ไต้หวันกับการเปลี่ยนผ่านสู่การเป็นประเทศอุตสาหกรรมไฮเทค



 



เรื่อง ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย
        www.exim.go.th


    ปัจจุบันหลายภาคส่วนของประเทศไทยต่างให้ความสำคัญกับการพัฒนานวัตกรรมและยกระดับสินค้าส่งออกของไทยไปสู่สินค้าไฮเทค (High Technology) และมีมูลค่าเพิ่มสูง ขณะที่คงต้องยอมรับว่าสินค้าส่งออกของไทยส่วนใหญ่ยังเป็นสินค้าที่ใช้เทคโนโลยีไม่สูงนักและมีมูลค่าเพิ่มน้อย 

    ซึ่งจากรายงาน Science and Engineering Indicators 2014 ของ National Sciencd Board ของสหรัฐฯ ระบุว่าในปี 2555 ไทยส่งออกสินค้าไฮเทคคิดเป็นสัดส่วนเพียง 24% ของมูลค่าส่งออกทั้งหมด น้อยกว่าประเทศคู่แข่งสำคัญอย่าง จีน และมาเลเซียที่มีสัดส่วน 35% และ 31% ตามลำดับ 

    ทั้งนี้ หากจะหยิบยกตัวอย่างประเทศที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงในการพัฒนาอุตสาหกรรมไฮเทค ไต้หวันเป็นประเทศที่มีการพูดถึงมากเป็นอันดับต้นๆ ปัจจุบันไต้หวันส่งออกสินค้าไฮเทคคิดเป็นสัดส่วนเกือบ 60% ของมูลค่าส่งออกรวม หรือคิดเป็นมูลค่าราว 177,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ มากเป็นอันดับ 4 ของโลก รองจากสหรัฐฯ เยอรมนี และจีน ซึ่งถือเป็นเรื่องที่น่าสนใจเป็นอย่างมากกว่า เหตุอันใดประเทศที่มีพื้นที่เล็กกว่าไทยถึง 14 เท่า และมีประชากรเพียง 20 ล้านกว่าคนอย่างไต้หวันจึงพัฒนามาเป็นผู้ผลิตสินค้าไฮเทคในระดับโลกได้

    ในช่วงต้นของการพัฒนาอุตสหกรรมในไต้หวัน กระบวนการพัฒนามีลักษณะคล้ายคลึงกับการพัฒนาอุตสาหกรรมในประเทศอื่นๆ รวมถึงประเทศไทย คือ พัฒนาจากภาคเกษตรกรรมไปสู่อุตสาหกรรม ไปสู่อุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้น ในปี 2513 ไต้หวันยังพึ่งพาการส่งออกสินค้าที่ใช้แรงงานเข้มข้นเป็นหลัก โดยมีสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มเป็นสินค้าส่งออกอันดับ 1 

    อย่างไรก็ตาม ด้วยค่าแรงที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และวิกฤตราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นกว่า 10 เท่าในปี 2516-2523 ทำให้ไต้หวันเริ่มสูญเสียความสามารถในการแข่งขันจากต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นจนนำไปสู่จุดเปลี่ยนสำคัญในปี 2523 ที่รัฐบาลไต้หวันเริ่มผลักดันอย่างจริงจัง ในการเปลี่ยนภาคการผลิตของประเทศจากอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้นไปสู่อุตสาหกรรมไฮเทค โดยการออกมาตรการสนับสนุนผู้ประกอบการในการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตหลายมาตรการ อาทิ 

    มาตรการด้านภาษี โดยผู้ประกอบการสามารถนำรายจ่ายในการทำ R&D การจัดซื้อเครื่องจักร และการอบรมบุคลากรไปลดหย่อนภาษีเงินได้

    มาตรการส่งเสริมธุรกิจร่วมลงทุน Venture Capital โดยสนับสนุนในห้ธุรกิจของชาวไต้หวันร่วมลงทุนกับธุรกิจต่างชาติที่มีเทคโนโลยีสูงเพื่อเรียนรู้และต่อยอดเทคโนโลยีต่างๆ ทั้งนี้ผู้ประกอบการจะได้รับลดหย่อนภาษีถึง 20% ของมูลค่าเงินร่วมทุน 

    ขณะเดียวกันรัฐบาลไต้หวันเองก็ได้ร่วมทุนกับบริษัท Phillips Electronics และ นักลงทุนเอกชนในการจัดตั้ง Taiwan Semiconductor Manufacturing Company (TSMC) ซึ่งปัจจุบันกลายเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านการผลิตแผงวงจรไฟฟ้าของโลก และยังมีการจัดตั้งสถาบันเพื่อเป็นศูนย์กลางในการทำ R&D เช่น Hsinchu Science Park และ Industrial and Technology Reserch Instiute (ITRI)  เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตสินค้าไฮเทค และถ่ายทอดความรู้ไปสู่ผู้ผลิตในภาคเอกชน เป็นต้น

    หลังจากรัฐบาลไต้หวันออกมาตรการสนับสนุนอุตสาหกรรมไฮเทคอย่างจริงจังดังกล่าว สัดส่วนการส่งออกสินค้าไฮเทคของไต้หวันเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจาก 25% ของมูลค่าส่งออกรวมในปี 2523 เป็นราว 60% ในปัจจุบัน โดยเฉพาะ Semiconductor ที่ไต้หวันก้าวขึ้นเป็นผู้ส่งออกอันดับ 1 ของโลกมาตั้งแต่ปี 2547 พร้อมไปกับการสร้างแบรนด์สินค้าไฮเทคระดับโลกสัญชาติไต้หวันมากมาย ไม่ว่าจะเป็น Asus, Acer, Apacer และ HTC ทำให้ประเทศไต้หวันถือเป็นต้นแบบที่น่าสนใจสำหรับหลายประเทศในโลก รวมถึงประเทศไทยที่กำลังให้ความสำคัญกับการยกระดับภาคการผลิตไปสู่อุตสาหกรรมไฮเทค

    โดยเฉพาะในด้านการใช้นโยบายภาครัฐเป็นเครื่องมือสำคัญในการผลักดันเพื่อให้เกิดการปรับโครงสร้างการผลิต รวมถึงการสร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐกับภาคเอกชนในการร่วมกันพัฒนาภาคอุตสาหกรรมของประเทศอย่างจริงจัง

 

RECCOMMEND: MARKETING

ย้อนตำนาน มาสคอตไทย ก่อน "น้องหมีเนย" มีแบรนด์ไหนทำมาร์เก็ตติ้งนี้บ้าง

หลายคนมี Brand Love ในใจ ที่ไม่ใช่แค่สินค้าต้องดี จนเรากลายเป็นลูกค้าประจำ ยังต้องมี Brand Characters ที่จะช่วยให้คนจดจำได้ อีกหนึ่งทางเลือกที่ถ้าอยากสร้างแบรนด์ให้ปัง

ขายสินค้าออร์แกนิกให้เป็นแมส จากแนวคิดแบรนด์ KING Organic

KING Organic ผู้ผลิตผัก ผลไม้ และสินค้าแปรรูปออร์แกนิก จ.สมุทรสาคร ได้คิดกลยุทธ์การทำธุรกิจที่เรียกว่า “Mass Premium” ขึ้นมา เพื่อทำของพรีเมียม ให้สามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้กว้างขวางมากขึ้น ในราคาที่ใครๆ ก็สามารถจับต้องได้ มีวิธีการยังไง ไปดูกัน