เกาะกระแส cashless society

 


เรื่อง วิมาลี   วิวัฒนกุลพาณิชย์


    สถิติล่าสุดระบุจำนวนประชากรโลกที่เข้าถึงอินเตอร์เน็ตทะลุ 3,000 ล้านคนไปแล้ว  ในไทยเอง ผู้ใช้อินเตอร์เน็ตก็ทวีจำนวนขึ้นเรื่อย ๆ ข้อมูลของสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารระบุร้อยละ 77.1 ของอุปกรณ์ที่ใช้ในการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตของประชากรไทยคือสมาร์ทโฟน และมีการใช้งานสมาร์ทโฟนเพื่อเข้าอินเตอร์เน็ตเฉลี่ย 6.6 ชั่วโมงต่อวัน 

    การเสพติดสมาร์ทโฟนทำให้โอกาสในการทำธุรกรรมผ่านโทรศัพท์สูงขึ้น ยังผลให้ผู้ประกอบการและเจ้าของสินค้า/บริการต้องหันมาทบทวนกลยุทธ์การตลาดเพื่อให้สอดคล้องกับพฤติกรรมของผู้บริโภคในปัจจุบัน 

    ผลการศึกษาชี้ร้อยละ 85 ของการทำธุรกรรมทั่วโลกยังใช้เงินสดและเช็คอยู่ แต่เทคโนโลยีหนึ่งที่เป็นที่นิยมในหมู่ผู้ใช้สมาร์ทโฟนและกำลังเปลี่ยนแปลงรูปแบบการจับจ่ายซื้อของอย่างสิ้นเชิงคือ e-wallet บางทีก็เรียก mobile wallet digital wallet cyber wallet หรือ virtual wallet ซึ่งหมายถึงระบบการชำระสินค้าและบริการผ่านแอพหรือโซลูชั่นด้วยบัตรเครดิตหรือเงินสดโดยไม่ต้องติดต่อธนาคารโดยตรงก็ได้ แต่ผู้พัฒนาแอพหรือระบบจะเป็นตัวกลางในการติดต่อและเชื่อมต่อระบบให้กับร้านค้าเมื่อมีการอนุมัติให้ใช้บริการ 

    ผู้ที่มีสมาร์ทโฟนเมื่อดาวน์โหลดแอพ e-wallet มาใช้จะทำให้การจับจ่ายซื้อของเป็นไปโดยง่ายขึ้น อาทิ เมื่อซื้อสินค้าในซุปเปอร์มาร์เก็ต เวลาจะจ่ายเงินก็แค่สแกนสมาร์ทโฟนกับเครื่องที่ติดตั้งไว้ ใส่รหัสหรือ PIN code เงินสดจะถูกหักจากโทรศัพท์ทันที 

    หรือบางระบบก็สามารถหักผ่านบัตรเครดิตหรือบัตรเดบิตได้ ซึ่งซอฟต์แวร์ e-wallet ที่พัฒนาขึ้นในแต่ละค่ายก็จะแตกต่างกันออกไป บางระบบก็สามารถใช้เป็นตั๋วรถไฟ ตั๋วรถเมล์ และบัตรกำนัลต่าง ๆ แต่โดยรวมแล้ว หลักการของ e-wallet คือเป็นการทำธุรกรรมโดยไม่ต้องใช้เงินสดที่ผู้บริโภคได้รับความสะดวก และผู้ประกอบการก็จำหน่ายสินค้าและบริการได้ง่ายและเร็วขึ้น 

    ระบบ e-wallet บ้านเราส่วนใหญ่จะมาพร้อมผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์ ไม่ว่าจะเป็นเอไอเอส ดีแทค หรือทรู แต่ในต่างประเทศ การใช้งานค่อนข้างหลากหลายกว่า ห้างค้าปลีกเทสโก้นอังกฤษก็เพิ่งเปิดตัว digital wallet เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ลูกค้าในการชำระค่าสินค้าและบริการ อีกทั้งยังช่วยลดทุนเรื่องการจ้างพนักงานอีกด้วย เทสโก้พัฒนาแอพเองและสามารถรองรับการชำระเงินด้วยทุกบัตรทั้งเครดิตและเดบิต

    ส่วนที่บังกาลอร์ เมืองไอทีของอินเดีย Big Basket.com ซึ่งเป็นร้านขายของชำออนไลน์เจ้าดังก็นำระบบ e-walletมาใช้โดยลูกค้าสามารถเติมเงินได้ตั้งแต่ต่ำสุด 10 รูปีไปจนถึงสูงสุด 10,000 รูปี หลังจากนั้นก็ใช้สมาร์ทโฟนแทนกระเป๋าสตางค์ได้เลย หรือบริษัท Oxicash ที่แนะนำระบบคล้ายกันเพื่อให้ลูกค้าสามารถชำระค่าน้ำ ไฟ โทรศัพท์โดยหักผ่านบัตรเดบิต บัตรเครดิตหรือระบบธนาคารออนไลน์ได้

    ที่แอฟริกาใต้ ธนาคาร FNB (First National Bank) ที่ก่อนหน้านี้พัฒนาระบบ digital wallet เพื่อบริการเฉพาะลูกค้าธนาคาร แต่ภายหลังได้ดึงบรรดาร้านค้าปลีกกว่า 1,200 แห่งเข้ามาร่วม โดยล่าสุดได้ห้าง PEP ซึ่งเป็นเชนค้าปลีกชื่อดังมาร่วมให้บริการด้วย ทำให้ลูกค้าสามารถทำธุรกรรมต่าง ๆ โดยไม่ต้องใช้บัญชีธนาคาร และชำระค่าสินค้าด้วยสมาร์ทโฟนได้อย่างง่ายดาย ระบบที่พัฒนาขึ้นเจาะกลุ่มลูกค้าวัย 18-40 ปี และส่งผลให้การทำธุรกรรมและการซื้อสินค้าด้วยอี-วอลเล็ตพุ่งสูงขึ้น
 


    ระบบ e-wallet ยังเป็นที่นิยมในวงการสายการบินและผู้ให้บริการบัตรเครดิต เช่น สายการบินเจ็ตสตาร์ สายการบินอลาสก้า แอร์ไลน์ส และสายการบินเคแอลเอ็มก็นำมาใช้ ขณะที่ยักษ์ใหญ่ในวงการบัตรเครดิตอย่างวีซ่าและมาสเตอร์การ์ดก็ไม่ตกกระแส วีซ่าเปิดตัวอี-วอลเล็ต v.me และได้รับการตอบรับจากร้านค้ากว่า 4,000 แห่งเข้าร่วม ด้านมาสเตอร์การ์ดก็แนะนำระบบใกล้เคียงกันแต่พุ่งเป้าที่กลุ่มซุปเปอร์มาร์เก็ตทั้งหลายแหล่ ยังไม่รวมธุรกิจอีกมากมายที่ต่างนำบริการกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์มาเป็นอีกหนึ่งทางเลือกเพื่อดูดเงินในกระเป๋าลูกค้า

    แม้จะมีความกังวลเกี่ยวกับระบบความปลอดภัยข้อมูลที่เหมือนจะยังไม่เป็นที่ไว้วางใจนักเมื่อเทียบกับการใช้บัตรเครดิตทางออนไลน์ และตลาด e-wallet ในไทยเองก็เหมือนจะแจ้งเกิดได้ไม่นาน แต่เชื่อว่าหากผู้ให้บริการระบบพัฒนาเทคโนโลยีให้น่าเชื่อถือ ใช้งานง่าย และอำนวยความสะดวกจนทำให้ไม่ต้องพกพกระเป๋าสตางค์ได้ล่ะก็ เมื่อนั้น การใช้งาน e-wallet จะเป็นไปอย่างแพร่หลายจนกลายเป็นเรื่องปกติ

    กล่าวสำหรับผู้ประกอบการ การเข้าร่วมขบวน e-wallet อาจทำได้ 2 ทาง หากเป็นรายใหญ่ อย่างซุปเปอร์มาร์เก็ต เชนร้านค้าปลีก ห้างสรรพสินค้า สายการบิน ค่ายโทรศัพท์มือถือที่มีทีมไอทีเป็นของตัวเอง ก็อาจจะพัฒนาระบบใช้เอง แต่นั่นหมายถึงต้องมีฐานลูกค้าใหญ่ระดับหนึ่ง ส่วนผู้ประกอบการรายย่อยจนถึงปานกลาง ทุนน้อยกว่าก็ใช้วิธีเป็นพันธมิตรกับผู้พัฒนาแอพ จับมือกันทางธุรกิจ จะได้วิน-วินกันทุกฝ่าย  

    ก่อนที่เราจะก้าวเข้าสู่ cashless society หรือสังคมที่ผู้คนไม่นิยมพกเงินสดอย่างเต็มตัว บรรดาธุรกิจและร้านค้าต่าง ๆ ก็ต้องรับมือกับการเปลี่ยนแปลงตั้งแต่เนิ่น ๆ เพราะแม้ e-wallet จะเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่นำไปสู่การซื้อง่าย จ่ายคล่อง 

    แต่ผู้ประกอบการเองก็ต้องทำการตลาด ศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภค ทำงานวิจัยว่าปัจจัยใดที่ก่อให้เกิดการตัดสินใจซื้อสินค้า เช่น ออกแบบคอนเทนต์ให้น่าสนใจ จัดโปรโมชั่นดึงดูดใจ ให้ข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าครบถ้วน บริการหลังการขายเยี่ยม ระบบใช้งานง่ายและมีความน่าเชื่อถือในความปลอดภัย ทั้งนี้ก็เพื่อให้เป็นไปตามทฤษฎีวิวัฒนาการของชาร์ลส์ ดาร์วินที่ว่าคนที่ปรับตัวและแข็งแกร่งเท่านั้นจึงอยู่รอดได้ ในการทำธุรกิจเองก็เช่น หากไม่เกาะติดกระแสใหม่ ๆ แล้วไซร้ จะอยู่รอดได้อย่างไร
    
*วารสาร K SME Inspired เล่มเดือนตุลาคม-ธันวาคม 2557

RECCOMMEND: MARKETING

ย้อนตำนาน มาสคอตไทย ก่อน "น้องหมีเนย" มีแบรนด์ไหนทำมาร์เก็ตติ้งนี้บ้าง

หลายคนมี Brand Love ในใจ ที่ไม่ใช่แค่สินค้าต้องดี จนเรากลายเป็นลูกค้าประจำ ยังต้องมี Brand Characters ที่จะช่วยให้คนจดจำได้ อีกหนึ่งทางเลือกที่ถ้าอยากสร้างแบรนด์ให้ปัง

ขายสินค้าออร์แกนิกให้เป็นแมส จากแนวคิดแบรนด์ KING Organic

KING Organic ผู้ผลิตผัก ผลไม้ และสินค้าแปรรูปออร์แกนิก จ.สมุทรสาคร ได้คิดกลยุทธ์การทำธุรกิจที่เรียกว่า “Mass Premium” ขึ้นมา เพื่อทำของพรีเมียม ให้สามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้กว้างขวางมากขึ้น ในราคาที่ใครๆ ก็สามารถจับต้องได้ มีวิธีการยังไง ไปดูกัน