​วิเคราะห์ทางเลือกขึ้นค่าจ้างปี 59





เรื่อง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย

    อีกไม่ถึง 6 เดือน จะครบกำหนดของการใช้ฐานค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 300 บาท ตามที่ รัฐบาลยิ่งลักษณ์โดยกระทรวงแรงงานได้มีประกาศจากคณะกรรมการค่าจ้างเรื่องค่าจ้างขั้นต่ำ(ฉบับที่ 6) ลงวันที่ 2 พฤศจิกายน  พ.ศ.2554 ข้อ 2 ว่า

    “ให้กำหนดค่าจ้างขั้นต่ำเป็นเงินวันละ 300 บาท ในพื้นที่ 77 จังหวัด โดยมีผลใช้บังคับเมื่อ 1 มกราคม พ.ศ.2556 และในปี 2557 และ 2558 ให้คงไว้ 300 บาทเท่ากันทั่วประเทศหากภาวะเศรษฐกิจของประเทศมีความผันผวนมากและส่งผลรุนแรงต่อค่าครองชีพของลูกจ้าง คณะกรรมการค่าจ้างสามารถพิจารณาทบทวนอัตราค่าจ้างขั้นต่ำปี2557 และ 2558 ได้ตามความเหมาะสม” 
    การจะพิจารณาปรับขึ้นหรือไม่ขึ้นนั้น มีทางเลือกและข้อพึงพิจารณาในการตัดสินใจอย่างไร ให้เกิดการยอมรับร่วมกันของทั้งฝ่ายลูกจ้าง ผู้ประกอบการ และต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ

    รศ.ดร.ยงยุทธ แฉล้มวงษ์ ผู้อำนวยการวิจัย ด้านการพัฒนาแรงงาน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย  ให้ข้อคิดเห็นว่า  ในช่วง 2 ปีเศษที่ผ่านซึ่งประเทศไทยกลายเป็นประเทศที่มีค่าจ้าง(ขั้นต่ำ)สูงในชั้นแนวหน้าของประเทศในกลุ่มอาเซียน เป็นรองเพียงสิงคโปร์และบรูไน ดารุซาราม ซึ่งล้วนแต่มีระดับการพัฒนาและรายได้ต่อหัวสูงกว่าประเทศไทยทั้งสิ้น และเป็นการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำที่มากที่สุดในประวัติศาสตร์ของประเทศไทย   

    แต่ที่ผ่านมาทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องมิได้พิจารณาอะไรเพิ่มเติมถึงแม้จะมีแรงกระเพื่อมอยู่บ้างทุกครั้งที่ถึงวันแรงงาน แต่ฝ่ายลูกจ้างก็ทราบดีว่า ค่าจ้างที่ได้รับไปนั้นส่งผลต่อต้นทุนและผลกำไรมากน้อยแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับว่าเป็นสถานประกอบการประเภทใดและขนาดของธุรกิจแตกต่างกันเพียงใด 

    โดยรัฐมีนโยบายค่อนข้างจำกัดในการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการแต่ในที่สุดเพื่อให้สถานประกอบการอยู่รอดหรือเดินหน้าต่อไปได้ในธุรกิจ จำเป็นต้องทำให้ธุรกิจของตัวเองสามารถรักษาระดับการแข่งขันเอาไว้ให้ได้ มิฉะนั้นก็จะต้องปิดตัวเองลง  ผู้ประกอบการได้ใช้เวลา 2 ปีที่ผ่านมาพยายามปรับปรุงธุรกิจของตัวเองให้อยู่ได้มาจนถึงทุกวันนี้ ทำให้เศรษฐกิจยังขยายตัวต่อเนื่องและการว่างงานมิได้เป็นปัญหาต่อสังคมไทยมากนัก

              ปัจจุบันการเรียกร้องการปรับขึ้นค่าจ้างในปี 2559 ยังคงมีอยู่  โดยเฉพาะการอ้างถึงการเผชิญกับปัญหาค่าครองชีพที่ถีบตัวสูงขึ้นมากจนแรงงานที่เคยได้รับค่าจ้างขั้นต่ำที่ 300 บาทแทบจะไม่สามารถอยู่ได้  ทำให้ทางรัฐบาลกลับมาสนใจว่าในช่วงต้นปี 2559 นั้น จำเป็นต้องมีการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำหรือไม่  ถ้าต้องขึ้นจะขึ้นอย่างไรและเป็นจำนวนเงินเท่าไรจึงจะเหมาะสมกับสถานการณ์  

    ซึ่งจากผลการประชุมของคณะกรรมการค่าจ้างแห่งชาติเมื่อวันที่ 5 มิถุนายนที่ผ่านมา ได้เสนอแนะแนวทางในการปรับค่าจ้างขั้นต่ำไว้ 5 แนวทาง คือ 1)ให้กำหนดค่าจ้างขั้นต่ำแบบเดิมกล่าวคืออนุกรรมการค่าจ้างจังหวัด เสนอการปรับค่าจ้างต่อคณะกรรมการค่าจ้างแห่งชาติ พิจารณาเพื่อประกาศขึ้นค่าจ้างไปตามปกติเหมือนก่อนการขึ้นค่าจ้างเท่ากันทั่วประเทศเมื่อกลางปี 2556 และตอนต้นปี 2557    

     2)ให้กำหนดค่าจ้างแบบลอยตัว 3)ให้มีการปรับค่าจ้างขั้นต่ำตามการพัฒนาเศรษฐกิจ  4) การปรับค่าจ้างขั้นต่ำตามกลุ่มอุตสาหกรรม 5.การปรับค่าจ้างขั้นต่ำโดยวิธีผสมผสานหลายรูปแบบ


    ผอ.วิจัยทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า อาจจะเป็นความพลั้งเผลอของคณะกรรมการค่าจ้างแห่งชาติซึ่งปล่อยเวลาให้ล่วงเลยมานานจนเหลือเวลาอีกเพียง 3-4 เดือนก่อนเดือนตุลาคม 2558 ซึ่งปกติควรจะเริ่มดำเนินการพิจารณาหารูปแบบของการจ่ายค้าจ้างเอาไว้แต่แรกแล้วโดยใช้หลักวิชาการเข้ามาช่วย แต่กระนั้นเมื่อ พ.ร.บ.ค่าจ้างขั้นต่ำก็ยังไม่ได้ถูกยกเลิกไปพร้อมกับการมี ค.ส.ช. (เมื่อพฤษภาคม 2557) 

    ดังนั้นการพิจารณาขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำจึงยังต้องเป็นไปตามมาตรา 87 ซึ่งมีองค์ประกอบเป็นปัจจัยที่จำเป็นต้องนำมาพิจารณาคือ 1.การขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ 2.การขยายตัวของภาคการส่งออกของประเทศ 3.การขยายตัวของการค้าการลงทุนในประเทศ 4.ดัชนีผลิตภาพแรงงาน 5.ต้นทุนและองค์ประกอบของค่าจ้างในต้นทุน 6.ดัชนีค่าครองชีพ (CPI) 7.อัตราเงินเฟ้อ 8.ดัชนีราคาสินค้าอุปโภค บริโภค เป็นต้น


    การพิจารณา 4 แนวทางแรก ไม่มีทางเลือกใดที่มีความสมบูรณ์และสามารถที่จะเลือกมาอย่างหนึ่งหรือผสมผสานหลายๆทางเลือกเป็นตัวแทนได้ทั้งประเทศ  ที่ใกล้เคียงความจริงมากที่สุดคือทางเลือกที่ 1  การกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำแบบเดิม  ซึ่งสามารถดำเนินการได้โดยปรับแก้เพิ่มเติมการบริหารจัดการบางประการ  โดยความเป็นไปได้เนื่องจาก 1) เป็นรูปแบบที่คุ้นเคย และสอดคล้องกับการบริหารจัดการแรงงานในรูปของไตรภาคีซึ่งคณะกรรมการเกี่ยวกับแรงงานของไทยส่วนมากบริหารในรูปแบบนี้  ไม่เพียงแต่คณะกรรมการค่าจ้างเท่านั้น   

    2) ผลงานในอดีตก่อนที่จะมีการปรับใช้ค่าจ้างขั้นต่ำที่ 300 บาทในทุกจังหวัด ถึงแม้ว่าจะเป็นการปรับเพื่อชดเชย“ความไม่มีประสิทธิภาพ”ของคณะกรรมการค่าจ้างในอดีตที่ไม่สามารถขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำได้ทันกับผลิตภาพและค่าครองชีพของแรงงานเกือบ 20% แต่การขึ้นค่าจ้าง 300 บาทได้ชดเชยในส่วนของค่าจ้างขั้นต่ำที่ต่ำเกินไปในอดีตไปแล้ว และยังมีส่วนที่เพิ่มรายได้ให้กับแรงงานที่เพียงพอที่จะทำให้แรงงานทุกคนหลุดพ้นจาก”เส้นยากจน”ทั่วประเทศ ซึ่งถือว่าเป็นพื้นฐานที่ดีเพียงพอในการหาวิธีการกำหนดค่าจ้างที่เหมาะสมในปี 2559ต่อไปได้ 

    และ 3)  การกำหนดค่าจ้างในปี 2559 น่าจะสามารถนำเอารูปแบบอื่นๆที่ปกติส่วนใหญ่ก็เป็นหลักเกณท์ของการพิจารณาประกอบการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำอยู่แล้วเป็นข้อดีมาประกอบด้วย เช่น ฐานะทางเศรษฐกิจ และระดับการพัฒนาที่แตกต่างกัน ประเภทและขนาดของสถานประกอบการ ความจำเป็นในการใช้แรงงานที่มีมาตรฐานสมรรถนะมากน้อยแตกต่างกัน เป็นต้น

    ดังนั้น รูปแบบผสมผสานที่เหมาะสมเพื่อนำมาพิจารณาค่าจ้างขั้นต่ำปี 2559 คือ  หนึ่ง ยังใช้รูปแบบของอนุกรรมการไตรภาคีอยู่เหมือนเดิม แต่เนื่องจากกิจกรรมของการผลิตและบริการมีความเข้มข้นไม่เท่ากัน อีกทั้งตัวแทนของฝ่ายลูกจ้างอาจไม่ได้เป็นตัวแทนที่แท้จริง และอาจจะมีอำนาจต่อรองสู้นายจ้างไม่ได้ การผนวกจังหวัดที่ลักษณะการผลิตที่คล้ายกันเข้ามาด้วยกัน ทำให้สามารถเลือกตัวแทนของนายจ้างและลูกจ้างที่แท้จริงได้มากขึ้น 

    แต่ถ้ามีปัญหาในการบริหารจัดการคัดเลือกตัวแทนก็ใช้รูปแบบของการเอาตัวแทน 3 ฝ่ายจากคณะกรรมการค่าจ้างที่แต่งตั้งไปแล้ว มารวมกันพิจารณาเป็นกลุ่มที่ใหญ่ขึ้น เช่น 5 จังหวัดในภาคอีสาน ก็จะมีตัวแทนนายจ้าง 25 คน ตัวแทนลูกจ้าง 25 คน และฝ่ายรัฐบาล 25 คน รวมเป็น 75 คน โดยฝ่ายรัฐบาลทำหน้าที่ในการจัดหาข้อมูลตามตัวแปรที่ใช้ในการพิจารณาให้ครบถ้วนเป็นกลางให้ฝ่ายนายจ้างและลูกจ้างได้พิจารณาและนำส่งผลต่อคณะกรรมการค่าจ้างกลาง

    สอง ยังใช้รูปแบบของอนุกรรมการโดยภาคีในระดับพื้นที่เสนอค่าจ้างขั้นต่ำที่เหมาะสมไปให้คณะกรรมการค่าจ้างแต่แตกต่างกันตรงที่เพิ่มขึ้นตอนให้ส่งผลการพิจารณาไปที่คณะกรรมการค่าจ้าง”ภาค” (ซึ่งจะต้องแต่งตั้งขึ้นมาใหม่) ระดับภาคเพื่อที่จะได้ผู้แทนที่มีความน่าเชื่อถือมากขึ้นเพื่อมาเป็นตัวแทน 2 ฝ่าย(นายจ้างกับลูกจ้าง) ในขณะเดียวกันก็สามารถสรรหาผู้ทรงคุณวุฒิ (ราชการ) ทั้ง 5 คนที่มีตัวเลือกมากขึ้น เมื่อคณะกรรมการค่าจ้างจังหวัดมีผลการพิจารณามาที่คณะกรรมการค่าจ้างภาคแล้ว ผ่านผลไปยังคณะกรรมการค่าจ้างระดับประเทศก็อาจจะช่วยให้ตัดสินใจในการปรับค่าจ้างจากส่วนกลางมีประสิทธิภาพมากขึ้นเนื่องจากได้มีการกลั่นกรองมาถึง 2 ชั้น

    อย่างไรก็ตามความสำเร็จของการพิจารณาขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำครั้งนี้ขึ้นอยู่กับข้อมูลความจำเป็นของฝ่ายลูกจ้างในเรื่องของภาระค่าใช้จ่าย ขณะเดียวกันก็อยู่ที่นายจ้างว่ามีขีดความสามารถในการแบกรับต้นทุนได้มากน้อยเพียงใด ถ้านายจ้างมีความสามารถในการแบกรับภาระต้นทุนที่สูงขึ้นได้พร้อมๆกับการที่แรงงาน(ที่ทำงานใหม่ไร้ฝีมือ)ได้ค่าจ้างที่คุ้มกับค่าครองชีพ การขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำย่อมส่งผลต่อเศรษฐกิจโดยรวมไม่มาก.


RECCOMMEND: MARKETING

ย้อนตำนาน มาสคอตไทย ก่อน "น้องหมีเนย" มีแบรนด์ไหนทำมาร์เก็ตติ้งนี้บ้าง

หลายคนมี Brand Love ในใจ ที่ไม่ใช่แค่สินค้าต้องดี จนเรากลายเป็นลูกค้าประจำ ยังต้องมี Brand Characters ที่จะช่วยให้คนจดจำได้ อีกหนึ่งทางเลือกที่ถ้าอยากสร้างแบรนด์ให้ปัง

ขายสินค้าออร์แกนิกให้เป็นแมส จากแนวคิดแบรนด์ KING Organic

KING Organic ผู้ผลิตผัก ผลไม้ และสินค้าแปรรูปออร์แกนิก จ.สมุทรสาคร ได้คิดกลยุทธ์การทำธุรกิจที่เรียกว่า “Mass Premium” ขึ้นมา เพื่อทำของพรีเมียม ให้สามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้กว้างขวางมากขึ้น ในราคาที่ใครๆ ก็สามารถจับต้องได้ มีวิธีการยังไง ไปดูกัน