​นักเรียนแย่งเข้าสถาบันดัง จุดชนวนกวดวิชาแข่งเดือด





    หากพิจารณาข้อมูลการสอบแข่งขันเข้ามหาวิทยาลัย ในปี 2556 ที่มีผู้สมัครเข้าศึกษาในระบบ Admissions 113,410 คน ในขณะที่มหาวิทยาลัยและสถาบันของรัฐสามารถรองรับนักศึกษาใหม่ได้ 80,130 คน หรือร้อยละ 71 ของผู้สมัครทั้งหมดเท่านั้น

    แน่นอนว่ามหาวิทยาลัยชื่อดังคุ้นหูต่างๆ ก็ยังคงเป็นเป้าหมายหลักของนักเรียนทั้งหลาย ซึ่งไม่ได้มีที่นั่งให้กับทุกคน การแข่งขันอันรุนแรงของนักเรียนจึงย่อมเกิดขึ้น และนี่เองที่หนุนให้ความต้องการใช้บริการโรงเรียนกวดวิชาเพื่อเพิ่มความรู้ความสามารถย่อมสูงขึ้นตามไปด้วย

    เมื่อความต้องการโรงเรียนกวดวิชายังคงมีอย่างต่อเนื่อง จึงไม่แปลกที่จะมีผู้เล่นรายใหม่ๆกระโจนเข้าสู่ตลาด ถึงแม้ว่าจะมีเจ้าตลาดยืนคุมเชิงอยู่ก่อนแล้วก็ตาม ด้วยผู้เล่นใหม่มีทางเลือกหลากหลายขึ้นในการเข้าสู่ตลาดนี้ เพราะหากไม่ถนัดที่จะลงทุนเปิดโรงเรียนเอง ก็สามารถไปขอซื้อแฟรนไชส์ได้ ในระดับราคาเริ่มต้นตั้งแต่หลักแสนบาทขึ้นไป ซึ่งผู้ขายแฟรนไชส์ได้มีการลงทุนเกี่ยวกับระบบ อุปกรณ์การเรียน เทคโนโลยี บุคลากร รวมถึงการทำการตลาด เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ซื้ออย่างครบครัน

    และนั่นจึงส่งผลให้ตัวเลขโรงเรียนกวดวิชาในปี 2556 มีจำนวนรวม 2,342 แห่ง เพิ่มสูงขึ้นกว่าปี 2555 ที่จำนวน 2,005 แห่งถึงร้อยละ 16.8 สอดคล้องกับจำนวนนักเรียนที่เรียนกวดวิชารวม 535,695 คน เพิ่มขึ้นร้อยละ 18.0 จากในปี 2555 ที่มีจำนวนนักเรียนที่เรียนกวดวิชารวม 453,881 คน


 


    อย่างไรก็ตาม แม้ว่าภาพรวมจะดูน่าสนใจ แต่โรงเรียนกวดวิชายังต้องเผชิญภาวะต้นทุนการประกอบธุรกิจสูงขึ้น โดยเฉพาะโรงเรียนกวดวิชาที่เพิ่งเข้าสู่ตลาดที่ยังมีจำนวนสาขาไม่มากนัก ที่ต้องเจอต้นทุนการในระดับสูง ทั้งค่าเช่าสถานที่ ค่าจัดทำสื่อการเรียนการสอน เป็นต้น

     ในขณะที่ โรงเรียนกวดวิชาเจ้าตลาดที่มีสาขาจำนวนมากทั้งในกรุงเทพฯและภูมิภาค จะสามารถใช้ประโยชน์จากการประกอบธุรกิจที่มีการประหยัดต่อขนาดได้

    นอกจากนี้ การที่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเห็นชอบการจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลกับโรงเรียนกวดวิชา ก็เป็นอีกปัจจัยกระทบต่อต้นทุนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แม้ว่าจะมีการดูแลราคาหลักสูตรการเรียนให้เกิดความเป็นธรรมกับผู้ปกครองและนักเรียน แต่ก็มีความเป็นไปได้ที่โรงเรียนกวดวิชาจะผลักภาระต้นทุนการประกอบธุรกิจดังกล่าว ผ่านการปรับเพิ่มราคาหลักสูตรการเรียน 

    แต่กระนั้นเชื่อว่าอาจไม่ส่งผลกระทบให้จำนวนนักเรียนที่เรียนกวดวิชาลดลง เนื่องจากผู้ปกครองและนักเรียนน่าจะยังคงให้ความสำคัญกับการเรียนกวดวิชา ทั้งในกลุ่มนักเรียนที่เรียนอ่อน และในกลุ่มนักเรียนที่เรียนอยู่ในระดับดีแต่ต้องการเสริมสร้างความมั่นใจเพื่อยกระดับผลการเรียนในโรงเรียน และเตรียมความพร้อมสู่การสอบแข่งขันเข้ามหาวิทยาลัย

    เช่นนี้เอง ทางศูนย์วิจัยกสิกรไทย จึงได้ประมาณการมูลค่าตลาดธุรกิจกวดวิชาในปี 2558 ไว้ที่ประมาณ 8,189 ล้านบาท เติบโตร้อยละ 6.8 จากในปี 2557 ที่มีมูลค่าตลาด 7,670 ล้านบาท จากปัจจัยจำนวนนักเรียนที่เรียนกวดวิชาเพิ่มขึ้น รวมถึงการปรับเพิ่มราคาค่าเรียนต่อหลักสูตรการเรียน อันเนื่องมาจากต้นทุนการประกอบธุรกิจที่เพิ่มสูงขึ้นของโรงเรียนกวดวิชา

    อย่างไรก็ตาม จากความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจในปี 2558 อาจส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจส่งบุตรหลานเข้าเรียนในโรงเรียนกวดวิชาสำหรับผู้ปกครองบางกลุ่ม

     โดยคาดว่า ผู้ปกครองในกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากภาวะการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ ค่าครองชีพที่สูงขึ้น รวมไปถึงหนี้ครัวเรือนที่สูงขึ้น จะยังคงให้ความสำคัญกับการส่งบุตรหลานเข้าเรียนในโรงเรียนกวดวิชาอยู่ แต่อาจมีการปรับพฤติกรรมการส่งบุตรหลานเข้าเรียนในโรงเรียนกวดวิชาในรูปแบบต่างๆ ยกตัวอย่างเช่น การเลือกสมัครเรียนในรายวิชาที่จำเป็น และให้บุตรหลานอ่านทบทวนเองในบางรายวิชา เป็นต้น

    นอกจานี้ จากข้อมูลการคาดประมาณประชากรของประเทศไทย พ.ศ. 2553-2583 โดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้คาดการณ์จำนวนประชากรช่วงอายุ 15-19 ปี จากประมาณ 4,523,000 คนในปี 2558 ลดลงไปสู่ 4,207,000 ในปี 2563 รวมถึงยังมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องในระยะยาว

    ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า แนวโน้มการลดลงของประชากรช่วงอายุ 15-19 ปี ซึ่งเป็นกลุ่มนักเรียนในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ที่เป็นกลุ่มเป้าหมายหลักที่ใช้บริการโรงเรียนกวดวิชา จะส่งผลกระทบต่อการประกอบธุรกิจของโรงเรียนกวดวิชาในระยะยาว

    ประกอบกับการขยายสาขาของโรงเรียนกวดวิชา และเข้าสู่ตลาดของโรงเรียนกวดวิชารายใหม่ๆ จะยิ่งส่งผลให้การประกอบธุรกิจของโรงเรียนกวดวิชาในระยะข้างหน้ามีแนวโน้มเผชิญการแข่งขันที่สูงขึ้นมากกว่าในปัจจุบัน นำมาซึ่งความท้าทายสำหรับโรงเรียนกวดวิชาในการปรับกลยุทธ์การประกอบธุรกิจอย่างต่อเนื่องให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมของธุรกิจที่มีการเปลี่ยนแปลงไป

RECCOMMEND: MARKETING

วิกฤตสูงวัย เด็กเกิดใหม่น้อย กรณีศึกษาธุรกิจญี่ปุ่น ปรับตัวผลิตสินค้าผู้ใหญ่แทนสินค้าเด็ก

Oji Holdings ผู้ผลิตผ้าอ้อมในญี่ปุ่นประกาศยุติผลิตผ้าอ้อมเด็ก หันไปเพิ่มปริมาณการผลิตผ้าอ้อมผู้ใหญ่แทน สาเหตุมาจากอัตราการเกิดที่ลดลงและจำนวนประชากรสูงวัยของญี่ปุ่นที่เพิ่มสูงขึ้น

โอกาสโกอินเตอร์ของแบรนด์ไทย ทำงานกับนักธุรกิจระดับโลก งาน Gifts & Premium Fair ฮ่องกง

ฮ่องกงขึ้นชื่อว่าเป็นดินแดนที่มีการจัดงานแสดงสินค้าที่ยิ่งใหญ่ของโลกแห่งหนึ่ง และหนึ่งในนั้นคืองานแสดงสินค้าของขวัญและของพรีเมียมภายใต้ชื่อ Hong Kong Gifts & Premium Fair ซึ่งกำลังจะมีขึ้นระหว่างวันที่ 27-30 เมษายน 2024