‘Well fashion’ เสื้อผ้าเพื่อการบำบัด เทรนด์ล่าสุดจากผู้ผลิตเสื้อผ้าทั่วโลก

TEXT : วิมาลี วิวัฒนกุลพาณิชย์

Main Idea

  • จะดีแค่ไหนถ้าเสื้อผ้าที่เราสวมใส่ทั้งวันสามารถช่วยบำบัด หรือมีคุณสมบัติเหมือนยา

 

  • ไม่ใช่เรื่องอนาคต เพราะขณะนี้มีนวัตกรรมการผลิตเสื้อผ้าที่ใช้เทคโนโลยี Red Light Therapy (RLT) แสงสีแดงและแสงอินฟราเรดผ่านผิวหนังเพื่อรักษาอาการบาดเจ็บ ลดความเจ็บปวด ผ่อนคลายกล้ามเนื้อ/ข้อต่อ และเพิ่มการไหลเวียนโลหิต เป็นต้น

 

  • และนวัตกรรมนี้กำลังแพร่หลายในหลายประเทศทั่วโลกที่เรียกว่า "Well fashion”

 

     หลายปีที่ผ่านมา เราอาจเคยได้ยินนวัตกรรมเสื้อผ้าที่ทำให้การใช้ชีวิตง่ายขึ้น เช่น Dry Fit เสื้อผ้าที่ผลิตจากผ้าที่มีคุณสมบัติพิเศษในการระบายความชื้น หรือเหงื่อออกจากร่างกายอย่างรวดเร็ว ให้ความรู้สึกสบายตัวขณะสวมใส่ รวมถึงนวัตกรรมสิ่งทอแบบ antimicrobial textiles หรือผ้าต้านจุลินทรีย์ที่มีคุณสมบัติต้านจุลินทรีย์ที่เคลือบอยู่บนเส้นใยผ้า ช่วยป้องกันเชื้อรา และแบคทีเรียที่ทำให้เกิดกลิ่นไม่พึงประสงค์ หรือเสื้อผ้าที่สามารถควบคุมอุณหภูมิร่างกาย และเสื้อผ้าที่เก็บข้อมูลจากสัญญาณชีพขณะสวมใส่ เป็นต้น

     แต่นวัตกรรมเหล่านี้กลายเป็นเรื่องธรรมดาไปแล้ว ทำให้บรรดาแบรนด์แฟชั่นและผู้ผลิตเสื้อผ้าต่าง ๆ คิดค้นเทคโนโลยีใหม่ ๆ หรือศาสตร์ต่าง ๆ ที่สามารถผสานกับเครื่องนุ่งห่มได้ โดยมีเป้าประสงค์เพื่อดูแลสุขภาพแบบองค์รวมทั้งร่างกายและอารมณ์ นั่นจึงเป็นที่มาของคำว่า ‘Well fashion” เทรนด์เสื้อผ้าอัจฉริยะแบบใหม่ที่เน้นการดูแลและบำบัดร่างกายผู้สวมใส่ด้วยวิธีการต่าง ๆ อาทิ เสื้อผ้าผสมสมุนไพรเพื่อบำบัดบางอาการ หรือเสื้อผ้าที่ใช้เทคโนโลยี Red Light Therapy (RLT) สามารถปล่อยแสงสีแดงและแสงอินฟราเรดผ่านผิวหนังเพื่อรักษาอาการบาดเจ็บ ลดความเจ็บปวด ผ่อนคลายกล้ามเนื้อ/ข้อต่อ และเพิ่มการไหลเวียนโลหิต เป็นต้น

ทำความรู้จัก Well fashion

     ‘Well fashion” กลายเป็นกระแสในช่วงที่เกิดการระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยเฉพาะการพัฒนาเสื้อผ้าที่มีสรรพคุณเหมือนสกินแคร์ที่ช่วยแก้ปัญหาผิวหนังหรือสวมใส่แล้วดีต่อสุขภาพผิว เคนเน็ธ เลา เจ้าของบริษัทคอมฟี่นิต (Comfiknit) ผู้ผลิตสิ่งทอในฮ่องกงให้ความเห็นว่า “คนส่วนใหญ่มองเสื้อผ้าโดยเน้นความสวยงามเป็นหลัก แต่ถ้านึกได้ว่ามีผ้าบางอย่างที่เราสวมใส่และสัมผัสผิวเรา 24 ชั่วโมงต่อวัน ก็จะเริ่มเกิดคำถามแล้วว่าตกลงมันดีหรือไม่ดีอย่างไร เราอาจจะกังวลกับอาหารและเครื่องดื่มที่บริโภค หรือกระทั่งเครื่องประทินผิว แต่สำหรับเสื้อผ้าอาภรณ์ที่สวมใส่ มีใครนึกถึงบ้าง”

     เมื่อไม่นานมานี้ "คอมฟี่นิต" แบรนด์เสื้อผ้าและสิ่งทอของเคนเน็ธได้เปิดตัวเสื้อยืดสำหรับผู้ที่เป็นโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง เสื้อดังกล่าวตัดเย็บด้วยผ้าที่ไม่เพียงสามารถขจัดเหงื่อแต่ยังคงความความชุ่มชื้นที่พอเหมาะในการส้างสมดุลความเป็นกรดด่างที่ทำให้ผิวมีสุขภาพดีและแข็งแรง คุณสมบัติของเสื้อยืดรุ่นนี้ได้รับการรับรองจากสถาบันวิจัยหลายแห่ง รวมถึงสาขาวิทยาศาสตร์ชีวการแพทย์แห่งมหาวิทยาลัยนางาซากิ “เราไม่ได้ใส่อะไรลงไปในผ้า แต่เราใช้คุณสมบัติทางธรรมชาติของผ้าที่สามารถทำงานได้เหมือนยา ผ้าถักทอ 3 ชั้นซึ่งออกแบบมาเป็นพิเศษจะมีคุณสมบัติเหมาะสมต่อผิวเวลาสวมใส่ และคุณสมบัตินี้จะถาวรและคงอยู่ตลอดไป

     คอมฟี่นิตไม่ใช่ผู้ผลิตรายเดียวที่รังสรรค์เสื้อผ้าแนว ‘Well fashion”  บริษัทเสื้อผ้ากีฬาชั้นนำของอเมริกาอย่าง อันเดอร์อาร์เมอร์ ก็แนะนำ “UA Rush” เสื้อและกางเกงที่ใช้เทคโนโลยีอินฟาเรดในการบรรจุแร่ที่จะจับพลังงานที่ใช้ขณะออกกำลังกายและสะท้อนเข้าสู่กล้ามเนื้อผู้สวมใส่ ช่วยเพิ่มการไหลเวียนของเลือด ทำให้พลังงาน ความแข็งแกร่ง และความอดทนเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันก็ลดความเมื่อยล้าของกล้ามเนื้อให้กับผู้สวมใส่อีกด้วย

     ด้านบริษัทลูมิตัน สตาร์ทอัพอีกรายในสหรัฐฯ ซึ่งนำเสนอเสื้อผ้าที่สามารถเปลี่ยนแสงอาทิตย์ให้เป็นแสงอินฟาเรดสีแดงเพื่อรักษาอาการบาดเจ็บ ลดความเจ็บปวด ผ่อนคลายกล้ามเนื้อ/ข้อต่อ และเพิ่มการไหลเวียนโลหิต รวมถึงปกป้องผิวจากแสงยูวี ทำให้รู้สึกเย็นสบาย เกตส์ ไฮน์ ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทลูมิตันกล่าวว่า “ในวงการแพทย์มีการใช้แสงสีแดงเพื่อช่วยในการบำบัดอยู่แล้ว แต่เราใช้เทคโนโลยีทำให้เสื้อผ้าดูดซับแสงอาทิตย์แล้วแปรเป็นแสงสีแดงที่กระตุ้นเซลล์และไมโทคอนเดรีย (เป็นแหล่งพลังงานของเซลล์) ทำให้กล้ามเนื้อฟื้นตัวเร็วและลดอาการอักเสบ”  

     นอกจากนั้น ยังมีผู้ผลิตเสื้อผ้าอีกหลายแบรนด์ที่จับกระแส ‘Well fashion” รวมถึง “บูกิ” (Buki) แบรนด์เสื้อผ้าลำลองที่คิดค้นผ้าผสมคอลลาเจนจากทะเลลึก เมื่อสวมใส่จะช่วยรักษาความชุ่มชื้นของผิว ทำให้ผิวนุ่มและอิ่มน้ำตลอดเวลา และแบรนด์ “พีเอช5” (PH5) ผู้ผลิตชุดนอนที่ทำเสื้อผ้าผสมโมเลกุลไฮยาลูรอน เมื่อสัมผัสกับผิวจะมีคุณสมบัติเหมือนมาสก์พอกหน้าและครีมบำรุงผิว   

     ที่อินเดียซึ่งขึ้นชื่อด้านศาสตร์อายุรเวท ผู้ผลิตเสื้อผ้าแบรนด์มูนซุนบลูมส์ (Monsoon Blooms) ก็นำศาสตร์ด้านนี้มาใช้ในการผลิตด้วยการย้อมผ้าด้วยสมุนไพรหลายอย่าง ทำให้เสื้อผ้ากลายเป็นยาบำบัดผิวหนัง ยกตัวอย่าง การนำสะเดามาใช้ช่วยฆ่าเชื้อ ต่อต้านการอักเสบ และยับยั้งฮีสตามีนที่ก่อให้เกิดอาการแพ้ หรือการใช้เครื่องเทศ เช่น ลูกซัด (Fenugreek) ที่วิตามินและแร่ธาตุในการบำรุงผิว 

     อย่างไรก็ตาม ‘Well fashion” หรือเสื้อผ้าเพื่อการบำบัดเหล่านี้ผลิตออกมาเพียงล็อตเล็ก ๆ และโดยมากเป็นเสื้อผ้าลำลองหรือชุดกีฬามากกว่าจะเป็นเสื้อผ้าแฟชั่น ที่สวมใส่ทุกวัน ส่วนการคิดค้นนวัตกรรมนั้นก็มีหลากหลายระดับ ในอนาคตจะมีการผลิตจำนวนมาก หรือได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายจากผู้บริโภคหรือไม่ ยังคงเป็นคำถาม

ที่มา : https://www.scmp.com/lifestyle/fashion-beauty/article/3202950/well-fashion-new-smart-clothing-trend-focus-wellness-and-self-care-think-red-light-therapy-and-herb

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

 

RECCOMMEND: MARKETING

ย้อนตำนาน มาสคอตไทย ก่อน "น้องหมีเนย" มีแบรนด์ไหนทำมาร์เก็ตติ้งนี้บ้าง

หลายคนมี Brand Love ในใจ ที่ไม่ใช่แค่สินค้าต้องดี จนเรากลายเป็นลูกค้าประจำ ยังต้องมี Brand Characters ที่จะช่วยให้คนจดจำได้ อีกหนึ่งทางเลือกที่ถ้าอยากสร้างแบรนด์ให้ปัง

ขายสินค้าออร์แกนิกให้เป็นแมส จากแนวคิดแบรนด์ KING Organic

KING Organic ผู้ผลิตผัก ผลไม้ และสินค้าแปรรูปออร์แกนิก จ.สมุทรสาคร ได้คิดกลยุทธ์การทำธุรกิจที่เรียกว่า “Mass Premium” ขึ้นมา เพื่อทำของพรีเมียม ให้สามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้กว้างขวางมากขึ้น ในราคาที่ใครๆ ก็สามารถจับต้องได้ มีวิธีการยังไง ไปดูกัน