จับตาการตลาดแห่งยุค “Bully Marketing” เล่นตัวเอง นักเลงพอ

TEXT : วันวิสา งามแสงชัยกิจ





     “โตแล้วต้องเดี่ยวกับตัวเอง” อีกกระแสที่พลิกกลับด้านคำว่า “บูลลี่ (Bully)” หรือการรังแกผู้อื่นมาเป็นการแซะตัวเอง ที่เริ่มมีให้เห็นในการทำคอนเทนต์ เจาะตลาดผู้บริโภคยุคใหม่ที่เรียกว่าได้ใจ กลายเป็นไวรัล และสร้างความแตกต่างให้กับแบรนด์ได้เป็นอย่างดี


     แต่ก่อนจะข้ามขั้นไปถึงการแซะตัวเองแบบเพียวๆ ไม่เกี่ยวกับใคร คงต้องเริ่มจากการที่ Burger King ฟาสต์ฟู้ดยักษ์ใหญ่ในสหรัฐอเมริกาที่ได้หยิบเอาประเด็นสังคมอย่างการที่แต่ละปีมีเด็กกว่า 30 เปอร์เซ็นต์ ทั่วโลกโดนรังแกหรือถูกบูลลี่มาทำแคมเปญการตลาด โดยมีการถ่ายทำคลิปวิดีโอ เพื่อดูปฏิกิริยาของคนในร้านว่า

     ระหว่างเด็กที่ถูกบูลลี่ (นักแสดง) กับเบอร์เกอร์ Whopper Jr ที่ถูกบูลลี่ (โดยการถูกทุบและเสิร์ฟให้กับผู้ใหญ่ที่เห็นเหตุการณ์แล้วไม่ทำอะไร) นั้น


     อะไร? ที่คนจะร้องเรียนมากกว่ากัน   


     ผลปรากฏว่า มีคนเพียง 12 เปอร์เซ็นต์ เท่านั้น ที่เลือกยืนหยัดและเข้ามาช่วยเหลือเด็กที่กำลังโดนรังแก


     ขณะที่มีคนถึง 95 เปอร์เซ็นต์ ที่โวยวายเมื่อตัวเองได้รับเบอร์เกอร์ที่ถูกทุบ


     แน่นอนว่าแคมเปญนี้ได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก และถือเป็นการโชว์กึ๋นอีกครั้งของ Burger King ในการนำเรื่องรอบตัว ซึ่งไม่เกี่ยวกับแบรนด์โดยตรงมาโยงเข้าสู่การทำการตลาดได้อย่างน่าจดจำ





     นอกจากการบูลลี่เบอร์เกอร์ของตัวเองที่เห็นไปแล้วนั้น อีกหนึ่งกลยุทธ์มาแรงสุดๆ คงหนีไม่พ้นการที่แบรนด์รับบทนางเหยียดบูลลี่ตัวเองก่อนแบบไม่ต้องรอให้ใครมาเปิด อย่างเพจของ “น้ำพริกแคบหมูยายน้อย” ที่มาในคอนเซปต์

  
     “Bully Marketing” ด้วยสโลแกนขำขันเด็ดๆ อย่าง


      “น้ำพริกแคบหมูยายน้อย อร่อยเกินร้อย ให้น้อยสมชื่อ”


      “คำแรกติดใจ คำต่อไปติดคอ”


     “อร่อยจริง ทิ้งพินัยกรรม”


      “โปรดสั่งเสีย ก่อนสั่งซื้อ”


      “อร่อยให้ 6 สกปรกให้ 10”


     แถมลีลาการตอบ การโพสต์ หรือทำคอนเทนต์แบบตลกร้ายขยี้ปมเรื่องความแข็งของแคบหมู หรือกินแล้วตายของแบรนด์นั้น ได้กลายเป็นไวรัลและมิติใหม่ของการขายที่ดีดผลกระทบด้านบวกกลับไปยังแบรนด์ เพิ่ม Engagement ยอดสั่งซื้อ และเข้าถึงลูกค้ายุคใหม่ ที่วันนี้การโต้ตอบและเสพคอนเทนต์แบบธรรมดาดูจะไม่ตอบโจทย์อีกต่อไป ในแบบที่บางครั้งก็ไม่รู้ว่าเจ้าของเพจหรือลูกเพจนั้นใครฮากว่ากัน





       อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่แค่แบรนด์น้องใหม่ที่ใช้การจิกกัดตัวเองแล้วเวิร์กเท่านั้น เมื่อ Au Bon Pain แบรนด์แฟรนไชส์เบเกอรี่ คาเฟ่ ซึ่งโลดแล่นในเมืองไทยมากว่า 23 ปี ทำการ “เล่นตัวเองแล้วเจ็บน้อยกว่า” เช่นกัน โดยหยิบเอาชื่อร้านที่คนมักออกเสียง (ผิด) และเรียกจนติดปากอย่าง “อุบลพรรณ” มาเป็นชื่อร้านจริงๆ เสียเลย ถือเป็นการ Revamp Brand หรือปรับปรุงภาพลักษณ์แบรนด์ครั้งใหญ่ให้ดูทันสมัย สดใส และเข้ากับคนรุ่นใหม่มากขึ้น ซึ่งการเคลื่อนไหวของแบรนด์ในครั้งนี้สามารถเรียกความสนใจจากผู้คนได้อย่างมหาศาลเลยทีเดียว   


     การแซะแบบหยิกแกมหยอกเบาๆ ของแบรนด์ ซึ่งไม่ได้บูลลี่ใครนอกจากตัวเอง ไม่เพียงแต่จะสร้างสีสันให้กับบรรดาผู้ชมหรือลูกค้าได้เท่านั้น แต่ยังถือเป็นเครื่องมือสร้างความแตกต่างชุดใหญ่ให้กับคนทำธุรกิจ สามารถแหวกวงล้อมของเพื่อนต่างแบรนด์ที่มาพร้อมกับคลังคอนเทนต์มากมาย เพื่อยืนหนึ่งให้ได้ในยุคที่ “คอนเทนต์จืดๆ ไม่มีใครกิน” เช่นนี้
 

    อ้างอิง:
https://medium.com/@conniepanteion/burger-king-bullying-jr-ad-campaign-b5095df2e2b9
https://www.facebook.com/waterchillinarrowpig/
https://www.facebook.com/Feedforfuture/videos/796730424221178/?__tn__=-R
https://www.facebook.com/AuBonPainThailand/
 
 



www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี
 

RECCOMMEND: MARKETING

ฟังก์ชันแยกบิลจ่ายได้ เทรนด์ใหม่ที่ร้านอาหารต้องรู้ ลูกค้ายุคใหม่อยากจ่ายเท่าที่กินโดยไม่รู้สึกผิด

ไม่ใช่เรื่องต้องรู้สึกผิดอีกต่อไป หากไปกินอาหารกับเพื่อน แล้วอยากแยกรับผิดชอบจ่ายเฉพาะในส่วนที่ตัวเองสั่ง เทรนด์พฤติกรรมใหม่ของผู้บริโภคชาวอเมริกาที่หันมาใช้แอปพลิเคชันแยกจ่ายบิลกันมากขึ้น

ต่อยอดธุรกิจยังไงให้อยู่นานและขายดี กรณีศึกษา ALDI ซูเปอร์มาร์เก็ต ที่ถือกำเนิดมาตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2

ALDI คือ ซูเปอร์มาร์เก็ตสัญญาติเยอรมัน มีต้นกำเนิดมาจาก 2 พี่น้องตระกูล Albrecht คือ “คาร์ล และ ธีโอ อัลเบรชต์” ที่รับช่วงต่อกิจการมาจากแม่ของเขาที่เปิดร้านขายของชำตั้งแต่ยุคก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2