4 คำถามวัดใจ ก่อนลงเงินจ้าง Influencer มาช่วยธุรกิจปัง!

TEXT : รุจรดา วัฒนาโกศัย





Main Idea
 
  • ในยุคนี้ Influencer Marketing กำลังเฟื่องฟูและกลายเป็นเครื่องมือการตลาดที่ทรงพลัง มีผู้บริโภคจำนวนไม่น้อยตัดสินใจซื้อหลังจากเห็นรีวิวแม้จะรู้ว่ารีวิวนั้นมาจากการที่แบรนด์ที่จ่ายเงินจ้างก็ตามที
 
  • แต่ผู้ประกอบการบางคนก็ยังไม่แน่ใจว่า ถ้าทำ Influencer Marketing แล้วจะช่วยให้แบรนด์เชื่อมต่อกับลูกค้าหรือผลักดันยอดขายได้จริงหรือไม่ หรือวิธีนี้เหมาะกับธุรกิจที่กำลังทำหรือเปล่า มาหาคำตอบนี้ด้วยการเริ่มจากคำถาม 4 ข้อ ที่จะช่วยให้คุณตัดสินใจได้ง่ายขึ้น



       หลังจาก “ญาญ่า อุรัสยา” ถ่ายภาพอุ้มกระถางแล้วอัพลงอินสตาแกรม นอกจากจะเรียกยอดไลก์ถล่มทลายแล้ว ยังทำให้เกิดปรากฏการณ์ราคาต้นไม้พันธุ์เดียวกันนั้น พุ่งสูงขึ้นไปถึง 4-5 เท่าตัว ร้านขายต้นไม้ออนไลน์พากันติดแท็ก #ต้นไม้ญาญ่า ประกอบการขายกันถ้วนหน้า พร้อมคำถามที่ว่า “คราวหน้าญาญ่าจะอุ้มต้นอะไรนะ” แสดงให้เห็นถึงอิทธิพลของอินฟลูเอนเซอร์ที่กระตุ้นให้ธุรกิจคึกคัก ขายดิบขายดีอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน และเป็นการยืนยันว่า Influencer Marketing หรือทำการตลาดผ่านผู้มีอิทธิพลบนโลกออนไลน์นั้นเป็นวิธีที่ได้ผล


       จากข้อมูลของ Mediakix พบว่า นักการตลาดถึง 89 เปอร์เซ็นต์ ลงมติว่า การใช้อินฟลูเอนเซอร์จะช่วยสร้างข้อได้เปรียบให้กับแบรนด์ได้ดีกว่าวิธีอื่น และคุ้มค่าที่ผู้ประกอบการจะลงทุนและลงเงิน แต่กับบางคนก็อาจยังไม่แน่ใจว่า ถ้าทำ Influencer Marketing แล้ว จะช่วยให้แบรนด์เชื่อมต่อกับลูกค้าหรือผลักดันยอดขายได้จริงหรือไม่ หรือวิธีนี้จะเหมาะกับธุรกิจที่ทำอยู่หรือเปล่า
 


      ลองถามตัวเองด้วยคำถาม 4 ข้อนี้ดู น่าจะทำให้หาคำตอบได้ไม่ยาก
 



 
  1. รู้จักลูกค้าของแบรนด์ดีแค่ไหน


       ก่อนที่จะลงทุนในช่องทางการตลาดใหม่ๆ สิ่งสำคัญที่ต้องย้อนกลับไปคิดคือ ลูกค้าของแบรนด์คุณคือใคร และอะไรที่สำคัญสำหรับพวกเขา การรู้จักลูกค้าไปจนถึงแรงจูงใจที่ทำให้พวกเขาซื้อสินค้าของแบรนด์ จะช่วยให้คุณตัดสินใจได้ว่าจะมุ่งเน้นทำการตลาดในแพลตฟอร์มใด จะจ้างอินฟลูเอนเซอร์คนไหน ไปจนถึงจะให้เขาโพสต์เนื้อหาประเภทใดบ้าง จึงจะส่งผลดีที่สุดต่อแบรนด์
 



 
  1. ต้องการสื่อสารอะไรกับลูกค้า


       คุณสามารถจ้างอินฟลูเอนเซอร์ที่โด่งดังที่สุดในโลกก็ได้ (ถ้ามีเงินมากพอ) แต่ความพยายามอาจไร้ผลหากแบรนด์สื่อสารผิดประเด็น ดังนั้น ต้องคิดว่า ต้องการสื่อสารอะไรถึงลูกค้ากันแน่ ผู้บริโภคมีความเชื่อหรือแรงจูงใจอะไรบ้างที่คุณสามารถเข้าถึงได้ด้วยความช่วยเหลือของอินฟลูเอนเซอร์


      ยกตัวอย่าง แบรนด์ผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ อย่าง Sprint ตอนที่ทำแคมเปญกับอินฟลูเอนเซอร์เขาไม่ได้สื่อสารเกี่ยวกับบริการโทรศัพท์แต่อย่างใด แต่ทว่ากลับร่วมมือกับอินฟลูเอนเซอร์สร้างวิดีโอไวรัลที่โปรโมทแฮชแท็ก #LiveUnlimited ที่กระตุ้นให้ผู้คนไล่ตามความฝันและลงมือทำเพื่อให้ได้สิ่งที่พวกเขาต้องการ


      ต้องจำเอาไว้ว่า : คุณไม่ได้จ้างอินฟลูเอนเซอร์เพื่อขายของโดยตรง แต่กำลังจับมือเป็นพันธมิตรกับพวกเขาเพื่อให้ช่วยสร้างความสัมพันธ์และความไว้วางใจให้กับผู้คนต่างหาก

 


 
  1. ใครล่ะ? ที่เป็นอินฟลูเอนเซอร์ที่เหมาะกับแบรนด์


        สิ่งที่ต้องทำความเข้าใจอย่างหนึ่ง คือ อินฟลูเอนเซอร์แต่ละคนสร้างอิทธิพลต่อใจผู้คนได้ไม่เท่ากัน ผู้ประกอบการจึงต้องรู้ว่าอินฟลูเอนเซอร์แต่ละคนมีกลุ่มผู้ติดตามเป็นคนแบบไหน และพวกเขาจะสามารถช่วยแบรนด์ให้เข้าถึงคนกลุ่มนั้นได้อย่างไร


       อีกเรื่องที่ต้องรู้คือ มีอินฟลูเอนเซอร์บางคนซื้อจำนวนผู้ติดตามจนทำให้คนเข้าใจว่าเจ้าของแอคเคาท์ได้รับความนิยมมากกว่าความเป็นจริง หากเสียเงินจ้างคนประเภทนี้อาจจะไม่สร้างมูลค่าใดให้กับธุรกิจเลยก็ได้


       ดังนั้นวิธีที่ดีที่สุดในการหลีกเลี่ยงปัญหานี้คือ มองหาคนที่ตั้งคำถามว่า ลูกค้าของแบรนด์คุณคือใคร เป้าหมายของแบรนด์คืออะไร และช่วยแบรนด์คิดแคมเปญการตลาดเพื่อเข้าถึงกลุ่มผู้ติดตามของเขา แต่ถ้าหากคนๆ นั้นถามแค่ว่า “คุณจะจ่ายเท่าไร” การมองหาอินฟลูเอนเซอร์รายอื่นน่าจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่า
 



 
  1. วัดผลสำเร็จอย่างไร


       Influencer Marketing ไม่ใช่หนทางที่ทำให้รวยได้ทันใจ ไม่ใช่วิธีที่ทำให้ยอดขายหลั่งไหลเข้ามาทันทีที่อินฟลูเอนเซอร์โพสต์ข้อความ นั่นเป็นเหตุผลที่แบรนด์ต้องรู้ว่าจะวัดความสำเร็จของแคมเปญนี้อย่างไร วัดจากจำนวนผู้ติดตามแบรนด์ที่เพิ่มมากขึ้น หรืออัตราการมีส่วนร่วมของผู้ที่เข้าชมเว็บไซต์ หรือการที่แบรนด์เป็นที่รู้จักมากขึ้น ถูกพูดถึงมากขึ้น มีผู้ชื่นชอบและเชื่อใจแบรนด์มากขึ้น
 




       เมื่อหาคำตอบได้ครบทั้ง 4 ข้อแล้ว คิดว่าคุณพร้อมที่จะจ่ายให้กับอินฟลูเอนเซอร์หรือยัง?


 
                ที่มา : www.entrepreneur.com
 


 
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี
 

RECCOMMEND: MARKETING

วิกฤตสูงวัย เด็กเกิดใหม่น้อย กรณีศึกษาธุรกิจญี่ปุ่น ปรับตัวผลิตสินค้าผู้ใหญ่แทนสินค้าเด็ก

Oji Holdings ผู้ผลิตผ้าอ้อมในญี่ปุ่นประกาศยุติผลิตผ้าอ้อมเด็ก หันไปเพิ่มปริมาณการผลิตผ้าอ้อมผู้ใหญ่แทน สาเหตุมาจากอัตราการเกิดที่ลดลงและจำนวนประชากรสูงวัยของญี่ปุ่นที่เพิ่มสูงขึ้น

โอกาสโกอินเตอร์ของแบรนด์ไทย ทำงานกับนักธุรกิจระดับโลก งาน Gifts & Premium Fair ฮ่องกง

ฮ่องกงขึ้นชื่อว่าเป็นดินแดนที่มีการจัดงานแสดงสินค้าที่ยิ่งใหญ่ของโลกแห่งหนึ่ง และหนึ่งในนั้นคืองานแสดงสินค้าของขวัญและของพรีเมียมภายใต้ชื่อ Hong Kong Gifts & Premium Fair ซึ่งกำลังจะมีขึ้นระหว่างวันที่ 27-30 เมษายน 2024