เมื่อ Food Delivery ครึ่งปีหลัง แข่งดุ ร้านอาหารและผู้บริโภคจะได้อานิสงส์นี้อย่างไร

TEXT : กองบรรณาธิการ

เรียบเรียงจากบทความ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย
 
 

 

Main Idea
 
  • ด้วยไลฟ์สไตล์ของผู้คนยุคนี้ที่ใช้ชีวิตอยู่บนโลกออนไลน์กันมากขึ้น Food Delivery หรือการสั่งอาหารออนไลน์ จึงเป็นหนึ่งในธุรกิจที่ดูจะเติบโตไปได้ดี เพราะช่วยอำนวยความสะดวกสบายให้กับผู้บริโภคได้มากขึ้น
 
  • ยิ่งในช่วงที่สถานการณ์เกิดโรคระบาดที่ผ่านมา ส่งผลให้ผู้คนใช้ชีวิตอยู่บ้านกันมากขึ้น การออกมาเลือกซื้ออาหาร หรือบริโภคอาหารนอกบ้าน จึงลดจำนวนน้อยลง ธุรกิจ Food Delivery จึงเติบโตขึ้นตามลำดับ
 
  • จนส่งผลให้กลายเป็นธุรกิจที่มาแรงในครึ่งปีหลัง และคาดการณ์ว่าจะมีแพลตฟอร์มใหม่ๆ ลงมาเล่นอยู่ในตลาดอีกมาก ร้านอาหารและผู้บริโภคจะได้รับอานิสงส์จากเรื่องนี้อย่างไร ไปดูกัน
 
 
 

     จากวิกฤติการระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ผ่านมา ธุรกิจการจัดส่งอาหารไปยังที่พัก (Food Delivery) ผ่านแอปพลิเคชันต่างๆ กลายเป็นช่องทางสำคัญของผู้ประกอบการธุรกิจร้านอาหารและผู้บริโภค จากข้อมูลของผู้ให้บริการแพลตฟอร์มออนไลน์พบว่ามีจำนวนร้านอาหารขนาดเล็ก-กลาง สมัครเข้าร่วมกับแพลตฟอร์มจัดส่งอาหาร ไม่น้อยกว่า 20,000 รายต่อสัปดาห์


     ส่งผลให้ครึ่งแรกของปี 2563 จำนวนครั้งของการจัดส่งอาหาร Food Delivery เติบโตสูงขึ้นประมาณ 150 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน สำหรับทิศทางของตลาด Food Delivery  และภาพรวมการแข่งขันในช่วงครึ่งหลังของปี 2563 หลังจากศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่าผู้ให้บริการแพลตฟอร์ม Food Delivery จะมีมากขึ้น จากความนิยมของผู้บริโภคในการใช้แอปพลิเคชันสั่งอาหาร ทำให้ตลาด Food Delivery เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง





     คาดว่าในครึ่งปีหลังจะมีผู้ให้บริการแพลตฟอร์ม Food Delivery ทั้งต่างชาติและไทยเข้ามาทำตลาดมากขึ้น ด้วยรูปแบบการทำธุรกิจใหม่ (Business Model) ที่ต่างจากเดิม เช่น การไม่เก็บค่าบริการต่างๆ จากร้านอาหาร (ปัจจุบันผู้ให้บริการมีการหักค่าบริการ ซึ่งขึ้นอยู่กับเงื่อนไขและอัตราที่จะมีความแตกต่างกัน แต่อาจสูงถึงร้อยละ 35) การหักค่าบริการจากกำไรขั้นต้น (ค่า GP) และอื่นๆ รวมถึงระยะเวลาการชำระเงินคืนกลับไปยังร้านอาหารที่รวดเร็วขึ้น การเพิ่มคุณสมบัติและระบบการทำงานของแอปพลิเคชันที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้ใช้งาน หรือวิธีการออกแบบการทำงานของแอปพลิเคชัน การจัดส่งที่ให้ร้านอาหารสามารถเปรียบเทียบราคาค่าส่งจากผู้ให้บริการได้ เพื่อเป็นทางเลือกใหม่ให้กับผู้ประกอบการและผู้บริโภค
              

     โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่าการเข้ามาของผู้เล่นรายใหม่จะสร้างความตื่นตัวและส่งผลต่อธุรกิจ Food Delivery ได้หลากหลายมิติ เช่น
 



 
  1. กระตุ้นให้ผู้ให้บริการแพลตฟอร์ม Food Delivery รายเดิม ต้องจัดโปรโมชั่นด้านราคาอย่างต่อเนื่อง เพื่อรักษาฐานตลาดและความสามารถในการแข่งขัน โดยหลังจากสถานการณ์ของไวรัสโควิด-19 ในประเทศดีขึ้น  ร้านอาหารสามารถกลับมาเปิดให้บริการได้ตามปกติ จึงอาจส่งผลให้ปริมาณผู้ใช้บริการสั่งอาหารออนไลน์ชะลอตัวลง
 
  1. การแข่งขันอาจรุนแรงขึ้น รวมถึงสร้างข้อจำกัดให้กับผู้ประกอบการร้านอาหารในการทำตลาด การเข้ามาของผู้ให้บริการ Food Delivery รายใหม่ๆ ย่อมส่งผลดีต่อผู้ประกอบการร้านอาหาร เนื่องจากมีช่องทางการขายเพิ่มขึ้น รวมถึงสามารถเลือกใช้บริการในแพลตฟอร์มที่เหมาะสมกับโครงสร้างต้นทุนได้ แต่ขณะเดียวกันเองผู้ประกอบการร้านอาหารก็พึงควรระวังถึงการแข่งขันระหว่างร้านอาหารที่อาจรุนแรงขึ้นด้วย เพราะแต่ละร้านก็ต่างหากลยุทธ์มามัดใจลูกค้า โดยเฉพาะการแข่งขันด้านราคา การทำโปรโมชั่นต่างๆ อีกทั้งการเพิ่มจำนวนผู้ให้บริการแพลตฟอร์มที่เพิ่มขึ้นเอง อาจทำให้ผู้บริโภคเกิดการเปรียบเทียบราคาจากหลายช่องทาง ร้านอาหารจึงไม่สามารถทำราคาได้แตกต่างกันมากนัก ไม่ว่าราคาหน้าร้าน หรือราคาขายผ่านแอปพลิเคชันต่างๆ ที่ต้องบวกค่าบริการเพิ่ม และเงื่อนไขการใช้บริการที่แตกต่างกันออกไป
 


 
  1. การปรับ Business Model สร้างความสมดุลและประโยชน์แก่ผู้ที่อยู่ในห่วงโซ่ธุรกิจมากขึ้น เพราะเมื่อผู้ให้บริการรายใหม่เข้ามาด้วยรูปแบบของธุรกิจที่ต้องการแก้ไขจุดอ่อนของตลาด ย่อมส่งผลให้ผู้ให้บริการรายเดิมต้องปรับกลยุทธ์ เพื่อรองรับการแข่งขันที่จะเข้ามา อาทิ เงื่อนไขบางประการเพื่อให้เหมาะสมกับพาร์ตเนอร์แต่ละกลุ่ม เช่น การปรับรูปแบบการคิดค่าบริการจากร้านอาหารและผู้ให้บริการรับจ้างส่งอาหาร การปรับสวัสดิการสำหรับผู้ขับขี่ รวมถึงการจัดสร้างครัวกลาง (Cloud Kitchen) ที่คาดว่าจะเข้ามาช่วยลดข้อจำกัดในการสั่งอาหารข้ามพื้นที่ให้มากขึ้นด้วย ทั้งหมดก็เพื่อสร้างให้เกิดสมดุลในห่วงโซ่ธุรกิจ และรักษาจำนวนพาร์ตเนอร์ของแพลตฟอร์มด้วย
 
  1. การพัฒนาแอปพลิเคชันของผู้เล่นรายเดิม เข้าสู่ Super Application ด้วยการให้บริการครอบคลุมไปยังกิจกรรมอื่นๆ ของผู้บริโภค ผู้ให้บริการ Food Delivery จะมีการเร่งพัฒนาการใช้งานของแอปพลิเคชันให้ครอบคลุมไปยังกิจกรรมในชีวิตประจำวันด้านอื่นๆ ของผู้บริโภค หรือมีลักษณะเป็น One-Stop Application มากขึ้น เพื่อเพิ่มโอกาสการสร้างรายได้ให้กับธุรกิจ เนื่องจากธุรกิจ Food Delivery ต้องใช้งบประมาณสูงในการกระตุ้นตลาดและใช้กลยุทธ์ด้านราคาเข้ามาทำตลาด จึงอาจส่งผลกระทบให้กำไรสุทธิจากการทำธุรกิจติดลบได้ กอปรกับการระดมเงินทุนเพิ่มเติมจากภายนอก ก็อาจทำได้ยากขึ้นด้วย โดยเฉพาะในภาวะที่เศรษฐกิจโลกมีความเปราะบางเช่นนี้
 
 
 
  • จับตา Food Delivery ครึ่งปีหลัง
 
     สำหรับทิศทางของตลาดธุรกิจ Food Delivery ในช่วงที่เหลือของปี 2563 นี้ หลังการระบาดของโควิด-19 ได้คลี่คลายลง และธุรกิจร้านอาหารกลับมาเปิดให้บริการดังเดิม ความนิยมในการสั่งอาหารออนไลน์อาจไม่ได้สูงเท่ากับในช่วงที่มีการระบาดของไวรัสโควิด-19 แต่ก็ยังถือว่าสูงมากขึ้นกว่าตอนที่สถานการณ์ปกติ เนื่องจากความนิยมในการใช้บริการยังมีอยู่อย่างต่อเนื่อง รวมถึงความวิตกกังวลเรื่องการระบาดรอบ 2 ที่อาจกลับมาได้ จึงทำให้ผู้บริโภคบางกลุ่มยังคงเลือกสั่งอาหารมารับประทานยังที่อยู่อาศัย มากกว่าที่จะออกไปเลือกซื้อเอง
              



     นอกจากนี้ในส่วนของผู้ประกอบการธุรกิจร้านอาหารเอง บางรายก็ได้มีการปรับกลยุทธ์การทำธุรกิจและการลงทุนของตัวเองด้วย เช่น การลดจำนวนการขยายสาขาที่ให้บริการเต็มรูปแบบ และหันมาเปิดร้านขนาดเล็ก หรือแบบ Kiosk แทน รวมถึงการปรับขั้นตอนปฏิบัติการ และรูปแบบร้านให้รองรับกับการสั่งอาหารแบบ Food Delivery มากขึ้นเป็นต้น


     สำหรับผู้ให้บริการสั่งอาหารออนไลน์รายใหม่ที่จะเข้ามาลงเล่นในตลาด ก็น่าจะกระตุ้นให้เกิดการแข่งขันที่เข้มข้นขึ้นระหว่างแพลตฟอร์มด้วยกันเอง ทำให้เกิดการกระตุ้นตลาดที่มากขึ้น และทำให้ในช่วงครึ่งหลังของปี 2563 จำนวนครั้งของการจัดส่งอาหารน่าจะเติบโตขึ้นได้ถึงร้อยละ 17 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา แต่หากสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศกลับมามีการระบาดอีกครั้ง ก็มีโอกาสที่ธุรกิจจะเติบโตสูงขึ้นไปอีก โดยทั้งนี้ในปี 2563 ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า จำนวนครั้งของการจัดส่งอาหารจะมีการขยายตัวสูงถึงร้อยละ 78.0 - 84.0 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นอัตราการเติบโตอย่างก้าวกระโดดเลยทีเดียว
 
 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี
 

RECCOMMEND: MARKETING

วิกฤตสูงวัย เด็กเกิดใหม่น้อย กรณีศึกษาธุรกิจญี่ปุ่น ปรับตัวผลิตสินค้าผู้ใหญ่แทนสินค้าเด็ก

Oji Holdings ผู้ผลิตผ้าอ้อมในญี่ปุ่นประกาศยุติผลิตผ้าอ้อมเด็ก หันไปเพิ่มปริมาณการผลิตผ้าอ้อมผู้ใหญ่แทน สาเหตุมาจากอัตราการเกิดที่ลดลงและจำนวนประชากรสูงวัยของญี่ปุ่นที่เพิ่มสูงขึ้น

โอกาสโกอินเตอร์ของแบรนด์ไทย ทำงานกับนักธุรกิจระดับโลก งาน Gifts & Premium Fair ฮ่องกง

ฮ่องกงขึ้นชื่อว่าเป็นดินแดนที่มีการจัดงานแสดงสินค้าที่ยิ่งใหญ่ของโลกแห่งหนึ่ง และหนึ่งในนั้นคืองานแสดงสินค้าของขวัญและของพรีเมียมภายใต้ชื่อ Hong Kong Gifts & Premium Fair ซึ่งกำลังจะมีขึ้นระหว่างวันที่ 27-30 เมษายน 2024