‘เทรคกิ้งไทย’ ต้องไปต่อ! ธุรกิจเดินป่าพลิกกลยุทธ์สู้โควิด เปิดเส้นทางใหม่บนโลกออนไลน์

TEXT : รุจรดา วัฒนาโกศัย





Main Idea

 
  • ธุรกิจท่องเที่ยวได้รับบาดเจ็บหนักที่สุดในสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 จากอุตสาหกรรมหลักที่ทำรายให้กับประเทศ กลับมีรายได้เป็น 0 ตั้งแต่เดือนมีนาคม บางธุรกิจถึงขั้นปิดกิจการ ขณะที่บางแห่งกัดฟันหาทางไปต่อ
 
  • “เทรคกิ้งไทย” บริษัทท่องเที่ยวแบบเดินป่าพยายามหาทางรอด ในเมื่อออกเดินทางไม่ได้ พวกเขาเปิดเส้นทางใหม่ ขยายตลาดขายอุปกรณ์เดินป่าและแคมปิ้งบนโลกออนไลน์ จนธุรกิจไปต่อได้แม้ยังไม่มีนักท่องเที่ยวสักคน


 

      การระบาดของโควิด-19 ธุรกิจที่ได้รับผลกระทบก่อนและหนักหนาที่สุดหนีไม่พ้นภาคการท่องเที่ยว จากที่เคยเป็นอุตสาหกรรมที่ทำรายได้ให้กับประเทศอย่างมหาศาล แต่หลังการมาเยือนของไวรัส บริษัทนำเที่ยวหรือโรงแรมส่วนใหญ่มีรายได้เป็น 0 ทันที บางธุรกิจถึงขั้นปิดกิจการ ขณะที่บางแห่งกัดฟันหาทางไปต่อเพื่อดูแลพนักงาน ซึ่ง “เทรคกิ้งไทย” (Trekking Thai) บริษัทที่ให้บริการนำเที่ยวแบบเดินป่าเลือกอย่างหลัง เมื่อสองขาออกเดินทางขึ้นเขาเข้าป่าไม่ได้ เส้นทางใหม่ของพวกเขาจึงอยู่บนโลกออนไลน์




 
     เทรคกิ้งไทย มีความเชี่ยวชาญและมีประสบการณ์ในวงการเดินป่ามากว่า 20 ปี พวกเขาเป็นกลุ่มแรกๆ ที่ผลักดันให้การเดินป่าที่เคยเป็นกิจกรรมของคนกลุ่มเล็กๆ กลายเป็นการท่องเที่ยวที่คนไทยทั่วไปเข้าถึงได้ มีโอกาสพิชิตยอดเขาอย่าง ภูสอยดาว เขาช้างเผือก เทือกเขาบรรทัด กันเป็นปกติ และกำลังจะเปิดตลาดโลกดึงนักท่องเที่ยวต่างชาติมาปีนเขาในไทย ซึ่งเริ่มที่สิงคโปร์ก่อนเป็นประเทศแรกโดยที่ได้รับการการสนับสนุนจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ไปโรดโชว์ทำตลาดตั้งแต่ปี 2562 และกำลังจะเริ่มขายทัวร์เดินป่าให้กับชาวสิงคโปร์ในกลางปีนี้อีกด้วย


     น่าเสียดายที่แผนการที่ว่าถูกโควิด-19 ตัดโอกาสไป อุทยานในประเทศไทยปิดทำการทั้งหมดตั้งแต่เดือนมีนาคม เทรคกิ้งไทย ที่เคยออกเดินทางเป็นประจำเหมือนถูกมัดแขนมัดขา แต่โชคดีที่ธุรกิจมี 2 บริการ คือนอกเหนือจากบริการนำเที่ยวแล้ว พวกเขายังขายอุปกรณ์สำหรับเดินป่าโดยเฉพาะด้วย ในออฟฟิศของเทรคกิ้งไทยจึงเต็มไปด้วยสต็อกสินค้าจำนวนมาก นี่แหละคือประตูแห่งทางรอดเล็กๆ ที่รอให้พวกเขาเปิดออก ด้วยกุญแจดอกสำคัญที่ชื่อ “อี-คอมเมิร์ซ”





     เมื่อพูดถึงช่องทางการขายของออนไลน์ จะมี 2 ช่องทางหลักคือ มาร์เก็ตเพลสอย่าง Lazada Shopee และโซเชียลคอมเมิร์ซ ซึ่งอย่างหลัง “นิพันธ์พงษ์ ชวนชื่น” ผู้ก่อตั้ง บริษัท เทรคกิ้งไทย จำกัด สารภาพว่าไม่ถนัดด้านนี้เลย
               

     แต่ในความเป็นจริงแล้วเทรคกิ้งไทยนับว่าแข็งแกร่งมากบนโลกออนไลน์ โดยหากเปิดกูเกิลแล้วค้นหาเกี่ยวกับการเดินป่า เว็บไซต์เทรคกิ้งไทยจะโผล่มาให้เห็นเป็นอันดับแรกๆ ด้วยความเป็นผู้เชี่ยวชาญตัวจริงที่มีทั้งความรู้และประสบการณ์เกี่ยวกับการเดินป่า การเตรียมตัว และอุปกรณ์ที่ต้องใช้ไว้คอยบอกต่อให้กับเหล่านักเดินทาง แต่ความรู้เหล่านั้นไม่ได้ทำให้สินค้าขายได้


     นิพันธ์พงษ์จึงหาทางเสริมความแข็งแกร่งด้านนี้ โดยเข้าโครงการและขอรับคำปรึกษาจากกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) ที่ให้คำปรึกษาด้านการทำแบรนดิ้งบนโลกออนไลน์ และเขียนคอนเทนต์เพื่อขายอย่างไรให้น่าสนใจและเนียนไปกับบทความให้ความรู้ เชื่อมโยงเว็บไซต์เข้ากับเฟซบุ๊ก ไปจนถึงการยิงโฆษณาทางเฟซบุ๊กให้ได้ผลด้วย





     เขาเรียนรู้ว่า ต้องทำ “แอดนางฟ้า” ขึ้นมาให้ได้ ซึ่งหมายถึงทำโฆษณาบนเฟซบุ๊กที่ทำให้ขายสินค้าได้ดี ขายได้เยอะและขายได้เรื่อยๆ แต่เอาเข้าจริงไม่มีทางรู้ได้เลยว่าชิ้นไหนเป็นแอดนางฟ้าจนกว่าจะเห็นผลจากการโฆษณานั้น


     โดยปัจจัยสำคัญอยู่ที่ปัจจัย 2 ประการ นั่นคือ
 
  1. รูป คนมักคิดว่ารูปต้องสวยจึงจะขายได้ดี แต่ไม่เป็นเช่นนั้นเสมอไป สิ่งที่เขาทำคือ เตรียมรูปให้หลากหลายทั้งรูปสวยๆ สักรูป รูปสินค้าที่ถ่ายแบบธรรมดา หรือรูปวิว แล้วยิงโฆษณาไปยังกลุ่มเป้าหมายที่หลากหลายเพื่อเก็บสถิติว่าโฆษณาชิ้นไหนหรือแคมเปญใดที่สามารถทำยอดขายได้ดีที่สุด
 
  1. กลุ่มเป้าหมาย เขาศึกษาเรื่องการเลือกกลุ่มเป้าหมายอย่างลึกซึ้งมากขึ้น จากที่เคยเลือกกว้างๆ เช่น คนที่ไปเดินป่า ชอบแคมปิ้ง ในพื้นที่ประเทศประเทศซึ่งท้ายที่สุดแล้วได้ไม่คุ้มค่าโฆษณาที่จ่าย เปลี่ยนมาปรับปรายละเอียดให้แคบลงโดยอิงจากสถิติกลุ่มคนที่เข้ามาดูในเว็บไซต์ ทดลองยิงโฆษณาไปยังกลุ่มคนหลายกลุ่ม แม้อาจมีบ้างที่ไม่ประสบความสำเร็จ แต่ทั้งหมดนั่นทำให้เขามีข้อมูลว่าสินค้าตัวไหนต้องเลือกกลุ่มเป้าหมายเป็นใคร ซึ่งแต่ละสินค้าจะมีกลุ่มคนซื้อแตกต่างกันไป มีกระทั่งสินค้าที่ยิงโฆษณาบนโซเชียลมีเดียไปแล้วผลตอบรับไม่ดี แต่กลับขายดีมากบนเว็บไซต์




     “เวลาเราขายของออนไลน์ อย่าคิดไปก่อนว่าสินค้าขายไม่ได้ การจะตอบคำถามนั้นได้ต้องลองทำ ลองยิงแอดดูก่อน” นิธิพันธ์บอกเช่นนั้นหลังจากได้ลงมือทำจริง


     การทดสอบโฆษณาในโซเชียลมีเดียทั้งหมดนั้นทำให้สามารถขายสินค้าได้จนหมดสต็อก รายได้ที่เคยเป็น 0 ในเดือนมีนาคมค่อยๆ ขยับขึ้นมาจนกระทั่งในเดือนกรกฎาคมพวกเขาทำ “กำไร” ได้ในที่สุด จึงกล้าบอกได้เลยว่าเทรคกิ้งไทยผ่านวิกฤตโควิด-19 ไปได้โดยไม่ต้องรอลูกค้าทัวร์ และช่องทางออนไลน์ได้เป็นอีกหนึ่งความแข็งแกร่งที่จะพาธุรกิจไปได้ไกลกว่าเดิมในอนาคตอันใกล้ ในวันที่การท่องเที่ยวไทยกลับมาคึกคักเช่นวันเก่า
 
 
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี
 
 

 

RECCOMMEND: MARKETING

วิกฤตสูงวัย เด็กเกิดใหม่น้อย กรณีศึกษาธุรกิจญี่ปุ่น ปรับตัวผลิตสินค้าผู้ใหญ่แทนสินค้าเด็ก

Oji Holdings ผู้ผลิตผ้าอ้อมในญี่ปุ่นประกาศยุติผลิตผ้าอ้อมเด็ก หันไปเพิ่มปริมาณการผลิตผ้าอ้อมผู้ใหญ่แทน สาเหตุมาจากอัตราการเกิดที่ลดลงและจำนวนประชากรสูงวัยของญี่ปุ่นที่เพิ่มสูงขึ้น

โอกาสโกอินเตอร์ของแบรนด์ไทย ทำงานกับนักธุรกิจระดับโลก งาน Gifts & Premium Fair ฮ่องกง

ฮ่องกงขึ้นชื่อว่าเป็นดินแดนที่มีการจัดงานแสดงสินค้าที่ยิ่งใหญ่ของโลกแห่งหนึ่ง และหนึ่งในนั้นคืองานแสดงสินค้าของขวัญและของพรีเมียมภายใต้ชื่อ Hong Kong Gifts & Premium Fair ซึ่งกำลังจะมีขึ้นระหว่างวันที่ 27-30 เมษายน 2024