​เศรษฐกิจไทยปีแพะจะฟุบจะฟื้น ตัวยืนอยู่ที่เม็ดเงินภาครัฐ



    ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี หรือ TMB Analytics  คงมุมมองการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในปีนี้เป็นรูปแบบ U-Shape และยืนคาดการณ์จีดีพีเดิม (ณ พฤศจิกายน 2557) ที่ร้อยละ 3.5 หวังเม็ดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจภาครัฐเป็นฟันเฟืองสำคัญช่วยผลักดัน ไม่งั้นเศรษฐกิจไทยอาจฟุบมากกว่าฟื้น

    หลังคณะกรรมการนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย มีมติเสียงแตก 4 ต่อ 3 ตัดสินใจหั่นอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงร้อยละ 0.25 มาอยู่ที่ร้อยละ 1.75 ในการประชุมวันที่ 11 มีนาคม ที่ผ่านมา สร้างความกังวลให้หลายฝ่าย เพราะเท่ากับอาจเป็นการส่งสัญญาณว่า เศรษฐกิจไทยนั้นยังคงอ่อนแอ ขาดแรงกระตุ้นที่อาจทำให้จีดีพีในปี 2558 โตได้ไม่สูงอย่างที่คาดหวังไว้ และมีความเป็นไปได้ที่ทางธนาคารแห่งประเทศไทยจะมีการทบทวนปรับลดประมาณการจีดีพีลงจากเดิมร้อยละ 4 ในวันที่ 20 มีนาคมนี้

    เครื่องชี้เศรษฐกิจตั้งแต่ไตรมาสสุดท้ายของปี 2557 ต่อเนื่องมาเดือนมกราคม ได้ตอกย้ำแรงส่งหรือโมเมนตัมการฟื้นตัวที่เป็นไปอย่างเชื่องช้าของเศรษฐกิจไทย ทั้งทางด้านดีมานด์และซัพพลาย อาทิ ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมยังคงหดตัวอยู่ร้อยละ 1.3 ต่อปี (เทียบกับ -4.6% ปี 2557) 

    สอดรับกับการบริโภคและลงทุนภาคเอกชนที่แทบไม่ขยายตัวเลยหากเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ดังนั้นทำให้ทางศูนย์วิเคราะห์ฯ ยังคงมองว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยปีแพะจะเป็น U-Shape และยืนประมาณการจีดีพีที่ต่ำกว่าตลาดส่วนใหญ่ไว้ที่ร้อยละ 3.5 โดยฟันเฟืองที่จะมาช่วยขับเคลื่อนจะมาจากอุปสงค์ในประเทศมากกว่าภาคการส่งออก

    แรงผลักดันสำคัญจะมาจากเม็ดเงินของภาครัฐ ทั้งในส่วนของการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น อาทิ เงินช่วยเหลือต้นทุนเกษตรกรเพาะปลูกข้าว/ยางพารา เงินบรรเทาวิกฤตภัยแล้งผ่านแจกเงินตำบลละล้าน (วงเงิน 3,174 ล้านบาท) 

    รวมทั้งโครงการสร้างการจ้างงานชนบท/เกษตรกรซ่อมแซมถนนทั่วประเทศ อีก 4 หมื่นล้านบาท ที่ได้รับการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี ซึ่งน่าจะช่วยหนุนให้การบริโภครวมในปีนี้ขยายตัวได้ร้อยละ 3.5 จากปีก่อนที่ขยายตัวเพียงร้อยละ 0.7 อย่างไรก็ดี ปัญหาราคาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำ ผลผลิตเสียหายจากปัญหาภัยแล้งที่น่าจะรุนแรงกว่าปีที่ผ่านมา และภาระหนี้ครัวเรือนจะเป็นปัจจัยถ่วงต่อกำลังซื้อของครัวเรือนอยู่
 
    ส่วนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะยาวจากการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งรัฐพยายามเร่งรัดโครงการลงทุนที่สามารถดำเนินการได้ ได้แก่ รถไฟทางคู่ ที่ไทยและจีนได้ตกลงร่วมลงทุนในปลายปีนี้ รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินและสายสีเขียว ซึ่งคาดหวังว่าจะเป็นปัจจัยผลักดันให้เกิดการลงทุนของภาคเอกชนควบคู่กัน 

    อาทิ โครงการรถอีโคคาร์เฟส 2 โครงการสาธารณูปโภค (ผลิตไฟฟ้า) ภายใต้ภาวะเกื้อหนุนจากต้นทุนกู้ยืมและต้นทุนวัสดุก่อสร้างในระดับต่ำ อย่างไรก็ตาม แผนลงทุนส่วนใหญ่ปีนี้ยังอยู่ในขั้นตอนเวนคืนที่ดิน/จัดซื้อจัดจ้าง ทำให้เม็ดเงินที่ทยอยเข้าสู่ระบบในช่วงครึ่งหลังของปีอาจไม่มากนัก หากไม่มีการปรับเลื่อนแผนการลงทุนออกไป คาดว่าปีนี้การลงทุนรวมน่าจะขยายตัวได้ร้อยละ 6.1 จากที่หดตัวเกือบร้อยละ 3 ในปี 2557

    ส่วนภาคการส่งออก กำลังซื้อที่อ่อนแอจากคู่ค้าหลักอย่างยุโรปและญี่ปุ่น ยังคงน่าเป็นห่วง เศรษฐกิจจีนก็ยังอยู่ในระหว่างการปฎิรูปประเทศ กระทบต่อการนำเข้าสินค้าจากไทย อีกทั้งราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ลดลงมากเมื่อเทียบกับปีก่อน (เช่น ข้าว ยางพารา น้ำมัน) ทำให้คาดว่าการส่งออกของไทยในปีนี้ (ในรูปดอลลาร์สหรัฐ) น่าจะเติบโตได้เพียงร้อยละ 1 เท่านั้น 

    อย่างไรก็ดี การท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวได้ดีและเร็วจากผลกระทบการเมือง โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจากเอเชียตะวันออก น่าจะช่วยชดเชยอุปสงค์จากการส่งออกสินค้าที่ลดลงได้บางส่วน จากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติกลับมาขยายตัวเป็นบวกได้ตั้งแต่ไตรมาสสี่ปีก่อน และขยายตัวสูงร้อยละ 15.9 ในเดือนมกราคม ทำให้คาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในปีนี้จะอยู่ที่ 27 ล้านคน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 9
 
    ภายใต้บริบทดังกล่าว แม้ว่าระดับขยายตัวเศรษฐกิจมีแนวโน้มดีขึ้นมากจากปีที่ผ่านมาที่ขยายตัวเพียงร้อยละ 0.7 แต่ยังเป็นการขยายตัวต่ำกว่าระดับศักยภาพ และมีความเสี่ยงโน้มเอียงไปทางด้านลบมากกว่าด้านบวก โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากการเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐชะลอออกไป เนื่องจากการเบิกจ่ายงบลงทุนในช่วง 5 เดือนแรกของ ปีงบประมาณ 2558 อยู่ที่ 8.1 หมื่นล้านบาท หรือคิดเป็นอัตราการเบิกจ่ายเพียงร้อยละ 18 ของงบลงทุนเท่านั้น ซึ่งต่ำกว่าอัตราการเบิกจ่ายเฉลี่ยในอดีตเกือบครึ่งหนึ่ง 

    ดังนั้น จึงเป็นความท้าทายของภาครัฐ ที่ต้องดำเนินนโยบายเชิงรุก ในความพยายามกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบที่สอดรับกับกรอบการปฎิรูปประเทศ ควบคู่ไปกับการดำเนินนโยบายเชิงรับ เพื่อป้องกันและจัดการกับสิ่งที่อาจกระทบต่อเสถียรภาพเศรษฐกิจที่อาจเกิดขึ้นได้ อาทิ ปัญหาเงินเฟ้อตกต่ำ ความผันผวนของเงินทุนเคลื่อนย้าย และหนี้สาธารณะที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น ดังนั้น หากการเบิกจ่ายเม็ดเงินภาครัฐสะดุดลง ก็อาจลดทอนประสิทธิผลการลดดอกเบี้ยเพื่อช่วยพยุงเศรษฐกิจได้

RECCOMMEND: MARKETING

ย้อนตำนาน มาสคอตไทย ก่อน "น้องหมีเนย" มีแบรนด์ไหนทำมาร์เก็ตติ้งนี้บ้าง

หลายคนมี Brand Love ในใจ ที่ไม่ใช่แค่สินค้าต้องดี จนเรากลายเป็นลูกค้าประจำ ยังต้องมี Brand Characters ที่จะช่วยให้คนจดจำได้ อีกหนึ่งทางเลือกที่ถ้าอยากสร้างแบรนด์ให้ปัง

ขายสินค้าออร์แกนิกให้เป็นแมส จากแนวคิดแบรนด์ KING Organic

KING Organic ผู้ผลิตผัก ผลไม้ และสินค้าแปรรูปออร์แกนิก จ.สมุทรสาคร ได้คิดกลยุทธ์การทำธุรกิจที่เรียกว่า “Mass Premium” ขึ้นมา เพื่อทำของพรีเมียม ให้สามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้กว้างขวางมากขึ้น ในราคาที่ใครๆ ก็สามารถจับต้องได้ มีวิธีการยังไง ไปดูกัน