“8 วิธี” แปลงงานวิจัยให้เป็นธุรกิจ…แบบทำได้ ขายจริง

TEXT : กองบรรณาธิการ





Main Idea
 
 
     เปลี่ยนงานวิจัย ให้เป็นงานขาย
 
 
  • คิดจากปัญหา
 
  • ตั้งโจทย์ให้ชัดเจน
 
  • ทำงานเป็นทีมเวิร์ก
 
  • ผลิตได้จริง ขายได้จริง
 
  • ดูให้ครบทุกองค์ประกอบ
 
  • มองผลระยะยาว
 
  • ไม่ล้มเลิกง่ายๆ
 
  • แบ่งกำไรมาลงทุนงานวิจัยใหม่ๆ อยู่เสมอ
 


 
               
      บนโลกนี้มีองค์ความรู้อยู่มากมาย โดยเฉพาะผลงานวิจัยต่างๆ ที่สามารถนำมาต่อยอดได้มากมายมหาศาล แต่หลายครั้งที่งานวิจัยดีๆ กลับอยู่แค่บนหิ้ง ไม่สามารถนำมาปรับใช้กับชีวิตจริง หรือแปลงให้เป็นธุรกิจขึ้นมาได้จากปัจจัยหลายๆ อย่างด้วยกัน ทำอย่างไรจึงจะเปลี่ยนงานวิจัยให้นำมาใช้ประโยชน์ได้จริงกลายเป็นผลิตภัณฑ์ที่สามารถจับต้องได้ วันนี้เรามีคำแนะนำจากผู้ประกอบการที่หยิบเอางานวิจัยมาใช้ประโยชน์ในธุรกิจมาฝากกัน ซึ่งสรุปออกมาเป็นข้อๆ ได้ดังนี้



 
 
  • คิดจากปัญหา
               

     เหตุผลของการนำงานวิจัยเข้ามาใช้ในธุรกิจ ส่วนใหญ่แล้วมักเริ่มต้นขึ้นมาจากปัญหา ไม่ว่าปัญหาจากตัวธุรกิจเอง หรือปัญหาของผู้บริโภคสินค้าก็ตาม ผู้ประกอบการสามารถหยิบนำปัญหาเหล่านั้นมาตั้งเป็นโจทย์ เพื่อหาวิธีการแก้ไข ปรับปรุงพัฒนาผลิตภัณฑ์ กระบวนการผลิต การตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า โดยการศึกษาค้นคว้าด้วยตนเอง ปรึกษาหน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญด้านต่างๆ จนนำไปสู่การสร้างงานวิจัยของธุรกิจ และทำให้เกิดมูลค่าเพิ่มขึ้นมาได้

 
  • ตั้งโจทย์ให้ชัดเจน


     ก่อนจะลงมือค้นคว้างานวิจัยขึ้นมาสักชิ้น ผู้ประกอบการธุรกิจควรตั้งโจทย์ให้ชัดเจนก่อนว่าต้องการนำงานวิจัยดังกล่าวมาใช้ประโยชน์อะไร ผลลัพธ์ที่อยากได้ คือ อะไร ต้องการผลิตภัณฑ์รูปแบบไหน มีคุณสมบัติ และลักษณะเป็นอย่างไร เพื่อให้นักวิจัยสามารถเข้าใจสิ่งที่เราต้องการได้มากที่สุด



 
 
  • ทำงานเป็นทีมเวิร์ก
               

      เพื่อให้ผลลัพธ์ของงานออกมาดีที่สุด ในการทำงานผู้ประกอบการและนักวิจัยเองควรเปิดใจ รับฟัง ทำงานเป็นทีมเวิร์ก และพูดคุยกันอย่างมีเหตุผลให้มากที่สุด โดยต้องปรับจูนกันระหว่างเหตุผลทางธุรกิจและหลักการทางวิทยาศาสตร์ เพื่อหาหนทางที่จะเป็นไปได้และดีที่สุดร่วมกันตามเป้าหมายที่วางไว้
 
 
  • ผลิตได้จริง ขายได้จริง
               

      หนึ่งในเหตุผลสำคัญที่จะนำมาใช้ชี้วัดว่างานวิจัยดังกล่าวประสบความสำเร็จหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับว่าสามารถนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้จริงหรือเปล่า โดยอันดับแรกผู้ประกอบการต้องคำนึงถึงกระบวนการผลิตก่อน ว่ามีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหนที่จะผลิตออกมาเป็นสินค้าเพื่อวางจำหน่าย กระบวนการผลิตเป็นอย่างไร ทำได้ไหม ต้นทุนที่ใช้เท่าไหร่ ทำออกมาแล้วจะมีคนซื้อไหม เป็นราคาที่ลูกค้ารับได้หรือเปล่า




 
  • ดูให้ครบทุกองค์ประกอบ
               

      การจะขายสินค้าได้หรือไม่ได้ จริงๆ แล้วไม่ได้ขึ้นอยู่ที่ตัวสินค้าแค่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่การที่ลูกค้าจะตัดสินใจซื้อสินค้าสักขึ้นได้มีองค์ประกอบหลายอย่างด้วยกัน อาทิ แพ็กเกจจิ้งที่ดึงดูดใจ การทำการตลาดให้เป็นที่รู้จัก ดังนั้นต่อให้มีงานวิจัยดีแค่ไหนก็ตาม แต่การจะทำให้สินค้าขายได้ ผู้ประกอบการต้องดูให้ครบรอบด้าน ทุกองค์ประกอบด้วย
 
 
  • มองผลระยะยาว


     จริงอยู่ว่าเราอาจทำงานวิจัยขึ้นมา ก็เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับธุรกิจในวันนี้ แต่เพื่อให้เกิดประโยชน์ได้อย่างสูงสุด ผู้ประกอบการควรมองถึงผลระยะยาวที่จะได้รับจากการคิดค้นวิจัยขึ้นมาด้วย เช่น อนาคตจะนำไปต่อยอดพัฒนาผลิตภัณฑ์อะไรขึ้นมาได้อีกบ้าง หรืองานวิจัยดังกล่าวมีโอกาสที่จะเติบโตหรือค้นคว้าเพิ่มเติมขึ้นมาได้อีกไหม ผู้ประกอบการไม่ควรหยุดคิดหรือนำมาใช้ประโยชน์แค่ครั้งเดียว เพราะไหนๆ ก็เรียกว่าได้เริ่มต้นลงทุนไปแล้ว ควรใช้ประโยชน์ให้คุ้มค่า




 
  • ไม่ล้มเลิกง่ายๆ
               

     สุดท้ายแล้วผู้ประกอบการที่จะประสบความสำเร็จจากการนำงานวิจัยเข้ามาใช้ในธุรกิจได้ ก็คือ ต้องมีความอดทน ไม่ย่อท้อต่ออุปสรรคที่เข้ามา หรือล้มเลิกความตั้งใจไปง่ายๆ เสียก่อน เพราะการทำงานวิจัยขึ้นมาสักชิ้นหนึ่งต้องใช้ทั้งพลังแรงกายแรงใจ ไปจนถึงเงินลงทุนจำนวนมากนั่นเอง
 
 
  • แบ่งกำไรมาลงทุนงานวิจัยใหม่ๆ อยู่เสมอ
               

     ความรู้ไม่มีวันสิ้นสุดฉันใด งานวิจัยก็ไม่มีทางจบลงง่ายๆ เพียงแค่ครั้งเดียวเท่านั้น ดังนั้นผู้ประกอบการต้องหมั่นพัฒนาองค์ความรู้ใหม่ๆ ของตนอยู่เสมอ ซึ่งการมีงานวิจัยเป็นของตัวเองจะทำให้เรามีความได้เปรียบทางธุรกิจ และการไม่หยุดนิ่งอยู่กับที่จะทำให้เราก้าวต่อไปได้ไกลขึ้นอีกเรื่อยๆ แม้อาจไม่สัมฤทธิ์ผลขึ้นมาในวันนี้ แต่ไม่สูญเปล่าแน่นอน
               

     ลองเอาวิธีเหล่านี้ไปใช้ดูไม่แน่ว่าคุณอาจมีสินค้าใหม่ๆ มีนวัตกรรม ถูกใจตลาด จากงานวิจัยดีๆ ขึ้นมาบ้างก็ได้นะ
 
 
 
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี
 

RECCOMMEND: MARKETING

วิกฤตสูงวัย เด็กเกิดใหม่น้อย กรณีศึกษาธุรกิจญี่ปุ่น ปรับตัวผลิตสินค้าผู้ใหญ่แทนสินค้าเด็ก

Oji Holdings ผู้ผลิตผ้าอ้อมในญี่ปุ่นประกาศยุติผลิตผ้าอ้อมเด็ก หันไปเพิ่มปริมาณการผลิตผ้าอ้อมผู้ใหญ่แทน สาเหตุมาจากอัตราการเกิดที่ลดลงและจำนวนประชากรสูงวัยของญี่ปุ่นที่เพิ่มสูงขึ้น

โอกาสโกอินเตอร์ของแบรนด์ไทย ทำงานกับนักธุรกิจระดับโลก งาน Gifts & Premium Fair ฮ่องกง

ฮ่องกงขึ้นชื่อว่าเป็นดินแดนที่มีการจัดงานแสดงสินค้าที่ยิ่งใหญ่ของโลกแห่งหนึ่ง และหนึ่งในนั้นคืองานแสดงสินค้าของขวัญและของพรีเมียมภายใต้ชื่อ Hong Kong Gifts & Premium Fair ซึ่งกำลังจะมีขึ้นระหว่างวันที่ 27-30 เมษายน 2024