วาเลนไทน์ปี 58 คึกคักผู้ประกอบการต้องวางกลยุทธ์เจาะกำลังซื้อ

 





    วาเลนไทน์ เป็นอีกหนึ่งเทศกาลที่สร้างความคึกคักให้ภาคธุรกิจอยู่ไม่น้อย ซึ่งในปีนี้น่าจะได้รับการตอบรับจากกลุ่มผู้บริโภคเป้าหมายมากพอสมควร ด้วยแรงหนุนจากสถานการณ์ทางการเมืองที่คลี่คลายแตกต่างจากปีก่อน จึงส่งผลให้ผู้บริโภคมีอารมณ์จับจ่ายใช้สอยและมีแนวโน้มทำกิจกรรมพิเศษต่างๆ ร่วมกับคู่รัก เพื่อนฝูงและครอบครัว

    ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า การจับจ่ายในช่วงเทศกาลวาเลนไทน์ของคนกรุงเทพฯ ปี 2558 จะมีเม็ดเงินสะพัดไม่ต่ำกว่า 1,500 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 7.2 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา โดยผู้บริโภคมีค่าใช้จ่ายในการซื้อสินค้าและทำกิจกรรมต่างๆ ในช่วงวาเลนไทน์ เฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 1,200 บาท/คน สำหรับกลุ่มวัยรุ่นอายุ 15-24 ปี ในขณะที่วัยทำงาน (อายุ 25-39 ปี) จะมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยขยับขึ้นมาที่ 2,300 บาท/คน เพราะเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูงขึ้นมาอีกระดับหนึ่ง

     ทั้งนี้ สาเหตุที่ค่าใช้จ่ายในปีนี้มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น น่าจะเป็นผลมาจากวาเลนไทน์ในปีนี้ตรงกับวันเสาร์ซึ่งถือเป็นวันหยุดของกลุ่มเป้าหมาย ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มนักเรียนนักศึกษาและกลุ่มคนทำงานบางกลุ่ม จึงทำให้จำนวนคนที่สนใจทำกิจกรรมวาเลนไทน์ในปีนี้เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ประกอบกับบรรยากาศวาเลนไทน์ในปีนี้ คาดว่าจะกลับมาคึกคักมากขึ้นกว่าปีที่แล้วที่มีปัญหาทางการเมือง ดังนั้น คาดว่าวาเลนไทน์ในปีนี้คนกรุงเทพฯ ที่เป็นกลุ่มเป้าหมายก็น่าจะออกมาร่วมทำกิจกรรมและมีการใช้จ่ายมากขึ้น

 

    ฉะนั้นบรรดาธุรกิจที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็น ห้างสรรพสินค้า ร้านอาหาร ร้านจำหน่ายดอกไม้ หรือแม้แต่เกษตรกรผู้ปลูกดอกกุหลาบ จึงต่างคาดหวังว่าเทศกาลวาเลนไทน์จะกระตุ้นให้ยอดจำหน่ายสินค้าและบริการเพิ่มขึ้นมากกว่าในภาวะปกติ โดยเฉพาะกลุ่มลูกค้าเป้าหมายอย่าง กลุ่มวัยรุ่น/วัยเรียน ไปจนถึงวัยทำงาน ซึ่งนิยมมอบของขวัญให้แก่กันเพื่อเป็นการแสดงถึงความรักในแบบฉบับของคู่รักหนุ่มสาว หรือมิตรภาพที่ดีระหว่างเพื่อน ดังนั้น การเข้าใจถึงพฤติกรรมของผู้บริโภคและวางกลยุทธ์การตลาดที่สามารถตอบสนองความต้องการของกลุ่มเป้าหมายให้ตรงจุด น่าจะเป็นโอกาสทางการตลาดของผู้ประกอบการที่จะเข้ามาช่วงชิงกำลังซื้อในช่วงเทศกาลแห่งความรักนี้ได้เป็นอย่างดี

     อย่างไรก็ตามรูปแบบการบอกรักออนไลน์ ยังดึงดูดความสนใจจากกลุ่มวัยรุ่น/วัยทำงานได้เป็นอย่างดี โดยจากผลการสำรวจของศูนย์วิจัยกสิกรไทย ที่ได้ทำการสำรวจ “พฤติกรรมของผู้บริโภคในกรุงเทพฯในช่วงวันวาเลนไทน์ปี 2558” พบว่า คนกรุงเทพฯ สนใจที่จะแสดงความรักผ่านสื่อออนไลน์อย่าง Social Media คิดเป็นสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 94 ของผู้ตอบแบบสอบถามทั้งหมด ซึ่งปัจจัยหลักที่ทำให้ Social Media ได้รับความนิยมสูงเพิ่มขึ้นทุกปี มาจากการเข้าสู่สังคมดิจิตอล รวมถึงการเติบโตของสมาร์ทโฟนและการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตของกลุ่มเป้าหมาย ที่ส่งผลให้Social Media ค่อนข้างมีอิทธิพลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน 
 


    ซึ่งจากการสำรวจ พบว่า กลุ่มตัวอย่างมีการใช้หรือเล่น Social Media เป็นประจำอยู่แล้ว อีกทั้งยังไม่เสียค่าใช้จ่าย หรือมีค่าใช้จ่ายที่ถูกมากเมื่อเทียบกับการซื้อของขวัญหรือทำกิจกรรมอื่นๆ รวมไปถึงสามารถรับส่งข้อความได้อย่างรวดเร็ว ทั้งนี้ ช่องทางที่ได้รับความนิยมสูงจากกลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ App. Chat ต่างๆ อาทิ Line, whatsApp คิดเป็นสัดส่วนถึงร้อยละ 84 ซึ่งส่วนใหญ่จะมีการส่งข้อความ หรือสติ๊กเกอร์ที่สื่อถึงความรักได้ค่อนข้างตรงใจกลุ่มเป้าหมาย 

    ดังนั้นหากผู้ประกอบการจะเกาะกระแสความนิยม อาจจะปรับกลยุทธ์ทางการตลาดผ่านช่องทางนี้ เพื่อสร้างการรับรู้ของสินค้าและแบรนด์ไปสู่ผู้บริโภค อาทิ การทำการตลาดสินค้าที่เกี่ยวข้องกับวาเลนไทน์ ผ่านแอพพลิเคชั่น หรือสติ๊กเกอร์แบรนด์สินค้าต่างๆ ใน App. Chat ต่างๆ ก็น่าจะทำให้สินค้าดูน่าสนใจและเป็นที่รู้จักมากขึ้น


RECCOMMEND: MARKETING

ย้อนตำนาน มาสคอตไทย ก่อน "น้องหมีเนย" มีแบรนด์ไหนทำมาร์เก็ตติ้งนี้บ้าง

หลายคนมี Brand Love ในใจ ที่ไม่ใช่แค่สินค้าต้องดี จนเรากลายเป็นลูกค้าประจำ ยังต้องมี Brand Characters ที่จะช่วยให้คนจดจำได้ อีกหนึ่งทางเลือกที่ถ้าอยากสร้างแบรนด์ให้ปัง

ขายสินค้าออร์แกนิกให้เป็นแมส จากแนวคิดแบรนด์ KING Organic

KING Organic ผู้ผลิตผัก ผลไม้ และสินค้าแปรรูปออร์แกนิก จ.สมุทรสาคร ได้คิดกลยุทธ์การทำธุรกิจที่เรียกว่า “Mass Premium” ขึ้นมา เพื่อทำของพรีเมียม ให้สามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้กว้างขวางมากขึ้น ในราคาที่ใครๆ ก็สามารถจับต้องได้ มีวิธีการยังไง ไปดูกัน