ส่องตลาดของขวัญปี 63 คนงดช้อป! กิฟต์เซ็ตไม่ใช่คำตอบ ทำยังไงจะได้ไปต่อในปี 64

TEXT : กองบรรณาธิการ





       สถานการณ์ในตลาดของขวัญของชำร่วยปีนี้ซึมยาวกว่าที่คิด เมื่อบรรยากาศการจับจ่ายใช้สอยของขวัญปีใหม่ยังไม่กลับมา ผู้คนงดช้อป ลดการใช้จ่ายฟุ่มเฟือย ประเพณี “มอบของขวัญ” ในช่วงเทศกาลเลยพาลต้องเงียบเหงาซึมเซาลงตามไปด้วย
               

     SME Thailand คุยกับ “จิรบูลย์ วิทยสิงห์” นายกสมาคมของขวัญของชำร่วยไทยและของตกแต่งบ้าน เพื่อร่วมสะท้อนสถานการณ์ธุรกิจของขวัญของชำร่วยไทย ในปีแห่งโควิด-19 ที่ยังคงเจ็บหนัก และหักมุม จนผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมต้องเร่งปรับตัว พลิกเกมรบ เพื่ออยู่รอดและไปต่อในปี 2564



               
               
คนงดช้อป วิกฤตของขวัญปี 2563


     ในอดีตหรือแม้แต่ในปีที่เกิดวิกฤตหนักๆ ที่ผ่านมา เมื่อใกล้ถึงเทศกาลปีใหม่ หนึ่งในตลาดที่จะฟื้นกลับมาคึกคักก็คือตลาดของขวัญ ซึ่งเป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่ถือกันมานาน ว่าช่วงเทศกาลก็ต้องมีการมอบของขวัญให้แก่กัน แต่ทว่าคงไม่ใช่กับปีที่สถานการณ์โควิด-19 เข้าโถมใส่อย่างปี 2563


     “ปีนี้เปลี่ยนแปลงไปจากทุกปีมาก เพราะว่าพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไป อย่างที่ผ่านมาทางสมาคมฯ ออกสำรวจตลาด พบว่าหลายอย่างเปลี่ยนไปจากเดิมโดยเฉพาะการซื้อของขวัญ เพราะต้องอย่าลืมว่าเราอยู่ในกลุ่มสินค้าที่ไม่จำเป็น แต่พอเกิดโควิด การจับจ่ายใช้สอยของผู้คนจะเปลี่ยนคือเขาจะไม่ฟุ่มเฟือย เป็นอะไรที่กระชากความรู้สึกคนได้ค่อนข้างแรง เพราะโดยปกติที่ผ่านมาแม้กระทั่งปีที่เกิดน้ำท่วม หรือเหตุการณ์ปิดบ้านปิดเมือง อารมณ์ของคนซื้อต่อให้แย่ที่สุดยังไงเขาก็ยังให้ความสำคัญกับการซื้อของขวัญปีใหม่ แต่ตอนนี้พฤติกรรมผู้บริโภคหักมุมเลย เขาตัดใจไม่ซื้อเลย ขณะที่คนรับเองก็เฉยๆ เหมือนเข้าใจสถานการณ์ดีว่าเกิดอะไรขึ้น”



 

ของกระจุกกระจิกขายไม่ได้ กิฟต์เซ็ตไม่ใช่คำตอบ


       ในอดีตพอถึงช่วงใกล้เทศกาลปีใหม่ หนึ่งในตลาดที่สุดแสนจะคึกคักก็คือสำเพ็ง เมื่อผู้คนแห่แหนไปช้อปของขวัญปีใหม่ราคาถูก ซื้อจำนวนมากชิ้นได้อย่างสบายกระเป๋า ทั้งแบบซื้อมาขายต่อและซื้อฝากเพื่อนฝูงญาติมิตร แต่สำเพ็งปีนี้ก็อาจไม่คึกคักเหมือนปีเก่า ของกระจุกกระจิกที่เคยขายดี ปีนี้กลับเงียบเหงา       


     “หนึ่งในตลาดที่เราไปมอนิเตอร์เป็นตลาดของขวัญที่ใหญ่ที่สุดอย่างสำเพ็ง  พบว่าคนเดินลดลงไปประมาณครึ่งหนึ่ง ที่สำคัญถ้าเป็นร้านที่ขายสินค้าพวกของกระจุกกระจิก ที่เขาซื้อทีละเยอะๆ เพื่อเอาไปแจกเพื่อนฝูงอะไรอย่างนี้ อันนี้แทบไม่มีคนเข้าร้านเลย มีแต่คนขายมายืนรอกัน”


      ในส่วนของขวัญที่จัดเป็นกิฟต์เซ็ต (Gift Set) ก็ต้องปรับตัวเพราะการขายเป็นเซ็ต ชิ้นใหญ่ และราคาแพง อาจไม่ใช่คำตอบของคนในยุคนี้


     “ซึ่งนี่กระทบกับกลุ่มของขวัญที่เป็นกิฟต์เซ็ตอย่างมาก เพราะสมัยก่อนกิฟต์เซ็ตจะเป็นทางออกของผู้ประกอบการในช่วงนาทีสุดท้าย ไม่มีอะไรก็จะเอาของเดิมใส่ตะกร้าแล้วเอามาขาย แต่ปีนี้มองว่ากลุ่มนี้จะไม่ค่อยขยับเขยื้อนเท่าไหร่เพราะว่าทุกคนลดวอลุ่มในการซื้อลง ลดมูลค่าการซื้อต่อคนต่อชิ้นลงด้วย ฉะนั้นผู้ประกอบการจะต้องซอยชิ้นให้ราคาถูกลง ต้องแยกขาย ทุกปีเราจะแนะนำให้รวมขายเป็นกิฟต์เซ็ต แต่ปีนี้กลับข้างกันเลยเป็นแยกขาย เพื่อให้ลูกค้าตัดสินใจง่ายขึ้น”




 
สินค้าเกี่ยวกับโควิดยังไปต่อ


      อย่างไรก็ตามแม้เทรนด์ของตลาดของขวัญในปีนี้จะเงียบเหงากว่าทุกปี แต่ยังมีสินค้าอีกกลุ่มที่ยังคงคึกคัก นั่นคือกลุ่มของขวัญที่เกาะไปกับสถานการณ์โควิด เช่น สินค้าพวกหน้ากาก สายคล้องหน้ากาก และเจลแอลกอฮอล์ เป็นต้น


     “ปีนี้กลุ่มสินค้าที่ยังขายดีก็คือ ที่เกาะกระแสโควิด อย่างเช่น พวกหน้ากากอะไรพวกนี้ยังคงขายดีอยู่ เพราะเป็นของที่ต้องใช้ต้องสัมผัสในชีวิตประจำวัน อย่างหน้ากากถาวรแบบที่ไม่ได้ใช้แล้วทิ้ง ก็เริ่มมีดีไซน์มากขึ้น มีรูปแบบใหม่ๆ ออกมาตลอดเวลา ซึ่งตลาดนี้ยังใหญ่มาก ส่วนในฝั่งของผู้ประกอบการเอง รายที่เขาเปลี่ยนตัวเองเร็วหน่อยในช่วงเกิดโควิดแรกๆ วันนี้หลายคนก็ยึดเป็นอาชีพเลย


     อย่างในกลุ่มของเรามีรายหนึ่งเขาทำเทียนหอมส่งออกอยู่ พอเกิดโควิดส่งออกไม่ได้ ก็ตัดสินใจซื้อจักรแล้วให้ลูกน้องที่หล่อเทียนอยู่ 5-6 คน ไปเย็บหน้ากากแทน แล้วเขาก็ตั้งทีมไปขายตามตลาดนัด ตามตึก ต่างๆ ซึ่งเขาบอกว่า ขายดีและเขาอยู่ได้เลย กลายเป็นว่าตอนนี้เขาเอาลูกน้องที่อยู่ในออฟฟิศและอยู่ในไลน์ผลิตไปประจำตามจุดต่างๆ ซึ่งไม่จำเป็นต้องใช้องค์ความรู้อะไรเลย ไปนั่งเฝ้าบูธแล้วก็ขายของแค่นั้นเอง ที่น่าสนใจคือ วันนี้เขาไปนำเสนอหน้ากากให้กับลูกค้าที่เคยซื้อเทียนหอมของเขาในต่างประเทศด้วย เพราะอย่าลืมว่านี่ไม่ใช่ความต้องการแค่ในประเทศไทยเราอย่างเดียว แต่ต่างประเทศเขาก็ต้องการด้วย กลายเป็นว่าเขาส่งออกได้ ขณะที่ตอนนี้ตลาดเทียนของเขาก็เริ่มกลับมาแล้ว” เขาบอกถึงโอกาสที่ซ่อนอยู่ในตลาดของขวัญยุคโควิด

 


อยากรอดต้องเปลี่ยน อยากไปต่อต้องปรับมายด์เซ็ต
               

     จิรบูลย์ ยอมรับว่าปีนี้อุตสาหกรรมของขวัญยังคงอยู่กันอย่างยากลำบาก และในจำนวนนี้ก็มีหลายรายที่ต้องล้มหายตายจากไปแล้ว โดยเขาฉายภาพจริงให้ฟังว่า ปัจจุบันมีผู้ประกอบการที่หยุดกิจการและออกจากตลาดไปแล้วประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์  ในอีก 50 เปอร์เซ็นต์ กำลังดิ้นรนเอาตัวรอด โดยที่ 20 เปอร์เซ็นต์ ในกลุ่มนี้ก็เป็นพวกลักปิดลักเปิด อยู่กันแบบถูลู่ถูกัง ส่วนที่รอดและปรับตัวได้จริงๆ ก็มีอยู่ประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ เท่านั้น  


     “ใน 100 เปอร์เซ็นต์ เรามีกลุ่มที่ปรับตัวได้ประมาณ  20 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเขาปรับได้เพราะไม่ยึดติด มองหาโอกาสในวิกฤตอยู่เสมอ และจากที่เคยขายสินค้าล็อตใหญ่ๆ ก็ยอมมาขายแบบเก็บเล็กผสมน้อย ซึ่งผู้ประกอบการบางคนเขายังติดยึดอยู่บนหอคอย บางคนก็อาจจะติดว่าไม่ได้สิ ฉันเคยขายอันนี้อยู่จะให้เปลี่ยนไปขายอย่างอื่นได้ยังไง แต่การทำธุรกิจวันนี้เราต้องไม่ติดยึด เราถึงจะขายของได้ ที่สำคัญเราต้องรู้จักเอาดิจิทัลมาใช้ในการทำธุรกิจด้วย”


     จิรบูลย์ย้ำ ก่อนฉายภาพปีหน้าให้ฟังว่า หากสถานการณ์โควิดดีขึ้น ธุรกิจของขวัญก็อาจจะเริ่มกลับมา เพียงแต่จะเป็นการกลับมาแบบค่อยๆ โต คงเป็นเรื่องยากที่จะให้กลับมาเหมือนปีที่เคยดีก่อนหน้านี้


     “ผมมองว่า การบริโภคในประเทศจะเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญ อย่าไปหวังพึ่งส่งออก ส่งออกเป็นแค่ผลพลอยได้เรียกว่าเป็นโบนัสก็แล้วกัน มองว่ามันยังมีโอกาสที่จะโตกลับขึ้นมาได้สักประมาณ 5 เปอร์เซ็นต์ แต่ยังคงไม่กลับมาที่เก่าอย่างรวดเร็วหรอก ต้องค่อยๆ โต สิ่งสำคัญคือผู้ประกอบการเราเองต้องปรับตัว และต้องขยับตัวเร็วอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะเรื่องการนำดิจิทัลมาใช้ พวกนี้ถ้ายังปิดกั้นตัวเองอยู่ ผมว่าเขาจะหลุดยุคไปเลย” เขาสรุปในตอนท้าย







 

 
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: MARKETING

ฟังก์ชันแยกบิลจ่ายได้ เทรนด์ใหม่ที่ร้านอาหารต้องรู้ ลูกค้ายุคใหม่อยากจ่ายเท่าที่กินโดยไม่รู้สึกผิด

ไม่ใช่เรื่องต้องรู้สึกผิดอีกต่อไป หากไปกินอาหารกับเพื่อน แล้วอยากแยกรับผิดชอบจ่ายเฉพาะในส่วนที่ตัวเองสั่ง เทรนด์พฤติกรรมใหม่ของผู้บริโภคชาวอเมริกาที่หันมาใช้แอปพลิเคชันแยกจ่ายบิลกันมากขึ้น

ต่อยอดธุรกิจยังไงให้อยู่นานและขายดี กรณีศึกษา ALDI ซูเปอร์มาร์เก็ต ที่ถือกำเนิดมาตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2

ALDI คือ ซูเปอร์มาร์เก็ตสัญญาติเยอรมัน มีต้นกำเนิดมาจาก 2 พี่น้องตระกูล Albrecht คือ “คาร์ล และ ธีโอ อัลเบรชต์” ที่รับช่วงต่อกิจการมาจากแม่ของเขาที่เปิดร้านขายของชำตั้งแต่ยุคก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2