Trends Hunter 2021 5 เรื่องที่ต้องเกาะติด ถ้าคิดจะทำธุรกิจปีหน้าให้สตรอง

TEXT : กองบรรณาธิการ
PHOTO : ฝ่ายภาพ SME Thailand





Main Idea
 
 
     รวม 5 เรื่องต้องเกาะติด รับธุรกิจปี 2021
 
 
  • พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไปหลังโควิด ธุรกิจต้องปรับตาม
 
  • เลิกนิยามลูกค้าด้วยภาพจำเก่าๆ ในยุคที่นักช้อปไร้เพศ
 
  • สงครามอีคอมเมิร์ซยังรุนแรง อยากรอดต้องเปลี่ยน
 
  • เมื่อโลกเปลี่ยน กลยุทธ์การตลาดก็ต้องเปลี่ยนไป
 
  • ปรับกลยุทธ์ธุรกิจให้ก้าวล้ำทันยุค Next Normal
 



 
     จะเกิดอะไรขึ้นในปีหน้า มีเทรนด์ไหนที่ต้องเกาะติด และกลยุทธ์ใดที่จะใช้รับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่ยากจะคาดเดาได้ ในเวทีสัมมนาการตลาดแห่งปี SME Thailand & STARTUP Trends Hunter 2021
                 

     ซึ่งจัดโดย SME Thailand และ SME Startup เมื่อวันที่ 24 – 25 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ได้รวบรวมผู้นำธุรกิจและนักการตลาดแถวหน้าของเมืองไทย กว่า 20 กูรู มาแบ่งปันองค์ความรู้ที่จะทำให้ผู้ประกอบการก้าวทันเทรนด์ และเป็นผู้นำแห่งอนาคต ในยุค Next Normal
               

     และนี่คือ 5 เรื่องที่ SME และ Startup ต้องเกาะติดถ้าคิดจะอยู่อย่างสตรองในปีหน้า



               
           
1. พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไปหลังโควิด ธุรกิจต้องปรับตาม
 
               
     ชินตา ศรีจินตอังกูร” Country Lead, The Nielsen Company(Thailand) Ltd. บอกในหัวข้อ “Trends Hunter จับตาเทรนด์การตลาดใหม่” ถึง 4 พฤติกรรมผู้บริโภค ที่เปลี่ยนโลกธุรกิจในปี 2021 คือ 1.อะไรที่หยิบลงตะกร้าลูกค้าจะเลือกที่จำเป็นเท่านั้น แต่คำว่าจำเป็น ก่อนและหลังโควิดต่างกัน 2.พฤติกรรมคนที่อยู่กับบ้านมากขึ้น ส่งผลต่อความต้องการของสินค้า-บริการแตกต่างไป 3. แรงจูงใจและแรงบันดาลใจในการไปช้อปปิ้งเปลี่ยนไป และ 4.ผู้บริโภคจะซื้อสินค้าที่คุ้มค่ากับเงินที่จ่ายไปเท่านั้น ไม่ใช่แค่ถูกแต่ต้องดีที่สุดสำหรับตัวเขา
               

     โดยสรุปวิธีการที่ผู้ประกอบการจะใช้รับมือพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไว้คือ “เปลี่ยนที่ขาย” โดยหลังวิกฤตโควิด-19 ทำให้ร้านประจำของผู้บริโภคเปลี่ยนไป สินค้าจึงต้องตอบโจทย์และไปถูกช่องทาง “เปลี่ยนมายด์เซ็ต” ต้องสร้างวิธีการใช้ใหม่ๆ นำเสนอวิธีการใช้งานในรูปแบบที่แตกต่าง และเพิ่มโอกาสในการใช้ ขณะที่ราคาและโปรโมชั่นยังเป็นสิ่งจำเป็น แต่ต้องให้เขารู้สึกคุ้มค่ากับเงินที่ต้องจ่าย “เปลี่ยนไลฟ์สไตล์”  โดยนวัตกรรมหรือการออกสินค้าใหม่ๆ ยังเป็นโอกาสในการขายอยู่ ยังเติบโตได้ดีและช่วยต่อยอดธุรกิจได้ แต่ผู้ประกอบการต้องเพิ่มช่องทางในการสื่อสารถึงผู้บริโภคมากขึ้น เพราะคนอยู่บ้านมากขึ้น มีพฤติกรรมเสพสื่อเปลี่ยนไป



 
               
2. เลิกนิยามลูกค้าด้วยภาพจำเก่าๆ ในยุคที่นักช้อปไร้เพศ
 
               
     สโรจ เลาหศิริ” นักวางกลยุทธ์และ CMO บริษัท Rabbit Digital Group ชวนผู้ประกอบการมารู้จัก “Genderless Shopper เกาะเทรนด์นักช้อปยุคใหม่ในวันที่สินค้าไร้เพศ” หนึ่งเทรนด์ร้อนที่กำลังมาแรง ที่จะเปลี่ยนโมเดลการสื่อสารการตลาด และการทำธุรกิจยุคนี้ให้ต่างไปจากเดิม หลังจากมีการเรียกร้องความเท่าเทียมทางเพศ และการเปิดกว้างเรื่องความหลากหลายทางเพศมากขึ้น


     โดยแนะวิธีพลิกความเชื่อเพื่อคว้าโอกาสจากเทรนด์ GENDERLESS ด้วย 3 กลยุทธ์ คือ 1.ออกแบบสินค้าแบบ GENDERLESS ที่ใช้ได้ทุกคน แฟชั่นไม่มีโซนหญิง-ชาย โทนสีไม่มีเพศ 2. ทลายกรอบของเพศด้วยการตลาดและการสื่อสารแบบ GENDERLESS โดยสื่อด้วยภาพที่ไม่จำกัดด้วยเพศ ไม่ยึดติดว่าต้องใช้โมเดลชายหรือหญิงเท่านั้น และ 3. ตั้งกลุ่มเป้าหมายที่โฆษณาให้มีความสมดุลด้านเพศมากขึ้น โดยตั้งกลุ่มเป้าหมายที่ใช่ นำส่งโฆษณาให้เข้าถึงกลุ่ม GENDERLESS มากขึ้น



               
           
3.สงครามอีคอมเมิร์ซยังรุนแรง อยากรอดต้องเปลี่ยน
 
           
     “ธนาวัฒน์ มาลาบุปผา” นายกสมาคมผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไทย และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไพรซ์ซ่า จำกัด
ชวน SME ส่องธุรกิจอีคอมเมิร์ซ เปลี่ยนอย่างไรให้รอดในตลาด Red Ocean โดยรายงานมูลให้ฟังว่า ปัจจุบันสินค้าที่จำหน่ายอยู่บนโลกออนไลน์มีจำนวนมหาศาล โดยเฉพาะที่ขายอยู่บน 3 แพลตฟอร์มดัง อย่าง Lazada,Shopee และ JD Central ในปี 2018 พบว่าอยู่ที่ 74 ล้านชิ้น ขยับมาปี 2019 มีจำนวนสูงถึง 174 ล้านชิ้น หรือเติบโตขึ้นถึง 2.4 เท่า


     อย่างไรก็ตามประเด็นที่น่าสนใจคือ สินค้าส่วนใหญ่เป็นสินค้าที่มาจากต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศจีน โดยในปี 2019 พบว่า มีสินค้าในประเทศแค่ประมาณ 39 ล้านชิ้น จากจำนวน 174 ล้านชิ้น แต่เป็นสินค้านำเข้าสูงถึง135 ล้าน เลยทีเดียว


     นั่นจึงทำให้ผู้ประกอบการไทยต้องปรับตัวเพื่ออยู่ให้รอดในตลาด Red Ocean  โดยเขาแนะนำ 3 กลยุทธ์สำคัญ คือ

     
     “1.สินค้า” ต้องสร้างเอกลักษณ์ให้แตกต่าง ต้องไม่ซ้ำใคร และคัดสรรคุภาพให้ดีที่สุด “2. บริการ” ต้องเพิ่มมูลค่า สร้างความประทับใจ โดยต้องเน้นส่งด่วน ส่งฟรี รับประกันคุณภาพสินค้า เปลี่ยนคืนสินค้าได้ และบริการเก็บเงินปลายทาง และ”3. ช่องทาง” ต้องมีช่องทางการขายที่ครอบคลุม ไม่ว่าจะหน้าร้าน เฟซบุ๊ก อินสตาแกรม มาร์เก็ตเพลส และเว็บไซต์ ของตัวเอง



 
 
4. เมื่อโลกเปลี่ยน กลยุทธ์การตลาดก็ต้องเปลี่ยนไป
 

     “วีรพล สวรรค์พิทักษ์” Digital Marketing Manager บริษัท อีมิแน้นท์แอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ได้พูดในมุมของนักการตลาดว่าเมื่อปัจจัยแวดล้อมในโลกยุคปัจจุบันเปลี่ยนไปไม่เหมือนเก่า รวมถึงพฤติกรรมของผู้บริโภคเอง ดังนั้นส่วนผสมคลาสสิกทางการตลาดอย่าง “4P” ก็ต้องมีการเปลี่ยนไปด้วย


     เริ่มตั้งแต่ 1.Prouduct ในวันนี้ลูกค้าไม่ได้ยึดติดกับแบรนด์เหมือนเช่นเดิมแล้ว แต่กลับเลือกซื้อสินค้าตามคุณค่าและประโยชน์ที่จะได้รับมากกว่า ดังนั้นต่อให้คุณมุ่งสร้างแบรนด์หรือโฆษณาออกมามากเพียงใดก็ตาม แต่หากสินค้าไร้คุณภาพ ก็ย่อมไม่ได้รับการเหลียวแลจากลูกค้ายุคนี้แน่นอน 2. Price จริงอยู่ที่การตั้งราคาสินค้าขายถูกอาจสามารถจูงใจลูกค้าในยุคก่อนหน้านี้ได้บ้าง แต่สำหรับในยุคนี้ที่เทคโนโลยีการสื่อสารรวดเร็วและเติบโตมากขึ้น จะค้นหาข้อมูลอะไรก็ง่ายขึ้น ดังนั้นราคาถูกเพียงอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอที่จะมัดใจลูกค้ายุคนี้ได้ คุณภาพและคุณค่าของสินค้ายังเป็นปัจจัยในการเลือกอันดับต้นๆ


     3. Place เพราะการเลือกซื้อสินค้าในยุคนี้ ไม่ได้มีแค่หน้าร้านหรือต้องจ่ายแค่เงินสดซื้อเหมือนเดิมอีกต่อไปแล้ว แต่กลับมีช่องทางการขายและชำระเงินใหม่ๆ เกิดขึ้นมากมาย ดังนั้นผู้ประกอบการธุรกิจต้องศึกษาและให้ความสำคัญทั้งกับโลกการค้าในออฟไลน์ และออนไลน์ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าที่สามารถเข้ามาได้ทุกช่องทาง สุดท้าย 4. Promotion อย่างที่บอกว่าโลกยุคนี้ไม่ได้มีการแบ่งเส้นระหว่างออนไลน์และออฟไลน์อีกต่อไปแล้ว ดังนั้นหากผู้ประกอบการธุรกิจคิดจะสร้างโปรโมชั่นเพื่อจูงใจลูกค้า ก็ต้องทำทั้งใน 2 ส่วน ทั้งออนไลน์และออฟไลน์ด้วย



 
           
5. ปรับกลยุทธ์ธุรกิจให้ก้าวล้ำทันยุค Next Normal
 
               
     สำหรับเรื่องสุดท้ายที่ผู้ประกอบการยุคใหม่ต้องปรับตัวและก้าวตามให้ทัน “พลาวุฒิ จิตมั่น” Business Development Director Micron Group Co.,Ltd เจ้าของแบรนด์ Super Lock ได้ให้คำแนะนำการสร้างกลยุทธ์ธุรกิจที่ผู้ประกอบการทุกคนต้องตอบคำถามตัวเองให้ได้มีอยู่ 3 โจทย์ คือ


     Want – อะไรที่อยากทำ เป็นข้อแรกที่ผู้ประกอบการต้องตอบตัวเองให้ได้ก่อน


     May – อะไรที่ผู้บริโภคต้องการ เมื่อได้คำตอบให้กับตัวเองในข้อแรก สิ่งต่อมาที่ผู้ประกอบการต้องตอบให้ได้ คือ การค้นหาความต้องการจากผู้บริโภคให้ได้


     Can – อะไรที่สามารถทำได้ จากโจทย์คำถามที่ 2 ข้อเบื้องต้นที่สามารถตอบได้แล้ว บทสรุปข้อสุดท้ายเพื่อนำทุกอย่างมารวมกันว่าจากโจทย์ที่ได้ทั้งสิ่งที่อยากทำและสิ่งที่ผู้บริโภคต้องการ เราจะสามารถสร้างนวัตกรรมหรือผลิตอะไรขึ้นมาได้บ้าง


     ซึ่งหากผู้ประกอบการสามารถตอบโจทย์ได้ครบทุกข้อ แน่นอนว่าธุรกิจก็ย่อมสามารถก้าวทันโลกยุคใหม่ได้อยู่เสมอ แม้จะมีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นและเข้ามากระทบอย่างหนักหนาสาหัสแค่ไหนก็ตามในปีหน้า
 











 
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: MARKETING

ฟังก์ชันแยกบิลจ่ายได้ เทรนด์ใหม่ที่ร้านอาหารต้องรู้ ลูกค้ายุคใหม่อยากจ่ายเท่าที่กินโดยไม่รู้สึกผิด

ไม่ใช่เรื่องต้องรู้สึกผิดอีกต่อไป หากไปกินอาหารกับเพื่อน แล้วอยากแยกรับผิดชอบจ่ายเฉพาะในส่วนที่ตัวเองสั่ง เทรนด์พฤติกรรมใหม่ของผู้บริโภคชาวอเมริกาที่หันมาใช้แอปพลิเคชันแยกจ่ายบิลกันมากขึ้น

ต่อยอดธุรกิจยังไงให้อยู่นานและขายดี กรณีศึกษา ALDI ซูเปอร์มาร์เก็ต ที่ถือกำเนิดมาตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2

ALDI คือ ซูเปอร์มาร์เก็ตสัญญาติเยอรมัน มีต้นกำเนิดมาจาก 2 พี่น้องตระกูล Albrecht คือ “คาร์ล และ ธีโอ อัลเบรชต์” ที่รับช่วงต่อกิจการมาจากแม่ของเขาที่เปิดร้านขายของชำตั้งแต่ยุคก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2