​ยุโรป ... เป้าหมายลงทุนที่น่าสนใจของอุตฯอาหารไทย






เรื่อง ศูนย์วิจัยกสิกรไทย

    จากแรงกดดันหลากปัจจัยกระทบผู้ประกอบการส่งออกไทยไปยุโรป ทั้งการทยอยถูกตัดสิทธิ GSP ในบางรายการสินค้าของไทยเมื่อปี 2557 และตัดสิทธิทุกรายการในปี 2558 รวมไปถึงแนวโน้มกฎระเบียบด้านการค้าที่เข้มงวดขึ้นทั้งในด้านสิ่งแวดล้อม กระบวนการผลิต เพิ่มแรงกดดันต่อผู้ประกอบการส่งออกไทยท่ามกลางแนวโน้มที่เงินยูโรยังมีโอกาสอ่อนค่าลงอีก

    อย่างไรก็ตาม หากมองในอีกด้านหนึ่งก็อาจเปิดโอกาสให้ธุรกิจไทยเข้าไปแสวงหาช่องทางลงทุนในยุโรป ทั้งการเข้าซื้อกิจการ หรือร่วมทุนในกิจการที่มีเทคโนโลยีการผลิตขั้นสูง หรือมีเครือข่ายฐานการตลาดขนาดใหญ่ รวมไปถึงการเข้าไปตั้งฐานการผลิตในประเทศยุโรปตะวันออกเพื่อลดต้นทุนการผลิตและการกระจายสินค้าภายในภูมิภาคยุโรป ขณะที่มาตรฐานการผลิตที่สูงของยุโรปจะเป็นใบเบิกทางในการส่งออกสินค้าต่อไปยังประเทศที่สามได้ด้วย

    ทั้งนี้ อุตสาหกรรมแปรรูปการเกษตรและผลิตสินค้าอาหารเป็นอุตสาหกรรมเด่นที่ไทยมีศักยภาพการผลิตและมีโอกาสขยายการลงทุนไปยังสหภาพยุโรป ซึ่งตอบโจทย์ผู้ประกอบการไทยที่ยังต้องการคงส่วนแบ่งในตลาดยุโรป ตลอดจนผลิตเพื่อส่งออกไปยังตลาดโลก โดยพื้นที่ยุโรปกลางและตะวันออกเหมาะสำหรับอุตสาหกรรมการแปรรูปอาหารที่ไม่มีความซับซ้อนมากนัก ในขณะที่อุตสาหกรรมแปรรูปอาหารที่อาศัยเทคโนโลยี ควรเลือกลงทุนในประเทศที่มีการเติบโตทางด้านเทคโนโลยีอาหารในยุโรปตะวันตก

    ประเทศที่น่าสนใจในการลงทุนอุตสาหกรรมอาหารในสหภาพยุโรป

    ยุโรปตะวันตก : เบลเยี่ยม เยอรมนี  เนเธอร์แลนด์ สหราชอาณาจักร

    ยุโรปตะวันตก โดดเด่นด้านการใช้เทคโนโลยีในการผลิต กำลังซื้อสูง ระบบโลจิสติกส์เชื่อมต่อต่างประเทศ

   เบลเยี่ยม เทคโนโลยีอาหารพร้อมรับประทาน ทั้งแบบแช่แข็ง และแบบไม่ต้องแช่แข็ง

  สหราชอาณาจักร กำลังซื้อสูงในสินค้าอาหารที่มีมูลค่าเพิ่ม ศักยภาพเด่นในการแปรรูปเนื้อสัตว์

  เนเธอร์แลนด์ ท่าเรือขนาดใหญ่ที่สุดในยุโรปเชื่อมต่อต่างประเทศ ระบบภาษีที่เอื้อต่อการดำเนินธุรกิจและการค้าระหว่างประเทศ

  เยอรมนี ตลาดสินค้าเกษตรและอาหารที่ใหญ่สุดในสหภาพยุโรป ตลาดสินค้าที่มีลักษณะเฉพาะ อาทิ สินค้าเกษตรอินทรีย์ เชี่ยวชาญนวัตกรรมแปรรูปเนื้อสัตว์แช่แข็ง นอกจากนี้ โครงสร้างผู้ผลิตสินค้าอาหารและเครื่องดื่มในประเทศประกอบด้วย SMEs จำนวนมากซึ่งส่งผลให้ได้รับความสะดวกในการลงทุน   

    ยุโรปกลางและตะวันออก:โปแลนด์  ออสเตรีย ฮังการี โรมาเนีย

    ยุโรปกลางและตะวันออก การลงทุนด้านสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูปเด่น แรงงานมีคุณภาพและค่าแรงไม่สูงนักหากเทียบกับพื้นที่ยุโรปตะวันตก

   โปแลนด์ เป็นตลาดใหญ่และเศรษฐกิจเติบโต เป็นศูนย์กลางการเชื่อมต่อยุโรปตะวันตกและยุโรปเหนือในกลุ่มประเทศนอร์ดิก ได้แก่ นอร์เวย์ สวีเดน ฟินแลนด์ และรัสเซีย  

    สำหรับการส่งเสริมการลงทุนของรัฐบาลโปแลนด์ อยู่ในรูปแบบเงินช่วยเหลือหากคุณสมบัติในการลงทุนตรงกับข้อกำหนดที่รัฐบาลให้การส่งเสริม อาทิ การลงทุนที่มีมูลค่าไม่น้อยกว่า42.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารและสินค้าเกษตร ที่มีการจ้างงานขั้นต่ำ 50 คน จะได้รับเงินช่วยเหลือราวร้อยละ 1.5-7.5 ของค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริงสำหรับการดำเนินโครงการ

    ออสเตรีย มีพื้นที่เชื่อมต่อระหว่างยุโรปตะวันตก ตะวันออกและตะวันออกเฉียงใต้ กิจการการลงทุนของ SMEs ได้รับการส่งเสริมจากภาครัฐ อาทิ สินเชื่อวงเงิน 0.1-7.5 ล้านยูโร ต่อโครงการต่อปี สำหรับการลงทุนใหม่ในพื้นที่ที่กำหนด  หรือเงินอุดหนุนเบื้องต้นร้อยละ 5 สำหรับกิจการ SMEs ที่มีการใช้เทคโนโลยีใหม่ 

    ฮังการี มีพื้นที่เพาะปลูกอุดมสมบูรณ์และสร้างผลผลิตได้สูง เหมาะสำหรับธุรกิจไทยที่มีความสนใจในการผลิตสินค้าเกษตรและแปรรูปการเกษตร นอกจากนี้ยังมีโครงสร้างสาธารณูปโภคที่ใช้เป็นฐานการผลิตและกระจายสินค้าไปในยุโรปตะวันออกและตะวันตก โดยเชื่อมต่อกับท่าเรือสำคัญ

   สำหรับนโยบายส่งเสริมการลงทุนในฮังการีมีข้อเด่นด้านบรรยากาศการลงทุนและกฎระเบียบมีความโปร่งใส มีกฎหมายปกป้องนักลงทุนต่างชาติเยี่ยงคนในชาติ และอนุญาตให้นักลงทุนต่างชาติถือหุ้นในกิจการได้ร้อยละ 100 ยกเว้นกิจการที่เกี่ยวกับการทหาร

    โรมาเนีย มีโอกาสลงทุนในภาคการเกษตร รวมไปถึงเครื่องจักรและอุปกรณ์ในการทำการเกษตร ทั้งนี้ การส่งเสริมการลงทุนจากภาครัฐของโรมาเนียแตกต่างกันไปตามรูปแบบอุตสาหกรรมและขนาดการลงทุน โดยเป็นการช่วยเหลือทั้งจากรัฐบาลกลางและส่วนท้องถิ่น อาทิ การยกเว้นภาษีในกรณีการลงทุนตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรม และพื้นที่เกษตรกรรมที่เป็นของนิคมอุตสาหกรรมนั้นๆ 

    โดยสรุปแล้ว สำหรับผู้ประกอบการไทยที่ต้องการทำตลาดยุโรป การลงทุนผลิตสินค้าในภูมิภาคนั้นมีข้อได้เปรียบด้านต้นทุน อีกทั้งยังเป็นการเปิดโอกาสทางการค้ากับภูมิภาคใกล้เคียง อาทิ รัสเซีย แอฟริกา 

    นอกจากนี้ ข้อตกลงความร่วมมือทางการค้าระหว่างยุโรปกับประเทศต่างๆ ที่บรรลุข้อตกลงแล้ว อาทิ ชิลี เม็กซิโก และแอฟริกาใต้ จะเป็นอีกช่องทางที่ช่วยการกระจายสินค้าไปยังประเทศคู่สัญญา ตลอดจนข้อตกลงที่ยังอยู่ในขั้นตอนการเจรจากับประเทศเศรษฐกิจสำคัญ อาทิ แคนาดา อินเดีย และกลุ่มประเทศ GCC  อนึ่ง การเจรจาหุ้นส่วนการค้าและการลงทุนข้ามแอตแลนติก (Transatlantic Trade and Investment Partnership: TTIP) ที่ยังอยู่ระหว่างการการเจรจาเพื่อจัดตั้งเขตการค้าเสรีระหว่างสหรัฐฯกับสหภาพยุโรป ซึ่งหากการเจรจาบรรลุข้อตกลงจะเป็นอีกช่องทางและโอกาสสำคัญสำหรับผู้ประกอบการไทยที่มีฐานการผลิตในสหภาพยุโรปในการเชื่อมโยงตลาดการค้ากับสหรัฐฯ

    อย่างไรก็ดี การลงทุนในอุตสาหกรรมอาหารในสหภาพยุโรปยังมีประเด็นความแตกต่างในรายละเอียดที่ผู้ประกอบการไทยต้องให้ความสำคัญ อย่างนโยบายการส่งเสริมการลงทุนที่นอกจากจะแยกไปตามประเทศแล้ว ยังมีความแตกต่างกันไปในตามเขตการปกครองในประเทศนั้นๆด้วย 


RECCOMMEND: MARKETING

ย้อนตำนาน มาสคอตไทย ก่อน "น้องหมีเนย" มีแบรนด์ไหนทำมาร์เก็ตติ้งนี้บ้าง

หลายคนมี Brand Love ในใจ ที่ไม่ใช่แค่สินค้าต้องดี จนเรากลายเป็นลูกค้าประจำ ยังต้องมี Brand Characters ที่จะช่วยให้คนจดจำได้ อีกหนึ่งทางเลือกที่ถ้าอยากสร้างแบรนด์ให้ปัง

ขายสินค้าออร์แกนิกให้เป็นแมส จากแนวคิดแบรนด์ KING Organic

KING Organic ผู้ผลิตผัก ผลไม้ และสินค้าแปรรูปออร์แกนิก จ.สมุทรสาคร ได้คิดกลยุทธ์การทำธุรกิจที่เรียกว่า “Mass Premium” ขึ้นมา เพื่อทำของพรีเมียม ให้สามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้กว้างขวางมากขึ้น ในราคาที่ใครๆ ก็สามารถจับต้องได้ มีวิธีการยังไง ไปดูกัน