​มองภาพเศรษฐกิจปี 58 กับ TMB Analytics

 


    ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี หรือ TMB Analytics มอง “2558 ปีแห่งการปฏิรูป” เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวไม่สวยหรู  เล็งจีดีพีโตร้อยละ 3.5 เหตุฟื้นตัวล่าช้ากว่าคาดและขาดโมเมนตัมการเร่งตัว ภายใต้การฟื้นตัวอย่างเปราะบางของเศรษฐกิจโลก  ชี้แก้ “5 ห่วง” สำเร็จ ได้คุ้มเสียแล้ว

    ดร.เบญจรงค์ สุวรรณคีรี ผู้อำนวยการอาวุโสศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี หรือ TMB Analytics เปิดเผยมุมมองเศรษฐกิจปี 2558 ว่า เศรษฐกิจโลกยังมีการฟื้นตัวอย่างเปราะบาง ยุโรปยังน่าเป็นห่วง ญี่ปุ่นต้องจับตาความสำเร็จของลูกศรดอกที่สามของนายกอะเบะ ส่วนจีนน่าจะยังขยายตัวได้ในระดับที่ไม่สูงมากตามทิศทางการปฏิรูปของรัฐบาลกลาง ทำให้ส่งออกไทยอาจเติบโตไม่มากนัก ที่ร้อยละ 3.5 เนื่องจากมีตลาดสหรัฐอเมริกาเพียงตลาดเดียวเท่านั้นในหมู่ตลาดหลักที่ยังมีสัญญาณการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง 
 



    ทั้งนี้ การเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC จะเป็นหัวจักรสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในกลุ่ม ASEAN โดยเฉพาะจากการขยายตัวของกลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน กัมพูชา ลาว เมียนมาร์ และเวียดนาม (CLMV) ซึ่งทำให้เศรษฐกิจไทยได้รับอานิสงส์ผ่านการค้าชายแดน พร้อมกับการเปิดเขตเศรษฐกิจพิเศษในประเทศและการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเสริมสร้างความเชื่อมโยง (Connectivity) ระหว่างเศรษฐกิจภูมิภาคของไทย จะช่วยให้ไทยได้ประโยชน์จากการเข้าสู่ AEC มากขึ้น 

    อย่างไรก็ดี ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ มองภาวะการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันว่าล่าช้ากว่าคาดการณ์ไว้มาก ไม่ว่าจากการบริโภคที่ยังประสบปัญหาอยู่ในหลายหมวดสินค้า และการลงทุนที่ยังรอการเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐเป็นตัวขับเคลื่อน ส่วนเม็ดเงินลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ จะยังไม่เข้าสู่ระบบเต็มที่ในปี 2558 โดยประเมินเม็ดเงินก่อสร้างจะแพร่สะพัดจริงในปี 2559-60 ตามโครงการเร่งด่วนและแผนพัฒนารถไฟ ทำให้ประเมินว่าปี 2558 เศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวอย่างเชื่องช้า หรือเป็น U-shape และขาดโมเมนตัมที่จะทำให้เร่งตัวขึ้นได้ ทำให้จีดีพีปีนี้จะขยายตัวที่ประมาณร้อยละ 0.6 ก่อนจะฟื้นกลับมาขยายตัวได้มากขึ้นในปีหน้าที่ร้อยละ 3.5 

    ปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญในปี 2558 ที่ต้องจับตาดูคือ เรื่องของการเบิกจ่ายและการดำเนินโครงการของรัฐบาลที่ล่าช้ากว่าที่ภาครัฐคาดหวังและตั้งเป้าไว้ อีกทั้งการปรับตัวลงอย่างรวดเร็วและรุนแรงของราคาน้ำมันในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลให้เกิดภาวะเงินเฟ้อต่ำ (Disinflation) ขึ้นทั่วโลก แม้จะส่งผลดีต่อภาคธุรกิจที่เป็นผู้ใช้พลังงานน้ำมันเชื้อเพลิงถึงสองในสามของทั้งหมด แต่การลดลงอย่างรวดเร็วของราคาน้ำมัน ก็ส่งผลกดดันราคาสินค้าโภคภัณฑ์หลักๆ หลายตัวของประเทศและรายได้เกษตรกรอย่างต่อเนื่อง
 


    นอกจากนี้ เหตุการณ์ดังกล่าวยังส่งผลลบต่อประเทศผู้ส่งออกน้ำมันอย่างเช่น รัสเซีย โดยอาจส่งผลทางอ้อมมากระทบไทยผ่านช่องทางการท่องเที่ยวในช่วงฤดูท่องเที่ยวนี้ และยังมีโอกาสลุกลามมากขึ้นจนกลายเป็นวิกฤติการเมืองระหว่างประเทศได้ตั้งแต่ต้นปีหน้า จึงเป็นประเด็นที่ต้องติดตามดูอย่างใกล้ชิด ทั้งนี้ ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจประเมินราคาน้ำมันดุลยภาพที่ 58 เหรียญต่อบาร์เรลในปีหน้า 

    ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ยังมองธุรกิจดาวเด่นในปี 2558 โดยแบ่งออกเป็นสองกลุ่มด้วยกัน กลุ่มแรกได้รับอานิสงส์จากมาตรการ นโยบายและแผนการลงทุนพัฒนาของภาครัฐ ได้แก่ พลังงานทดแทน ไอทีและสื่อสารเทคโนโลยี ก่อสร้าง/ที่ปรึกษาวิศวกรรม-สิ่งแวดล้อม และวัสดุก่อสร้าง ในขณะที่กลุ่มที่สอง ฟื้นตัวตามภาวะเศรษฐกิจไทย เศรษฐกิจโลก พร้อมรับแรงหนุน AEC ได้แก่ ท่องเที่ยว ขนส่ง แปรรูปอาหาร ค้าปลีก และบริการทางการแพทย์ 

    ส่วนธุรกิจที่มีปัจจัยต้องเฝ้าระวัง ได้แก่ ผู้ผลิตและค้าน้ำมันจากความเสี่ยงในการบริหารจัดการสต๊อก กลุ่มสินค้าคงทน (ยานยนต์ เฟอร์นิเจอร์) และอสังหาริมทรัพย์ยังคงถูกกดดันจากระดับหนี้ครัวเรือน สินค้าเกษตรและแปรรูปมีปัญหาจากราคาสินค้าเกษตรหลัก และท้ายสุดกลุ่มที่ใช้แรงงานเข้มข้น (Labor intensive) ในการผลิต จะเผชิญปัญหาขาดแคลนแรงงานต่อเนื่องในปี 2558

    นอกจากนี้ ดร. วราพงศ์ วงศ์วัชรา รองผู้อำนวยการศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี มองภาพรวมของตลาดการเงินและการธนาคารว่า สภาพคล่องอาจตึงตัวขึ้นเล็กน้อยในปี 2558 จากการกลับมาขยายตัวของสินเชื่อในประเทศ พร้อมแนวโน้มสัญญาณการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐฯ รวมทั้งการลดยอดคุ้มครองเงินฝาก จะส่งผลให้ต้นทุนของธนาคารเพิ่มขึ้น 
 


    อย่างไรก็ตาม นอกเหนือจากภาวะสินเชื่อที่จะกลับมาขยายตัวได้ตามเศรษฐกิจ ปัจจัยในภาคการเงินตัวอื่นๆ อาจเผชิญ “โรคเลื่อน” ทำให้สภาพคล่องส่วนเกินในระบบน่าจะมีอยู่จนกระทั่งต้นปี 2559 ภายใต้ภาวะเงินเฟ้อที่ทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ ด้วยมุมมองเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 1.5-1.8 ในปี 2558 จะเอื้อต่อดอกเบี้ยนโยบายในระดับผ่อนคลาย ส่งผลดีกับสินทรัพย์เสี่ยง ทั้งตราสารหนี้และตราสารทุน 

    ทั้งนี้ ค่าเงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่าลงเล็กน้อยจากปีนี้ โดยค่าเฉลี่ยทั้งปี 2558 จะอยู่ที่ประมาณ 33.5 บาทต่อดอลลาร์ จากความกังวลของนักลงทุนต่อกรณีการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Normalization) ซึ่งจะช่วยหนุนค่าเงินดอลลาร์และกดดันสกุลเงินในตลาดเกิดใหม่ (Emerging markets)

    โดยทางศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจคาดว่า การขยายตัวของสินเชื่อธนาคารพาณิชย์ที่จะกลับมาเติบโตที่ระดับร้อยละ 10.9 ในปี 2558 เร่งตัวขึ้นจากระดับร้อยละ 5.8 ในปีนี้ โดยสินเชื่อไม่มีหลักประกัน (Unsecured loan) เช่น บัตรเครดิต สินเชื่อเงินสด ยังเป็นแรงขับเคลื่อนหลักในการขยายตัว ในส่วนของเงินฝากขยายตัวต่ำกว่าสินเชื่อเล็กน้อย ที่ระดับร้อยละ 9.3 ในปี 2558 แต่เร่งตัวขึ้นจากระดับร้อยละ 4.4 ในปีนี้ โดยมองว่าธนาคารจะยังดำเนินกลยุทธ์ด้วย “เงินฝากออมทรัพย์พิเศษ” ซึ่งมีอัตราดอกเบี้ยน่าดึงดูด แต่เปิดช่องให้ถอนที่ยืดหยุ่น เอื้อต่อการบริหารการเงินของผู้ฝาก นอกจากนี้ ระบบธนาคารไทยจะให้ความสำคัญในการเข้าสู่รูปแบบธุรกิจ “ธนาคารไร้สาขา” หรือ Branchless banking มากขึ้น เอื้อให้ผู้ใช้บริการสามารถทำธุรกรรมได้ทุกที่โดยไม่ต้องเดินทางไปสาขา สอดรับกับนโยบายเศรษฐกิจดิจิตอล (Digital economy) ของภาครัฐ
 

    อย่างไรก็ตาม เนื่องจากปี 2558 นับเป็นปีที่มุ่งเน้นเรื่องการปฏิรูปประเทศเป็นหลัก การที่เศรษฐกิจจะขยายตัวได้อย่างร้อนแรงนั้น คงเป็นไปได้ยากและอาจไม่ใช่เป้าหมายหลักของรัฐบาล สอดคล้องกับประสบการณ์การปฏิรูปประเทศในชาติอื่นๆ ที่ได้เริ่มดำเนินการไปแล้วในช่วงที่ผ่านมา ดังนั้น ทางศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจจึงมองว่า หากการปฏิรูปเศรษฐกิจสามารถแก้ปัญหา “5 ห่วง” กล่าวคือ ปัญหาคอร์รัปชั่น ปัญหาขาดแคลนแรงงาน ปัญหาการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับภาคเกษตรไทย ปัญหาความสามารถทางการแข่งขันของ SME และปัญหาประสิทธิภาพของการขนส่งระบบราง ได้อย่างยั่งยืน จึงนับว่า “ได้คุ้มเสีย” กับการขยายตัวของเศรษฐกิจที่ได้เพียงอย่างค่อยเป็นค่อยไปในปี 2558

RECCOMMEND: MARKETING

วิกฤตสูงวัย เด็กเกิดใหม่น้อย กรณีศึกษาธุรกิจญี่ปุ่น ปรับตัวผลิตสินค้าผู้ใหญ่แทนสินค้าเด็ก

Oji Holdings ผู้ผลิตผ้าอ้อมในญี่ปุ่นประกาศยุติผลิตผ้าอ้อมเด็ก หันไปเพิ่มปริมาณการผลิตผ้าอ้อมผู้ใหญ่แทน สาเหตุมาจากอัตราการเกิดที่ลดลงและจำนวนประชากรสูงวัยของญี่ปุ่นที่เพิ่มสูงขึ้น

โอกาสโกอินเตอร์ของแบรนด์ไทย ทำงานกับนักธุรกิจระดับโลก งาน Gifts & Premium Fair ฮ่องกง

ฮ่องกงขึ้นชื่อว่าเป็นดินแดนที่มีการจัดงานแสดงสินค้าที่ยิ่งใหญ่ของโลกแห่งหนึ่ง และหนึ่งในนั้นคืองานแสดงสินค้าของขวัญและของพรีเมียมภายใต้ชื่อ Hong Kong Gifts & Premium Fair ซึ่งกำลังจะมีขึ้นระหว่างวันที่ 27-30 เมษายน 2024