ต้องรอด! พลิกโมเดลท่องเที่ยวภูเก็ต ฟื้นวิกฤตในวิกฤต ด้วยกลยุทธ์ “ถูกและดี”

TEXT : กองบรรณาธิการ





Main Idea

การปรับตัวของท่องเที่ยวภูเก็ต
 
  • หันมาโฟกัสนักท่องเที่ยวในประเทศ
 
  • เปลี่ยนภาพใหม่เป็นเมืองท่องเที่ยว “ถูกและดี”
 
  • ขายวัฒนธรรมจากโลคัลสู่เลอค่า
 
  • ธุรกิจลดต้นทุนและขยายช่องทางขายใหม่
 
  • ปรับตัวให้พร้อมรับการเปิดประเทศในอนาคต



      เที่ยวภูเก็ตยุคไหนก็ไม่แฮปปี้เท่ายุคนี้ ยุคที่กำเงินหลักร้อยหลักพันก็สามารถชมความสวยงามของภูเก็ตได้แบบ Exclusive ไม่ต้องเบียดเสียดแออัดกับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ได้เสพความ “โลคัลสู่เลอค่า” แบบจริงๆ จังๆ ลบภาพจำของเมืองท่องเที่ยวยอดนิยมที่ทั้ง “แพงและไม่ต้อนรับคนไทย” ไปจากเดิมโดยสิ้นเชิง    
              
      ปรากฎการณ์นี้เกิดขึ้นหลังภูเก็ตได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ไวรัสโควิด-19  ไม่ต่างจากเมืองท่องเที่ยวทั่วโลก ความสาหัสที่พวกเขาเจอกำลังบีบบังคับให้ต้องรับมือและปรับตัวขนานใหญ่  
 




 
            จากความคึกคักสู่ความเคว้งคว้าง


      จังหวัดภูเก็ตเป็นหมุดหมายของขาเที่ยวจากทั่วโลก โดยมีนักท่องเที่ยวสูงถึง 14 ล้านคนต่อปี เป็นต่างชาติ 10 ล้านคน ไทยเที่ยวไทยอีก 4 ล้านคน สร้างรายได้เข้าประเทศสูงถึง 470,000 ล้านบาท


      ทว่าทันทีที่ไวรัสโควิดบุกโลก กระทบธุรกิจท่องเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวข้องอย่างหนักหน่วง ฉุดตัวเลขนักท่องเที่ยวภูเก็ต 7 เดือนแรก เหลือเพียงประมาณ 3 ล้านคน โดยเป็นต่างชาติ 2 ล้านคน และคนไทยอีก 1 ล้านคน รายได้ลดลงเหลือประมาณ 100,000 ล้านบาท ส่วนจะไปปิดเท่าไรตอนสิ้นปีก็ยังต้องลุ้น


      “จากตัวเลขที่เห็นว่าทำไมต่างชาติยังเยอะกว่าคนไทย เพราะเขาเข้ามาตั้งแต่ช่วงปลายปีอยู่จนถึงมกราคม-กุมภาพันธ์ เยอะมาก แต่พอหลังจากนั้นไม่มี Booking เรียกว่าเป็นศูนย์เลยสำหรับต่างชาติ คนทยอยกลับ จากนั้นก็ได้นักท่องเที่ยวคนไทยที่เข้ามาเติมตามนโยบายของรัฐบาลและกิจกรรมที่พวกเราช่วยกันจัดอย่างต่อเนื่อง เพื่อที่จะดึงคนเข้ามา ก็พอที่จะทำให้มีชีวิตชีวาขึ้นมาบ้าง”
           





      “นภสร ค้าขาย” ผู้อำนวยการ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานภูเก็ต รายงานสถานการณ์เมืองท่องเที่ยวที่วันนี้ทุกอย่างเปลี่ยนไปจากเดิม หาดป่าตองที่ 3 ทุ่ม เป็นช่วงเวลาเริ่มต้นความคึกคักแต่วันนี้ทุกอย่างกลับเงียบเหงา ร้านรวงปิดในเวลาที่ขาเที่ยวเคยออกท่องราตรี โรงแรมที่พักซึ่งมีอยู่กว่า 1,800 แห่ง ห้องพักมากกว่าแสนห้อง ปัจจุบันรายที่ยังพอมีสายป่าน เปิดให้บริการเพียง 125 แห่ง ห้องพักเหลือประมาณ 8,400 ห้อง เพราะส่วนใหญ่ยังเปิดไม่ 100 เปอร์เซ็นต์ แต่ทำเพื่อให้พอมีรายได้เข้ามาเลี้ยงธุรกิจบ้างเท่านั้น
ในฐานะคนภูเก็ตเธอยอมรับว่า ไม่เคยเจออะไรแบบนี้มาก่อนในชีวิต
              


      
 
      เมื่อธุรกิจบริการด้วยใจ กำลังถูกดิสรัปต์ด้วย “ไวรัส”
              

      เมื่อถามว่าธุรกิจอะไรที่จะไม่ถูกดิสรัปต์จากเทคโนโลยีหรือหุ่นยนต์ หนึ่งในนั้นคือธุรกิจนวดและสปา เพราะผู้คนยังต้องการการบริการจากคน แต่ใครจะคิดว่าวันนี้พวกเขาจะกลายเป็นหนึ่งในธุรกิจที่ถูกดิสรัปต์จาก “ไวรัส”
              

      “นวดและสปาเป็นธุรกิจที่ไม่โดนดิสรัปต์จากเทคโนโลยี เพราะยังต้องใช้คน ต้องใช้จิตใจของคนบริการ ไม่สามารถเอาหุ่นยนต์มาแทนที่ได้ แต่วันนี้เรากำลังถูกดิสรัปต์จากโรคอุบัติใหม่ ซึ่งมันเจ็บและจุกกว่ามาก ตั้งแต่ทำธุรกิจมาเกือบ 30 ปี ครั้งนี้ถือว่าหนักสุดในชีวิต อยู่เหนือทั้งใจและจินตนาการ อย่างสึนามินี่จิ๊บๆ ไปเลย เพราะมันเกิดแค่อันดามัน ประชาสัมพันธ์ไปคนก็เข้าใจว่าเป็นเรื่องของธรรมชาติ กลับมาเที่ยวใหม่ได้ เพราะคนทั้งโลกยังเที่ยว สายการบินยังบินอยู่ คนจังหวัดอื่นยังทำมาหากินกันปกติ ยังมีเงินที่จะมาเที่ยว แต่วันนี้มันไม่ใช่แค่ที่เรา ที่อื่นก็ลำบาก เศรษฐกิจยังไม่ดี และการระบาดก็ยังไม่จบ เหตุการณ์ครั้งนี้หนักเป็นพันเท่าของสึนามิเลย”
              




      “รัตนดา ชูบาล”  นายกสมาคมสปาเพื่อสุขภาพ จังหวัดภูเก็ต เจ้าของกิจการ ธารธาราสปา บอกเล่าความรู้สึกในฐานะคนทำเดย์สปาแห่งแรกของภูเก็ต และผ่านช่วงวิกฤตในเมืองท่องเที่ยวแห่งนี้มาหลายครั้ง ใครจะคิดว่าธุรกิจนวดและสปาที่เคยคึกคัก จนร่ำลือไปทั่วโลก โดยภูเก็ตมีร้านนวดและสปาที่ขึ้นทะเบียนกับกระทรวงสาธารณสุขที่ประมาณ 690 แห่ง เป็นสปาประมาณ 150 แห่ง อีก 440 คือร้านนวด มีพนักงานเทอราปิสอยู่เกือบหมื่นชีวิต สร้างรายได้ที่กว่า 4 พันล้านบาทต่อปี วันนี้มีร้านที่เปิดให้บริการไม่เกิน 20 แห่ง ร้านหน้าหาดปิดไปเพราะไม่มีนักท่องเที่ยว ร้านในโรงแรมต้องปิดตามโรงแรมที่ปิดตัวชั่วคราว แม้แต่ธารธาราสปาของเธอเองที่ปรับตัวอย่างต่อเนื่อง โดยงัดทั้งช่องทางขายใหม่ๆ ใช้ Social Media และกลยุทธ์ต่างๆ มาสู้ แต่ก็ยังมีรายได้กลับมาไม่ถึง 10 เปอร์เซ็นต์ด้วยซ้ำ


      “วันนี้ร้านนวดและสปาต้องปรับตัวอย่างหนัก ถามว่าเราต้องปรับอย่างไร ก็ต้องอาศัยนักท่องเที่ยวคนไทยที่จะเข้ามาในเกาะเยอะขึ้น รวมถึงการประชาสัมพันธ์ของททท. และทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องมาช่วยกัน เราอยากเสนอให้รัฐบาลออกเป็นวอชเชอร์ (Voucher) ให้ทุกคนที่เดินทางท่องเที่ยวในจังหวัดต่างๆ มีวอชเชอร์ 300 บาท สำหรับใช้บริการร้านนวดและสปาที่ไหนก็ได้ เพื่อให้เกิดรายได้กลับมาที่ร้านนวดและสปาทุกร้าน ไม่ใช่แค่ในภูเก็ตเท่านั้น เพราะเชื่อว่าวันนี้ทุกคนก็ลำบากเหมือนกันหมด”
              

       ในฐานะคนที่เจอวิกฤตมาหลายครั้ง เราถามว่าผู้ประกอบการจะผ่านเหตุการณ์ครั้งนี้ไปได้อย่างไร ในสถานการณ์ที่แค่ “ทำใจ” ไม่พอ เธอบอกว่า
              

      “ต้องคิดบวก คิดว่าเดี๋ยวมันก็จะดีขึ้น วันนี้เราต้องมองคนที่หนักกว่าเรา คนที่เป็นหนี้มากกว่าเรา เขาทุกข์กว่าเรา ยิ่งใหญ่ยิ่งสาหัสสากรรจ์ เช่น เขากู้เงินมา 800 ล้านบาท เรากู้มา 8 ล้านบาท เราเหนื่อยน้อยกว่าเขา เพราะฉะนั้นถ้าเขายังอยู่ได้ เราก็ต้องอยู่ให้ได้ แต่ไม่ใช่มองแล้วท้อ อยากให้มองว่าเราเป็นคนสร้างงานสร้างอาชีพ เรากำลังทำบุญอยู่ ยังช่วยเหลือลูกน้องให้เขามีรายได้ แม้ว่าจะไม่มากนักแต่ให้เขาได้เป็นคนดีของสังคม ไม่ต้องไปเป็นขโมยขโจร ท่ามกลางสถานการณ์อย่างนี้ ก่อนหน้านี้เราใช้เขาทำงาน วันนี้เราจะทำงานเพื่อเขา และเราต้องรอดไปด้วยกัน” เธอบอก
 



      
      แก้วิกฤตท่องเที่ยวภูเก็ตด้วยกลยุทธ์ “ถูกและดี”
              

      โควิดทิ้งวิกฤตก้อนใหญ่ให้กับผู้ประกอบการภูเก็ต แต่ขณะเดียวกันก็ได้มอบของขวัญให้กับเมืองที่เต็มไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติและมรดกทางวัฒนธรรมแห่งนี้ด้วย เมื่อระบบนิเวศน์เริ่มกลับมาสวยงาม ธรรมชาติได้รับการฟื้นฟู ชาวภูเก็ตได้กลับมาทบทวนการทำธุรกิจ ปรับกลยุทธ์ ปรับกลุ่มเป้าหมาย  และชูจุดขายใหม่ๆ ที่หลบซ่อนอยู่ในเมืองท่องเที่ยวแห่งนี้ เมื่อตลาดหลักกลับมาเป็นลูกค้าคนไทย และภาพลักษณ์ใหม่ต้องเกิดในเมืองท่องเที่ยวภูเก็ต


       “เดิมคนไทยจะมีภาพว่า ภูเก็ตไม่ต้อนรับคนไทย และราคาแพง แต่อยากให้เปลี่ยนวิธีคิดว่าที่ผ่านมาเขาทำหน้าที่นำรายได้เข้าประเทศ กำลังทำบทบาทสำคัญให้กับประเทศเราคือต้อนรับลูกค้า ตอนนี้เป็นช่วงที่ภูเก็ตน่าเที่ยวที่สุด เหมือนธรรมชาติกลับคืนมา แต่ข้อดีก็คือว่าวันนี้มันเจริญแล้ว เป็นช่วงที่ถูกและดีของลูกค้าคนไทย”






       “พิกุล ศรีมหันต์”
รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอี ธนาคารไทยพาณิชย์บอก
              

      หลังการมาถึงของโควิดทำให้ผู้ประกอบการในภูเก็ตและจังหวัดใกล้เคียง ต้องปรับเกมรบใหม่ เพื่อหาทางออกของปัญหาใหญ่คือเรื่องของ “การขาย” กับ “ต้นทุน” เมื่อวันนี้ลูกค้าต่างชาติไม่มา มีลูกคนไทยเป็นเป้าหมาย และธุรกิจจำเป็นที่ต้องมีรายได้เพื่อมาเดินหน้ากิจการให้ไปต่อ ผู้ประกอบการจึงต้องปรับวิธีการและวิธีคิดในการทำธุรกิจใหม่
              

      “วันนี้ผู้ประกอบการต้องปรับตัวใน 2 เรื่อง คือ 1.Lean คุณต้องลีนก่อน คือต้องลดต้นทุนลง เพื่อรักษาสภาพอาคารของเราเอาไว้ และรักษาสภาพการจ้างงานพอประมาณ ประคองตัวเองเพื่อรอนักท่องเที่ยวที่จะกลับมาในอนาคต 2.เพิ่มช่องทางการขาย โดยใช้ Social Marketing และ Digital Marketing เข้ามาช่วย ต้องพยายามสร้างช่องทางการขายให้ครบ นอกจากพึ่งทราเวลเอเจนซี่อย่างเดียว ก็ต้องฝึกที่จะพึ่งพาตัวเองให้มากขึ้นด้วย”
              

      ในขณะที่ภูเก็ตวันนี้รายใหญ่ก็ลงมาเล่นสงครามราคากันมากขึ้น แล้วผู้ประกอบการท่องเที่ยวและโรงแรมรายเล็กอย่าง SME  จะสู้กับรายใหญ่ได้อย่างไรไหว พิกุลเชื่อว่าโรงแรมใหญ่ไม่ใช่คู่แข่งของโรงแรมเล็ก เพราะทุกโรงแรมต่างมีจุดขายและลูกค้าเป้าหมายเป็นของตัวเอง
              




      “มองว่าข้อได้เปรียบของโรงแรมเล็กก็คือจำนวนห้องเราน้อย ฉะนั้นค่า Overhead ค่าบำรุงรักษาอะไรต่างๆ เราต่ำกว่าโรงแรมใหญ่ แล้วเวลาปรับตัวเราจะเร็ว ซึ่งวันนี้ไม่ได้ต้องการลูกค้าจำนวนมากแต่ต้องการลูกค้าแค่พอมีช่องให้รอด ถามว่าการลดราคาจะทำให้เขายังมีกำไรใช่ไหม อย่าเพิ่งมาคิดว่าเขาจะกลับมารายได้เยอะแยะมากมาย แต่ตอนนี้มันเหมือนกับประคองให้ธุรกิจอยู่ได้เท่านั้นเอง และราคาไม่จำเป็นต้องไปแข่งกับแบรนด์ใหญ่ เรามีแค่ 80 ห้อง แต่โรงแรมใหญ่เขามี 500 ห้อง คนละกลุ่มเป้าหมายกัน มันขึ้นอยู่กับ Business Model ว่า Content ของคุณเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้มากแค่ไหน แล้วดูแล Overhead ของเราให้ดี มันคือการปรับตัว ถ้าเขาไม่มี Passion ในการปรับตัวอัตราการรอดก็จะน้อยมาก” พิกุลย้ำ
 

              




       นี่เป็นกลยุทธ์ที่ผู้ประกอบการภูเก็ตใช้เพื่อพลิกวิกฤตให้ตัวเอง ส่วนหลังจากนี้จะเป็นอย่างไร ผอ.ททท.ภูเก็ต บอกเราว่า ภูเก็ตจะต้องกระจายความเสี่ยงมากขึ้น ไม่พึ่งพานักท่องเที่ยวเพียงอย่างเดียว โดยจะต้องหาอย่างอื่นมาเป็นตัวเสริม ไม่ว่าจะเป็น “Gastronomy” เรื่องของอาหารท้องถิ่น ที่ภูเก็ตได้รับรางวัลเมืองสร้างสรรค์ด้านวิทยาการอาหารจากยูเนสโกมาแล้ว ซึ่งอาจจะมีโรงงานแปรรูปอาหาร การลงทุนใหม่ๆ และสร้างงานใหม่ๆ เกิดขึ้น  “Educational”  ยกระดับเป็นศูนย์กลางการศึกษานานาชาติ  “Marina”  ท่าเทียบเรือสำราญ โดยอาจต่อยอดเป็นอู่ต่อเรือมารีน่า โรงงานผลิตชิ้นส่วน และวิชาชีพช่างซ่อมเรือสำราญ เป็นต้น “Sports and events” ด้านกีฬาและกิจกรรม เช่น ส่งเสริมการเป็นที่เก็บตัวนักกีฬานานาชาติ เป็นต้น และ “Smart City” การเป็นเมืองอัจฉริยะ


     และนี่คือหนทางกระจายความเสี่ยงของเมืองใหญ่ ที่เคยมีรายได้จากนักท่องเที่ยวเป็นหลัก และกำลังอยู่อย่างลำบากในวันที่...ไร้นักท่องเที่ยว
              




www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี
 
 

RECCOMMEND: MARKETING

วิกฤตสูงวัย เด็กเกิดใหม่น้อย กรณีศึกษาธุรกิจญี่ปุ่น ปรับตัวผลิตสินค้าผู้ใหญ่แทนสินค้าเด็ก

Oji Holdings ผู้ผลิตผ้าอ้อมในญี่ปุ่นประกาศยุติผลิตผ้าอ้อมเด็ก หันไปเพิ่มปริมาณการผลิตผ้าอ้อมผู้ใหญ่แทน สาเหตุมาจากอัตราการเกิดที่ลดลงและจำนวนประชากรสูงวัยของญี่ปุ่นที่เพิ่มสูงขึ้น

โอกาสโกอินเตอร์ของแบรนด์ไทย ทำงานกับนักธุรกิจระดับโลก งาน Gifts & Premium Fair ฮ่องกง

ฮ่องกงขึ้นชื่อว่าเป็นดินแดนที่มีการจัดงานแสดงสินค้าที่ยิ่งใหญ่ของโลกแห่งหนึ่ง และหนึ่งในนั้นคืองานแสดงสินค้าของขวัญและของพรีเมียมภายใต้ชื่อ Hong Kong Gifts & Premium Fair ซึ่งกำลังจะมีขึ้นระหว่างวันที่ 27-30 เมษายน 2024