหลั่งฮอร์โมนออกซิโตซิน (Oxytocin) มากขึ้น ส่งผลให้คนเกิดความรู้สึกผูกพัน รัก เข้าอกเข้าใจคู่ชีวิตมากขึ้น และมีความรักเดียวใจเดียว โดยออกซิโทซิน หรือฮอร์โมนแห่งรัก ฮอร์โมนแห่งการกอด ถือเป็นฮอร์โมนที่จำเป็นสำหรับการคลอดลูกและให้นมบุตร และยังทำให้เกิดสายใยผูกพันที่ยิ่งใหญ่ของแม่และลูก รวมถึงทำให้เกิดความผูกพันกับคนอื่นด้วยเช่นเดียวกัน โดยนักวิจัยพบว่า ฮอร์โมนนี้จะทำงานได้ดีที่สุดในผู้หญิงที่มีความสัมพันธ์และชีวิตรักที่ดี และมีการกอดกับคนรักบ่อยๆ รวมถึงตอนที่อุ้มลูกอย่างใกล้ชิด





     นักวิทยาศาสตร์พบว่า การสัมผัสสามารถลดความวิตกกังวลในผู้ที่มีความนับถือตนเองต่ำ (Low Self-esteem) โดยการสัมผัสนั้นยังสามารถป้องกันไม่ให้คนที่แยกตัวออกจากสังคมนึกถึงความตายได้ ที่สำคัญ แม้แต่การกอดหรือสัมผัสวัตถุที่ไม่มีชีวิต เช่น ตุ๊กตาหมี สามารถช่วยลดความกลัวของผู้คนเกี่ยวกับการมีอยู่หรือมีชีวิตของพวกเขาได้


     ดังนั้น ในช่วงที่ต้องห่างกันแบบนี้ โปรดักต์ที่ทำให้คนรู้สึกว่าใกล้กันได้ จึงเป็นอีกโอกาสและอีกตลาดที่ผู้ประกอบการควรหันมามอง เพื่ออุดช่องว่างและตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคในวันที่ความรู้สึกทางใจเป็นอีกปัจจัยสำคัญของการตัดสินใจเลือกซื้อสินค้าและบริการ 



www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: MARKETING

ฟังก์ชันแยกบิลจ่ายได้ เทรนด์ใหม่ที่ร้านอาหารต้องรู้ ลูกค้ายุคใหม่อยากจ่ายเท่าที่กินโดยไม่รู้สึกผิด

ไม่ใช่เรื่องต้องรู้สึกผิดอีกต่อไป หากไปกินอาหารกับเพื่อน แล้วอยากแยกรับผิดชอบจ่ายเฉพาะในส่วนที่ตัวเองสั่ง เทรนด์พฤติกรรมใหม่ของผู้บริโภคชาวอเมริกาที่หันมาใช้แอปพลิเคชันแยกจ่ายบิลกันมากขึ้น

ต่อยอดธุรกิจยังไงให้อยู่นานและขายดี กรณีศึกษา ALDI ซูเปอร์มาร์เก็ต ที่ถือกำเนิดมาตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2

ALDI คือ ซูเปอร์มาร์เก็ตสัญญาติเยอรมัน มีต้นกำเนิดมาจาก 2 พี่น้องตระกูล Albrecht คือ “คาร์ล และ ธีโอ อัลเบรชต์” ที่รับช่วงต่อกิจการมาจากแม่ของเขาที่เปิดร้านขายของชำตั้งแต่ยุคก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2