ราคาประมูลกาแฟไทยสูงสุดเป็นประวัติการณ์ “27,210 บาท ต่อกิโลกรัม”

TEXT : นิตยา สุเรียมมา

PHOTO : สุนันท์ ล้อสมทรัพย์





Main Idea

 
  • ระบบโครงสร้างพื้นฐานที่ดีช่วยให้ผู้ผลิตกาแฟจากปลายน้ำและต้นน้ำสามารถพบกันได้ง่ายขึ้น
 
  • ผู้ประกอบการร้านกาแฟ คือตัวแปรสำคัญในการสื่อสารและทำให้ผู้บริโภคเข้าใจการบริโภคกาแฟคุณภาพมากยิ่งขึ้น
 
  • ปัจจุบันเมืองไทยมีโรงคั่วเล็กๆ เกิดขึ้นมากมาย เป็นกระแสแฟชั่นเหมือนกับการเปิดร้านกาแฟ แต่หากทำให้ดีมีคาแรกเตอร์ของตัวเอง ก็สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้เช่นกัน




      ในช่วง 3- 4 ปี ที่ผ่านมา ที่บ้านเราเริ่มมีการจัดงานมหกรรมกาแฟใหญ่ระดับประเทศเกิดขึ้น พร้อมๆ กับกระแสการบริโภคกาแฟของผู้บริโภคชาวไทยเริ่มเปลี่ยนไป จากเครื่องดื่มยามเช้าและบ่ายที่ดื่มเข้าไปเพื่อเพิ่มความกระฉับกระเฉงให้แก่ร่างกาย ก็เริ่มเปลี่ยนมาเป็นการดื่มอย่างละเมียดละไมและทำความรู้จักกับคาแรกเตอร์ความพิเศษของกาแฟในพื้นที่นั้นๆ มากขึ้น ไม่ว่ากาแฟจากแหล่งเพาะปลูกชื่อดังของโลก หรือแม้แต่กาแฟในบ้านเราเอง ซึ่งปัจจุบันถูกพัฒนาคุณภาพขึ้นมาก ตั้งแต่การเพาะปลูก เก็บเกี่ยว ไปจนถึงกระบวนการผลิต กระทั่งล่าสุดสามารถประมูลขายได้ในราคาสูงสุดถึงกิโลกรัมละ 27,210 บาท! จากรายการประกวด 'Thailand Specialty Coffee Awards 2020'  ที่ผ่านมา ซึ่งจัดขึ้นในรูปแบบของการประมูลออนไลน์เป็นครั้งแรก โดยคิดเป็นมูลค่ารวมกว่า 1,006,770 บาท จากผลผลิตที่ได้ 37 กิโลกรัม


     นอกจากนี้ยังมีสุดยอดเมล็ดกาแฟไทยที่มีคะแนนรวมเกินกว่า 80 คะแนนขึ้นไปและได้รับรางวัลอีกกว่า 29 รายการด้วยกัน รวมมูลค่าจากการประมูลแล้วทั้งสิ้นกว่า 3,407,329 บาท





      นี่คือ หนึ่งในมิติการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับกาแฟไทยในวันนี้ แต่จะมีอะไรเพิ่มเติมขึ้นมาอีกนั้น ลองไปฟังมุมมองจาก “ณัฏฐ์รดา คุณะวิวัฒนานนท์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารจาก Bluekoff” แบรนด์กาแฟเจ้าใหญ่ผู้ผลิตเมล็ดกาแฟและเชี่ยวชาญเกี่ยวกับธุรกิจกาแฟแบบครบวงจรที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของร้านกาแฟนับหลายพันรายในไทยกัน




                                                               
กาแฟไทย ก้าวทันกาแฟโลก               



      “กาแฟไทยตอนนี้ เริ่มตามทันกาแฟต่างประเทศแล้ว”
               

       นี่คือ สิ่งที่ณัฏฐ์รดาได้พูดเกริ่นไว้ในตอนต้น ก่อนจะอธิบายภาพรวมเพิ่มเติมให้ฟังว่า


      “ผู้ประกอบการธุรกิจกาแฟในบ้านเรา โดยเฉพาะร้านกาแฟต่างๆ มีการตื่นตัวเพิ่มมากขึ้น อะไรที่เป็นกระแส หรือมีเครื่องไม้เครื่องมืออะไรใหม่ๆ ออกมา ต่างประเทศมี บ้านเราก็มีเหมือนกัน หรือเมล็ดกาแฟจากไร่ไหนที่ดัง ทำออกมาแล้วต้องแย่งกันสั่งจอง ร้านกาแฟในบ้านเราก็ไม่พลาด ต้องหามาครอบครองไว้ให้ได้ จึงอาจเรียกได้ว่าภาพรวมของธุรกิจกาแฟไทยในวันนี้และต่างประเทศมีการพัฒนาและเติบโตแทบไม่แตกต่างกันเลย” ณัฏฐ์รดา ผู้บริหารจาก Bluekoff ได้กล่าวถึงภาพรวมที่เกิดขึ้นในวันนี้
 




โครงสร้างพื้นฐาน เรื่องใหญ่ที่สำคัญของการพัฒนา               



       โดยหากลองสังเกตให้ดีๆ ตั้งแต่เมืองไทยเราเริ่มรู้จักกับคำว่า Specialty Coffee หรือ กาแฟพิเศษ ซึ่งเกิดขึ้นมาพร้อมๆ กับการจัดตั้งสมาคมกาแฟพิเศษไทยนั้น ก็กินระยะเวลาไม่ถึงสิบปีด้วยซ้ำ แต่เหตุผลที่เป็นตัวสนับสนุนและทำให้วงการกาแฟไทยสามารถพัฒนามาได้ถึงวันนี้ ในมุมมองของณัฏฐ์รดามองว่ามาจากองค์ประกอบหลายส่วนด้วยกัน


       แต่ 2 ปัจจัยที่สำคัญ คือ 1.การมีโครงสร้างพื้นฐาน สาธารณูปโภค และสิ่งอำนวยความสะดวกที่ดี 2.การรวมกลุ่มและเติบโตของผู้ประกอบการธุรกิจกาแฟไทยที่เหนียวแน่น จนทำให้สามารถสื่อสารและให้ความรู้แก่ผู้บริโภค และเกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นมาได้
               

      “การทำกาแฟในบ้านเรา อาจเรียกได้ว่าเราเป็นโปรดิวเซอร์ผู้ผลิตกาแฟประเทศเดียวในโลกก็ได้ที่มีระบบสาธารณูปโภคและโครงสร้างพื้นฐานที่ดีและมีความพร้อม จนทำให้คนทำงานหน้าบาร์หรือผู้ประกอบการธุรกิจร้านกาแฟสามารถขึ้นมายังไร่กาแฟได้ง่ายขนาดนี้ ซึ่งถือว่ามีความสำคัญและมีส่วนช่วยมากในการทำให้คนชงกาแฟสามารถเข้าใจ กระบวนการผลิตกาแฟในส่วนอื่นๆ ตั้งแต่กระบวนการเพาะปลูก การผลิตเมล็ดกาแฟออกมาด้วยวิธีต่างๆ จนถึงการคั่ว ทำให้เขาเข้าใจได้ตั้งแต่ต้นทางว่ามันมีความเป็นมาอย่างไร ซึ่งหากเป็นพื้นที่เพาะปลูกกาแฟอื่นๆ ในโลก เช่น บราซิล โคลัมเบีย นับเป็นเรื่องที่ยากมากที่คนชงหรือผู้ประกอบการร้านกาแฟจะสามารถเดินทางมาเห็นต้นกาแฟได้ด้วยตาตนเอง ต้องผ่านการเดินทางหลายขั้นตอน บางที่ใช้เวลาเป็นอาทิตย์ๆ กว่าจะเดินทาไปถึง ต้องใช้ทั้งเงินทุนและแพสชั่นอย่างมากกว่าจะทำได้ แต่สำหรับเมืองไทยง่ายกว่า เลยทำให้การสื่อสารสั้นลง คนทำงานปลายทางอย่างร้านกาแฟจึงสามารถเข้าใจกาแฟได้เร็วขึ้น”

 


 
ร้านกาแฟ ตัวแปรสำคัญของการเปลี่ยนแปลง​
 
               
        จากระบบสาธารณูปโภคที่สะดวกสบายช่วยให้คนปลายน้ำ สามารถขึ้นไปถึงคนต้นน้ำและแหล่งเพาะปลูกกาแฟได้ตั้งแต่ต้นทาง เพื่อพัฒนาการผลิตกาแฟให้ดีขึ้นได้แล้วนั้น การจะทำให้อุตสาหกรรมกาแฟสามารถเบ่งบานเติบโตได้มากขึ้น ก็ต้องอาศัยตัวผู้บริโภคเอง ซึ่งเป็นผู้ตัดสินทุกอย่างว่าผลผลิตหรือสินค้าต่างๆ เหล่านั้นจะได้รับผลการตอบที่ดีหรือไม่ ซึ่งในส่วนนี้ผู้ประกอบการธุรกิจร้านกาแฟไทยถือว่ามีส่วนค่อนข้างมากในการสื่อสารและทำให้ผู้บริโภคเกิดความเข้าใจ รวมถึงปรับเปลี่ยนพฤติกรรมรูปแบบการดื่มกาแฟที่แตกต่างออกไปจากรูปแบบเดิมๆ เมื่อวันวาน
               

       “ที่วงการกาแฟบ้านเราสามารถพัฒนาขึ้นมากจนถึงทุกวันนี้ได้ ต้องยอมรับเลยว่าส่วนหนึ่งมาจากผู้ประกอบการธุรกิจร้านกาแฟในบ้านเราเองที่ทำหน้าที่สื่อสารให้ความรู้ความเข้าใจ จนสามารถสร้างจำนวนผู้บริโภคที่มีความรู้ความเข้าใจในการบริโภคกาแฟ รวมถึงการเปิดมุมมองการบริโภคกาแฟที่แตกต่างไปจากเดิมได้เพิ่มมากขึ้น จึงทำให้มูลค่าของกาแฟไทยสามารถเพิ่มขึ้นได้มากกว่าเก่าที่เคยเป็นมาได้หลายเท่าตัว
               

       “นอกจากนี้การจัดกิจกรรมต่างๆ ก็มีส่วนสำคัญที่ผลักดันกาแฟไทยให้มีการพัฒนาเติบโตเป็นที่รู้จักในต่างประเทศมากขึ้น เช่น การจัดประกวดแข่งขันเมล็ดกาแฟไทย ซึ่งในปีนี้ราคาประมูลกาแฟไทยสามารถทำได้สูงสุดเป็นประวัติการณ์จากที่เคยทำมาถึงกิโลกรัมละ 27,210 บาทของการขายกาแฟสารหรือเมล็ดกาแฟดิบ รวมถึงการแข่งขันชิงแชมป์บาริสต้าระดับโลก ซึ่งปัจจุบันมีบาริสต้าหลายคนในเมืองไทยที่สามารถไปคว้ารางวัลจากระดับโลกมาได้ จากที่เคยเป็นเรื่องไกลเกินตัว แต่พอสามารถทำได้สำเร็จ ก็ยิ่งทำให้คนที่อยู่ต้นทางหรือเกษตรกรไทยเกิดความหวังมากขึ้น และทำให้เกิดการตื่นตัวจนสามารถพัฒนาได้แบบก้าวกระโดดขึ้นมา”
 




 
โรงคั่วกาแฟ อีกหนึ่งแฟชั่นของกาแฟไทยที่ต้องพัฒนา


      นอกจากปัจจัยที่ช่วยส่งเสริมกาแฟไทยให้สามารถพัฒนาได้ดีขึ้นแล้ว อีกหนึ่งภาพรวมของธุรกิจกาแฟไทยที่ผู้บริหาร Bluekoff ได้มองเห็นถึงความเปลี่ยนไปในวันนี้ คือ  การเกิดขึ้นของโรงคั่วเล็กๆ มากมายจากร้านกาแฟต่างๆ ซึ่งหากสามารถสร้างเอกลักษณ์หรือคาแรกเตอร์ที่ชัดเจนให้กับตัวเองได้ ก็จะสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับธุรกิจได้ แต่หากไม่มีการพัฒนาปรับปรุงที่มากพอ วันหนึ่งก็อาจกลายเป็นกระแสแฟชั่นและถูกกลืนหายไปเหมือนกับธุรกิจร้านกาแฟที่ครั้งหนึ่งเคยเกิดขึ้นมากก็เป็นได้
               

        “ในตอนนี้บ้านเรามีโรงคั่วเล็กๆ เกิดขึ้นจำนวนมาก ส่วนหนึ่งเกิดจากผู้ประกอบการธุรกิจร้านกาแฟต่างๆ เองที่อยากเรียนรู้และทดลองคั่วด้วยตัวเอง ซึ่งหากมีแพสชั่นที่ดี สามารถสร้างเอกลักษณ์และพัฒนาขึ้นอย่างจริงจังได้ ก็จะช่วยส่งเสริมและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับธุรกิจได้ แต่หากทำตามกระแสเห็นคนอื่นทำ ก็อยากทำบ้าง วันหนึ่งก็อาจถูกกลืนหายไป เหมือนช่วงหนึ่งที่บ้านเรามีธุรกิจร้านกาแฟเกิดขึ้นมากมาย แต่สุดท้ายหลายร้านก็ต้องปิดตัวลง เพราะทุกวันนี้คาเฟ่ที่ขายแค่ไลฟ์สไตล์อย่างเดียว ถ่ายรูปสวยเพียงอย่างเดียวอยู่ไม่ได้แล้ว โปรดักต์ของเขาต้องดีด้วย จึงจะอยู่รอดได้ เพราะผู้บริโภคเองก็มีความรู้เพิ่มมากขึ้นด้วย” ณัฏฐ์รดา กล่าวทิ้งท้าย





 
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

 

RECCOMMEND: MARKETING

วิกฤตสูงวัย เด็กเกิดใหม่น้อย กรณีศึกษาธุรกิจญี่ปุ่น ปรับตัวผลิตสินค้าผู้ใหญ่แทนสินค้าเด็ก

Oji Holdings ผู้ผลิตผ้าอ้อมในญี่ปุ่นประกาศยุติผลิตผ้าอ้อมเด็ก หันไปเพิ่มปริมาณการผลิตผ้าอ้อมผู้ใหญ่แทน สาเหตุมาจากอัตราการเกิดที่ลดลงและจำนวนประชากรสูงวัยของญี่ปุ่นที่เพิ่มสูงขึ้น

โอกาสโกอินเตอร์ของแบรนด์ไทย ทำงานกับนักธุรกิจระดับโลก งาน Gifts & Premium Fair ฮ่องกง

ฮ่องกงขึ้นชื่อว่าเป็นดินแดนที่มีการจัดงานแสดงสินค้าที่ยิ่งใหญ่ของโลกแห่งหนึ่ง และหนึ่งในนั้นคืองานแสดงสินค้าของขวัญและของพรีเมียมภายใต้ชื่อ Hong Kong Gifts & Premium Fair ซึ่งกำลังจะมีขึ้นระหว่างวันที่ 27-30 เมษายน 2024