การตลาดของคนเกาหลี ขายของแบบไหน สะกดให้นักช้อปซื้อของจนเพลินกระเป๋า

 TEXT : ดร.วราธัช ตันติวรวงศ์

 

     เวลาพูดถึงกาหลี หลายคนก็จะนึกถึงแสงและความโมเดิร์น นึกถึงย่านช้อปปิ้งแถวทงแดมุนที่พลุกพล่านไปด้วยผู้คน แต่เกาะเชจูเป็นสถานที่ที่แตกต่างจากเมืองใหญ่ในประเทศเกาหลี เป็นเกาะที่อยู่ทางตอนใต้ของคาบสมุทรเกาหลีที่ยังมีความเป็นธรรมชาติอยู่มาก ล้อมรอบไปด้วยทะเล แต่มีภูเขาหิมะฮาลาซานที่อยู่ใจกลางของเกาะ

     อย่างไรก็ตาม คนเกาหลีก็ฉลาด รู้จักทำการตลาดผ่านเรื่องราวที่ทำให้นักท่องเที่ยวเคลิ้มไปตามๆ กัน เป็นอันว่าค่าทัวร์คนละ 13,000 บาท แต่นักท่องเที่ยวส่วนมากหมดไปเป็นแสนกับการช้อปปิ้งซื้อสินค้า อันนี้เป็นสิ่งที่น่าชื่นชม ทัวร์ก็จะพานักท่องเที่ยวไปซื้อสินค้าที่ได้รับการรับรองจากรัฐบาล ตัวอย่างเช่น ร้านโสมเกาหลี ซึ่งต้องยอมรับว่าโสมเกาหลีอายุ 6 ปี เป็นโสมที่มีคุณภาพมากในระดับโลก คนขายที่มีทักษะในการเน้นประโยชน์ หรือการสาธิตน้ำมันสนแดงที่มีงานวิจัยยืนยันในเรื่องสรรพคุณในการรักษาโรค สร้างสมดุลให้กับร่างกาย ก็มีความน่าเชื่อถือนักท่องเที่ยวควักเงินซื้อกันใหญ่ นอกจากนี้ ก็ยังมีร้านขายเครื่องสำอางทั้งครีมน้ำแตก ครีมหอยทาก ที่ช่วยบำรุงผิวพรรณ ลดริ้วรอย ก็เป็นอีกผลิตภัณฑ์ที่สาวๆ ชอบซื้อกันมาก

     นี่เป็นตัวอย่างของการทำธุรกิจท่องเที่ยวที่น่าศึกษาเป็นต้นแบบ ประเทศเกาหลีจะเลือกผลิตภัณฑ์ที่เป็นตัวแทนของประเทศ ไม่ว่าจะเป็นโสม น้ำมันสนแดง ซึ่งล้วนแต่เป็นผลิตภัณฑ์สร้างชื่อของประเทศ เป็นสินค้าที่ภาครัฐให้การสนับสนุน สินค้าเหล่านี้ล้วนแต่เป็นสินค้าที่มีคุณภาพ ได้รับการรับรองจาก SAMSUNG ซึ่งเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ของเกาหลี สิ่งเหล่านี้ทำให้สินค้าของประเทศนี้มีคุณค่า สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าได้อย่างไม่ต้องสงสัย

     อย่างโสมน้ำพร้อมดื่มที่ผมซื้อกลับมาดื่มได้นาน 2 เดือน ก็ราคาประมาณ 10,000 บาท เลยต้องหันมาดูสินค้าที่ชาวต่างชาติที่มาซื้อสินค้าไทยว่ามีอะไรที่มีมูลค่าเยอะขนาดนี้ไหม ถ้าเราดูจากตลาดที่นักท่องเที่ยวนิยม เช่น คิงเพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี เราก็จะเห็นทุเรียนกวน มะม่วนกวน ซึ่งในปัจจุบันก็มีแพ็กเกจที่ทันสมัยกว่าเมื่อก่อนมากแล้ว แต่มูลค่าของสินค้าเองก็ยังไม่พรีเมียมพอที่จะดึงเงินจากนักท่องเที่ยวต่างชาติมาเป็นกอบเป็นกำ ดังนั้น เรื่องนี้จึงเป็นโจทย์ใหญ่ที่ภาครัฐในประเทศของเราต้องหากลยุทธ์ในการสร้างสินค้าไทยให้เป็นสินค้าพรีเมียม มีมูลค่าที่นักท่องเที่ยวยินดีที่จะจ่ายเพราะความคุ้มค่าจากสินค้านั้น

     นอกจากนี้ การรู้จักสร้างเรื่องราวของนักขายชาวเกาหลีบวกกับข้อเท็จจริงที่จับต้องได้ทำให้สินค้าของเกาหลีสามารถขายได้เป็นกอบเป็นกำจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ เช่น มัคคุเทศก์เล่าว่า ผู้หญิงในเกาะเชจูส่วนมากมีอาชีพเป็นแฮยอน หรือนางเงือก มีหน้าที่ในการดำน้ำไปเก็บอาหารทะเล สาหร่ายในทะเล และกลายเป็นวัฒนธรรมที่ผู้หญิงในเกาะเชจูจะต้องเป็นแฮยอนตั้งแต่วัยสาวจนกระทั่งเสียชีวิต เรียกว่าสาวแก่อายุ 80 กว่าปีก็ยังภูมิใจที่ได้ทำหน้าที่แฮยอน

     ป้าสุนนี แฮยอนวัย 75 ปีเป็นผู้นำเสนอประสบการณ์ในการเป็นแฮยอนของเธอ จนทุกคนสงสัยว่าอะไรคือเคล็ดลับที่ทำให้ป้าสุนนีแข็งแรงขนาดนี้ ดูแข็งแรงและอ่อนกว่าวัยเหมือนอายุ 50 ปี ยังมีเรี่ยวแรงในการดำน้ำในบทบาทของแฮยอน ก็ทราบว่าป้าสุนนีรับประทานกระดูกม้าที่มีสรรพคุณในการสร้างกำลังให้กับสาวแฮยอนบนเกาะเชจู เลยไม่แปลกใจว่า ทำไมนักท่องเที่ยวรุมซื้อกระดูกม้าจนหมดหิ้ง ราคาของกระดูกม้าก็ไม่ได้ถูก แต่คนก็ซื้อเพราะเห็นประโยชน์และความคุ้มค่าของสินค้านั้นเอง

     พอกลับมาดูสินค้าไทยของเรา ก็ต้องถามว่าเรามีการสร้างเรื่องราวของผลิตภัณฑ์เพื่อให้ชาวต่างชาติรู้สึกว้าว (WOW) และยินดีที่จะจ่ายในราคาที่สูงหรือไม่ เท่าที่ผมสังเกตคือ พระเครื่อง ที่นักท่องเที่ยวจีนชอบมาก เขามีความเชื่อว่าพระเครื่องไทยคือสุดยอดของความขลัง จะช่วยให้ทำมาค้าขึ้น แคล้วคลาดปลอดภัย อีกทั้งคนจีนก็ไปสร้างเรื่องราวเกี่ยวกับพระเครื่อง เช่น ห้ามใส่ขึ้นเครื่องบิน ต้องใส่ตามฤกษ์ดีของแต่ละคน ซึ่งเรื่องราวแบบนี้คนไทยเองยังไม่รู้เรื่องเลย เวลาเพื่อนต่างชาติคนจีนถามผม ก็จะตอบไม่ได้ว่าทำไม เพราะเป็นเรื่องราวที่คนจีนสร้างขึ้นมาเอง แปลกไหมที่ผลิตภัณฑ์ของไทยเราเองกลับถูกสร้างเรื่องราวจากคนต่างชาติ

     ถึงเวลาแล้วที่การท่องเที่ยวของไทยเราต้องปรับตัวเพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขันระดับสากล ภาครัฐต้องเลือกสินค้าที่เป็น Highlight ในระดับประเทศ เหมือนที่ประเทศจีนก็จะเลือก ใบชา ผ้าไหม ไข่มุก บัวหิมะ เป็นสินค้าระดับชาติที่ A Must ที่นักท่องเที่ยวต่างชาติต้องซื้อกลับประเทศ หรืออย่างประเทศเกาหลีที่มี โสม น้ำมันสนแดง เป็นสินค้าระดับประเทศที่นักท่องเที่ยวต้องกระเป๋าฉีก

     ดังนั้น อยากเห็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ ผู้ประกอบการการท่องเที่ยวของไทยร่วมมือร่วมใจกันในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และสินค้าที่มีอัตลักษณ์ของชาติเพื่อยกระดับการท่องเที่ยวของไทยในระดับสากล

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: MARKETING

วิกฤตสูงวัย เด็กเกิดใหม่น้อย กรณีศึกษาธุรกิจญี่ปุ่น ปรับตัวผลิตสินค้าผู้ใหญ่แทนสินค้าเด็ก

Oji Holdings ผู้ผลิตผ้าอ้อมในญี่ปุ่นประกาศยุติผลิตผ้าอ้อมเด็ก หันไปเพิ่มปริมาณการผลิตผ้าอ้อมผู้ใหญ่แทน สาเหตุมาจากอัตราการเกิดที่ลดลงและจำนวนประชากรสูงวัยของญี่ปุ่นที่เพิ่มสูงขึ้น

โอกาสโกอินเตอร์ของแบรนด์ไทย ทำงานกับนักธุรกิจระดับโลก งาน Gifts & Premium Fair ฮ่องกง

ฮ่องกงขึ้นชื่อว่าเป็นดินแดนที่มีการจัดงานแสดงสินค้าที่ยิ่งใหญ่ของโลกแห่งหนึ่ง และหนึ่งในนั้นคืองานแสดงสินค้าของขวัญและของพรีเมียมภายใต้ชื่อ Hong Kong Gifts & Premium Fair ซึ่งกำลังจะมีขึ้นระหว่างวันที่ 27-30 เมษายน 2024