Nature Positive Tourism เทรนด์การท่องเที่ยววิถีใหม่ กับโอกาสธุรกิจมูลค่าล้านล้านบาท

Text: Neung Cch.

Main Idea

  • การสูญเสียธรรมชาติไม่เพียงเป็นปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมเท่านั้น แต่ยังเป็นสิ่งที่คุกคามสังคมและเศรษฐกิจ โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวถือเป็นธุรกิจทำเงินให้ประเทศปีละหลายล้านล้านบาท

 

  • ล่าสุดองค์กรที่ไม่แสวงผลกำไรอย่าง World Travel and Tourism Council (WTTC) ได้เปิดตัวโครงการ 'Nature Positive Tourism' มีเป้าหมายเพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนในภาคธุรกิจท่องเที่ยวให้เหลือครึ่งหนึ่งภายใน พ.ศ. 2573

 

  • นี่คือโอกาสของธุรกิจ กูรูชี้กลุ่มนักท่องเที่ยวอนุรักษ์ธรรมชาติมีแนวโน้มเติบโตขึ้นทุกปี และเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูง อาทิ กลุ่มดูนกที่มีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยคนละ 5,000 บาทต่อวัน

       ประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์ของการท่องเที่ยวจะมีความเกี่ยวข้องกับธรรมชาติไม่มากก็น้อย ไม่ว่าจะเป็น ทะเล ภูเขา ชายหาด ป่าชายเลน ฯลฯ Julia Simpson ประธาน และซีอีโอของ W.T.T.C. บอกว่า Nature Positive Tourism จึงถือกำเนิดมา เพื่อเป็นการท่องเที่ยววิถีใหม่เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้หมดไปภายใน 20 ปีข้างหน้า

      “ที่ผ่านมามีการรณรงค์ให้ปล่อยคาร์บอนฟุตปรินต์ให้น้อยที่สุด แต่ปัจจุบันอาจไม่ใช่แค่ไม่ลดคาร์บอนฟุตปรินต์ แต่ยังต้องเป็นการท่องเที่ยวมุมบวกสร้างประโยชน์ให้ธรรมชาติ เพื่อให้เราอยู่ร่วมกับธรรมชาติได้อย่างกลมกลืน”

โอกาสของภาคธุรกิจไทย

      การตื่นตัวในเรื่องดังกล่าวส่งผลชัดเจนกับกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มักให้ความใส่ใจกับเรื่องสิ่งแวดล้อม สอดคล้องกับข้อมูลของ สุวิมล งามศรีวิโรจน์ ผู้จัดการทั่วไป และ ผู้อำนวยการฝ่ายขาย เซเรนนาต้าโฮเทลแอนด์รีสอร์ทกรุ๊ป รีสอร์ทที่มีการปรับตัวเน้นเรื่องสิ่งแวดล้อมมากว่า 10 ปี ให้ความเห็นว่า ในฐานะที่ตนได้คลุกคลีกับ Inbound Tourism กลุ่มนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เน้นท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ธรรมชาติกลุ่มนี้เติบโตขึ้นกว่า 60% โดยเฉพาะในกลุ่มยุโรป อเมริกา

      สุวิมล ขยายความให้ฟังต่อไปว่า นักท่องเที่ยวกลุ่มนี้มีกำลังจ่ายค่อนข้างสูง ยกตัวอย่างถ้าเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวกลุ่มดูนก มีกำลังซื้อเฉลี่ยต่อหัวไม่ต่ำกว่า 5 พันบาทต่อวัน แบ่งเป็นค่าที่พัก ค่าอาหาร วิทยากร กิจกรรมต่างๆ และในการมาเที่ยวแต่ละครั้งจะใช้เวลาพักประมาณ 3-7 วัน อีกทั้งอายุเฉลี่ยของกลุ่มนี้ก็เริ่มมีอายุเฉลี่ยน้อยลงจากอดีตจากอดีตนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้มีอายุเฉลี่ย 40 ปีขึ้น

      “ตอนนี้เรามีกลุ่มนักเรียนสิงคโปร์มาจากสมาคมหมากล้อม ที่ต้องการให้เด็กได้พัฒนาทางความคิดอยากให้เด็กของเขามีทักษะ คิดได้ไว จะมาพัก 6 วัน 5 คืน ทางรีสอร์ทก็ต้องหากิจกรรมที่เหมาะสมให้เขา เช่น พาเดินป่าช่วงกลางวันกลางคืนให้เห็นว่ามันต่างกันอย่างไรและต้องทำอย่างไรในการเดินป่า”

ธุรกิจจะตอบโจทย์กลุ่มนักท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ได้อย่างไร

     ถ้าพูดถึงประเทศไทยในสายตานักท่องเที่ยวต่างชาติ สุวิมล บอกว่าส่วนใหญ่จะมองว่าเมืองไทยมีความพร้อมในเรื่องทรัพยากรธรรมชาติ ทรัพยากรมนุษย์ แต่สิ่งหนึ่งที่นักท่องเที่ยวกลุ่มนี้มักใส่ใจและให้ความสำคัญไม่แพ้กันคือ เรื่องของความปลอดภัย

     “ตลาดกลุ่มนี้เป็นเหมือนตลาด niche แต่ก็จะมีเป็นกลุ่มๆ อาทิ กลุ่มที่ชอบปั่นจักรยาน แค้มปิ้ง ฯลฯ ฉะนั้นคุณก็ต้องเข้าใจองค์รวมการท่องเที่ยวธรรมชาติ แนะนำนักท่องเที่ยวให้รู้จักพืชพรรณ แมลง นกที่อยู่ในป่า ฯลฯ ถ้าคุณไม่รู้จริง ไม่ชำนาญก็ทำทัวร์เหล่านี้ลำบาก ดังนั้นต้องร่วมมือกับชุมชนที่มีความเชี่ยวชาญในเรื่องธรรมชาติ เข้าไปช่วยให้ชุมชนดีขึ้น ให้ชุมชนมีความรู้สึกว่าไม่ได้ไปเอาเปรียบเขา เติบโตไปด้วยกัน การมีพันธมิตรที่ดีก็เป็นเรื่องสำคัญ เช่น  เราได้ร่วมมือกับ KTC ที่ลงไปช่วยพื้นที่ปลูกป่าให้ชุมชน”

โอกาสมูลค่าธุรกิจล้านล้านบาท

      ต่อพงษ์ วงเสถียรชัย เจ้าของธุรกิจเรือท่องเที่ยว Love Andaman ให้ความเห็นว่าหากประเทศไทยสามารถทำให้เกิดการท่องเที่ยวแบบ Natural Positive Tourism ได้จะช่วยเปลี่ยนรูปโฉมการท่องเที่ยวไทยและทำให้เกิดมูลค่าขึ้นได้มหาศาล

      “มูลค่าที่เกิดขึ้นมันยากที่จะประเมิน รู้แต่ว่ามากมายมหาศาล สิ่งที่ประเมินได้ง่ายๆ เช่น หากปะการังเสียหายต้องใช้เวลาหลายสิบปีที่จะฟื้นฟู ดังนั้นถ้าไม่สามารถรักษาทรัพยากรเหล่านี้ให้ดีได้ ประเทศเสียหายหลายแสนล้านบาท เพราะว่าตัวเลขรายได้ท่องเที่ยวปีหนึ่งเป็นล้านๆ บาท การที่ไม่สามารถรักษาธรรมชาติไว้ได้ความเสียหายที่เกิดขึ้น ไป-กลับไม่รู้เท่าไหร่”

     ในขณะเดียวกันถ้าประเทศไทยสามารถรักษาทรัพยากรเหล่านี้ได้ มันเกิดมูลค่าที่ประเมินไม่ได้ ผู้ประกอบการต่างๆ จะกลายเป็นผู้ประกอบการระดับสูง ในระยะยาวคนที่ได้คือ ประเทศไทย ทรัพยากรไม่เสื่อมโทรมสามารถเก็บให้ถึงรุ่นต่อไป

     ถ้าหากต้องการให้การท่องเที่ยวแบบ Natural Positive Tourism เห็นผลและเกิดขึ้นได้จริงเป็นรูปธรรมในประเทศไทย ต่อพงษ์ ย้ำว่า รัฐและเอกชนสร้างกฏเกณฑ์เงื่อนไขปลูกจิตสำนึกทำให้ได้จริงๆ

     “อะไรก็ตามที่มากับธุรกิจมันจะมาด้วยผลตอบแทน ภาครัฐจะต้องมีนโยบายที่ชัดเจนแล้ว อาจต้องมี intensive หรือreward ด้วย เช่น คุณเป็นบริษัทที่สร้างผลกระทบน้อย คุณดูแลธรรมชาติ ใช้เรือ 4 จังหวะเผาผลาญหมดจดกว่า ไม่ทิ้งคราบน้ำมัน เรือเป็นอะลูมิเนียมกินน้ำมันน้อยกว่า คุณจะเป็นผู้ประกอบการที่ได้ 5 ดาว มิสิทธิ์นำนักท่องเที่ยวเข้าอุทยานได้วันละ 100 คน แต่ถ้าได้ 4 ดาวได้แค่ 30 ฉะนั้นทำให้ผู้ประกอบการพยายามทำตัวเองให้เป็น 5 ดาว”

     การท่องเที่ยว Natural Positive Tourism อาจไม่ใช่แค่เทรนด์แต่เป็นความตระหนักถึงเรื่องความยั่งยืน ที่คนทำธุรกิจจะต้องให้ความสำคัญมากขึ้นในอนาคต

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: MARKETING

วิกฤตสูงวัย เด็กเกิดใหม่น้อย กรณีศึกษาธุรกิจญี่ปุ่น ปรับตัวผลิตสินค้าผู้ใหญ่แทนสินค้าเด็ก

Oji Holdings ผู้ผลิตผ้าอ้อมในญี่ปุ่นประกาศยุติผลิตผ้าอ้อมเด็ก หันไปเพิ่มปริมาณการผลิตผ้าอ้อมผู้ใหญ่แทน สาเหตุมาจากอัตราการเกิดที่ลดลงและจำนวนประชากรสูงวัยของญี่ปุ่นที่เพิ่มสูงขึ้น

โอกาสโกอินเตอร์ของแบรนด์ไทย ทำงานกับนักธุรกิจระดับโลก งาน Gifts & Premium Fair ฮ่องกง

ฮ่องกงขึ้นชื่อว่าเป็นดินแดนที่มีการจัดงานแสดงสินค้าที่ยิ่งใหญ่ของโลกแห่งหนึ่ง และหนึ่งในนั้นคืองานแสดงสินค้าของขวัญและของพรีเมียมภายใต้ชื่อ Hong Kong Gifts & Premium Fair ซึ่งกำลังจะมีขึ้นระหว่างวันที่ 27-30 เมษายน 2024